×

ศาลสูงสหรัฐฯ จำกัดอำนาจควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของรัฐบาล มีนัยอะไร กระทบนโยบายลดโลกร้อนหรือไม่

โดย THE STANDARD TEAM
02.07.2022
  • LOADING...
การปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกา มีมติด้วยเสียงข้างมาก 6-3 เสียง ตัดสินให้จำกัดอำนาจของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐฯ (EPA) ในการควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละรัฐทั่วประเทศ

 

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วสหรัฐฯ คำตัดสินของศาลสูงสุดในครั้งนี้จึงอาจส่งผลกระทบในวงกว้างต่อความพยายามในการบรรเทาภาวะโลกร้อนของหน่วยงานต่างๆ ตั้งแต่ภาคการศึกษา การขนส่ง ไปจนถึงอาหาร และมีแนวโน้มที่จะเป็นอุปสรรคขัดขวางแผนการของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งภายในสิ้นทศวรรษ และทำให้สหรัฐฯ กลับมาเป็นผู้นำโลกในการต่อสู้เพื่อชะลอภาวะโลกร้อนอีกครั้ง

 

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่รัฐเวสต์เวอร์จิเนียออกโรงเป็นตัวแทนของอีก 18 รัฐ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรัฐที่มีพรรครีพับลิกันเป็นผู้นำ) ตลอดจนบริษัทถ่านหินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ หลายแห่งยื่นฟ้องต่อศาล โดยอ้างว่า EPA ไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จที่จะสั่งจำกัดการปล่อยคาร์บอนในทุกรัฐของประเทศ โดยทั้ง 19 รัฐต่างวิตกกังวลว่า EPA อาจใช้อำนาจสั่งการให้ภาคพลังงานยกเลิกการใช้งานถ่านหิน ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

 

ในขณะที่ผู้นำการเมืองและผู้นำธุรกิจในรัฐเวสต์เวอร์จิเนียขานรับคำตัดสินของศาลด้วยความยินดี แต่ไบเดนกล่าวว่า คำตัดสินดังกล่าวเป็น ‘อีกหนึ่งคำตัดสินที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง และจะทำให้ประเทศของเราถอยหลัง’ อย่างไรก็ดี ผู้นำสหรัฐฯ ยืนยันว่า สิ่งนี้จะไม่ทำลายความพยายามของเขาในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน โดยเขาจะยังคงใช้อำนาจเท่าที่มีอยู่ และสามารถทำได้ต่อไปเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน 

 

คำตัดสินของศาลสำคัญอย่างไร จะทำให้ความพยายามลดโลกร้อนของสหรัฐฯ สูญเปล่าหรือไม่ และจะส่งผลต่อการดำเนินการด้านกฎระเบียบอื่นๆ ของฝ่ายบริหารของไบเดนอย่างไร เราจะมาพาไปหาคำตอบ

  • ศาลตัดสินว่าอะไร?

จอห์น โรเบิร์ต หัวหน้าผู้พิพากษา กล่าวว่า พระราชบัญญัติ Clean Air Act ไม่ได้ให้อำนาจ EPA ในการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในลักษณะที่จะบังคับให้เปลี่ยนจากการใช้ถ่านหินในการผลิตกระแสไฟฟ้าทั่วประเทศ และระบุว่าสภาคองเกรสจะต้องให้อำนาจกับ EPA อย่างชัดเจนจึงจะสามารถดำเนินการดังกล่าวได้ในอนาคต

 

ทั้งนี้ Clean Air Act ซึ่ง EPA ใช้เป็นเครื่องมือในการออกกฎระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ นั้น ผ่านสภาคองเกรสเมื่อปี 1970 ในยุคที่โลกร้อนยังไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนัก

 

“มันเกือบจะเหมือนกับว่า ศาลต้องการให้สภาคองเกรสออกกฎหมายใหม่ทุกครั้งที่เกิดปัญหาใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องไร้สาระและอันตราย” ศ.ลิซ่า ไฮน์เซอร์ลิง อาจารย์ด้านนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ และอดีตเจ้าหน้าที่ EPA กล่าว 

 

คำตัดสินของศาลส่งผลอย่างไรกับความพยายามของไบเดนและฝ่ายบริหารในการต่อสู้เพื่อลดโลกร้อน?

