×

LINE ปล่อยหมัดเด็ดลุย FinTech และ AI สรุปงาน LINE Conference 2018

29.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • งาน LINE Conference 2018 มาในคอนเซปต์ Redesign ปรับปรุงบริการเดิมๆ และออกแบบใหม่ให้น่าสนใจ ใกล้ชิดกับตัวผู้ใช้และเติมเต็มการใช้งานในชีวิตประจำวันได้อย่างไร้ช่องโหว่
  • ลุยตลาด FinTech ผ่านเทคโนโลยี Blockchain ออกแบบหน่วยเงิน LINE Token Economy ขึ้นมาใช้บนแพลตฟอร์มของตัวเอง พร้อมบริการเทรดเงินคริปโตฯ ที่ให้บริการในกว่า 30 ประเทศทั่วโลก
  • AI หรือลำโพงอัจฉริยะผู้ช่วยปัญญาประดิษฐ์ Clova ถูกปรับให้ฉลาดและทำงานได้หลากหลายด้าน ตอบสนองคำสั่งเสียง จำแนกเสียงผู้ใช้ได้ดี แต่ยังยึดจุดเด่นการให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ภายนอกและเสียงเช่นเคย

ทุกๆ ปีบริษัทเทคฯ ทั่วโลกจะจัดงานประชุมประจำปีเพื่ออัปเดตภาพรวมทิศทางธุรกิจ ความสำเร็จและหมุดหมายที่ปักไว้ในรอบปีที่ผ่านมา ตลอดจนแผนการเติบโตและเส้นทางที่บริษัทจะก้าวเดินต่อไป เช่นเดียวกันกับ LINE แชตแอปพลิเคชันยอดนิยมอันดับ 1 ของคนไทยที่จัดงาน LINE Conference ติดต่อกันเป็นปีที่ 6 แล้ว

 

ปีนี้ LC18 (LINE Conference 2018) จัดกันที่ Maihama Amphitheater ในคอนเซปต์ ‘Redesign’ ออกแบบบริการเดิมๆ ให้ดีขึ้นและใกล้ชิดกับผู้ใช้มากกว่าที่เคย ความพิเศษของงานปีนี้คือมีตัวแทนผู้บริหาร LINE ประเทศไทยและไต้หวันขึ้นมาอัปเดตภาพรวมบนเวทีเป็นครั้งแรก

 

 

เมื่อแก่นหลักของงานอยู่ที่การ Redesign ข้อมูลที่เราได้รับจากผู้บรรยายแต่ละท่านจึงมีทั้งแผนการปรับบริการและโปรดักส์เดิมๆ ให้น่าสนใจมากขึ้น และเป็นการขยายบริการให้รองรับพฤติกรรมผู้บริโภคในวันข้างหน้า

 

โดยเฉพาะการพาตัวเองออกไปลุยตลาด FinTech ผ่านเทคโนโลยี Blockchain ที่เรียกเสียงฮือฮาและกลายเป็นพระเอกของงานได้แบบไร้ข้อโต้แย้ง ส่วนกลยุทธ์อื่นๆ จะน่าสนใจแค่ไหน THE STANDARD ได้สรุป 6 ประเด็นสำคัญและหมัดเด็ดของ LINE ที่เผยในงานประชุมปีนี้มาไว้ให้แล้ว

 

 

1. ลุย FinTech และบริการทางการเงินแบบครบวงจรเต็มตัว!

วิสัยทัศน์ของงาน LC ปีที่แล้วคือ Closing the Distance ลดช่องว่างระหว่างผู้ใช้และทุกภาคส่วนในระบบนิเวศเข้าด้วยกัน ซึ่ง ทาเคชิ อิเดซาวา (Takeshi Idezawa) ประธานกรรมการบริหาร LINE คอร์ปอเรชันบอกว่ากลยุทธ์นี้จะอยู่กับ LINE ไปอีก 5 ปีต่อจากนี้

 

“ไม่กี่วันที่ผ่านมา เราเพิ่งฉลองวันเกิดครบรอบ 7 ปีของ LINE ไป ซึ่งทีมงานของ LINE ต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่ทำให้บริการของเราประสบความสำเร็จ LINE เกิดขึ้นครั้งแรกเพื่อเชื่อมโยงผู้คนเข้าถึงกันและเสริมสร้างความสัมพันธ์ของพวกเขา (เกิดในปี 2011 ช่วงแผ่นดินไหวในประเทศ) และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการลดช่องว่าง ไม่ใช่แค่ระหว่างผู้ใช้ด้วยกันเท่านั้น แต่รวมถึงแบรนด์กับผู้ใช้ด้วย”

 

ส่วนปีนี้การรีดีไซน์คือหัวใจสำคัญที่ LINE จะมุ่งพัฒนาตอบโจทย์ความต้องการ เติมเต็มความสะดวกสบายในการใช้งานของผู้บริโภค โดยเฉพาะด้านการเงินและปัญญาประดิษฐ์​ (AI)

 

ทาเคชิพูดในเชิงภาพรวมว่าอินเทอร์เน็ตเข้ามาทำให้ชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ช่วยอำนวยความสะดวกสบาย และตอนนี้กระบวนทัศน์ของอินเทอร์เน็ตก็เปลี่ยนแปลงไปมาก ตัวอย่างเช่น การเกิดนวัตกรรมอย่าง Blockchain และ Crypto Currency (สกุลเงินดิจิทัล)

 

 

LINE ญี่ปุ่นจึงเลือกเปิดตัว ‘LINE Token Economy’ หน่วยเงินบนแพลตฟอร์มในรูปแบบเงินรางวัลสำหรับรีวิวบริการต่างๆ ตอบแทนผู้ใช้กลุ่ม UGC (User Generated Content) และเชื่อว่าจะช่วยติดสปีดให้บริการในระบบนิเวศของ LINE โตได้เร็ว และมีบริการใหม่ๆ เกิดขึ้นตามมาอีกมาก

 

เสริมทัพด้วย Bitbox บริการแลกเปลี่ยนเงินสกุลคริปโตฯ ที่จะนำร่องให้บริการทั่วโลกช่วงเดือนกรกฎาคม ยกเว้นสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นใน 15 ภาษา (ยกเว้นภาษาไทยและญี่ปุ่น) มีหน่วยเงินให้แลกเปลี่ยนกว่า 30 สกุลทั้ง Bitcoin, Ethereum, Bitcoin Cash และ Litecoin เป็นต้น

 

 

เท่านั้นยังไม่พอ LINE ยังเล่นใหญ่พร้อมให้บริการผู้ช่วยการเงินส่วนตัวแบบครบวงจร ‘LINE Kakeibo’ ช่วยให้ผู้ใช้สามารถวางแผนการเงินแบบเรียลไทม์ในแต่ละวัน ให้คำแนะนำการลงทุน การบริหารสินทรัพย์และการซื้อประกันภัย (เชื่อมต่อ LINE Pay เข้ากับระบบธุรกรรมอื่นๆ เช่น ธุรกรรมออนไลน์และบัตรเครดิต) แน่นอนว่าบริการทั้งหมดจะนำร่องที่ญี่ปุ่นเป็นแห่งแรกก่อน ยกเว้น Bitbox

 

ซีอีโอ LINE ประเทศญี่ปุ่นยังบอกอีกด้วยว่าแผนการของบริษัทตอนนี้คือการเคลื่อนฐานมามุ่ง FinTech และ Blockchain เป็นหลัก พร้อมเปิดตัวศูนย์วิจัยและพัฒนา LINE Blockchain Lab เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชนเต็มรูปแบบ

 

 

2. ดัน LINE Pay เป็นกุญแจพาญี่ปุ่นสู่ Cashless Society

เพื่อผลักดันให้ญี่ปุ่นเป็นสังคมไร้เงินสดแบบ 100% ซึ่งถือเป็นความท้าทายครั้งสำคัญของประเทศ LINE จึงหวังใช้ LINE Pay หรืออีวอลเล็ตร่วมเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญมุ่งไปยังเป้าหมายนั้น

 

แผนการของ LINE Pay คือปฏิวัติการทำธุรกรรมผ่านการจับมือกับพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจท่ีหลากหลายเพื่อเพิ่มช่องทางรับชำระเงิน LINE Pay ให้ได้มากกว่า 1 ล้านแห่งครอบคลุมตั้งแต่ผู้ประกอบการธุรกิจระดับเล็ก กลาง ยันแบรนด์ใหญ่ใน 3 ช่องทาง  Pay Card, QR Barcode และน้องใหม่ NFC

 

 

สาเหตุที่ LINE เชื่อว่าเป้าหมาย 1 ล้านแห่งไม่ใช่เรื่องยากเป็นเพราะได้รับความร่วมมือจากพาร์ตเนอร์ที่แข็งแกร่ง ทั้งผู้ให้บริการบัตรเครดิต JCB (ระบบ QUICPay) แถมยังใช้กลยุทธ์จูงใจผู้ประกอบการธุรกิจระดับกลางและเล็กด้วยการติดตั้งระบบให้ฟรี ไม่เก็บค่าธรรมเนียมธุรกรรมผ่านระบบนาน 3 ปีเต็ม!

 

ส่วนฝั่งผู้ใช้ก็ยังมีแคมเปญได้รับ LINE Points คืน 3% ต่อทุกๆ การทำธุรกรรมด้วย QR หรือ Barcode นาน 1 ปี (สิงหาคม 2018-กรกฎาคม 2019) จำกัดจำนวนธุรกรรมสูงสุดต่อเดือนไม่เกิน 100,000 เยนหรือประมาณ 30,000 บาท

 

 

3. ‘ภาพลักษณ์ที่เห็นและเสียงที่ได้ยิน’ จุดเด่นการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์และลำโพงอัจริยะ Clova

LINE เริ่มพัฒนาปัญญาประดิษฐ์และวางขายลำโพงอัจฉริยะ Clova สู่ท้องตลาดในชื่อ Clova Wave เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ก่อนจะค่อยๆ เปิดตัวลำโพงอัจริยะเวอร์ชันหมี Brown และเจ้าไก่ Sally ออกมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน (ใช้งานได้แค่ในเวอร์ชันภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น)

 

นับจนถึงปัจจุบัน แม้จะผ่านมาแค่ 8 เดือน แต่เจ้า Clova ก็ประสบความสำเร็จมาก  วัดจากยอดผู้ใช้ที่โตขึ้น 10 เท่า ที่น่าสนใจคือผู้ใช้ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและผู้สูงวัย

 

 

3 ฟีเจอร์เด่นที่ส่งลำโพงอัจฉริยะของ LINE ครองใจผู้ใช้ในญี่ปุ่นประกอบไปด้วย – ระบบจดจำเสียงที่ชาญฉลาด (Voice Recognition), คาแรกเตอร์ ที่นำตัวละครของ LINE Friend มาเป็นรูปลักษณ์ภายนอกได้อย่างน่ารักน่าชัง และสุดท้ายความสามารถในการเป็นผู้ช่วยของมัน

 

LINE จึงตั้งเป้าพัฒนาศักยภาพของ Clova จาก 3 แกนเด่นข้างต้น เช่น เพิ่มขีดความสามารถระบบการเรียนรู้เชิงลึก (Machine Learning Data) ให้ดีกว่าเดิม 2.3 เท่าตัว ปรับปรุงความแม่นยำการจำแนกเสียงและประโยคจาก 94% เป็น 95% ลดความช้าการตอบสนองคำสั่งเสียงลง 1.4 วินาที ใส่ความสามารถในการทำงานร่วมกับบริการอื่นๆ ของ LINE เช่น LINE Digest News, LINE Music เป็นต้น

 

 

จุน มาสึดะ (Jun Masuda) ประธานกรรมการบริหารฝ่ายกลยุทธ์การตลาด LINE คอร์ปอเรชัน บอกว่า “เพราะปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตผู้คนมากขึ้น การทำคาแรกเตอร์ของผู้ช่วย AI ให้น่ารักและเข้าถึงได้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ”

 

นอกจาก Clova Brown, Sally และ Doraemon ก็จะเพิ่มคาแรกเตอร์ขวัญใจคนญี่ปุ่น ‘มินเนียน’ เพิ่มมาด้วย พร้อม Clova Desk ลำโพงอัจริยะที่แสดงผลเป็นกราฟิกและเสียง แถมใช้ Vdo Call LINE หรือเช็กสภาพอากาศได้ เตรียมวางช่วงปลายปี นี่ยังไม่นับรวมการเป็นพาร์ตเนอร์กับค่ายรถยนต์ Toyota เพื่อนำบริการ Clova Auto ติดไปเป็นผู้ช่วยส่วนตัวในรถ

 

 

4. ‘LINE Music และ LINE Quick Game’ บริการที่ถูกปรับให้เข้าถึงง่าย ใช้งานได้หลากหลาย

จุนบอกว่าถึงตอนนี้สตรีมมิงมิวสิกอาจจะยังไม่เป็นที่นิยมในญี่ปุ่นมากนัก เพราะคนส่วนใหญ่ยังคงชื่นชอบการซื้อเพลงแบบดาวน์โหลดมากกว่า แต่เทรนด์ในอนาคตก็ชี้ให้เห็นแล้วว่ายังไงๆ มันก็ต้องมาแน่นอน

 

ปัจจุบัน LINE Music (ยังมีให้บริการในญี่ปุ่นที่เดียว) มียอดผู้ใช้งานแบบ Active อยู่ที่ราวๆ 9.7 ล้านราย มีเพลงในระบบกว่า 46 ล้านเพลง และกลยุทธ์สำคัญต่อจากนี้คือการเพิ่มออริจินัลคอนเทนต์จากศิลปินในแพลตฟอร์มให้มีมากขึ้น, ใส่ฟีเจอร์การฟังเพลงเป็น Backgroud Music และห้องแชตเปิดเพลง Chat room BGM

 

LINE ยังขยายขอบเขตการฟังเพลงให้เป็นประสบการณ์แบบ O2O โดยเพิ่มฟีเจอร์ซื้อตั๋วคอนเสิร์ตศิลปินคนโปรดแบบออนไลน์หรือ LINE Ticket ซึ่งนอกจากคอนเสิร์ตยังมีอีเวนต์, ตั๋วชมภาพยนตร์, กีฬา ฯลฯ อีกมาก ซึ่ง LINE กำลังอยู่ในระหว่างการพูดคุยและเจรจากับพาร์ตเนอร์เจ้าต่างๆ อยู่

 

ส่วน LINE Live ที่เดิมทีมีอยู่แล้วก็จะเข้ามาช่วยลดช่องว่างและเพิ่มช่องทางให้ศิลปินสามารถพูดคุยติดต่อสื่อสารกับกลุ่มแฟนๆ ได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้นผ่านฟีเจอร์ LINE Challenge

 

 

ขณะที่ LINE Game อีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญขับเคลื่อน LINE ก็จะถูกปรับให้เข้าถึงง่ายขึ้น จากเดิมที่ผู้ใช้จะต้องไปดาวน์โหลดเกมมาเล่น ซึ่งแน่นอนว่ายุ่งยาก LINE จึงแก้เกมด้วยการทำเกมง่ายๆ ให้เล่นบนแอปฯ แชตได้เลยในชื่อ ‘LINE Quick Game’ มาในรูปแบบมินิเกมขนาดย่อ และมีเกมสุดคลาสสิก Tamagotchi ให้เลือกเล่นด้วย

 

จุนเชื่อว่าเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไป อุตสาหกรรมความบันเทิงก็ต้องเปลี่ยนแปลงตาม ดังนั้นในฐานะบริษัทเทคฯ พวกเขาก็ต้องปรับตัวเพื่อให้ภาคธุรกิจบันเทิงของ LINE เติมเต็มความต้องการและชีวิตประจำวันของผู้ใช้ ซึ่งจะเป็นหนทางนำไปสู่ความแข็งแกร่งและยั่งยืน

 

 

5. อ่านข่าวออนไลน์จากความสนใจเฉพาะบุคคลด้วย LINE Digest News

LINE บอกว่าทุกวันนี้แพลตฟอร์มอ่านข่าวออนไลน์ของเขาในญี่ปุ่นอย่าง ‘LINE Digest News’ มีผู้ใช้งานมากกว่า 63 ล้านรายต่อเดือน และมีแอ็กเคานต์ผู้ผลิตข่าวมากกว่า 252 รายแล้ว

 

แต่ในวันที่มีข่าวให้เลือกอ่านบนโลกออนไลน์อยู่หลากหลาย จึงเลือกเอาเฉพาะข่าวที่น่าสนใจมาให้คุณอ่านเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าเกณฑ์ความน่านสนใจของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน ระบบของ LINE Digest จึงใช้การวิเคราะห์เชิงลึกเพื่อจำแนกความสนใจของผู้ใช้แต่ละราย (Deep Personalization) ผ่านข่าวหรือบทความที่ผู้ใช้แต่ละรายใช้เวลาอ่านนาน หรือเสิร์ชบ่อยที่สุด

 

เมื่อได้ข้อมูลทั้งหมดก็จะใช้หลักการของ Data Scientist มาจับคู่ข่าวที่ใช่กับคนที่ชอบ เพื่อให้คอนเทนต์เหล่านั้นเดินทางไปถึงเป้าหมายได้อย่างสมบูรณ์ ช่วยลบวิธีการอ่านข่าวรูปแบบเดิม

 

พร้อมกันนี้ LINE ประเทศญี่ปุ่นยังประกาศอีกด้วยว่าพวกเขาจะให้ความสำคัญกับการผลิตออริจินัลคอนเทนต์ออนไลน์ป้อนแพลตฟอร์มนี้ให้หลากหลายมากขึ้น ไม่ได้มีแค่บทความหรือข่าวอย่างเดียว แต่มีข่าวเชิงสารคดี, ภาพข่าว, ผลสำรวจ, ข่าวเชิงดรามา รวมทั้งยังเปิดรับผลงานจาก UGC ที่ส่งเข้ามาด้วย

 

 

6. เปรียบเทียบที่พักและตํ๋วเครื่องบินด้วย LINE Travel

เรียกว่าครบวงจรไลฟ​สไตล์และกิจวัตรประจำวันของผู้บริโภคอย่างแท้จริง เมื่อ LINE เล็งเจาะตลาดผู้ใช้ในวงกว้าง ให้บริการเปรียบเทียบที่พัก ตั๋วเครื่องบิน รีวิวร้านอาหารเด็ด เพื่อหาดีลเด็ดที่สุดตอบโจทย์ความต้องการของทุกๆ คน

 

LINE ตั้งเป้าไว้ว่าบริการนี้จะต้องเข้ามาช่วยเสริมยอดและตัวเลขรายได้ของฝั่งธุรกิจที่พัก ร้านอาหาร และสายการบินให้ได้ไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านเยนภายในปี 2019

 

นอกจาก LINE Travel ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ LINE E-Commerce ในประเทศญี่ปุ่น LINE ยังมี LINE Shopping ที่ต้องบอกว่าเป็นแพลตฟอร์มที่แข็งแกร่งมากๆ ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้ามาเลือกช้อปซื้อสินค้าที่ต้องโดยใช้ LINE Points ชำระสินค้าแทนเงินสด

 

 

โดยในปีนี้ LINE จะเพิ่มความสามารถและฟีเจอร์ใหม่ให้ LINE Shopping ด้วย Shopping Lens ที่จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถค้นหาสินค้าที่ต้องการจะซื้อบนแพลตฟอร์มผ่านการใช้รูปถ่ายได้ พร้อมคาดการณ์ว่ายอดขายและเงินหมุนเวียนในบริการนี้เมื่อจบปี 2018 จะต้องมีไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านเยนเช่นเดียวกับ Travel

 

แม้บริการใหม่ๆ และกลยุทธ์ส่วนใหญ่ของ LINE ที่ถูกประกาศภายในงาน LC18 ปีนี้จะเริ่มนำร่องใช้เฉพาะที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก แต่ก็มีความเป็นไปได้ไม่น้อยที่โปรดักส์เหล่านี้จะถูกขยายตลาดไปยังประเทศอื่นๆ รวมถึงที่ไทยด้วย (ดูเกณฑ์จาก Hyper Localized หรือความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละตลาดเป็นหลัก)

 

จุดร่วมหนึ่งที่น่าสนใจคือ Redesign ของ LINE ในปีนี้ไม่ได้วาดภาพของบริการและโปรดักส์ใหม่ๆ ที่ดูเพ้อฝัน แต่กลับยึดเอาบริการเดิมๆ ที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้วมาหาช่องโหว่เพื่อปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น และเติมเต็มความต้องการของผู้ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน

 

ต้องมาติดตามกันต่อไปว่าถ้า LINE ติดอาวุธบนแพลตฟอร์มตัวเองครบมือขนาดนี้ พวกเขาจะสร้างความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบในแต่ละอุตสาหกรรมที่เริ่มเข้าไปจับตลาดได้มากน้อยแค่ไหน

 

โดยเฉพาะถ้าหนึ่งในบริการเหล่านี้ถูกขยายมาที่ประเทศไทยขึ้นมาเมื่อไร ผู้เล่นในเซกเมนต์นั้นๆ อาจจะต้องสะเทือนและเตรียมหากลยุทธ์แก้เกมกันยกใหญ่แน่นอน

FYI
  • จำนวนการใช้งาน LINE Manga อ่านหนังสือการ์ตูนมังงะออนไลน์ของญี่ปุ่นในปัจจุบันอยู่ที่ 20 ล้านราย ได้รับความนิยมมากๆ แถมขยายไปสร้างคอนเทนต์แบบออริจินัลด้วยตัวเอง พร้อมตีพิมพ์เป็นรูปเล่มวางขายตามแผงหนังสือ และแยกออกไปเป็นบริษัทอิสระในชื่อ LINE Digital Frontier Corp. แล้ว
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising