×

เปิดโผหุ้นที่คาดว่า ‘ได้’ และ ‘เสีย’ ประโยชน์ หากตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับเกณฑ์คำนวณน้ำหนักดัชนี

17.03.2021
  • LOADING...
เปิดโผหุ้นที่คาดว่า ‘ได้’ และ ‘เสีย’ ประโยชน์ หากตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับเกณฑ์คำนวณน้ำหนักดัชนี

จากกรณีที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมเปิดรับความคิดเห็น (Public Hearing) เกี่ยวกับการปรับเกณฑ์การคำนวณน้ำหนักหุ้นที่ส่งผลต่อดัชนี โดยจะเริ่มเปิดรับความเห็นในวันที่ 18 มีนาคม นี้

 

สุนทร ทองทิพย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บล. กสิกรไทย เปิดเผยว่า หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด อาจจะเริ่มมีการใช้เกณฑ์ดังกล่าวในช่วงกลางปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้กองทุนประเภท Passive Fund ซึ่งมี NAV รวมกันราว 5 หมื่นล้านบาท ต้องมีการปรับพอร์ตตามเกณฑ์ใหม่

 

ขณะที่กองทุนประเภท Active Fund ในกลุ่มซึ่งเน้นสร้างผลตอบแทนให้มากกว่าดัชนีอ้างอิง (Benchmark) เมื่อ Benchmark มีการปรับเปลี่ยน กองทุนก็จำเป็นจะต้องปรับตามเช่นกัน ส่วนกองทุน Active Fund ที่เน้นลงทุนโดยไม่อิงกับ Benchmark ก็คงจะไม่ต้องปรับพอร์ตมากนัก 

 

หากมีการปรับเกณฑ์จาก Full Market Capitalization ไปเป็นแบบ Free Float Adjusted Market Capitalization เชื่อว่าความผันผวนของตลาดโดยรวมจะลดลง เพราะโดยทั่วไปแล้วหุ้นไทยขนาดใหญ่ที่มี Free Float สูง มักจะเหวี่ยงขึ้นลงไม่มากในแต่ละวัน ทำให้ตลาดโดยภาพรวมจะไม่ได้ขึ้นและลงแรงมากนัก 

 

“เชื่อว่าตลาดหุ้นไทยโดยรวมจะหนืดขึ้น การจะผลักดันตลาดไปทางใดทางหนึ่งต้องใช้พลังที่มากขึ้น แต่ความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทยจะไม่ถูกกระทบจากเรื่องนี้ เพราะสุดท้ายแล้วจะขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนเป็นหลัก” 

 

อย่างไรก็ดี การปรับเกณฑ์จะส่งผลกระทบต่อหุ้นหลายตัวที่มี Free Float สูงกว่าและต่ำกว่าค่าเฉลี่ย โดยปัจจุบัน Free Float ของหุ้นไทยอยู่ที่ 43.6% ซึ่งหุ้นที่มี Free Float สูงกว่าก็มีโอกาสจะ Outperform ในช่วงของการปรับพอร์ต เพราะจะมีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้า กลับกันหุ้นที่มี Free Float ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก็จะ Underperform ด้วยแรงขายปรับพอร์ตของนักลงทุน 

 

“หากมองตามนี้ เชื่อว่าหุ้นกลุ่มแบงก์ซึ่งมี Free Float สูง จะน่าสนใจ ทั้งแรงหนุนจากการเข้าซื้อเพื่อปรับพอร์ตของกองทุน และการฟื้นตัวของธุรกิจ ขณะที่หุ้นซึ่ง Free Float น้อย และแนวโน้มธุรกิจแย่ลงก็จะถูกกดดันหนักขึ้น” 

 

สำหรับหุ้นที่มี Free Float ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และอาจจะถูกกดดันจากการขายปรับพอร์ตของกองทุน อาทิ AOT, DELTA, GULF และ OR ซึ่งคาดว่าจะมีน้ำหนักต่อดัชนี SET ลดลง -1.8%, -1.2%, -0.93% และ -0.90% ตามลำดับ

 

 

 

ตลาดหลักทรัพย์ เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะ กรณีการปรับเกณฑ์คำนวณน้ำหนักหุ้นในดัชนี SET โดยจะเปลี่ยนจากเกณฑ์ Full Market Capitalization ไปเป็นแบบ Free Float Adjusted Market Capitalization ซึ่งจะส่งผลให้หุ้นที่มี Free Float สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดมีแรงซื้อปรับพอร์ตจากกองทุน สวนทางกับหุ้นที่มี Free Float ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งอาจจะเจอแรงขายปรับพอร์ต

 

ด้าน สันติ ธนะนิรันดร์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน Chief Investment Officer (CIO) บลจ.  บัวหลวง เปิดเผยว่า การปรับเกณฑ์ในเรื่องของ Free Float ถือเป็นสิ่งที่ดีต่อภาพรวมของตลาดหุ้นไทย เพราะตลาดจะมีผันผวนลดลง ขณะเดียวกันกองทุนก็มีความเสี่ยงในเรื่องของสภาพคล่องของหุ้นลดลง 

 

ในมุมของกองทุนไม่ได้กังวลกับการปรับเกณฑ์แต่อย่างใด โดยเฉพาะในมุมของกองทุนประเภท Active Fund ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องปรับพอร์ตตามเกณฑ์ เว้นแต่ว่ากองทุน Acitve บางกองทุนที่ถือหุ้นซึ่งอาจถูกขายปรับพอร์ตอยู่ในสัดส่วนที่มาก 

 

“ส่วนตัวมองว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดคงจะคิดอย่างรอบคอบสำหรับ เพื่อให้ผลกระทบจากการปรับพอร์ตต่อภาพรวมของตลาดไม่รุนแรงมากจนเกินไป” 

 

ขณะที่ วิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ. พรินซิเพิล กล่าวว่า การปรับเกณฑ์ในการคำนวณน้ำหนักครั้งนี้จะช่วยการลงทุนของกองทุน โดยเฉพาะประเภท Passive Fund คล่องตัวมากขึ้น เนื่องจากเกณฑ์เดิมอาจจะมีปัญหาสำหรับบางบริษัทที่มี Market Cap. สูง แต่ Free Float ต่ำ ทำให้กองทุน Passive Fund ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ อาจจะเข้าลงทุนได้ยาก 

 

อย่างไรก็ตาม การปรับเกณฑ์ย่อมส่งผลทั้งทางบวกและทางลบต่อหุ้นแต่ละตัวแตกต่างกันออกไป ซึ่งในส่วนนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ คงต้องเตรียมการให้ข้อมูลกับนักลงทุนประกอบด้วย 

 

นอกจากนี้หากเกณฑ์ใหม่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการปรับพอร์ตของนักลงทุน ในส่วนนี้อาจจะพิจารณากำหนดให้เป็นการค่อยๆ ปรับพอร์ต เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อนักลงทุนในช่วงที่มีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ ทั้งนี้คงต้องรอดูเกณฑ์ที่แน่นอนหลังจากผ่านการรับฟังความเห็นอีกครั้งหนึ่ง

 

ภาพประกอบ: พรวลี จ้วงพุฒซา

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X