 

ในระยะสั้น คำตัดสินนี้จะทำให้ฝ่ายบริหารของไบเดนบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศได้ยากขึ้น โดยไบเดนได้ให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหรัฐฯ อย่างน้อยครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 และผลักดันโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศให้ปลอดคาร์บอนภายในปี 2035 

 

เป้าหมายดังกล่าวตกอยู่ในอันตรายอย่างชัดเจน หลังจากที่ศาลสูงสุดมีคำตัดสินให้โยนความรับผิดชอบในประเด็นนี้ไปที่สภาคองเกรส เพราะมีโอกาสน้อยมากที่ยุทธวิธีทางกฎหมายของไบเดนจะประสบความสำเร็จในการต่อกรกับ ส.ส. และ ส.ว. พรรครีพับลิกันในสภาคองเกรส หรือแม้แต่ โจ แมนชิน วุฒิสมาชิกรัฐเวสต์เวอร์จิเนียจากพรรคเดโมแครตเอง

 

วิกเตอร์ เกนซินี นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศ กล่าวว่า “โชคร้ายที่ระบบสภาพอากาศไม่สนใจการเมืองของเรา” โดยเขากล่าวถึงการที่ศาลปล่อยให้การตัดสินใจเกี่ยวกับการควบคุมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมลพิษอื่นๆ ไปตกอยู่ที่ ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งไม่ใส่ใจว่าสิ่งใดดีต่อโลก

  • คำตัดสินของศาลมีความหมายอย่างไรกับประชาชนทั่วไป?

บรรดานักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมหวั่นเกรงว่า การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและสภาพอากาศสุดขั้ว เช่น ไฟป่าที่ร้อนขึ้น และภัยแล้งที่รุนแรงมากขึ้น มีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไป ในขณะที่ปัจจุบันการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็เป็นไปอย่างเชื่องช้าอยู่แล้ว

 

“ในแง่หนึ่ง คำตัดสินนี้มีความเกี่ยวข้องมากที่สุดกับชุมชนที่อาศัยอยู่ใกล้โรงไฟฟ้า ซึ่งต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นประจำทุกวัน พวกเขาต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่รุนแรงที่สุด” รศ.ซาบรินา แม็กคอร์มิก อาจารย์ด้านอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน กล่าว

 

เกวิน นิวซัม ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า คำตัดสินของศาลทำให้ความพยายามที่ต่อเนื่องของรัฐแคลิฟอร์เนียและรัฐอื่นๆ ในการต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศมีความสำคัญยิ่งขึ้น “ศาลย้อนเวลากลับไปอีกครั้ง แต่แคลิฟอร์เนียปฏิเสธที่จะถอยหลัง เราเพิ่งเริ่มต้น” นิวซัมกล่าว โดยรัฐแคลิฟอร์เนียถือเป็นผู้นำในการกำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษที่เข้มงวดสำหรับรถยนต์และรถบรรทุก

  • คำตัดสินจะส่งผลต่อหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐบาลกลางอย่างไร?

นักวิชาการด้านกฎหมายบางคนมองว่า ผลกระทบของคำตัดสินนั้นขยายวงกว้างออกไปนอกเหนือจาก EPA และไม่จำกัดอยู่เฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยศาลกำหนดให้สภาคองเกรสเป็นผู้ตัดสินใจ เมื่อต้องการให้หน่วยงานของรัฐบาลกลางมีอำนาจควบคุมประเด็นสำคัญระดับชาติ

 

ไฮน์เซอร์ลิงระบุว่า ศาลกำลังประกาศเจตนารมณ์ที่จะทำให้ทุกเรื่องใหญ่ๆ ระดับประเทศต้องไปผ่านสภาคองเกรส โดยเธอยกตัวอย่างถึงคำตัดสินก่อนหน้านี้ของศาลที่ขัดขวางคำสั่งวัคซีนของฝ่ายบริหารของไบเดน และยกเลิกการสั่งห้ามของรัฐบาลกลางเกี่ยวกับการริดรอนสิทธิในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด โดยทั้งสองกรณี ศาลตัดสินว่าสภาคองเกรสไม่ได้ให้อำนาจเฉพาะเจาะจงแก่หน่วยงานของรัฐบาลกลาง

 

“เมื่อใดก็ตามที่ฝ่ายบริหารของไบเดนออกกฎระเบียบ กฎระเบียบเหล่านั้นจะต้องถูกท้าทายโดยกระบวนการทางกฎหมายอย่างไม่ต้องสงสัย” สกอตต์ ชไนเดอร์ ทนายความที่ทำงานเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยสิทธิสตรี Title IX กล่าว 

 

คำตัดสินของศาลสูงสุดในครั้งนี้ยังถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจากแวดวงเทคโนโลยี โดยที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆ เช่น คณะกรรมการการค้าของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (FTC) และคณะกรรมการการสื่อสารของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (FCC) ได้ออกกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นเพื่อส่งเสริมการแข่งขันทางอินเทอร์เน็ต และควบคุมพฤติกรรมผูกขาดโดยบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ หรือ Big Tech

 

นีล ชิลสัน อดีตหัวหน้านักเทคโนโลยีของ FTC ในสมัยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และปัจจุบันเป็นนักวิจัยของ Stand Together กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ซึ่งไบเดนและ ลีน่า ข่าน ประธาน FTC พยายามผลักดันนั้น “เป็นเรื่องที่ถูกตั้งคำถามมากอยู่แล้ว และผมคิดว่าความพยายามดังกล่าวจะยิ่งอ่อนแรงลงหลังจากคำตัดสินของศาลสูงสุด” 

 

ศ.เบลก อีเมอร์สัน อาจารย์นิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย UCLA กล่าวว่า คำตัดสินของศาลจะทำให้หน่วยงานต่างๆ ระมัดระวังมากขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการดำเนินการเพื่อปกป้องสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน

  • สภาคองเกรสจะทำอย่างไร?

คำตัดสินของศาลระบุว่า สภาคองเกรสต้องบอกกล่าวอย่างชัดเจนในประเด็นที่สำคัญระดับประเทศ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งผู้สันทัดกรณีมองว่าในทางปฏิบัตินั้นไม่น่าจะเป็นไปได้

 

เชลดอน ไวต์เฮาส์ ส.ว. โรดไอแลนด์จากพรรคเดโมแครต ซึ่งเป็นแกนนำสนับสนุนการแก้ไขวิกฤตสภาพอากาศ กล่าวว่า คำตัดสินของศาลเปรียบได้กับการใส่กุญแจมือรัฐบาล ทำให้ฝ่ายบริหารไม่สามารถทำอะไรได้อย่างอิสระ

 

“ปัญหาคือพวกเขาปิดกั้นอำนาจของหน่วยงานต่างๆ ของฝ่ายบริหาร และส่งเรื่องไปยังสภาคองเกรส ที่ซึ่งเราถูกขัดขวางจากฟิลิบัสเตอร์ (การอภิปรายประวิงเวลาของเสียงข้างน้อย) และที่ซึ่งถูกครอบงำโดยอำนาจเงินของบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ก่อมลพิษ ที่พวกเขาปล่อยให้เข้ามามีอิทธิพลทางการเมือง” ไวต์เฮาส์กล่าว

 

ในทางกลับกัน เชลลีย์ มัวร์ คาปิโต ส.ว. เวสต์เวอร์จิเนียจากพรรครีพับลิกัน ซึ่งดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภา ยกย่องคำตัดสินของศาลในคดีซึ่งรัฐของเธอเป็นผู้ยื่นฟ้อง

 

“หากสภาคองเกรสมีเจตนาที่จะมอบอำนาจให้แก่ EPA ในการเปลี่ยนแปลงภาคเศรษฐกิจทั้งหมดของเรา สภาคองเกรสก็จะทำเช่นนั้นอย่างชัดเจน” คาปิโตกล่าว พร้อมให้คำมั่นว่าเธอจะกำกับดูแล EPA อย่างเข้มข้นต่อไป

  • EPA สามารถทำอะไรได้บ้าง?

คำตัดสินของศาลไม่ได้ห้าม EPA ไม่ให้เข้าไปมีอำนาจควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่จำกัดอำนาจในการทำเช่นนั้น

 

ไมเคิล เรแกน ผู้อำนวยการ EPA ยืนยันว่า ทางหน่วยงานจะยังคงเดินหน้าดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกำหนด เพื่อปกป้องประชาชนจากอันตรายทางสิ่งแวดล้อม โดยคาดว่า ทางหน่วยงานจะเสนอกฎใหม่เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าในต้นปีหน้า

 

เดวิด โดนิเจอร์ ผู้อำนวยการยุทธศาสตร์อาวุโสด้านสภาพอากาศและพลังงานสะอาด ของสภาป้องกันทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resources Defense Council) กล่าวว่า “EPA มีบทบาทสำคัญ และเป็นสิ่งสำคัญที่พวกเขาต้องแสดงบทบาทนั้น”

 

ด้าน Edison Electric Institute ซึ่งเป็นตัวแทนของบรรดาบริษัทผลิตไฟฟ้าที่นักลงทุนเป็นเจ้าของ กล่าวว่า บริษัทไฟฟ้าของสหรัฐฯ มุ่งมั่นที่จะจัดหาพลังงานสะอาดต่อไป โดยคำนึงถึงความไว้วางใจและการให้บริการลูกค้าเป็นสำคัญ 

 

“ทางสถาบันจะยังคงทำงานร่วมกับ EPA ต่อไป โดยจะดำเนินการวางกฎใหม่ที่สอดคล้องกับคำตัดสินของศาล” เอมิลี ฟิชเชอร์ ที่ปรึกษาทั่วไปของ EEI และรองประธานอาวุโสกล่าว

 

ภาพ: Kena Betancur / VIEWpress

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising