จริงอยู่ที่ว่าความอ้วนไม่เข้าใครออกใคร กินนิดกินหน่อย เข็มน้ำหนักเจ้ากรรมก็ไม่ปรานีกันสักนิด แต่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเอาคนน้ำหนักเกินทั่วโลกมานับรวมกัน คุณจะเดาออกไหมว่าโลกนี้มีจำนวนคนน้ำหนักเกินสักกี่คน
ผลการศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์นิวอิงแลนด์ (New England Journal of Medicine) พบว่า คนจำนวน 2 พันล้านคนทั่วโลกนั้นมีน้ำหนักเกิน ซึ่งนับเป็นจำนวน 30 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกเลยทีเดียว โดยในจำนวนดังกล่าวรวมทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และ 10 เปอร์เซ็นต์ในนั้นจัดว่าอ้วน!
การศึกษาดังกล่าวยังพบว่า น้ำหนักที่เกินและความอ้วนเสี่ยงต่อการก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพหลักๆ อันได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคซึมเศร้า ปัญหาระบบทางเดินหายใจ รวมไปถึงโรคมะเร็ง ฯลฯ
การศึกษาดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างราว 68.5 ล้านคนใน 195 ประเทศทั่วโลก ระหว่างปี 1980-2015 และในปี 2015 นักวิจัยประมาณการว่ามีเด็ก 107.7 ล้านคน และผู้ใหญ่ 603.7 ล้านคนมีน้ำหนักเกิน
ผลการศึกษายังชี้ว่า ดัชนีมวลกายที่สูงนั้นเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนจำนวนมากถึง 4 ล้านคนในปี 2015 และ 2 ใน 3 ของการเสียชีวิตของคนกลุ่มนี้มาจากภาวะหัวใจล้มเหลว ในขณะที่โรคเบาหวานคร่าชีวิตคนเป็นอันดับ 2
นับตั้งแต่ปี 1980 อัตราความอ้วนในกว่า 70 ประเทศนั้นเพิ่มสูงขึ้นถึง 2 เท่าตัว ในขณะที่จำนวนของเยาวชนที่เอวคับก็ขยายขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ ยิ่งกว่าอัตราความอวบอั๋นของผู้ใหญ่เสียอีก
ส่วนสาเหตุที่ทำให้คนน้ำหนักเกินกันถ้วนหน้านั้น เกิดจากการความนิยมรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ด ขนาดของมื้ออาหารที่ใหญ่ขึ้น และอาหารแปรรูปที่หาซื้อได้ง่าย
และที่น่าจับตามองคืออัตราความอวบของผู้หญิงที่เริ่มแซงหน้าผู้ชายขึ้นเรื่อยๆ ในทุกช่วงวัย ขณะที่เยาวชนในจีนและอินเดียมีอัตราอ้วนสูงที่สุดหากเทียบกับที่อื่นบนโลก โดยอยู่ที่ 15.3 ล้าน และ 14.4 ล้านคนตามลำดับ นอกจากนั้นจีนยังมีจำนวนผู้ใหญ่ที่จัดว่าอ้วนถึง 57.3 ล้านคน เป็นรองก็เพียงเมืองลุงแซมอย่างอเมริกา ซึ่งติดอันดับจำนวนผู้ใหญ่ที่อ้วนที่สุด 79.4 ล้านคน (หรือจำนวน 35 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ)
ส่วนประเทศที่มีประชากรคนอวบอั๋นน้อยที่สุดคือบังคลาเทศและเวียดนาม ซึ่งอยู่ที่ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ในขณะที่ประเทศไทยนั้น หากดูจากการรายงานปี 2015 จะเห็นได้ว่ามีจำนวนคนน้ำหนักเกินมากกว่าหลายประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชีย แต่ก็ยังไม่ถึงจุดที่น่าวิตก
กูดาร์ซ ดานัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านสุขภาพที่วิทยาลัยสาธารณสุขแห่งฮาร์วาร์ด มองว่า โรคอ้วนกำลังเพิ่มสูงขึ้นรอบโลกในคนทุกชนชั้นและทุกกลุ่มรายได้ ดังนั้นจึงไม่เกี่ยวกับคำพูดที่ว่า โรคอ้วนเป็นโรคที่มักเกิดกับคนมีเงินอีกต่อไป
“การเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศด้านอาหารและระบบจัดการอาหารคือปัจจัยหลัก การที่ผู้คนเข้าถึงอาหารที่ให้พลังงานสูงได้ง่าย ตลอดจนการตลาดที่หันมาปลุกให้คนรับประทานอาหารจำพวกดังกล่าวมากขึ้น จนเป็นเหตุให้ประชากรโลกน้ำหนักเพิ่มขึ้น”
ส่วนดร. คริสโตเฟอร์ เมอร์เรย์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการวัดและการประเมินผลสุขภาพแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ผู้ทำการศึกษาดังกล่าวเผยว่า
“คนที่เมินเรื่องน้ำหนักตัวที่เกินมามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ เบาหวาน มะเร็ง และปัญหาสุขภาพอื่นๆ และควรตั้งปณิธานวันปีใหม่ที่จะลดน้ำหนักให้เป็นเป้าหมายที่ตั้งใจทำตลอดปี เพื่อเลี่ยงการเพิ่มน้ำหนักตัวในอนาคต”
ภาพประกอบ: Karin Foxx
อ้างอิง: