จนถึงวันนี้ (1 กรกฎาคม) LINE BK ผู้ให้บริการทางการเงินแบบ Social Banking ก็ให้บริการมา 254 วันแล้ว หลังจากเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อกลางเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา
ปัจจุบัน LINE BK ระบุว่า ได้รับการตอบรับที่ดีเยี่ยมเกินความคาดหมาย โดยมีผู้ใช้แล้วกว่า 2.8 ล้านบัญชี และมียอดการทำธุรกรรมรวมกว่า 5 หมื่นล้านบาท
การดำเนินงานในครึ่งปีแรกของปี 2564 ธนา โพธิกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด กล่าวว่า เป็นไปอย่างที่บริษัทตั้งเป้าหมายไว้ ซึ่งโฟกัสไปที่บริการพื้นฐานที่เปิดตัวทั้ง 4 บริการ ได้แก่ บริการบัญชีเงินฝาก 3.4 ล้านบัญชี บริการบัญชีเงินออมดอกพิเศษ 75,000 บัญชี บริการบัตรเดบิต 1.4 ล้านบัตร รวมทั้งบัตรออนไลน์และบัตรเดบิตแบบแข็ง และบริการวงเงินให้ยืม
ล่าสุดในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา LINE BK ได้ออกวงเงินให้ยืมนาโน (Nano Loan) สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ โดยมีวงเงินเริ่มต้นตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไป คิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกในอัตราไม่เกิน 33% จับกลุ่มเป้าหมายเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กและพนักงานประจำที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจ
ด้วยความต้องการในสภาพคล่องที่สูงมากในช่วงนี้ ส่งผลให้ธุรกิจด้านสินเชื่อเติบโตมาก โดยมียอดการสมัครวงเงินให้ยืม 4 ล้านใบสมัคร เป็นจำนวนลูกค้า 2 ล้านราย ธนาระบุว่า “ส่วนหนึ่งที่ทำให้เลขนี้สูงเกิดจากลูกค้ามีความเชื่อว่าสมัครซ้ำไปเรื่อยๆ เดี๋ยวจะได้เอง ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะต้องมีประวัติที่ดีก่อน คนเหล่านี้จึงเป็นกลุ่มที่เรายังอนุมัติยาก”
ปัจจุบันยอดรวมการปล่อยสินเชื่อ (Disbursed) อยู่ที่ 14,000 ล้านบาท ยอดสินเชื่อคงค้างในตลาด (Outstanding) 9,000 ล้านบาท โดยมีการอนุมัติทั้งสิ้น 350,000 ราย สำหรับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 20-25% ตอนนี้มีวงเงินกู้ยืมเฉลี่ย 35,000 บาทต่อราย และดอกเบี้ยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์อยู่ที่ 33% มีวงเงินกู้ยืมเฉลี่ย 11,000 บาทต่อราย
ธนาระบุว่า บริการสินเชื่อตั้งเป้าเจาะตลาดแมส โดยดึงคนที่ไม่มีรายได้ประจำเข้ามาอยู่ในระบบให้ได้ ซึ่งปัจจุบันฐานลูกค้า 41% เป็นกลุ่มฟรีแลนซ์ เกษตรกร แม่ค้า ขณะที่เกิน 75% ของทั้งพอร์ตเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน
“ตัวเลขนี้อยู่ในอัตราส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับสถาบันใหญ่ๆ ความตั้งใจ (ดึงคนที่ไม่มีรายได้ประจำเข้ามาอยู่ในระบบ) ต้องแลกมากับความสามารถในการบริหารความเสี่ยงที่สูงด้วย ดังนั้นเพื่อแยกแยะคุณภาพการชำระหนี้ เราจะมีการแยกแยะคุณภาพการชำระหนี้และพัฒนาโมเดลเกณฑ์คำนวณการปล่อยสินเชื่อให้แม่นยำมากขึ้น ซึ่งจะสามารถปรับระดับวงเงินไปเรื่อยๆ ได้”
สำหรับสัดส่วนของ NPL (สินเชื่อที่คงค้างเกิน 90 วัน/หนี้เสีย) อยู่ที่ 2% ต่อสินเชื่อทั้งหมด “หลายคนมองว่าตัวเลขเท่านี้ถือว่าต่ำ แต่ในธุรกิจเปิดใหม่ สัดส่วนสินเชื่อใหม่นั้นมีเข้ามาเรื่อยๆ โอกาสผิดนัดชำระหนี้เกิน 90 วัน ยังเห็นไม่มากนัก ดังนั้นตัวเลขนี้กับ LINE BK ยังคงไม่มีความหมายที่สำคัญขนาดนั้น” ธนากล่าวพร้อมตั้งเป้าว่าอยากบริหาร NPL ให้ไม่เกิน 5% แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่ง ณ ตอนนี้สถานการณ์ยังคงประเมินยากอยู่ โดยกลุ่มแม่ค้ารายย่อย (sSME) เป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุด ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะนับเป็นกลุ่มหลักของลูกค้าของ LINE BK
สำหรับแผนครึ่งปีหลัง LINE BK ตั้งเป้าเดินหน้าสร้างพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นหนึ่งในวิธีที่ตอบโจทย์การเข้าถึงลูกค้าให้ได้มากที่สุด
อย่างไรก็ตามด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูง เกิดเป็นความกังวลที่ว่ายิ่งคนต้องการเข้าถึงเงินทุนมากเท่าไหร่ สถาบันการเงินยิ่งเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เกิดเป็นวัฏจักรหันพึ่งเงินทุนนอกระบบ “ถ้าเพดานดอกเบี้ยเปลี่ยนไปเท่าไหน เราก็ต้องปรับการบริหารความเสี่ยงตามเพดาน ซึ่งจะชี้ว่าเราสามารถอนุมัติสินเชื่อได้มากน้อยแค่ไหน” ปัจจุบัน LINE BK มีสัดส่วนการอนุมัติสินเชื่อ (Approval Rate) เฉลี่ยอยู่ที่ 10-20% ตามสถานการณ์และความเสี่ยงที่เกิดขึ้น
สำหรับเรื่องที่ว่าความคุ้นชินของคนไทยกับการใช้ Social Banking ธนาให้ความเห็นว่า “สิ่งที่ยากที่สุดในการสู้กับธนาคารทั่วไปคือ ดิจิทัลแบงกิ้งเป็นสิ่งที่คนไทยใช้กันอยู่แล้ว เรากำลังแข่งกับสิ่งที่ทุกคนมองว่าสะดวกอยู่แล้ว ฉะนั้นการทำธุรกรรมให้ง่ายขึ้นยังคงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายอยู่ในตอนนี้” พร้อมเสริมว่า LINE BK ยังต้องให้ความรู้กับตลาดอีกเยอะพอสมควร “หลายคนยังไม่รู้เลยว่าใน LINE BK มีโอนผ่านแชทได้”
ธนาตั้งเป้าหมายไว้ว่าอยากให้ LINE BK ขึ้นเป็นผู้เล่น Top 5 ของธุรกิจการให้บริการสินเชื่อแบบนอนแบงก์ พร้อมมุ่งมั่นที่จะขยายขอบเขตบริการทางการเงินรูปแบบอื่นๆ เพื่อให้ครอบคลุมทุกความต้องการมากยิ่งขึ้น เช่น บริการด้านการประกันและการลงทุน โดยคาดว่าอาจจะเริ่มที่ประกันก่อนอย่างเร็วภายใน 1 ปี ในการพัฒนาบริการ ส่วนเรื่องการลงทุนขอประเมินสถานการณ์ของตลาดอีกครั้ง
พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น