×

เปิดรายชื่อ 36 รัฐมนตรี ครม. ประยุทธ์ 2 ใครเป็นใคร?

10.07.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ในรัฐบาลประยุทธ์สมัยที่ 2 มาจาก 6 พรรคร่วมรัฐบาลที่ได้รับการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรี แต่ทว่าขั้วการเมืองฝ่ายนี้ยังมีอีกหลายสิบพรรค ที่จับมือเป็นฝ่ายรัฐบาล
  • ประชาชนไทยกำลังจะได้ผู้บริหารบ้านเมืองชุดใหม่ ที่บางคนอาจเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ ซึ่งต้องพิสูจน์ทั้งฝีมือการบริหารงานและการรักษาเสถียรภาพทางการเมืองไปพร้อมกัน

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่เพื่อเข้าบริหารราชแผ่นดิน ภายหลังได้มีการจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 

 

มีหัวหน้าคณะรัฐมนตรีคือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในสมัยที่ 2 แต่เป็นสมัยแรกที่มาจากการโหวตโดยที่ประชุมร่วมของรัฐสภา โดยมีองค์ประกอบคือ รัฐมนตรีอีกไม่เกิน 35 คน รวม 1 นายกรัฐมนตรี จึงเท่ากับ 36 คน หนนี้ พล.อ. ประยุทธ์ นั่งควบเก้าอี้ รมว.กลาโหม ด้วยตนเอง

 

คณะรัฐมนตรีที่ได้รับการจัดสรรเก้าอี้ มีเพียง 6 พรรคร่วมรัฐบาล ได้แก่ พลังประชารัฐ, ประชาธิปัตย์, ภูมิใจไทย, ชาติไทยพัฒนา, รวมพลังประชาชาติไทย และชาติพัฒนา แต่การจับมือเป็นขั้วการเมืองฝ่ายรัฐบาลยังมีพรรคการเมืองอีกจำนวนกว่า 10 พรรค ซึ่งไม่ได้รับการจัดสรรตำแหน่งใน ครม.

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อ ครม. ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณ จะทำให้ คสช. ซึ่งเป็นหมวกอีกใบของ พล.อ. ประยุทธ์ สิ้นสภาพไป และไม่สามารถใช้อำนาจพิเศษ ม.44 ได้อีก 

 

 

  1. พล.อ.​ ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

ตำแหน่ง: นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

 

ฉายาที่สื่อมวลชนเรียกคือ ‘บิ๊กตู่’ อดีตผู้บัญชาการทหารบกสายบูรพาพยัคฆ์ เป็นผู้นำการรัฐประหารล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในปี 2557 ตั้งแต่นั้นจึงดำรงตำแหน่งหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทยมาจนถึงปัจจุบัน 

 

ถูกเทียบเชิญจากพรรคพลังประชารัฐให้เป็นแคนดิเดตชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 และชนะการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของรัฐสภาด้วยคะแนน 500 เสียง ถือเป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วย

 

 

  1. พล.อ.​ ประวิตร วงษ์สุวรรณ 

ตำแหน่ง: รองนายกรัฐมนตรี ดูแลงานความมั่นคงและตำรวจ

 

‘บิ๊กป้อม’ พี่ใหญ่ของแก๊ง 3 ป. ประกอบด้วย บิ๊กป้อม บิ๊กป๊อก และบิ๊กตู่ เคยดำรงตำแหน่งอดีตผู้บัญชาการทหารบกสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 

 

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของรัฐบาลประยุทธ์สมัยแรก 

 

ล่าสุดให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่าตนพอแล้วกับการดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม เพราะดำรงตำแหน่งมา 8 ปี และตอนนี้สุขภาพร่างกายย่ำแย่

 

 

  1. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ 

ตำแหน่ง: รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ

 

อดีตขุนพลด้านเศรษฐกิจคนสำคัญสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของรัฐบาลทักษิณ 

 

หลังการรัฐประหารปี 2549 ได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลของ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ ให้เป็นผู้ทำความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจกับต่างชาติ ต่อมาถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี เนื่องจากเคยเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค 

 

ภายหลังการรัฐประหารของปี 2557 สมคิดได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจให้กับรัฐบาล และได้รับการแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน  

 

 

  1. วิษณุ เครืองาม 

ตำแหน่ง: รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย  

 

เป็นมือทำงานและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายที่ได้รับการยอมรับทั้งในวงการราชการและการเมือง เคยเป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภา อดีตรักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล พล.อ. สุจินดา คราประยูร อดีตรองนายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติหลังการรัฐประหารปี 2549

 

ภายหลังการรัฐประหารปี 2557 ได้รับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายให้ คสช. และได้รับการแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

 

  1. จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ 

ตำแหน่ง: รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนปัจจุบัน ได้รับการเลือกจากสมาชิกฯ ให้เข้ามาดำรงตำแหน่งแทน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ประกาศลาออกจากตำแหน่งหลังการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 เป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพังงาและแบบบัญชีรายชื่อหลายสมัยของพรรคประชาธิปัตย์ เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองสำคัญมากมาย ทั้งอดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีช่วยฯ กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข

 

 

  1. อนุทิน ชาญวีรกูล 

ตำแหน่ง: รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

 

สื่อมวลชนมักเรียกว่า ‘เสี่ยหนู’ อดีตสมาชิกและกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เคยถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีจากคดียุบพรรค เป็นบุตรชายของ ชวรัตน์ ชาญวีรกูล อดีตรักษาการนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ 

 

ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อและเป็นหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

 

 

  1. เทวัญ ลิปตพัลลภ 

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

น้องชายของสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตประธานสโมสรฟุตบอลจังหวัดนครราชสีมา เข้าสู่วงการการเมืองครั้งแรกในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา สังกัดพรรคสามัคคีธรรม และได้รับการเลือกตั้งต่อเนื่องถึงหลายสมัย จนเมื่อปี 2550 ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีจากคดียุบพรรคไทยรักไทย และในปี 2561 ได้รับการเลือกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา

 

 

  1. พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล 

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม

 

อดีตข้าราชการกระทรวงกลาโหม เคยดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงในปี 2558 และได้เป็นปลัดกระทรวงกลาโหมในปี 2559 ดำรงตำแหน่งต่อจาก พล.อ. ปรีชา จันทร์โอชา น้องชายของ พล.อ. ประยุทธ์ 

 

ต่อมาในปี 2560 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมของรัฐบาลประยุทธ์ ที่มีพลเอกประวิตรเป็นเจ้ากระทรวง โดยเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร

 

 

  1. อุตตม สาวนายน 

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

หนึ่งใน ‘ทีมสมคิด’ เป็นผู้มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มาอย่างยาวนาน 

 

หลังการยึดอำนาจในปี 2557 ได้รับเชิญจากสมคิดให้มาร่วมทำงานกับรัฐบาลประยุทธ์ โดยมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 

 

ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ก่อนจะลาออกมาเล่นการเมืองเต็มตัวในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เพื่อสู้ศึกเลือกตั้งในปี 2562

 

 

  1. สันติ พร้อมพัฒน์ 

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

 

อดีต ส.ส. แบบแบ่งเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ สังกัดพรรคความหวังใหม่ อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อสังกัดพรรคไทยรักไทย และอดีต ส.ส. แบบสัดส่วนสังกัดพรรคพลังประชาชน 

 

เคยดำรงตำแหน่งอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 

 

ต่อมาสันติพร้อมสมาชิกในกลุ่มหลายสิบคน ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยเพื่อไปสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ

 

 

  1. ดอน ปรมัตถ์วินัย 

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

 

อดีตข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่งในกระทรวง อดีตเอกอัครราชทูตในหลายประเทศ อดีตเอกอัครราชทูตและหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป อดีตเอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ 

 

หลังการยึดอำนาจในปี 2557 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลประยุทธ์

 

 

  1. พิพัฒน์ รัชกิจประการ 

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

 

‘โกะเกี๊ยะ’ หรือ ‘ซุ่นเกี๊ยะ’ อดีตนักธุรกิจ เจ้าของปั๊มน้ำมันพีที สวนปาล์ม รังนก และฟาร์มกุ้ง เป็นสามีของ ดร.นาที รัชกิจประการ ผู้เป็นเหรัญญิก และ ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคภูมิใจไทย ซึ่งล่าสุดถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก และตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี เนื่องจากปกปิดบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.

 

ตระกูลรัชกิจประการ รับผิดชอบเข้ามาดูแลการเลือกตั้งภาคใต้ให้พรรคภูมิใจไทยจนสามารถเจาะพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์ได้หลายเขต

 

 

  1. จุติ ไกรฤกษ์ 

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

 

เป็นบุตรชายคนเดียวของ โกศล ไกรฤกษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถือเป็นนักการเมืองรุ่นที่ 3 ของตระกูลไกรฤกษ์ เคยเป็นอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลกหลายสมัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์

 

 

  1. สุวิทย์ เมษินทรีย์

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษาฯ

 

เคยเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ และเคยเป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ 

 

หลังการรัฐประหารปี 2557 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของรัฐบาลประยุทธ์ตามลำดับ 

 

เป็นหนึ่งในกลุ่ม 4 รัฐมนตรีของรัฐบาลประยุทธ์ที่ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อมาเป็นสมาชิกของพรรคพลังประชารัฐในตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค

 

 

  1. เฉลิมชัย ศรีอ่อน 

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์หลายสมัยของพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ภาคกลาง ภายหลังการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคของนายอภิสิทธิ์ หลังการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 เฉลิมชัยจึงได้รับการเลือกจากที่ประชุมของพรรคให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่

 

 

  1. ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า 

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

‘ผู้กองมนัส’ เริ่มต้นเส้นทางการเมืองกับพรรคไทยรักไทย โดยดูแลยุทธศาสตร์การเลือกตั้งกรุงเทพฯ ให้พรรค ต่อมาในปี 2557 ได้เป็นผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย 

 

หลังการรัฐประหารของ คสช. และเมื่อมีการตั้งพรรคพลังประชารัฐ จึงถูกชวนให้ย้ายมาสังกัดเป็นสมาชิกพรรคโดยรับตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์ภาคเหนือ เนื่องจากพื้นเพเป็นคนจังหวัดพะเยา จนสามารถเจาะพื้นที่ภาคเหนือของพรรคเพื่อไทยได้หลายเขต 

 

ถือเป็นมือทำงานการเมืองคนสำคัญของพรรคและเป็นผู้เจรจาต่อรองกับพรรคร่วมรัฐบาลในหลายสถานการณ์

 

 

  1. มนัญญา ไทยเศรษฐ์ 

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี จังหวัดอุทัยธานี ได้รับการเสนอชื่อให้เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในโควตาของ ชาดา ไทยเศรษฐ์ ซึ่งมีสถานะเป็นพี่ชายและเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุทัยธานีหลายสมัย ปัจจุบันชาดาเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทย

 

 

  1. ประภัตร โพธสุธน 

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

อดีตเลขาธิการพรรคชาติไทย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เคยถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีจากคดียุบพรรคชาติไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนาและเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบเขตของจังหวัดสุพรรณบุรีอีกหนึ่งสมัย

 

 

  1. ศักดิ์สยาม ชิดชอบ 

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

 

น้องชายเนวิน ชิดชอบ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เคยถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นอดีตประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสมัยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังพ้นกำหนดตัดสิทธิทางการเมืองได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทยในปี 2555 และได้รับการเลือกตั้งเป็นเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรค

 

 

  1. อธิรัฐ รัตนเศรษฐ 

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

 

อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา สังกัดพรรคเพื่อไทย เป็นบุตรชายของวิรัช และ ทัศนียา รัตนเศรษฐ ถือเป็นครอบครัวอดีต ส.ส. ตระกูลรัตนเศรษฐ ซึ่งครองฐานเสียงในจังหวัดนครราชสีมามาอย่างยาวนาน ต่อมาครอบครัวรัตนเศรษฐได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยและย้ายมาร่วมงานเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ

 

 

  1. ถาวร เสนเนียม 

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

 

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลาหลายสมัยสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ดูแลพื้นที่ภาคใต้ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 

 

เคยเป็นหนึ่งในเก้า ส.ส. ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ลาออกจากการเป็นสมาชิกเพื่อเข้าร่วมเคลื่อนไหวในฐานะแกนนำกลุ่ม กปปส. โดยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ลาออกไปตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย

 

 

  1. พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ 

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

 

อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคประชาธิปัตย์ อดีตโฆษก กทม. และรองผู้ว่าฯ กทม. สมัยที่ อภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าฯ กทม.  

 

เคยเป็นอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม และอดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกฯ สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ร่วมกับ สุเทพ เทือกสุบรรณ ในนามกลุ่ม กปปส. เคลื่อนไหวทางการเมืองนอกสภา เพื่อขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ 

 

ต่อมาได้ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์และเข้าร่วมงานกับรัฐบาลประยุทธ์ ในตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองและโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐ

 

 

  1. วราวุธ ศิลปอาชา 

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

เป็นบุตรชายคนสุดท้องของบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย อดีตนายกรัฐมนตรีและนักการเมืองคนดังแห่งจังหวัดสุพรรณบุรี เริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมืองด้วยการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรีสังกัดพรรคชาติไทย ในปี 2544, 2548 และ 2550 เคยได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขสมัยรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต่อมาถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีจากคดียุบพรรคชาติไทย ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคชาติไทยพัฒนา

 

 

  1. สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ 

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

 

อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติและสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เคยได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม 

 

ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของรัฐบาลประยุทธ์ตามลำดับ 

 

ต่อมาเป็น 1 ใน 4 รัฐมนตรีที่ลาออกจากตำแหน่งเพื่อมาทำหน้าที่เป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

 

 

  1. วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล 

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

‘กำนันป้อ’ ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อและกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทย เป็นแม่ทัพนำศึกเลือกตั้งของพรรคที่โคราชจนได้ ส.ส. มา 3 ที่นั่ง เป็นผู้คลุกคลีอยู่ในวงการเกษตรกรการทำไร่มันสำปะหลัง เป็นเจ้าของธุรกิจบริษัท แป้งมันเอี่ยมเฮงอุตสาหกรรม จำกัด จังหวัดนครราชสีมา จึงเป็นที่มาของฉายา ‘แป้งมันพันล้าน’ ก่อนหน้านี้ ในการเลือกตั้งปี 2557 กำนันป้อเคยส่งลูกชายของตัวเองลงเลือกตั้งสังกัดพรรคเพื่อไทย ก่อนที่ตนเองจะย้ายมาซบพรรคภูมิใจไทยในภายหลัง

 

 

  1. พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา 

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

 

‘บิ๊กป๊อก’ อดีตผู้บัญชาการทหารบก เป็นหนึ่งในคณะรัฐประหารที่ล้มรัฐบาลทักษิณ เมื่อปี 2549 สมัยที่ยังดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่หนึ่ง 

 

ต่อมาเคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินจากการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ปี 2553 ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ 

 

หลังการรัฐประหารปี 2557 จึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของรัฐบาลประยุทธ์ 1 

 

 

  1. นิพนธ์ บุญญามณี 

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

 

อดีตนายก อบจ. จังหวัดสงขลา อดีตรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลาและอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ เคยดำรงตำแหน่งอดีตเลขานุการรัฐมนตรีและอดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันได้รับเลือกจากที่ประชุมพรรคให้ดำรงตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรคตามภารกิจ

 

 

  1. ทรงศักดิ์ ทองศรี 

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

 

รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย สมาชิกกลุ่มเพื่อนเนวิน อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช เคยถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีจากคดียุบพรรคประชาชน ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย

 

 

  1. สมศักดิ์ เทพสุทิน 

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

 

อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง อดีตแกนนำกลุ่มวังน้ำยมของพรรคไทยรักไทย ภายหลังถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี จากคดียุบพรรคไทยรักไทย จึงกลายเป็นแกนนำกลุ่มมัชฌิมาของพรรคมัชฌิมาธิปไตย เมื่อพรรคมัชฌิมาธิปไตยถูกยุบจึงไปเข้าร่วมทำงานกับพรรคภูมิใจไทย ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2557 ได้ลงสมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย 

 

ต่อมาในช่วงปี 2561 ได้ประกาศย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐพร้อมสุริยะ โดยร่วมกันก่อตั้งกลุ่มสามมิตรเพื่อทาบทามอดีต ส.ส. และนักการเมืองท้องถิ่นให้เข้ามาร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ

 

 

  1. ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล 

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

 

หรือ ‘หม่อมเต่า’ ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย ในอดีตเคยตำแหน่งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง เป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภา และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย

 

 

  1. อิทธิพล คุณปลื้ม 

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

 

เป็นน้องชายของ สนธยา คุณปลื้ม อดีตสมาชิกพรรคชาติไทย พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย เคยเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี เคยเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีหลายกระทรวง ทั้งกระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย ฯลฯ 

 

เคยลงเล่นการเมืองท้องถิ่นโดยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเมืองพัทยา จนได้ชนะการเลือกตั้ง 2 สมัย ปัจจุบันย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐโดยได้รับตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค แต่สอบตกในการเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมา

 

 

  1. ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ 

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

 

อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กทม. สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ อดีตผู้อำนวยการพรรคประชาธิปัตย์ ในช่วงปี 2556-2557 ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไปร่วมเคลื่อนไหวในฐานะแกนนำกลุ่ม กปปส. ปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

 

 

  1. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช 

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

 

อดีตผู้สมัครอิสระลงชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในปี 2543 อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งแบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยดำรงตำแหน่งกรรมการสภาที่ปรึกษาของพรรค 

 

ปัจจุบันได้รับเลือกจากที่ประชุมพรรคให้ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคตามภารกิจ คุณหญิงกัลยายังถือเป็น ส.ส. สตรีที่มีอายุมากที่สุดที่ยังเล่นการเมืองอยู่ในขณะนี้

 

 

  1. กนกวรรณ วิลาวัลย์ 

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

 

อดีตสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรีและอดีตรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี ลูกสาวสุนทร วิลาวัลย์ เป็นผู้นำพรรคภูมิใจไทยสู้ศึกเลือกตั้งในจังหวัดปราจีนบุรี จนสามารถได้ ส.ส. ยกจังหวัด 3 ที่นั่ง

 

 

  1. สาธิต ปิตุเตชะ 

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

 

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยองหลายสมัยของพรรคประชาธิปัตย์ เคยดำรงตำแหน่งโฆษกพรรคและกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ เคยได้รับรางวัล ส.ส. ที่ไม่เคยขาดประชุมเมื่อปี 2546 ปัจจุบันได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยองอีกหนึ่งสมัยและได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมพรรคให้เป็นรองหัวหน้าพรรคดูแลพื้นที่ภาคกลาง

 

 

  1. สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ 

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

อดีตเลขาธิการและแกนนำพรรคไทยรักไทย อดีตผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรค เคยดำรงตำแหน่งในกระทรวงเกรดเอ ทั้ง รมว.อุตสาหกรรม และ รมว.คมนาคม เคยถูกตัดสิทธิการเมือง 5 ปี จากคดียุบพรรคไทยรักไทย

 

หลังปี 2552 หวนกลับสู่สนามการเมืองในฐานะสมาชิกพรรคภูมิใจไทย จนเมื่อปลายปี 2561 ก่อนเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง สุริยะกับพวกได้ร่วมกันตั้งกลุ่มสามมิตร ที่ต่อมากลายเป็นส่วนหนึ่งของพรรคพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนให้ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X