ชื่อของ LNG อาจจะยังไม่คุ้นหูใครหลายคนเท่าไรนัก โดย LNG นั้นมีชื่อเต็มว่า Liquefied Natural Gas ส่วนชื่อภาษาไทยอย่างเป็นทางการจะใช้คำว่า ก๊าซธรรมชาติเหลว ซึ่งเป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกที่เป็นพลังงานสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เรามาทำความรู้จัก LNG กันอย่างลงลึกถึงที่มาที่ไปกันสักหน่อย
กระบวนการผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG เริ่มจากการนำเอาก๊าซธรรมชาติมาแยกสิ่งปลอมปนและองค์ประกอบต่างๆ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ ปรอท และกำมะถันออก โดยเหลือเพียงก๊าซมีเทน ซึ่งการแยกสิ่งปลอมปนต่างๆ ออกก่อนการแปรสถานะให้เป็นของเหลว LNG จึงเป็นเชื้อเพลิงที่ไร้กลิ่น ไร้สี ปราศจากสารกัดกร่อน ไม่เป็นพิษ สะอาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดชนิดหนึ่ง
หลังจากนั้นจึงลดอุณหภูมิลงมาที่ -160 องศาเซลเซียส เพื่อแปรสภาพจากก๊าซให้เป็นของเหลวที่ความดันบรรยากาศ ทำให้มีปริมาตรลดลงประมาณ 600 เท่าของสถานะก๊าซ ช่วยให้สะดวกในการขนส่งระหว่างประเทศด้วยเรือชนิดพิเศษ
เมื่อต้องการนำไปใช้งาน LNG ที่อยู่ในสถานะของเหลวจะถูกแปรสภาพให้กลับเป็นก๊าซเช่นเดิม โดยการเพิ่มอุณหภูมิด้วยวิธีการแลกเปลี่ยนความร้อนกับน้ำทะเล ณ สถานีกักเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติ หรือ LNG Terminal ก่อนจะนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ผ่านทางระบ่อท่อก๊าซธรรมชาติ เช่น เชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ (NGV), เชื้อเพลิงในนิคมอุตสาหกรรม และผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้ สำหรับกรณีที่นำไปใช้ในพื้นที่นอกแนวท่อก๊าซธรรมชาติ LNG จะถูกขนส่งทางรถ และนำไปแปรสภาพที่หน้าโรงงานลูกค้าเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
ปัจจุบันความนิยมในการใช้งาน LNG เพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีความปลอดภัยในการใช้งาน เนื่องจาก LNG เป็นสารไม่มีกลิ่น ไม่มีพิษ และไม่มีฤทธิ์กัดกร่อน และหาก LNG เกิดการรั่วไหลจะระเหยกลายเป็นไอลอยขึ้นสูงสู่ชั้นบรรยากาศ โดยไม่มีการตกค้างในน้ำหรือดิน เพราะเบากว่าอากาศ
ส่วนการรั่วไหลของ LNG ที่จะก่อให้เกิดการลุกไหม้ขึ้นได้นั้น ต้องมีความเข้มข้นของการระเหยในบรรยากาศอยู่ระหว่าง 5%-15% ซึ่งจัดเป็นประเภทก๊าซติดไฟยาก ฉะนั้นจึงมีความปลอดภัยสูง
สำหรับจุดเริ่มต้นของการนำ LNG มาใช้งานเกิดเมื่อราว 30 กว่าปีก่อน โดยประเทศญี่ปุ่นต้องการลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ทำให้หันมานำเข้าก๊าซธรรมชาติจากสหรัฐอเมริกาแทนในรูปของ LNG ที่ส่งด้วยเรือจากอลาสก้า จากความต้องการใช้งานดังกล่าวส่งผลให้หลายประเทศมีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้นจากการเป็นประเทศที่ส่งออก LNG รายใหญ่เช่น กาตาร์ แอลจีเรีย ออสเตรเลีย บรูไน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย
ในทวีปเอเชีย บรูไน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ถือว่าเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออก LNG ไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยประเทศจีนและอินเดียเข้าร่วมในตลาด LNG ของเอเชียในช่วงต้นทศวรรษนี้ด้วย ส่วนการใช้ LNG ในปัจจุบัน ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการนำเข้า LNG มากที่สุด คิดเป็น 50% ของการซื้อขาย LNG ทั่วโลก หากรวมญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน เข้าด้วยกัน จะมีปริมาณการนำเข้า LNG คิดเป็น 65% ของความต้องการ LNG ทั่วโลก
ประกอบกับการคาดการณ์ว่าปริมาณการใช้น้ำมันและถ่านหินจะลดลง เนื่องจากทั่วโลกจะเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนและก๊าซธรรมชาติมากขึ้น ปตท. จึงได้เล็งเห็นว่าก๊าซธรรมชาติจะกลายเป็น Transition Fuel ไปสู่พลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาดของโลกแห่งอนาคต
ดังนั้น เมื่อก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะเมื่อ LNG มีการใช้งานมากขึ้น ทำให้บริษัทในกลุ่ม ปตท. ซึ่งมีภารกิจหลักในการดูแลความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศไทย จึงได้ลงทุนดำเนินการสร้างท่าเทียบเรือและสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวแห่งแรกของไทยขึ้นที่จังหวัดระยอง แล้วเสร็จเมื่อปี 2554 มีความสามารถรับ-จ่ายก๊าซได้ปริมาณ 11.5 ล้านตันต่อปี
จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาค ปตท. จึงได้เล็งเห็นโอกาสและเริ่มส่งออก LNG ไปยังต่างประเทศ เช่น การส่งออกไปยังจีนทางเรือ และล่าสุดส่งออก LNG ด้วยการขนส่งทางรถไปยังกัมพูชา ผ่านทางด่านพรมแดนคลองลึก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ถือว่าเป็นความสำเร็จที่สำคัญ และเป็นการส่งออกผ่านชายแดนครั้งแรกของประเทศอีกด้วย
โดยกัมพูชาจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ซึ่งทำเลที่ตั้งของไทยมีความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ในการส่งออก LNG ไปยังกัมพูชา เนื่องจากมีพรมแดนติดกัน ทำให้สามารถส่งออก LNG และมีโอกาสแข่งขันกับเชื้อเพลิงอื่นๆ ได้
ในมุมของการดำเนินธุรกิจปัจจุบัน ปตท. ดำเนินการจัดหา LNG ให้กับคู่ค้าแบบครบวงจร ทำให้สามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็วทันความต้องการ ซึ่งกรณีที่มีความต้องการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น ปตท. จะพิจารณารูปแบบการขายที่เหมาะสม สำหรับรองรับการดำเนินธุรกิจและเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ตลอดจนเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทย เพื่อตอบสนองนโยบายการเป็น Regional LNG Hub ของภูมิภาคอาเซียน
เหนือสิ่งอื่นใด เพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงาน ทาง ปตท. ยังได้ก่อสร้างท่าเทียบเรือและสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวแห่งที่สองขึ้นที่บ้านหนองแฟบ ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง โดยมีความสามารถรองรับปริมาณก๊าซธรรมชาติเหลวได้ 7.5 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2565 หมายความว่าประเทศไทยจะสามารถรับ-จ่ายก๊าซได้มากถึง 19 ล้านตันต่อปี
ดังนั้น เวลานี้จึงเป็นโอกาสที่ดี LNG ซึ่งเป็น Transition Fuel ในโลกยุคปัจจุบันนี้ ช่วยต่อยอดขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป