ขออนุญาตยืมชื่อเพลง ‘ฟ้ามิอาจกั้น’ ของครูสุรพล โทณะวณิก ที่ สวลี ผกาพันธุ์ เป็นผู้ร้อง มาใช้เป็นชื่อบทความนี้
‘ฟ้านี้ ไม่ใช่ฟ้ากั้น ให้ฉันและเธอไกลกันสุดตา’ ตามวรรคแรกของเนื้อเพลง แต่เป็นฟากฟ้าที่ต้อนรับ ‘ลูกสาวคนไทย ลลิษา มโนบาล’ ให้โลดแล่นประกายแสง ดังที่ได้เขียนกลอนไว้เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2567 ในเฟซบุ๊กว่า
เยาวเรศ ‘ลิซ่า’ ณ เยาวราช
ส่องสาดรัศมีสุรีย์ฉาย
โลกหล้าวาววับรับประกาย
ปักหมุดเป็นหมายไผทประเทือง
ไม่ต้องมากรีดกรายขายขี้เท่อ
ว่าซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาตินั้นฟูเฟื่อง
ไม่ต้องใช้งบแผ่นดินสลึงเฟื้อง
ประเทศไทยกระเดื่องข้ามขอบฟ้า
ภูมิพลังวัฒนธรรมไทย
ประกาศศักดิ์ศรีใสซึ่งคุณค่า
ฟ้าดินจัดวางร็อคสตาร์
จารึกนาม ‘ลลิษา มโนบาล’
ในที่นี้มีถ้อยคำที่ขอนำมาขยายความ
คำว่า ‘ภูมิพลังวัฒนธรรม’ เป็นคำที่ อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สมาชิกวุฒิสภา เสนอให้ใช้แทนคำว่าซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งที่ประชุมวุฒิสภายอมรับและเห็นชอบให้ใช้คำนี้แล้ว
คำว่า ‘ร็อกสตาร์’ มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่าหมายถึง ‘ดาราเพลงร็อก’ ความหมายที่แท้จริงคือ เป็นคำเรียกคนที่มีชื่อเสียงโด่งดัง หรือมีทักษะการแสดงที่ยอดเยี่ยม
ผู้เขียนพอใจจะใช้คำว่า ‘ลูกสาวของคนไทย’ เป็นคำที่น่าจะดูเป็นสามัญชนมากกว่าคำว่า ‘ลูกสาวแห่งชาติ’ ซึ่งฟังดูเป็นทางการมากไป
ก่อนหน้านี้เราอาจเอ่ยถึง ไมเคิล แจ็คสัน ศิลปินป๊อปของสหรัฐอเมริกา หรือก่อนหน้าไปกว่านั้น เราอาจนึกถึง เอลวิส เพรสลีย์ นักร้อง หรือ มาริลิน มอนโร นักแสดง เป็นสองศิลปินที่ผู้คนรู้จักและจดจำกันได้ทั่วโลก
แต่ ณ วันนี้ ผู้คนในโลกรู้จักลิซ่า ลูกสาวของคนไทย ที่ประกาศภูมิพลังวัฒนธรรมของไทยไปทุกพื้นที่ ซึ่งฟ้ามิอาจกั้นได้เลย
ที่เขียนว่า ‘ปักหมุดเป็นหมาย’ ก็เนื่องจาก ลิซ่าได้ตอกย้ำและยกคุณค่าของเยาวราช ซึ่งเป็นพื้นที่วิถีวัฒนธรรมของคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งมีร้านอาหารบาทวิถี (Street Food) ที่ผู้คนรู้จักกันอยู่แล้ว มีร้านทอง มีศาลเจ้าจีน รวมทั้งนิวเวิลด์ บางลำพู โรงหนังออสการ์ มีภาพรถเข็นอาหาร รถขายผลไม้ ภาพชายที่มีรอยสักบนร่างกาย
ภาพเหล่านี้ถูกปักหมุดให้เป็นหมายเหตุแห่งภูมิบ้าน ภูมิเมือง กรุงเทพฯ และเป็นภูมิพลังวัฒนธรรมของไทยไปแล้วในความรู้สึกนึกคิดของชาวโลก โดยไม่ต้องมีคำว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ’
นิยมไม่ใช่ยัดเยียด
อลังการงานสร้าง MV เดี่ยว ROCKSTAR ของ LISA ที่ผู้คนทั่วโลกเข้ามาดูในวันนี้ 12 กรกฎาคม 2567 มีเกิน 100 ล้านคน มีความเห็นส่งเข้ามาหลายล้านความเห็น คนไทยคนต่างชาติพากันไปเช็กอินที่เยาวราชกันล้นหลาม ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจทั่วไปย่ำแย่
การปรากฏตัวเพียงหนึ่งเดียว ณ เยาวราช กลางถนนเจิ่งน้ำ ที่ปกติจะพลุกพล่านไปด้วยผู้คน ฉากหลังเป็นร้านรวงของจริงทั้งหมด เครื่องแต่งกาย การเต้น ฉากเยาวชนชุดขาวนับร้อย สลับกับฉากโรงหนังออสการ์ พร้อมเสียงเพลง ‘กรุงเทพช่างสวยงาม’ ‘สอนภาษาญี่ปุ่นฉันได้ไหม’ ฯลฯ
ด้วยเวลา 02.48 นาที ทั้งหมดนี้ไม่ใช่การยัดเยียด ไม่ใช่การขอร้อง ไม่ใช่การบังคับให้ดู ให้ฟัง แรงตอบรับล้นหลามเป็นอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนที่เคลื่อนคล้อยไปตามลีลา เนื้อหา เพลง การแต่งกาย ฉากประกอบ ที่จัดวางไว้จากของจริง ไม่ต้องมีประดิษฐกรรม AI ใดๆ มาประกอบ
นี่คือความเป็นธรรมชาติของชิ้นงาน
อิสรภาพจาก YG Entertainment
ไม่มีใครปฏิเสธบทบาทสำคัญของบริษัท YG Entertainment ของเกาหลีที่สร้าง BLACKPINK ขึ้นมาเป็นโรงเรียนบ่มเพาะให้ลิซ่าฝึกฝนอย่างเข้มข้น ฝ่าด่านหินมาอย่างทรหดจนมีที่ยืนในเวทีโลกในวันนี้
แต่ก็นั่นแหละ ถึงอย่างไร YG Entertainment ก็เป็นค่ายบันเทิงของเกาหลี ซึ่งมีกรอบเกณฑ์ที่แน่นอน ถ้ายังอยู่ในสังกัดเดิม ลิซ่าจะผลิตนวัตกรรม ROCKSTAR ที่เยาวราชไม่ได้เลย
การไม่ต่อสัญญากับ YG Entertainment ทำให้ลิซ่าสร้าง LLOUD ของตนเองขึ้นมา เป็นการประกาศความเป็นอิสระจาก YG Entertainment อย่างเด็ดเดี่ยว โดยมีโปรดิวเซอร์มืออาชีพระดับโลกมาร่วม และมี RCA Records ทำเพลงให้
งานสร้างทั้งหมดล้วนแต่สร้างสรรค์ขึ้นได้ เพราะอยู่ในพื้นที่แห่งเสรีภาพที่สามารถใช้ศักยภาพได้เต็มเปี่ยม
จากภายนอกสู่ภายใน
ใช้ศัพท์ฝ่ายซ้ายคือ การทำให้ ภววิสัย (ปัจจัยภายนอก) สอดคล้องกับ อัตวิสัย (ปัจจัยภายใน) แปรผลเป็นความสำเร็จ
โลกยุคใหม่ พื้นที่ของคนรุ่นใหม่ เป็นโลกที่ให้ความสนใจกับการใช้ชีวิตที่ไปด้วยกันกับกระแสโลก ผู้คนให้เวลากับความรื่นรมย์ที่สามารถเสพได้ในเวลาสั้นๆ ที่ไหนอาหารอร่อย ราคาไม่แพง
ที่ไหนมีอะไรตอบสนองคนหนุ่มคนสาว ที่ไหนเป็นแหล่งที่วัยรุ่นจะไปเช็กอิน ไปถ่ายรูปภาพอวดเพื่อนได้อย่างภาคภูมิใจ นี่เป็นตัวอย่างปัจจัยภายนอกหรือที่เรียกว่าภววิสัย
จากการเป็นศิลปินร่วมกับกลุ่ม BLACKPINK ของเกาหลีใต้ ลิซ่ามาเป็นศิลปินเดี่ยวที่มีเสน่ห์ มีความน่ารัก อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ลืมกำพืดตนเอง มีน้ำอดน้ำทน มีความภาคภูมิในความเป็นไทย ไม่อวดตัว ไม่ฟุ้งเฟ้อ มีความหลงใหลในการแสดงมาตั้งแต่ยังเด็ก ทำให้มีแรงใจพัฒนาตนเองอย่างตั้งอกตั้งใจ อย่างมีทิศทาง
แม้จะอยู่ในโลกแห่งแฟชั่นและในเวทีการแสดงอันเลิศหรู เป็นพรีเซนเตอร์ให้กับสินค้าแบรนด์เนมมากมาย แต่ก็รับรู้กันได้ว่าลิซ่ายืนกินลูกชิ้นปิ้งรถเข็นได้อย่างเอร็ดอร่อย ไปช่วยแม่หิ้วของที่ปากคลองตลาด นั่งรถทัวร์กลับบ้านที่บุรีรัมย์ นั่งรถตุ๊กตุ๊กได้อย่างสะดวกใจ
ปัจจัยภายใน คือ อัตวิสัย อันหมายถึง ความสามารถและการวางตัวที่เหมาะสม เมื่อได้ใช้ประโยชน์จากตนเองอย่างสอดคล้องกับปัจจัยภายนอก คือ บริบทของโลกและของสังคม ทำให้เกิดความสำเร็จซ้ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งฟ้ามิอาจกั้นได้ ถ้าไม่นับศิลปสถาน ศิลปวัตถุ ศิลปวัฒนธรรม การแสดง กีฬา และมรดกทางธรรมชาติต่างๆ
สิ่งที่เรียกว่า ภูมิพลังวัฒนธรรม (Soft Power) ของไทย
เราอาจให้คุณค่าต่อเมืองโบราณที่จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งจำลองสถานที่สำคัญ สร้างพิพิธภัณฑ์เปิดทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทยได้อย่างเลิศล้ำ ด้วยน้ำพักน้ำแรงและน้ำเงินของคุณเล็ก วิริยะพันธุ์
เราอาจนึกถึงสวนนงนุช ที่จอมเทียน พัทยา ซึ่งคุณกัมพล ตันสัจจา รับช่วงสร้างสรรค์ต่อมาจากคุณนงนุช ตันสัจจา ทำให้เป็นพื้นที่วัฒนธรรมร่วมสมัย และการแสดงช้างที่ตื่นตาตื่นใจ
เราอาจนึกถึงโบสถ์สีขาว ที่ออกแบบและรังสรรค์โดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติที่มุมานะสร้างโบสถ์สีขาวงดงามสะดุดตา ด้วยลวดลายปูนปั้นประดับกระจกและจิตรกรรมฝาผนังขนาดใหญ่ เป็นงานพุทธศิลป์ที่รู้จักกันไปทั่วโลก ต้องนับว่า ‘ลลิษา มโนบาล ลูกสาวของคนไทย’ คนนี้ได้ปักธงภูมิพลังวัฒนธรรมไว้บนโลกใบนี้แล้วอย่างงดงาม
ทั้ง 4 งานนี้เป็นหยาดเหงื่อแรงงานของคนไทย ที่เป็นปัจเจกและเป็นภาคเอกชน ไม่ได้อาศัยงบประมาณแผ่นดินใดๆ เลย เป็นการทำงานโดยอิสระเฉพาะตัว และทีมงานโดยแท้ แต่ได้ฝากผลงานอันประเมินค่ามิได้ไว้กับแผ่นดินไทย
แสดงให้เห็นว่า พลังสร้างสรรค์ของคนไทยที่เป็นอิสระนั้นมีความยิ่งใหญ่ และมีคุณูปการเพียงไร โครงการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติที่ใช้งบประมาณแผ่นดิน 5,000 ล้านบาทนั้นจะทำอะไรได้บ้าง ที่จะขยายผลหรือต่อยอดเนื้องาน หรือพื้นที่จากสิ่งที่สร้างสรรค์กันมาแล้ว
ลองทบทวนกันดู จะดีไหม