×

จับกุมสองแฮกเกอร์กรุ๊ปไลน์ ดูดข้อมูลแชร์เว็บไซต์ลามกแฝงโฆษณาอาหารเสริม

โดย THE STANDARD TEAM
13.11.2019
  • LOADING...

วันนี้ (13 พฤศจิกายน) พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่าช่วงที่ผ่านมามีการแพร่ระบาดในกลุ่มสนทนาแอปพลิเคชันไลน์ (LINE) โดยมีผู้ใช้งานนิรนาม เข้ามาในกลุ่มไลน์จำนวนหลายกลุ่มโดยไม่ได้รับเชิญ เมื่อเข้ามาแล้วจะส่งลิงก์เว็บไซต์ลามกแฝงโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารเสริม หากผู้ใช้งานในกลุ่มไลน์หลงกลคำเชิญชวนกดลิงก์เว็บไซต์ดังกล่าว คนร้ายจะได้ข้อมูลเข้าถึงกลุ่มไลน์ต่างๆ ของผู้ใช้งานนั้น และจะทำให้คนร้ายสามารถส่งผู้ใช้งานนิรนามเข้าไปยังกลุ่มไลน์หลายๆ กลุ่มโดยไม่มีที่สิ้นสุด 

 

ซึ่งที่ผ่านมามีการแจ้งเตือนให้ผู้ใช้งานไลน์ระมัดระวังการกดลิงก์และการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นในช่องทางเพจเฟซบุ๊ก ‘ชัวร์ก่อนแชร์’ ของศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักงานข่าวไทย และเว็บไซต์ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ดำเนินการสืบสวนหาตัวคนร้ายกรณีดังกล่าว ซึ่ง บก.ปอท. เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ใช้แอปพลิเคชันไลน์ในการติดต่อสื่อสารและปฏิบัติงานราชการต่างๆ ก็ได้รับผลกระทบ มีผู้ใช้งานไลน์นิรนามเข้ามาในกลุ่มไลน์ที่เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ 

 

ล่าสุดเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมดำเนินการปฏิบัติการตามล่า ‘LINE Group Hacker’ ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2562 ได้จับกุมตัวผู้ต้องหาจำนวน 1 ราย ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญาที่ 1540/2562 ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2562 ได้ที่ซอยบุปผาบุรี แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พร้อมตรวจยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์จำนวนหนึ่งส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี และส่งของกลางตรวจพิสูจน์เพื่อทำการขยายผลไปยังผู้ร่วมกระทำผิดต่อไป และต่อมาวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 มีผู้ต้องหามามอบตัวอีก 1 ราย รวมมีผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันทั้งหมด 2 ราย 

 

สำหรับพฤติกรรมของผู้ต้องหาในคดีนี้ได้นำโปรแกรมสร้างลิงก์ดูดข้อมูลกลุ่มไลน์ เมื่อสร้างลิงก์ไลน์แล้วมีผู้ใช้งานกดลิงก์ไลน์ดังกล่าวจะถูกดูดข้อมูลลิงก์เชิญเข้ากลุ่มไลน์ เมื่อผู้ต้องหาได้ข้อมูลลิงก์เชิญเข้ากลุ่มไลน์แล้วจะส่งผู้ใช้งานไลน์นิรนามเข้ากลุ่ม และแชร์เว็บไซต์ลักษณะลามกซึ่งแฝงโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารเสริม

 

ขณะที่การดำเนินการของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) จากสรุปผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมมีจำนวนข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 7,962 ข้อความ ซึ่งมีข้อความที่ต้องดำเนินการ Verify ทั้งหมดจำนวน 45 ข้อความ โดยแบ่งเป็นช่องทาง Social Listening Tool, ช่องทาง LINE Official และช่องทาง Website Manual Social Listening ซึ่งมาจากการแจ้งเรื่องเข้ามาด้วย โดยแบ่งได้ดังนี้ เรื่องยาเสพติด 7.6%, ภัยพิบัติ 13.6%, การเงิน หุ้น 13.6%, ข่าวอื่นๆ 13.6%, ผลิตภัณฑ์สุขภาพ 21.2%, ความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง 15.2%, นโยบายรัฐบาล 16.7%

 

ส่วนใหญ่พบเรื่องที่เป็นกระแสของสังคมและมีความน่าเป็นห่วงพี่น้องประชาชนมากที่สุดจะเป็นเรื่องของกลุ่มข่าวผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพที่อ้างการรักษาต่างๆ โดยไม่เคยถูกขึ้นทะเบียนยา แอบอ้างสรรพคุณการรักษาต่างๆ

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising