×

การให้กับความสุข เกี่ยวโยงกันอย่างไร?

18.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • การศึกษาในเมืองซูริกนี้จัดทำโดยนักวิทยาศาสตร์ โดยทำการทดลองกับคน 50 คน แต่ละคนจดบันทึกถึงระดับความสุขของตนหลังจากได้ทำสิ่งดีๆ ให้กับผู้อื่น และต่างก็ลงความเห็นตรงกันว่า การกระทำเหล่านั้นทำให้พวกเขารู้สึกอิ่มเอม
  • จากผลสแกน MRI แสดงให้เห็นว่า ส่วนหนึ่งของสมองที่เชื่อมโยงกับความเอื้ออาทรนั้นกระตุ้นการตอบสนองในส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวโยงกับความรู้สึกสุข

     เคยสงสัยไหมว่าอะไรเป็นสิ่งกระตุ้นให้เราทำความดี? นักเศรษฐศาสตร์ นักจิตวิทยา และนักปรัชญา ต่างหาคำตอบที่ว่านี้กันมาแสนนาน

 

     และเพื่อหาคำตอบของปริศนาดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มจึงได้ตั้งทฤษฎีขึ้นมาอธิบายว่า การให้นั้นสนองความรู้สึกต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนแนะว่าการเกื้อหนุนและสามัคคีของคนในสังคมเป็นองค์ประกอบสำคัญในการอยู่รอดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทั้งนี้ยังอาจหมายถึงว่าเราให้เพื่อหวังสิ่งตอบแทน

 

     แม้ผู้เชี่ยวชาญจะเถียงกันหัวแทบแตก กระนั้นคำตอบที่แท้จริงคืออะไร? ต้องขอบคุณกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่อุทิศเวลาเพื่อหาคำตอบที่ทุกคนอยากรู้ออกมา จนได้คำตอบเมื่อไม่นานมานี้ และนั่นคือ…การทำให้เรามีความสุขนั่นเอง

 

     การศึกษานี้เกิดขึ้นในห้องแล็บในเมืองซูริก โดยนักวิทยาศาสตร์ทำการทดลองกับคน 50 คน โดยแต่ละคนจดบันทึกถึงระดับความสุขของตนหลังจากได้ทำสิ่งดีๆ ให้กับผู้อื่น และต่างก็ลงความเห็นตรงกันว่า การกระทำเหล่านั้นทำให้พวกเขารู้สึกอิ่มเอม ในขณะเดียวกันผลสแกน MRI ก็เผยว่าส่วนหนึ่งของสมองที่เชื่อมโยงกับความเอื้ออาทรนั้นไปกระตุ้นการตอบสนองในส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวโยงกับความรู้สึกมีความสุข

 

     ทีมวิจัยกล่าวในเว็บไซต์วารสาร Nature ที่รวบรวมงานวิจัยจากทั่วโลกว่า “การศึกษานี้เป็นหลักฐานแสดงถึงความเกี่ยวข้องของพฤติกรรมและระบบประสาทว่า มีความเชื่อมโยงกันระหว่างความเอื้ออาทรและความสุข” โดยมีวิธีทดลองคือ ผู้ร่วมทำการทดสอบจะได้รับเงิน 25 ฟรังก์สวิส หรือราวๆ 874 บาทต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ครึ่งหนึ่งของผู้ทำการทดลองต้องนำเงินจำนวนนั้นไปใช้จ่ายให้แก่ผู้อื่น ส่วนคนอีกครึ่งที่เหลือสามารถนำไปใช้จ่ายปรนเปรอตนเองได้ แต่การทดลองนี้ไม่ได้มีการใช้เงินจริงๆ

 

     หลังจากนั้นผู้เข้าร่วมการทดสอบต้องตอบคำถามเกี่ยวกับสถานการณ์สมมติที่ผลประโยชน์ของตนขัดกับการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในการทดลองนี้ โดยตอบขณะที่สแกนสมองไปด้วย ซึ่งนักวิจัยจะตรวจสอบความเคลื่อนไหวในสมองทั้ง 3 ส่วน ส่วนที่หนึ่ง เกี่ยวโยงกับความเห็นแก่ผู้อื่นและพฤติกรรมทางสังคม ส่วนที่สอง เกี่ยวข้องกับความสุข และส่วนที่สาม มีผลเกี่ยวกับการตัดสินใจ

 

     ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่ากลุ่มที่ใช้เงินสำหรับคนอื่นมีความสุขกว่ากลุ่มที่ใช้จ่ายเงินไปกับตัวเอง จากการรายงาน ปริมาณความสุขนั้นไม่เกี่ยวกับจำนวนเงินที่พวกเขาใช้ นอกจากนั้นนักวิจัยยังเผยว่าผลที่ได้มีความหมายโดยนัยที่สื่อถึงการศึกษา การเมือง เศรษฐกิจ และสาธารณสุขด้วย

 

     นักวิจัยเผยในงานศึกษานี้อีกว่า “ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และความสุข ช่วยพัฒนาบุคคลให้มีความเป็นอยู่ที่ดี และยังสามารถผลักดันให้ไปสู่ความสำเร็จทางสังคมได้ อย่างไรก็ตาม ในชีวิตประจำวันผู้คนมักลืมว่าการให้และความสุขนั้นสัมพันธ์กัน จึงมองข้ามการให้แก่ผู้อื่น”

 

     กระนั้นยังมีอีกคำถามที่ต้องหาคำตอบ นั่นคือ ความสัมพันธ์ระหว่างสมองแต่ละส่วนสามารถฝึกได้หรือไม่ และผลที่เกิดขึ้นในสมองจะยังคงอยู่ไหมหากเกิดขึ้นอย่างจงใจ นั่นคือ การให้เพื่อหวังผลที่จะช่วยให้ตนรู้สึกดี โซยัง ปาร์ก นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลูเบคในเยอรมนี หนึ่งในผู้ร่วมเขียนงานวิจัยกล่าว

 

     ก่อนหน้านั้นมีรายงานที่สนับสนุนว่ามนุษย์จะช่วยผู้อื่นที่ด้อยกว่าตัวเองตราบใดที่ไม่ฉุดให้ตัวเองดูด้อยลงไปด้วย

 

ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE



Latest Stories

Close Advertising
X