โลกธุรกิจปัจจุบันมีจำนวนข้อมูลเกิดขึ้นอย่างมหาศาลในทุกช่วงเวลา การที่องค์กรสามารถนำข้อมูลมาใช้ได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว จะเป็นปัจจัยหลักในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจให้กับองค์กรนั้นได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่ระบบบริหารทรัพยากรปัจจุบันอย่าง SAP ก็ยังมีข้อด้อยบางอย่างที่อาจทำให้องค์กรไม่สามารถเคลื่อนตัวไปพร้อมกันกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่เกิดขึ้นในโลกยุคดิจิทัลของทุกวันนี้ได้ จึงเป็นที่มาของนวัตกรรม ‘LISMA X’
พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า LISMA X เป็นนวัตกรรมแรกในประเทศไทยที่ให้ผู้ใช้งาน SAP สามารถทำงานบน Microsoft Power Platform ได้ ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยไซเบอร์ที่เชื่อถือได้ และทำให้การทำงานขององค์กรมีความคล่องตัว นำมาสู่ข้อได้เปรียบทางธุรกิจ
ระบบ SAP คืออะไร?
ก่อนจะพูดถึงนวัตกรรม ‘LISMA X’ ทาง THE STANDARD WEALTH อยากชวนทำความรู้จักกับระบบ SAP แบบเบื้องต้นกันสักเล็กน้อยสำหรับผู้ที่ยังไม่คุ้นเคย
SAP เป็นหนึ่งในซอฟต์แวร์จัดการข้อมูลประเภท ERP (Enterprise Resource Planning) ที่หลายองค์กรใช้เพื่อจัดการและวางแผนทรัพยากรภายในบริษัท เช่น การจัดซื้อ, การผลิต, การเงิน และทรัพยากรบุคคล โดยระบบ SAP คือศูนย์รวมข้อมูลฟังก์ชันหลักต่างๆ ขององค์กรมาไว้ในแหล่งเดียวกัน เพื่อช่วยให้พนักงานองค์กรแชร์ข้อมูลและทำงานร่วมกันได้อย่างเป็นระบบ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังคงเป็นปัญหากวนใจธุรกิจที่ใช้ระบบ SAP คือ ความยากในการใช้งาน ความไม่สะดวกสบายของตัวระบบเองที่ยังใช้งานได้แค่กับ PC หรือโน้ตบุ๊กเท่านั้น และไม่สามารถใช้งานบนมือถือได้ ซึ่งไม่ตอบโจทย์ความคล่องตัวของการทำงานในปัจจุบัน
ทำไมต้องมีการอัปเกรด SAP ด้วย LISMA X?
ล่าสุด บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดตัวนวัตกรรม ‘LISMA X’ เพื่อให้ผู้ใช้งานระบบ SAP สามารถทำงานบน Microsoft Power Platform เพิ่มความคล่องตัวในการทำงาน พร้อมแสดงผลลัพธ์และสั่งงานได้แบบเรียลไทม์
พชร อารยะการกุล (ซ้ายมือ), สุภาณี อนุวงศ์วรเวทย์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานการตลาดและปฏิบัติการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด (กลาง) และ วรัทย์ ไล้ทอง (ขวามือ)
วรัทย์ ไล้ทอง ผู้อำนวยการสายงาน ERP Advisory บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BBIK กล่าวว่า ก่อนจะมาเป็น LISMA X บลูบิคได้ปล่อยซอฟต์แวร์ที่ชื่อว่า LISMA ในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นโซลูชันแรกของประเทศไทยที่สามารถให้องค์กรใช้ระบบ SAP ได้บนโทรศัพท์มือถือผ่านแอปพลิเคชัน LINE
แต่เนื่องจากแพลตฟอร์ม LINE ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อเอื้อสำหรับการทำงาน จึงเกิดความกังวลในผู้บริหารบางกลุ่มเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัย ข้อจำกัดการเชื่อมต่อฟังก์ชันและระบบการทำงานที่มีความซับซ้อน และสิ่งรบกวนที่อาจเกิดขึ้นกับพนักงานได้จากการใช้ LINE
นวัตกรรม LISMA X จึงเข้ามาเพื่อช่วยเสริมความปลอดภัยและความสะดวกให้กับองค์กรในการใช้งานระบบ SAP ที่สามารถส่งข้อความแจ้งเตือนสถานะงานต่างๆ ไปยังผู้ใช้งานที่เกี่ยวข้องผ่าน MS Teams Chat ได้โดยตรง ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพให้กับพนักงาน
ตัวอย่างรูปแบบการใช้งานที่ระบบ SAP เดิมไม่มีแต่ LISMA X จะเข้ามาเสริม เช่น การแจ้งเตือนเอกสารรออนุมัติ, การป้องกันการนำ Username ไปใช้งานโดยผู้ไม่ประสงค์ดีด้วยระบบ 2FA และการแจ้งเตือนแบบทันทีแก่เจ้าของที่สามารถสั่งระงับบัญชีได้ อีกทั้งผู้ใช้งานยังสามารถเรียกดูข้อมูลต่างๆ ด้วยการพิมพ์คำสั่งบน MS Teams Chat จากนั้นระบบจะส่งคำสั่งดังกล่าวไปประมวลผลบนระบบ SAP ก่อนจะส่งข้อมูลกลับมาให้ผู้ใช้งาน
และอีกสิ่งที่จะทำให้ LISMA X แตกต่างจาก LISMA ตัวเดิมคือ การรวม ChatGPT เข้าไปใน MS Teams ซึ่งจะเกิดขึ้นในอีกประมาณ 6 เดือนข้างหน้า เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถใช้ระบบ SAP อย่างง่ายขึ้นผ่านฟีเจอร์ ChatGPT ที่มีความฉลาดในการช่วยตอบข้อสงสัยแก่ผู้ใช้งาน หรือค้นหาไฟล์ต่างๆ ภายในระบบได้รวดเร็วมากขึ้น
สำหรับภาพรวมการใช้งาน ผู้ใช้สามารถเลือกเชื่อมต่อการใช้งานระบบ SAP กับ 4 Microsoft Power Platform ดังนี้
- Power Virtual Agents, Intelligence Virtual Agents เปรียบเสมือนแชตบอต (Chatbot) ที่ติดตั้งอยู่บน Microsoft Teams เพื่อโต้ตอบกับผู้ใช้งาน โดยแชตบอตนี้จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างผู้ใช้งานกับระบบ SAP
- Power Automate, Process Automation เป็นส่วนหนึ่งของแชตบอต ทำหน้าที่ออกคำสั่งต่างๆ บนระบบ SAP ตามที่ได้ออกแบบไว้ เช่น คำสั่งอนุมัติเอกสาร การส่งรายงาน และการแจ้งเตือน
- Power BI, Business Analytics ทำหน้าที่นำข้อมูลจากระบบ SAP มาแสดงผลแบบเรียลไทม์ในรูปแบบ Dashboard ที่ถูกออกแบบมาให้สวยงามและเข้าใจง่าย
- Power Apps, App Development ใช้พัฒนาแอปพลิเคชัน (Application) ที่ต้องการเชื่อมต่อกับระบบ SAP โดย Power Apps สามารถรองรับการทำงานที่มีความซับซ้อนสูง แต่มีความยืดหยุ่นในการปรับแก้ในภายหลัง