×

LINE Sticker ไทยมาแรง ปีนี้ขึ้นแท่นอันดับ 1 แซงญี่ปุ่น อะไรคือหัวใจสำคัญของการเติบโต และนักวาดจะวาดอย่างไรให้ขายดี

16.11.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • LINE Sticker จากประเทศไทยมาแรง ขึ้นแท่นอันดับ 1 แซงญี่ปุ่นได้ในปีนี้ ซึ่งเป็นผลจากจำนวนครีเอเตอร์ในครึ่งปีแรก 2018 เพิ่มขึ้น 2 เท่า เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และสติกเกอร์ไลน์ที่จำหน่ายใน LINE Store ประเทศไทย เพิ่มขึ้นถึง 9 เท่า
  • กณพ ศุภมานพ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจสติกเกอร์ LINE ประเทศไทย ตั้งเป้าไว้ว่า ในอนาคต เมืองไทยจะสร้างอุตสาหกรรมของงานครีเอเตอร์ได้เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น
  • หัวใจสำคัญของการวาดสติกเกอร์ไลน์ให้ขายดี ต้องคิดก่อนว่าจะขายให้ใคร ลองคิดแบบมุมมองของนักธุรกิจ กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ทำให้ตรงกับความต้องการ และต้องมีแรงที่จะทำอย่างต่อเนื่อง เมื่อเจอคาแรกเตอร์ที่มันใช่ มันจะต่อยอดไปได้เรื่อยๆ

เดือนที่ผ่านมา LINE ประเทศไทย จัดทริปพา 10 ครีเอเตอร์ผู้โชคดีที่ชนะการประกวดสติกเกอร์ประจำปี 2018 บินลัดฟ้าไปหาแรงบันดาลใจถึงประเทศญี่ปุ่น ที่นั่นได้ชื่อว่าเป็นถิ่นของนักวาดการ์ตูนที่มีชื่อเสียงระดับโลกมากมาย การต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนฟันเฟืองเล็กๆ ที่ขับเคลื่อนธุรกิจ LINE ประเทศไทย ทำให้เติบโตและมีครีเอเตอร์หน้าใหม่ประดับวงการมากขึ้น การที่ LINE Sticker จากประเทศไทยมาแรง ขึ้นแท่นอันดับ 1 แซงญี่ปุ่นได้ในปีนี้ จึงนับเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ธรรมดา อะไรคือหัวใจสำคัญของการเติบโตในธุรกิจซื้อขายสติกเกอร์ไลน์ รวมถึงเทคนิคที่นักวาดควรรู้ว่าจะวาดอย่างไรให้ขายดี THE STANDARD สืบค้นคำตอบนี้ได้จาก คุณโต-กณพ ศุภมานพ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจสติกเกอร์ LINE ประเทศไทย

 

 

การเติบโตของสติกเกอร์ไลน์ในประเทศไทย

เรามีคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น เมื่อเทียบกับครึ่งปีของปี 2017 เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า ผลงานของสติกเกอร์ไลน์ที่เข้ามาจำหน่ายใน LINE Store ประเทศไทย ที่ออกแบบโดยครีเอเตอร์คนไทย มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 9 เท่า ทำให้คนมีทางเลือกที่จะซื้อสติกเกอร์ไลน์มากขึ้น รวมถึงมีช่องทางการจำหน่ายที่หลากหลายมากขึ้น คนสามารถเข้าถึงการซื้อได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม การที่ LINE ประเทศไทย เติบโตสูงสุดในปีนี้ สาเหตุแรกคือ เราปรับปรุงช่องทางจัดจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น เราพยายามทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าไปซื้อไลน์สติกเกอร์ได้ง่ายขึ้น เพราะที่ผ่านมาเราได้เซอร์เวย์ และทำคอนซูเมอร์อินไซด์แล้วพบปัญหาว่า ผู้ที่ใช้งานสติกเกอร์ไลน์มากกว่า 35% ไม่รู้ว่าจะเข้าไปซื้อสติกเกอร์ไลน์ได้อย่างไร ซึ่งถือว่าเยอะมากๆ ในกลุ่มตัวอย่างที่เราสัมภาษณ์ไป กลายเป็นว่าสิ่งที่ก่อนหน้านี้เราไม่คิดว่าเป็นปัญหา กลับกลายเป็นว่าเขาไม่รู้ ถามว่าเขาอยากได้สติกเกอร์ไลน์ไหม เขาอยากได้ แต่เขาไม่รู้วิธีซื้อ นั่นคือโจทย์ที่เราต้องแก้ไข เราจะทำอย่างไรให้คนทั่วไปซื้อสติกเกอร์ไลน์เป็น และเราก็ต้องเข้าไปอยู่ในที่ที่เขาอยู่

 

นั่นก็คือที่มาที่ไปว่า ทำไมสติกเกอร์ไลน์ในประเทศไทยถึงไปจัดจำหน่ายในตู้เติมเงิน เพราะในไทยประมาณ 80% ของคนไทย ยังใช้โทรศัพท์ระบบเติมเงินอยู่ ซึ่ง 1 ใน 3 ของวิธีเติมเงิน เขาไปเติมกันที่ตู้เติมเงิน เรามองเห็นว่าทราฟฟิกมันอยู่ตรงนั้น คนเข้าไปตรงนั้นเยอะ โจทย์คือทำอย่างไรให้คนซื้อเป็น ถ้าอย่างนั้นตู้เติมเงินจึงตอบโจทย์ที่ว่าเขาซื้อผ่านเงินสดได้ ปีที่แล้วเราจึงร่วมมือกับบุญเติม ซึ่งมีมาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 และปีนี้เราก็มาร่วมมือกับเติมสบายพลัส ทั้งหมดตอนนี้เรามี 2 ช่องทาง ซึ่งทำให้เราสามารถครอบคลุมทั้งหมดได้ 170,000 โลเคชันของตู้เติมเงิน จากที่ทำมา 1 ปี เราได้ลูกค้าใหม่ที่มาจากช่องทางนี้ประมาณ 70% แปลว่าคน 100 คนที่มาซื้อสติกเกอร์ผ่านตู้เติมเงิน มี 70 คนที่เป็นคนไม่เคยซื้อสติกเกอร์ไลน์มาก่อนเลย นอกจากนี้เรายังร่วมมือกับ Dtac เปิดช่องทางการซื้อผ่าน USSD (ย่อมาจาก Unstructured Supplementary Services Data ซึ่งเป็นบริการที่คล้ายกับ SMS แต่ข้อความที่ได้รับจากระบบ USSD จะไม่ถูกบันทึกลงบนอุปกรณ์มือถือเหมือน SMS โดย USSD ใช้งานได้ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกเครื่องที่ใช้ระบบ GSM และมือถือทุกรุ่น ที่รองรับบริการ SMS โดยไม่ต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต) ผลตอบรับก็เป็นที่น่าพอใจเช่นกัน  

 

 

กลยุทธ์อื่นๆ ของ LINE ประเทศไทยที่จะเริ่มให้เห็นในปีนี้

เราพยายาม Refresh ช่องทางใน LINE Store ซึ่งเป็นช่องทางเดิมที่เรามี แต่ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่รู้จัก ทั้งๆ ที่ LINE Store มีวิธีการชำระเงินที่หลากหลายถึง 7 วิธี ง่ายที่สุดคือ การชำระผ่านเบอร์มือถือเลย เพราะสุดท้ายมันก็จะไปตัดบิลมือถือ เรามองว่าเป็นวิธีที่ง่าย และทางพาร์ตเนอร์บริษัทมือถือก็พร้อมจะซัพพอร์ตเรื่องนี้ ตั้งแต่ตอนนี้จนถึงสิ้นปีทุกคนก็จะเริ่มเห็นการ Refresh Communication ของ LINE Store บ่อยขึ้น เรามองว่ากลุ่มเป้าหมายของคนที่อยู่ในช่องทางนี้เป็นกลุ่ม Urban อย่างนักศึกษา หรือ First Jobber ที่อาจจะยังไม่มีบัตรเครดิต แต่เขามีโทรศัพท์มือถือกันทุกคน เขาจึงสามารถซื้อสติกเกอร์ไลน์ง่ายๆ ผ่านช่องทาง LINE Store ได้ง่ายและสะดวก

 

 

วางแผนโปรโมตอย่างไรให้คนทั่วไปหันมาสนใจทำสติกเกอร์มากขึ้น

ในประเทศไทยมีการสนับสนุนให้มีเวิร์กช็อปมอบความรู้เกี่ยวกับการทำสติกเกอร์อย่างสม่ำเสมอ โดยจัดขึ้นใน 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และขอนแก่น เราจัดมาแล้ว 2 ปีติดต่อกัน เราต้องการให้ครีเอเตอร์ที่ประสบความสำเร็จมาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ และเทคนิคในการทำสติกเกอร์ไลน์ ซึ่งทุกปีหลังจากจบเวิร์กช็อป เราจะได้ครีเอเตอร์หน้าใหม่ส่งผลงานให้ได้เห็นกันมากขึ้น ในช่วงระยะเวลาก่อนจะมีแผนงานใดๆ เกิดขึ้น เราจึงมักจัดเวิร์กช็อปก่อนประมาณ 3 ครั้ง เพื่อให้ครีเอเตอร์หน้าใหม่ได้รู้จักการทำสติกเกอร์ แล้วเราค่อยดำเนินแผนงานจัดประกวด ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ต่อเนื่องกัน เมื่อคนรู้เทคนิคการทำสติกเกอร์ไลน์แล้ว เขาก็มีความสนใจที่จะส่งสติกเกอร์เข้าประกวดต่อนั่นเอง

 

ทริปการพาเหล่าครีเอเตอร์ทั้ง 10 คน มาเที่ยวประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ ก็เป็นหนึ่งในแผนที่ LINE ประเทศไทย จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 แล้ว (ปี 2018 Anniversary LINE Creator Market ครบรอบ 4 ปี) เราแบ่งการออกแบบเป็น 2 ประเภท คือ การประกวดสติกเกอร์ภาพนิ่งและการประกวดสติกเกอร์แอนิเมชัน แบ่งประเภทละ 5 รางวัล เป็นที่น่าสนใจว่าปีนี้มีจำนวนผู้ส่งสติกเกอร์เข้าประกวดทั้งหมดจำนวน 2,200 คน ทั้ง 10 คน ที่ชนะการประกวดปีนี้จึงต้องชมเชยจริงๆ การที่เราพาพวกเขามาเที่ยวญี่ปุ่น เช่น พาไปสตูดิโอจิบลิ หรือพาไปสวนสนุกวันพีซ อยากบอกว่า ทุกอย่างมันเกี่ยวข้องกับครีเอเตอร์โดยตรง ทุกคนจะได้งานดีไซน์ต่างๆ เมื่อพวกเขาเป็นครีเอเตอร์ก็ย่อมอยากสร้างสรรค์ผลงานให้ออกมาดี  การได้มาเห็นงานศิลปะต่างๆ เหล่านี้ ช่วยสร้างแรงบันดาลใจได้เป็นอย่างดี ผมเชื่อว่าประเทศไทยอีกระยะหนึ่งในอนาคต เราจะสามารถสร้างอุตสาหกรรมของงานครีเอเตอร์ได้เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น ฉะนั้นทุกสถานที่ที่เราพาเหล่าครีเอเตอร์ไปเยี่ยมชม จะกลายเป็นแรงผลักดันที่ดีในการสร้างผลงานที่มีคุณภาพในแบบของตัวเองต่อไป

 

LINE ประเทศไทย สนับสนุนครีเอเตอร์อย่างไร

เราต้องการให้การทำสติกเกอร์ไลน์สามารถเป็นอาชีพหนึ่งได้เลย เราจึงมุ่งพัฒนากิจกรรมหลายๆ อย่างในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมอาชีพครีเอเตอร์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ทำให้คนไทยมองเห็นว่า ครีเอเตอร์นี่ก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ ซึ่งเป็นอาชีพใหม่ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน เราก็ยิ่งต้องส่งเสริมให้เหล่าครีเอเตอร์หรือคนที่สนใจ มองเห็นโอกาสที่จะทำเป็นอาชีพ จริงๆ ต้องบอกว่า เราแค่อยากให้คนมองเห็นว่าการทำสติกเกอร์เป็นอีกอาชีพหนึ่งได้ ส่วนเขาอยากจะยึดเป็นอาชีพหลักหรือเปล่า มันก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน

 

 

การทำสติกเกอร์ไลน์เรียกว่าเป็นอาชีพได้จริงหรือ

หลายครั้งที่เราคุยกับครีเอเตอร์ สิ่งหนึ่งที่เขาสะท้อนออกมาก็คือ เวลาคนถามว่าทำอะไร เขาตอบว่าเขาทำอาชีพไลน์ครีเอเตอร์ แล้วคนจะสงสัยว่ามันคืออะไร มันสร้างรายได้เป็นอาชีพหลักได้ไหม นั่นเป็นสาเหตุที่เราอยากทำให้อาชีพไลน์ครีเอเตอร์เป็นอาชีพที่เป็นที่รู้จักมากขึ้น ผมมองว่าจริงๆ มันเป็นโอกาสแห่งอาชีพใหม่เลยนะ เราเห็นเด็กมหาวิทยาลัยหลายคนที่ยังเรียนไม่จบ หรือบางคนเพิ่งเริ่มเข้าสู่ชีวิตการทำงานเป็นพนักงานบริษัทธรรมดา แต่พอมาลองทำสติกเกอร์ไลน์ขายแล้วสร้างรายได้เยอะมาก หลายคนก็กล้าลาออกจากงานเพื่อมาเป็นครีเอเตอร์อย่างเดียวก็มี

 

เรามีเคสตัวอย่างจากครีเอเตอร์คนหนึ่งที่เรามี ก่อนหน้าที่จะมาทำสติกเกอร์ไลน์ เขามีอาชีพเป็นนักวิทยาศาสตร์ ทำงานอยู่ในห้องแล็บ แต่หลังจากที่เขาออกสติกเกอร์มาเพียงแค่เซตเดียว เขาก็ลาออกจากงานนักวิทยาศาสตร์มาเป็นครีเอเตอร์ เพื่อทำสติกเกอร์ไลน์อย่างเดียว เขาบอกว่ารายได้ที่เขาได้จากการทำสติกเกอร์ไลน์เพียงพอที่จะยึดเป็นอาชีพ และเขามีความสุขมากกว่าด้วย

 

บางคนเป็นครีเอทีฟ ทำงานในบริษัทโฆษณา พอออกสติกเกอร์ไลน์มาแล้วประสบความสำเร็จ เขาก็ไม่ทำอาชีพครีเอทีฟแล้ว แต่ลาออกมาทำสติกเกอร์ไลน์อย่างจริงจัง มีหลายคนที่เปลี่ยนชีวิตได้จากการทำสติกเกอร์ไลน์ และโอกาสที่เข้ามาทำอาชีพนี้เราเปิดกว้างให้สำหรับทุกคน และเราก็มีตัวช่วยให้คนสามารถทำสติกเกอร์ไลน์ได้ง่ายขึ้นด้วย

 

มารู้จักตัวช่วยที่ทำให้ไม่ว่าใครก็สามารถออกแบบสติกเกอร์ได้

เราเพิ่งเปิดตัวแอปพลิเคชัน Creator Studio ที่ช่วยให้ทำสติกเกอร์ของตัวเองได้ง่ายขึ้น ทำให้จำนวนของครีเอเตอร์ที่ Submit สติกเกอร์เข้ามาในระบบเยอะมากๆ จนเรียกได้ว่าเยอะที่สุดในโลกก็ได้ มันเกินความคาดหมาย และไม่ได้จำกัดการส่งเข้ามาด้วย ต้องบอกว่าตอนแรกที่เราเปิดแอปฯ เราก็ต้องรับมือและปรับตัวในฝั่งระบบของเราด้วย ซึ่งช่วงแรกที่เปิดแอปฯ ใหม่ใช้เวลาปรับกันนาน 3-4 เดือน ทำให้คอนเทนต์ที่ครีเอเตอร์ส่งกันเข้ามาอาจมีการดีเลย์ไป แต่หลังจากเราปรับระบบแล้วไม่เกิน 1 สัปดาห์ก็สามารถ Approve ได้แล้ว ปัจจุบันจำนวนสติกเกอร์ของครีเอเตอร์ในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 450,000 เซต ในปีที่แล้วเรามีสัดส่วนของสติกเกอร์ที่ออกแบบโดยครีเอเตอร์ไทยเทียบกับครีเอเตอร์ใน Global เพียง 9% แต่ปีนี้ รายงานจากครึ่งปีแรก 2018 เราชิงสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นถึง 23% ซึ่งเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดมาก ทำให้ยอดดาวน์โหลดสติกเกอร์ปีนี้ เมื่อเทียบกับปีที่แล้วในครึ่งปีแรก เติบโตขึ้น 78%

 

นอกจากรายได้จากสติกเกอร์ ครีเอเตอร์ทำอะไรได้อีกบ้าง

สำหรับครีเอเตอร์หน้าใหม่คนไทย ถ้าใครทำยอดขายสติกเกอร์แต่ละเดือนได้สูงที่สุด เราจะสนับสนุนงบประมาณในการจัดทำสินค้าเพื่อจัดจำหน่าย จะเห็นว่าทุกเดือนเราจะมีสินค้าที่เกิดจากเหล่าครีเอเตอร์ไทยตลอด วิธีของเราคือ สนับสนุนเป็นงบประมาณในการจัดทำ แล้วมาวางจำหน่ายในไลน์กิฟต์ช็อปได้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ และทางบริษัทก็จะช่วยโปรโมตให้ด้วย ทั้งหมดนี้จึงเป็นการส่งเสริมให้ครีเอเตอร์สามารถต่อยอดไปได้ ทุกปีเราจะจัดงานไลน์สติกเกอร์อวอร์ด ภายในงานก็จะมีครีเอเตอร์ทำสินค้าต่างๆ มาวางจำหน่าย ตอนนี้เรามองไปถึงการต่อยอดที่ไกลออกไป คือนอกเหนือจากงานไลน์สติกเกอร์อวอร์ด ก็จะมีเป็น Pop-Up บูธ หรือเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสติกเกอร์ในประเทศไทย   

 

 

แนะวิธีทำสติกเกอร์ไลน์อย่างไรให้ปังและขายดี

ต้องพัฒนาตัวเอง ไม่หยุดคิดอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอด อยากบอกว่าบางทีไม่ใช่ครีเอเตอร์ทุกคนที่จะประสบความสำเร็จตั้งแต่เซตแรก แม้กระทั่งครีเอเตอร์ญี่ปุ่นเองก็ตาม หลายๆ ครั้งเราจะคุยกับครีเอเตอร์ที่ประสบความสำเร็จ บางคนกว่าจะดังก็มาถึงเซตที่ 10 แล้วก็มี ซึ่งเป็นเรื่องปกติมาก พอเขาประสบความสำเร็จแล้วผลลัพธ์มันมหาศาล ดังนั้นถ้าคุณทำมาแค่เซตเดียวแล้วประสบความสำเร็จ ถือว่าคุณโชคดีมากนะ แต่ถ้าคุณไม่สำเร็จก็ไม่ได้แปลว่าคุณล้มเหลว เพราะสติกเกอร์ไลน์ก็เหมือนกับคอนเทนต์หนึ่ง เราไม่รู้หรอกว่าคอนเทนต์ที่ทำมันจะไปโดนใจใครหรือเปล่า มันก็เหมือนการทำสินค้าด้วย เราต้องรู้ว่าคนที่จะซื้อสินค้าของเราเป็นใคร ไม่ใช่ทุกคนที่อยากซื้อสติกเกอร์ของเราแน่ๆ แต่เราจะทาร์เก็ตกลุ่มอย่างไรล่ะ ก็ต้องเข้าใจก่อนว่าเราจะทำให้ใคร และต้องเข้าใจคนกลุ่มนี้ด้วยว่า พวกเขาสนใจอะไร อยากได้อะไร ชอบเทรนด์แบบไหน สิ่งเหล่านี้ก็สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นงานดีไซน์ เพื่อจะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ต้องเข้าใจว่าลูกค้าต้องการอะไรก่อน เขากำลังจะขายใคร มันเหมือนมุมมองของนักธุรกิจ และต้องมีแรงที่จะทำอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายพอเจอคาแรกเตอร์ที่มันใช่ มันจะต่อยอดไปได้เรื่อยๆ

 

มีคำแนะนำจากซับเอเตอร์ที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อคนที่อยากทำให้สติกเกอร์ดึงดูดความสนใจของคนได้ คือข้อมูลเรื่องดีเทลหรือรายละเอียดการวาด จริงๆ แล้วไม่ต้องละเอียด หรือวาดเยอะ วาดใหญ่ แต่ควรโฟกัสไปที่การนำเสนอที่ชัดเจน ผ่านคาแรกเตอร์ที่โดดเด่นเข้าใจง่าย และต้องมีคำที่ใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน เช่น สวัสดีค่ะ/ครับ ขอบคุณ กู๊ดไนต์ โอเค หรือ 555 อะไรทำนองนี้เป็นคำที่ต้องมี เพราะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อไปในใช้งานในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น

 

บรรยากาศห้องนั่งเล่นในออฟฟิศ LINE สาขาชินจูกุ

 

เทรนด์สติกเกอร์ไลน์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ครีเอเตอร์ต้องปรับตัวอยู่เสมอ
สัดส่วนของคนที่ซื้อสติกเกอร์ไลน์แบ่งเป็นผู้หญิงประมาณ 65% ผู้ชายประมาณ 35% ช่วงอายุที่เราเห็นรายงานตัวเลขเยอะที่สุดจะอยู่ที่ช่วง 25-29 ปี เป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อและพร้อมที่จะใช้จ่ายเงินกับคอนเทนต์หรือความพึงพอใจในสติกเกอร์ไลน์ เทรนด์ของสติกเกอร์ไลน์เองมันก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ บางครั้งคนก็นิยมสติกเกอร์ตัวการ์ตูนสวยๆ ลายเส้นน่ารักๆ แต่บางครั้งเทรนด์ก็จะเปลี่ยนไปเป็นชอบลายเส้นการ์ตูนขาวดำ เรียบๆ ง่ายๆ แล้วที่เห็นว่ากำลังเป็นกระแสช่วงนี้ก็คือสติกเกอร์ที่เป็นข้อความ บางทีก็เป็นแค่ Text เพียวๆ ไม่มีการ์ตูนเลย แต่เทรนด์เหล่านี้มันเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ครีเอเตอร์เองก็ต้องปรับตัว

 

 

นอกจากสติกเกอร์ไลน์ ให้จับตา Theme ที่มุ่งพัฒนาเป็นเทรนด์ใหม่

ปัจจุบันเรามีการส่งเสริมและโปรโมตการออก Theme มากขึ้น เรามีการวางแผนร่วมกับคอนเทนต์โพรไวเดอร์ต่างๆ เช่น ช่องต่างๆ หรือค่ายเพลง ในการดึงศิลปินมาออกสติกเกอร์ไลน์พร้อมกับ Theme ซึ่ง Theme มีลักษณะพิเศษเฉพาะสำหรับคอนเทนต์ที่เป็นศิลปินดารา เราพบว่า เหล่าแฟนคลับอย่างไรเขาก็อยากเห็นศิลปินที่เขาชื่นชอบอยู่ในหน้าจอมือถือตลอดเวลา เขาก็จะซื้อ Theme เก็บไว้ดูคนเดียว กลายเป็นว่าเดี๋ยวนี้คนที่ซื้อสติกเกอร์ไลน์ 1 ใน 3 จะซื้อ Theme ด้วย ทำให้สัดส่วนของธุรกิจ Theme เริ่มค่อยๆ เติบโตขึ้น คอนเทนต์โพรไวเดอร์และศิลปินดาราก็มองเห็นโอกาสตรงนี้เพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่าง Theme ที่ขายดีมากๆ เช่น เป๊ก ผลิตโชค และ BNK48

 

อิซูมิ เจ้าของคาแรกเตอร์กุ้ง Moving Shrimp

 

 

ทริปเปิดประสบการณ์ สู่การเป็นสติกเกอร์ครีเอเตอร์ชั้นยอด

นอกจากประสบการท่องเที่ยวและการเที่ยวชมงานการ์ตูนในสตูดิโอจิบลิ สวนสนุกวันพีซ โตเกียวครีเอเตอร์สตรีท สวนสนุก Fuji Q Highland และพิพิธภัณฑ์ teamLab แล้ว ส่วนหนึ่งของทริปที่สำคัญมากต่อเหล่าครีเอเตอร์ทั้ง 10 คน คือการเข้าเยี่ยมชม LINE Office สาขาใหญ่ใจกลางย่านชินจูกุ ซึ่งครีเอเตอร์ชาวไทยทั้ง 10 คน มีโอกาสสำคัญได้พบปะและร่วมแชร์ประสบการณ์ออกแบบสติกเกอร์ไลน์กับ 3 ครีเอเตอร์ชื่อดังชาวญี่ปุ่น อาทิ Quan เจ้าของสติกเกอร์ Quan มาดกวนๆ อิซูมิ คานาเอะ สาวน้อยน่ารักเจ้าของสติกเกอร์กุ้ง Moving Shrimp ที่โดนใจคนญี่ปุ่นสุดๆ และ มิโฮะ คุโรสุ เจ้าของผลงานคาแรกเตอร์แมวน่ารักแสนซน

 

Quan เจ้าของคาแรกเตอร์หมีขาแดนซ์

มิโฮะ คุโรสุ เจ้าของคาแรกเตอร์แมวแสนซนน่ารัก

 

ครีเอเตอร์ชาวญี่ปุ่นทั้ง 3 คน ได้แชร์ประสบการณ์การทำสติกเกอร์ไลน์ในแบบของตัวเอง โดยมีใจความหลักๆ คือ วาดในสิ่งที่ตัวเองรักและสนใจ เช่น Quan วาดคาแรกเตอร์ของหมีที่เต้นท่ากวนๆ นั่นเป็นเพราะตัวเขาเองก็ชอบเต้น ส่วนสาวน้อยอิซูมิที่มาพร้อมสติกเกอร์กุ้งจอมซ่า เธอก็วาดจากอาหารที่เธอชอบกิน นั่นก็คือกุ้ง พอนำมาสร้างเป็นคาแรกเตอร์ดุ๊กดิ๊ก กุ้งที่เต้นได้ก็กลายเป็นสติกเกอร์ที่โดดเด่นจนได้รับความนิยมในญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว

 

ส่วนสาวหวาน มิโฮะ คุโรสุ เธอเป็นคนที่เลี้ยงแมวอยู่แล้ว และเป็นคนรักสัตว์ สติกเกอร์ไลน์ของเธอจึงนำแมวมาวาดเป็นคาแรกเตอร์หลัก ซึ่งกลายเป็นซิกเนเจอร์ประจำตัวของเธอไปแล้ว

 

นอกจากเหนือจากการทำสติกเกอร์ไลน์แล้ว ครีเอเตอร์เหล่านี้มีการต่อยอดคาแรกเตอร์ที่ประสบความสำเร็จมาผลิตเป็นสินค้าให้เหล่าแฟนคลับได้ซื้อสะสมอีกด้วย จากโอกาสที่ได้พบกันระหว่างครีเอเตอร์ไทยและครีเอเตอร์ญี่ปุ่น จึงเป็นการพบปะที่นำไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจที่ดีต่อการพัฒนาผลงาน รวมถึงมุมมองและวิธีคิดที่มีพลังมากกว่าเดิม

 

อุ้ม-พรพรหม รักษาศิริกุล

 

อุ้ม-พรพรหม รักษาศิริกุล อาชีพกราฟิกแอนิเมเตอร์ หนึ่งในผู้ชนะการประกวดออกแบบสติกเกอร์แอนิเมชัน 2018 กับ LINE ประเทศไทย ในชื่อเซต Hard Life เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า

 

“Hard Life ที่ส่งเข้าประกวดกับ LINE ประเทศไทยในครั้งนี้ ทำออกมาจากประสบการณ์ส่วนตัวของตัวเองกับเพื่อนร่วมงาน โดยเราหยิบยกเอาประเด็นบางอย่างที่เราเจอในชีวิตแล้วรู้สึกว่ามันโหดร้ายมาก แต่เราเอามาเล่าผ่านมุมขำๆ ให้เพื่อนฟัง เช่น สมมติเราไปเข้าห้องน้ำแล้วจะใช้ทิชชู แต่หันไปแล้วมันหมดอะไรอย่างนี้ ตอนนั้นเราจะแย่แล้ว แต่พอเราออกมาแล้ว เราเอามาเล่าสู่เพื่อนฟังมันจะเป็นเรื่องที่หัวเราะให้กับมันได้ การที่อุ้มได้มาร่วมทริปญี่ปุ่นกับ LINE ประเทศไทยครั้งนี้ บอกเลยว่า ให้ประสบการณ์ที่ดีกับอุ้มเยอะมาก อย่างแรกเลย เราได้แรงบันดาลใจจากการไปสตูดิโอจิบลิ ได้เห็นแต่ละขั้นตอนว่ากว่าเขาจะสร้างการ์ตูนจนเป็นภาพยนตร์ได้เรื่องหนึ่ง มันมีเบื้องหลังที่น่าทึ่งมาก มันช่วยต่อยอดความคิดให้เราได้ด้วยว่าถ้าต่อไปเราสร้างผลงานให้ดี เราก็จะได้รับโอกาสต่างๆ มากมาย นอกจากสติกเกอร์ไลน์แล้ว เรายังสามารถทำเป็นสิ่งของที่จับต้องได้มากขึ้น

 

“นอกจากนี้ การมาญี่ปุ่นครั้งนี้ยังได้ไปออฟฟิศ LINE สาขาใหญ่ที่ชินจูกุด้วย ที่นั่นได้พบกับครีเอเตอร์ชาวญี่ปุ่นที่มาแชร์ผลงานและประสบการณ์ทำงานให้ฟัง อุ้มรู้สึกว่าเหมือนได้เพื่อนเพิ่ม เราก็มีการแอดไลน์เอาไว้แลกเปลี่ยนคุยกันต่อไป อุ้มประทับใจอิซูมิเป็นพิเศษ ชอบเขามากๆ อุ้มก็ถามว่าเวลาเขาจะทำสติกเกอร์ขึ้นมาสักเซต เขาดูเทรนด์ก่อนหรือเปล่าแล้วค่อยวาด แต่วิธีคิดเขาดีมากเลย เขาบอกว่าเขาไม่ได้คิดอะไรเยอะเลย เขาทำสติกเกอร์จากความชอบข้างในใจ เขาแค่ทำตามสิ่งที่เขารักและสนใจ งานของเขาจึงออกมาเป็นตัวของตัวเองมากๆ”

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising