การนอนหลับเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญมากในชีวิตมนุษย์ เพราะคนเราใช้เวลานอนถึง 1 ใน 3 ของวัน การนอนที่ดีคือการนอนหลับที่มีคุณภาพ และแน่นอนว่าเมื่อพูดถึงการนอนหลับที่มีคุณภาพ เราหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะกล่าวถึงเรื่องของการกรน (snoring)
เราอาจเคยได้ยินคนพูดต่อๆ กันมาว่า ที่นอนกรนก็เพราะเหนื่อย ที่นอนกรนก็เพราะตอนกลางวันทำงานหนักมากไป หรือบางคนเชื่อว่าที่นอนกรนก็เพราะอ้วน ความเชื่อเหล่านี้ไม่ถูกต้องครับ
อาการกรนเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย ทุกอายุ เราคงเคยเห็นภาพเด็กอนุบาลนอนกรนเสียงดังครอกๆ หรือแม้แต่คุณตาคุณยายที่อายุมากแล้วก็นอนกรนเช่นกัน อาการกรนเกิดขึ้นเมื่อคนนอนหลับสนิทแล้วกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ในระบบทางเดินหายใจเช่น จมูก ช่องคอ โคนลิ้นและกล่องเสียงหย่อนตัวลง ทำให้ทางเดินหายใจส่วนต้นตีบแคบ จนเกิดเสียงดังหรือที่เราเรียกว่าเสียงกรนได้
‘กรน’ ใครคิดว่าไม่สำคัญ?
อาการตีบแคบของทางเดินหายใจมีได้มากน้อยแตกต่างกันไปแล้วแต่บุคคล บางคนการตีบแคบมากจนถึงกับทำให้หยุดหายใจได้เป็นช่วงๆ หรือที่เรียกกันว่า ‘ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ’ (Sleep Apnea) ได้ ซึ่งกรณีนี้จะมีอันตรายกับสภาวะสุขภาพโดยรวมมาก สังเกตเห็นได้ง่ายๆ คือ คนที่เป็นโรคนี้จะหลับและกรนติดต่อกันอยู่พักหนึ่ง แล้วจะหยุดหายใจนิ่งไป ก่อนจะมีอาการเฮือกแล้วสะดุ้งตื่นขึ้นมา และนอนหลับต่อไปได้ พอหลับครั้งที่สองสักพักก็กรนและหยุดหายใจจนตื่นขึ้นมาอีก เป็นวงจรแบบนี้สลับกันไป ส่งผลให้ตื่นนอนมาตอนเช้าแล้วรู้สึกไม่สดชื่น ปวดหัว ง่วงนอนทั้งวัน พร้อมจะหลับได้ตลอดเวลา ถ้าภาวะนี้เกิดกับเด็กๆ จะส่งผลให้พัฒนาการทางร่างกายและสติปัญญาช้ากว่าเด็กปกติ นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดการปัสสาวะรดที่นอน พฤติกรรมก้าวร้าวซุกซน สมาธิสั้น และผลการเรียนแย่ลงได้
ในผู้ใหญ่ที่เป็น Sleep Apnea ถ้าปล่อยเอาไว้นานๆ จะส่งผลเสียต่อสุขภาพตามมาได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง เป็นต้น นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ เพราะมีความง่วงนอนมากกว่าปกติ (สถิติของศูนย์นเรนทรแสดงให้เห็นว่า หลายครั้งที่อุบัติเหตุรุนแรงเกิดขึ้นเพราะคนขับนอนไม่พอ หลับใน ไม่ใช่เกิดจากเพราะดื่มแอลกอฮอล์เท่านั้น) และปัญหาที่สำคัญอีกหนึ่งเรื่องคือ ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมเตียงอาจจะเลวร้ายลงได้ ส่งผลให้เกิดปัญหาครอบครัว ส่งผลถึงความมั่นใจ เกิดความอับอาย และปัญหาบุคลิกภาพตามมาได้มากมาย
เห็นไหมครับว่า เรื่องนอนกรนไม่ใช่ปัญหาจิ๊บๆ แค่ในห้องนอนเท่านั้น แต่เป็นปัญหาระดับชาติเลยทีเดียว
โดยเฉพาะถ้าการนอนกรนนั้นทำให้หยุดหายใจขณะหลับด้วย
หากรู้ตัวว่าเริ่มมีอาการกรน และอยากทดลองแก้ไขด้วยตัวเองก่อนจะไปพบแพทย์ สามารถทำได้ไม่ยาก เรามีคำแนะนำดังต่อไปนี้ครับ
วิธีแก้ไขอาการกรนด้วยตนเอง
1. เริ่มด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองก่อนด้วยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง พยายามเข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาสม่ำเสมอทุกวัน
2. หลีกเลี่ยงการดื่มชาหรือกาแฟก่อนนอน สำหรับบางคนที่ร่างกายไวต่อกาเฟอีนมากๆ ไม่ควรดื่มหลังเที่ยงครับ
3. พยายามงดบุหรี่ รวมไปถึงหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ก่อนนอน พยายามอย่าใช้ยานอนหลับ หรือกลุ่มยาที่มีฤทธิ์กดประสาท เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อทางเดินหายใจหย่อนและกรนได้ง่ายขึ้น
4. สำหรับผู้ที่อ้วนหรือมีน้ำหนักเกิน ควรพยายามลดน้ำหนักโดยด่วน
5. ท่านอนที่เหมาะสมที่สุดคือนอนตะแคงครับ เพราะท่านอนหงาย ลิ้นจะไปอุดหลอดลม ทำให้ทางเดินหายใจอุดกั้นยิ่งกว่าเก่า
6. นอกจากปรับพฤติกรรมการนอนแล้ว ในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเช่น เป็นภูมิแพ้ มีฟันผุ มีไซนัสอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ ควรไปพบแพทย์เพื่อรักษาควบคู่กันไปด้วยครับ เพราะโรคบางอย่างก็ทำให้เกิดอาการกรนได้ง่ายเช่นกัน
ปรึกษาแพทย์เพื่อแก้ไขอาการกรน
แต่ถ้าลองด้วยตัวเองแล้วยังไม่ได้ผล ยังกรนเสียงดังมากอยู่เหมือนเดิม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ รวมถึงตรวจวินิจฉัยครับ การตรวจทำได้ง่ายมาก แพทย์จะมีห้องตรวจพิเศษที่เรียกว่า Sleep Lab ออกแบบให้เหมือนอยู่บ้านตัวเอง รับตัวคนไข้เข้ามานอนพักหนึ่งคืน ภายในห้องนอนที่ว่าจะมีกล้องวงจรปิด มีเครื่องมือติดที่ตัวคนไข้เพื่อตรวจวัดค่าการหยุดหายใจ และระดับออกซิเจนขณะหลับ เพื่อที่จะนำผลมาประมวลว่าสุดท้ายแล้วคุณเป็น Sleep Apnea หรือเปล่า
ภาพประกอบ: Narissara k.
1. ตามตำนานกรีก เทพเจ้าแห่งการนอนหลับมีชื่อว่า Hypnos เป็นโอรสของ Nyx (หรือ Night – ราตรีกาล) กับ Erebus (หรือ Darkness – ความมืด) Hypnos มีลูกสามคนคือ Morpheus (หรือ Shape – รูปทรง) Phobetor (หรือ Fear – ความกลัว) และ Phantasos (หรือ Fantasy – จินตนาการเพ้อฝัน) พ่อมีหน้าที่ทำให้มนุษย์หลับในยามค่ำคืน ส่วนลูกทั้งสามช่วยกันทำให้คนเราเกิดความฝันขึ้นครับ
2. สัญญาณเตือนภัยว่ากำลังเป็นโรคนอนกรน หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยได้แก่ ตื่นนอนมาแล้วไม่สดชื่น ปวดศีรษะทุกครั้งเวลาตื่นนอน นอนกรนดังมากเป็นประจำ จนผู้ที่นอนร่วมด้วยเกิดความรำคาญ ทั้งที่นอนเยอะแต่ก็ยังรู้สึกว่านอนไม่เต็มอิ่ม ตื่นบ่อย คอแห้ง มีอาการง่วงนอนมากผิดปกติในระหว่างวัน อารมณ์ไม่คงที่ หงุดหงิดง่าย รู้สึกหายใจไม่สะดวกเวลานอน มีผู้อื่นสังเกตเห็นว่าขณะนอนหลับมีอาการหายใจไม่สม่ำเสมอ กรนเสียงดัง แต่หยุดเป็นช่วงๆ หากมีอาการเหล่านี้ คงถึงเวลาต้องพบแพทย์แล้วล่ะครับ