×

ไขวาระลับเงินกู้ 7 แสนล้านบาท กู้เพิ่มแล้วไปไหน

19.05.2021
  • LOADING...
พ.ร.ก. เงินกู้

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวานนี้ (18 พฤษภาคม) มีรายงานว่า กระทรวงการคลังได้เสนอร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือร่าง พ.ร.ก. เงินกู้ระลอกใหม่ วงเงิน 7 แสนล้านบาท 

 

โดยร่าง พ.ร.ก. ดังกล่าวระบุถึงสาเหตุที่ต้องกู้เงินเพิ่มเติม ซึ่งสรุปได้ว่าตัว พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่ออกมาเมื่อปี 2563 ปัจจุบันเหลือวงเงินอยู่เพียง 1.65 หมื่นล้านบาทเท่านั้น 

 

สำหรับ พ.ร.ก. เงินกู้ระลอกใหม่นี้ มีแผนนำไปใช้ในด้านสาธารณสุข 3 หมื่นล้านบาท ใช้ในการเยียวยาประชาชน 4 แสนล้านบาท และใช้สำหรับแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมอีก 2.7 แสนล้านบาท

 

ทั้งนี้การเสนอของกระทรวงการคลังในครั้งนี้อยู่ในวาระลับ และที่ประชุมได้อนุมัติเรียบร้อยแล้ว รอเพียงการลงพระปรมาภิไธย 

 

ประเด็นนี้มี 3 คำถามสำคัญคือ 1. การกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทรอบก่อนหน้านี้ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วหรือไม่ 2. เงินกู้รอบใหม่ 7 แสนล้านบาทควรนำไปใช้อย่างไร และ 3. เหตุใดการกู้เงินของประชาชนจึงกลายเป็นความลับ 

 

พ.ร.ก. เงินกู้

 

  • 2 ปีกับโควิด-19 ประเทศไทยสูญเสีย 4.6 ล้านล้านบาท

 

THE STANDARD พูดคุยกับ ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งได้ประเมินผลกระทบของโควิด-19 ระลอก 3 ว่าเฉพาะการบริโภคที่ลดลงเสียหายถึง 3.1 แสนล้านบาท ซึ่งรอบนี้ค่อนข้างรุนแรง โดยประเมินว่ารอบนี้กว่าจะคุมโรคได้ใช้เวลาประมาณ 4 เดือน

 

ส่วนถ้าจำได้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทรอบที่แล้ว แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ด้านสาธารณสุข เยียวยา และฟื้นฟู ซึ่งเอาเข้าจริงๆ เม็ดเงินทั้งหมดทุ่มไปกับการเยียวยา แต่เรายังไม่ได้พูดถึงการปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจในโลกหลังโควิด-19 ซึ่งเรื่องนี้เรายังไม่มีเม็ดเงินรองรับเลย

 

“ตอนนี้เราสูญเสียไปกับโควิด-19 มูลค่า 4.6 ล้านล้านบาทภายใน 2 ปี (2563-2564) ภาครัฐเข้ามาช่วย 1 ล้านล้านบาท เหลือช่องว่าง 3.6 ล้านล้านบาท แต่ผมไม่ได้บอกว่ารัฐบาลต้องอัดฉีดเม็ดเงินทั้ง 3.6 ล้านล้านบาท แต่จะบอกว่านี่คือช่องว่างที่ใหญ่มาก และเราจะอยู่ในกลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า และมี Permanent Output Loss ที่ใหญ่มาก ซึ่งความหมายคือถ้าปล่อยให้เศรษฐกิจซึมๆ ไปแบบนี้แล้วรัฐบาลไม่มาเติมเราก็จะเห็นแผลเป็นนี้ลึกขึ่นเรื่อยๆ ตัวเลขการจ้างงานในไตรมาสแรกของปีนี้ก็เริ่มสูงขึ้นทั้งที่ยังไม่รวมผลกระทบจากการระบาดระลอก 3 

 

“ก่อนจะมีโควิด-19 ระลอก 3 มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ใหญ่ในรัฐบาลและนักเศรษฐศาสตร์ด้วยกันก็เห็นตรงกันว่าเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทไม่พออยู่แล้ว เพราะเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวช้า การท่องเที่ยวจะไม่ได้กลับมาเร็วอยู่แล้ว เพราะทุกประเทศระมัดระวังที่จะปล่อยคนของตัวเองไปต่างประเทศ” ดร.ยรรยงกล่าว

 

ตรวจการบ้านเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เน้นแจกเงิน แต่ไม่ช่วยให้คนยังมีงานทำ

 

ดร.ยรรยงเห็นด้วยที่รัฐบาลโอนเงินให้ประชาชนผ่านมาตรการต่างๆ แต่ส่วนตัวมองว่าอาจจำกัดกลุ่มที่ได้เงินให้แคบลงและตรงเป้าหมายกว่านี้ได้

 

แต่จุดที่สำคัญที่สุดและเราทำได้ไม่ค่อยดีถ้าเทียบกับต่างประเทศคือ มาตรการที่ออกมาไม่ได้โยงกับการจ้างงานเท่าไร บางทีภาครัฐไปมองว่าโควิด-19 มีคนตกงาน 1% จำนวนแค่ 7-8 แสนคน แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่ เพราะถ้าเราไปดูจะพบว่ามีตัวเลขคนเสมือนว่างงาน ชั่วโมงการทำงานลดลง หรือคนที่เปลี่ยนอาชีพซึ่งทำให้รายได้ลดลง ก่อนหน้านี้ภาครัฐมีนโยบายหางานให้เด็กจบใหม่ตั้งเป้า 2 แสนตำแหน่ง แต่ออกไปได้จริงแค่หลักหมื่นตำแหน่ง และหลังๆ กระทรวงแรงงานก็เลิกพูดไปแล้ว ส่วน SMEs ตอนนี้ต่อให้จ่ายค่าแรงเขาครึ่งหนึ่งก็จ่ายไม่ไหว ขณะที่ต่างประเทศเขาเน้นมากเรื่องนี้ เพื่อทำให้เอกชนและ SMEs ยังมีกำลังจ้างงานอยู่

 

“ต่างประเทศเขาบอกเลยว่าเอาเงินไปเลยนะ ความเสี่ยงรัฐจะแบกไว้ให้เป็นส่วนใหญ่ แต่คุณต้องเก็บคนงานของคุณไว้ แต่ของเราไม่ว่าจะมาตรการที่รัฐจะช่วยจ้าง 50% ก็ไม่ตอบโจทย์ มาตรการทางการเงินก็ออกไม่ได้จริง”

 

นอกจากเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เรายังมี Soft Loan จำนวน 9 แสนล้านบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งปล่อยไปได้แค่ 1.3 แสนล้านบาท ถ้าเทียบกับ Bank of England ซึ่งทำเหมือนแบงก์ชาติบ้านเรา เขาปล่อยให้ทั้งบริษัทขนาดใหญ่และ SMEs ซึ่งหลักการของเขาคือการสร้างความมั่นใจให้ธนาคารพาณิชย์อยากปล่อยเงินกู้ให้ SMEs ว่าถ้าคุณปล่อยกู้ให้ภาคธุรกิจธนาคารจะไม่ได้รับความเสี่ยงมาก

 

ส่วนของประเทศไทยปีที่แล้วธนาคารพาณิชย์ในไทยสินเชื่อเติบโต แต่ธนาคารเลือกปล่อยให้รายใหญ่และธุรกิจที่ปลอดภัยเท่านั้น เนื่องจากในความเป็นจริงการที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อ 100 บาท รัฐช่วยแค่ 10 บาทเท่านั้น ทำให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจที่อยู่รอดเท่านั้น แต่ธุรกิจกลางๆ เสี่ยงๆ ไม่ได้รับการอนุมัติแน่นอน

 

เงินกู้ 7 แสนล้านควรเอาไปทำอะไร ประเทศไทยเหมือนยังไร้ทิศทาง

 

ดร.ยรรยงมองว่า ตัวเลข 7 แสนล้านบาท สมเหตุสมผล สัดส่วนหนี้สาธารณะก็ไม่ได้พึ่งพาต่างชาติเยอะ ต่างชาติยังมั่นใจในวินัยการเงินการคลังของประเทศไทยอยู่ ตอนนี้เราต้องนำเม็ดเงินเข้ามาเหมือนปั๊มหัวใจเศรษฐกิจที่วิกฤตอยู่ก่อน

 

ถ้าถามว่าควรเอาเงินไปทำอะไรบ้าง ดร.ยรรยงมองว่า ด้านสาธารณสุขต้องเพียงพอ เพราะยังไม่รู้ว่าโควิด-19 จะจบเมื่อไร จะมีการระบาดอีกระลอกหรือการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ๆ อีกหรือไม่ รวมถึงต้องเน้นการเยียวยาและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งต้องทำควบคู่กันไป โดยเฉพาะด้านการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในโลกหลังโควิด-19 ที่ตลาดแรงงานและอุตสาหกรรมต่างๆ จะเปลี่ยนไปอย่างมาก

 

การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจต้องชัดเจน ว่าจะเอายังไง เช่น Green Energy หรือหลายอย่างที่มันชัดอยู่แล้วว่ามันไปทางนั้นแน่ๆ แต่ตอนนี้ทุกอย่างเงียบไปหมด เราอาจประกาศว่าประเทศไทยปีนี้หรือปีหน้าเป็นปีของการรีสกิล (Re-Skill) หรืออัปสกิล (Up-Skill) แรงงานในประเทศโดยรัฐตั้งเป้าหมายและลงทุนให้อย่างชัดเจน

 

“ตอนนี้ที่น่ากลัวคือเราไร้ทิศทางมากๆ ต่อให้เราอยู่ในวิกฤตเราก็ยังมีธงร่วมกันได้ว่าเราจะไปที่ไหนอย่างไร ทุกคนต่างทำหน้าที่ของตัวเองได้ แต่ตอนนี้เหมือนเราอยู่ไปแบบไม่รู้จะไปไหน ไม่เช่นนั้นจบวิกฤต 2 ปีนี้ไปเราก็ยังเหมือนเดิมคือไม่รู้จะไปไหน”  ดร.ยรรยงกล่าว

 

เงินกู้ 7 แสนล้านบาททำไมต้องเป็นวาระลับ?

 

ดร.ยรรยงหัวเราะก่อนจะตอบคำถาม และบอกว่าก่อนหน้านี้ 2-3 สัปดาห์มีโอกาสได้คุยกับผู้ใหญ่ในรัฐบาล ซึ่งมองว่าเป็นความท้าทายทางการเมืองในการชี้แจง แต่ในที่สุดมองว่าควรสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาด้วยความโปร่งใสก็จะสร้างความเชื่อมั่นได้ แต่ที่ต้องเป็นวาระลับส่วนตัวเห็นว่าเพราะความกังวลเรื่องการเมือง

 

“เรื่องเงินกู้กับเรื่องวัคซีนก็เหมือนกัน คืออะไรที่โปร่งใสอธิบายทีเดียวมันก็จบ แต่พอคนอธิบายหลายๆ คนไม่ตรงกันคงก็ยิ่งสงสัย” ดร.ยรรยงกล่าวทิ้งท้าย

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร

พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X