×

5 ความเข้าใจผิดเรื่องสุขภาพสไตล์แม่ๆ ที่ลูกๆ ควรแชร์ในกรุ๊ปไลน์

14.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • จากเดิมกินเบเกอรีเป็นอาหารว่าง เปลี่ยนมาเป็นอะโวคาโดเหยาะน้ำผึ้งนิดหน่อย หรือกินโยเกิร์ตรสจืดโรยอัลมอนด์ใส่ผลไม้สด แทนไอศกรีมกะทิใส่ข้าวเหนียว และมันเชื่อมราดนมคาร์เนชันจะดีกว่า
  • ผลไม้นั้นดีต่อร่างกายแต่เลี่ยงรสหวานไว้เป็นดี เช่น แก้วมังกร กีวี และผลไม้ตระกูลเบอร์รี
  • รุ่นลูกก็เพิ่งรู้ไม่นานว่าเครื่องปรุงรสที่ใช้ปรุงอาหารมีโซเดียมสูงเกินปริมาณโซเดียมที่แนะนำต่อวัน ดังนั้นไม่ควรใส่พรวดลงไป และควรรับประทานไม่เกิน 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเกลือ 1 ช้อนชา และน้ำปลา 4 ช้อนชา

     โบราณว่าไว้ ‘ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก’ เห็นจะจริงก็คราวนี้ เพราะพูดกับใครก็ไม่ยากเท่าพูดกับแม่ เพราะพวกเขามักมีเหตุผล (ข้างๆ คูๆ) มาอธิบายพฤติกรรมการกินที่น่าเป็นห่วง หรือแสดงความคิดเห็นที่หาตรรกะใดๆ ไม่ได้มาคัดค้านคำสั่งหมอ ลูกๆ อย่างเราก็ได้แต่ละเหี่ยใจ ต้องคอยปรามและไม่สามารถละสายตาจากอาหารที่แม่กินได้ เพราะความน่ากลัวที่ไม่ใช่ว่ารู้แต่ยังทำ แต่เป็นการที่พวกเขาไม่รู้แล้วยังทำต่อไปต่างหาก

     และบางทีนี่อาจจะเป็นข้อมูลที่ลูกๆ อาจจะอยากบอกกับคุณแม่ โดยแอบแชร์ไว้ในกรุ๊ปไลน์ของที่บ้าน

 

“หมอสั่งแม่ลดน้ำตาล เลิกกินขนมแล้ว เปลี่ยนมากินผลไม้แทน แต่ที่กินคือทุเรียน มะม่วงสุก ขนุน”

     ผลไม้ที่เลือกมาน้ำตาลสูงทั้งนั้นเลยค่ะคุณแม่ ประการแรกผลไม้เป็นอาหารที่มีน้ำตาลจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับชนิดของผลไม้ที่เลือก เมื่อเทียบกับขนมหวานอย่างเค้กหรือชานมแล้ว ผลไม้มีภาษีดีกว่าตรงที่เป็นน้ำตาลจากธรรมชาติ กินแล้วได้ไฟเบอร์ มีวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็น แต่ปัญหาของคุณแม่คือกินผลไม้ในปริมาณที่มากเกินและเลือกชนิดของผลไม้ที่กินผิด เช่น โดนหมอเขียนใบสั่งให้งดขนมเพราะค่าน้ำตาลขึ้น แม่ก็ควรหันไปกินผลไม้ที่มีน้ำตาลน้อยในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อชดเชยความอยากขนมหวานๆ

     ผลไม้ปลอดภัยได้แก่ ฝรั่ง แก้วมังกร กีวี กล้วย และตระกูลเบอร์รีต่างๆ ส่วนผลไม้ต้องห้ามสำหรับคนที่ต้องการลดน้ำตาลคือ ขนุน สับปะรด ทุเรียน มะม่วงสุก และองุ่น เป็นต้น กินแค่พอหอมปากหอมคอ อย่าไปกินเอาอิ่มเหมือนของคาวที่กินเป็นมื้อหลัก เช่น กล้วย 1 ผล แก้วมังกรครึ่งลูก กีวี 1-2 ผล (อย่าไปเชื่อเวลาคนบอกกินส้มแทนอาหารเย็นแล้วน้ำหนักลด เดี๋ยวสุขภาพจะพังเอา)

     หากอยากกินผลไม้ที่มีน้ำตาลสูงคุณแม่ก็ทำได้ แต่ให้แม่ท่องไว้ว่า ‘กินน้อยๆ จะได้สุขภาพดีนานๆ’

 

“อัลมอนด์กินเท่าไรก็ได้ เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ”

     แต่กินเพลินวันละถุงก็ไม่ไหวนะ… อัลมอนด์ดีเรื่องนี้เราไม่เถียง แต่ถั่วมีแคลอรีสูงมาก สูงเกินกว่าจะเอามากินเล่น บางทีแก๊งคุณแม่ก็จะคุยกันในไลน์ว่ากินอะไรดีต่อสุขภาพ จึงขนมาหมดทั้งอัลมอนด์ คีนัว อะโวคาโด น้ำมะพร้าว ฯลฯ ซึ่งถ้าในหนึ่งวันเลือกกินอย่างใดอย่างหนึ่งก็ว่าไปอย่าง แต่ปัญหาของคุณแม่คือกินทุกอย่างที่เพื่อนบอกว่าดี เช่น เช้ากินอะโวคาโด แป๊บๆ กินอัลมอนด์ ตกบ่ายจิบน้ำมะพร้าว หลังมื้อเย็นจบด้วยน้ำมันรำข้าว 1 ช้อน โดยลืมไปว่าอาหารทุกอย่างไม่ว่าดีหรือเลวก็ล้วนมีแคลอรี กินเยอะๆ ก็อ้วนได้เหมือนกัน และบางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องกิน ตราบใดที่เราได้รับสารอาหารจากมื้อหลักเพียงพอแล้ว คุณแม่ควรกินซูเปอร์ฟู้ดเหล่านี้แทนอย่างอื่น เช่น จากเดิมกินเบเกอรีเป็นอาหารว่าง ก็เปลี่ยนมาเป็นอะโวคาโดเหยาะน้ำผึ้งนิดหน่อย หรือกินโยเกิร์ตรสจืดโรยอัลมอนด์ใส่ผลไม้สด แทนไอศกรีมกะทิใส่ข้าวเหนียว และมันเชื่อมราดนมคาร์เนชัน แคลอรีและสารอาหารมันต่างกันเยอะ

 

“กินปลาแล้วฉลาด ไม่อ้วน”

     ผลลัพธ์อาจตรงกันข้ามเมื่อคุณแม่ทำแต่ปลากะพงทอดน้ำปลา ปลาสามรส ปลาชุบแป้งทอด ปลาทอดราสซอสมะขามหวานเจี๊ยบ ฉู่ฉี่ปลาชุ่มน้ำกะทิข้นคลั่ก คือมีแต่ของทอดทั้งนั้นเลย

     ปลากินแล้วฉลาด บำรุงสมอง มีโปรตีนสูง ไขมันต่ำ ยากมากที่จะเป็นภัยต่อร่างกาย เว้นเสียแต่เมนูที่แม่ทำมีแต่ผัดๆ ทอดๆ พวกทอดกรอบแบบกัดทีดังกร้วมๆ สะเทือนไปถึงกะโหลก เพราะการทอดอาหารด้วยน้ำมันร้อนจัด ไม่ว่าคุณจะใช้น้ำมันอะไร (รู้ยังว่าน้ำมันมะกอกไม่ควรเอาไปทอดแต่คลุกสลัดกินจะดีที่สุด) กินบ่อยๆ ก็ไม่ดีต่อสุขภาพ เสียทั้งคุณค่าทางโภชนาการและเพิ่มแคลอรีส่วนเกินโดยไม่จำเป็น ลองบอกแม่ว่าลดการทอดและผัด มานึ่ง ต้ม ย่าง บ้างดีไหม เมนูอย่างปลาย่างจิ้มน้ำพริกกับผักต้ม ปลาลวกจิ้มซีฟู้ด ปลาเผาเกลือ ต้มยำปลาน้ำใส ฯลฯ เหล่านี้เป็นอาหารที่ไม่ทำลายคุณค่าของเนื้อปลา เพราะต่อให้เป็นปลาน้ำดีขนาดไหนก็พังได้ถ้าเอาไปทอดหรือผัดคลุกน้ำมัน  

 

“น้ำผักยี่ห้อนี้กินง่ายมากเลย ไม่เหม็นเขียว แม่กินทุกเช้า”

     แม่ไม่พลิกดูฉลากโภชนาการด้านหลังเลยว่าใส่จริงมาเท่าไร ที่หวานๆ คงไม่ใช่จากผักล้วนแล้วล่ะ แต่แทบจะเรียกได้ว่างมเข็มในมหาสมุทร หากแม่อยากได้สารอาหารเต็มๆ จากน้ำผักและผลไม้กล่อง เพราะปริมาณผักและผลไม้ที่ใส่เข้ามาช่างน้อยนิดชนิดได้ไม่คุ้มเสีย ทริกมันอยู่ตรงนี้ ตรงที่ผู้ผลิตมักใส่ส่วนผสมหลักเป็นน้ำองุ่นหรือน้ำแอปเปิ้ล (ไม่รู้ว่าของจริงหรือแต่งกลิ่น) ที่มีรสหวานหอมดื่มง่าย ก่อนจะตามด้วยน้ำผักในส่วนท้ายๆ เพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่ร่างกายได้รับคือน้ำตาลเต็มๆ การกินน้ำผักบรรจุกล่องทุกเช้าจึงไม่ค่อยเป็นมิตรกับสุขภาพเท่าไรนัก

     ทางที่ดีหากอยากกินน้ำผัก ควรปั่นกินเอง เลือกส่วนผสมหลักเป็นผัก 1-2 ชนิด เช่น คะน้า ขึ้นฉ่าย แคร์รอต ก่อนใส่ผลไม้อย่างแอปเปิ้ล กล้วย บลูเบอร์รี เพื่อเพิ่มรสชาติให้น่าดื่ม

 

“ใส่ผงปรุงรสมันไม่ดี แม่ใส่แค่น้ำปลา ซีอิ๊ว น้ำมันหอย น้ำมันงา ฯลฯ”

     เรื่องนี้จะโทษคุณแม่มากก็ไม่ได้ เพราะรุ่นลูกเองก็เพิ่งรู้กันไม่นานว่าเครื่องปรุงรสทั้งหลายมีโซเดียมสูงมากกก (ก-ไก่ล้านตัว) มากเกินปริมาณโซเดียมที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน (ไม่ควรเกิน 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน ถ้าจะพูดให้เห็นภาพก็เท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา น้ำปลา 4 ช้อนชา) เพราะโซเดียมกินมากๆ ทำให้ตัวบวม ไตทำงานหนัก ความดันโลหิตสูง การไม่ใส่ผงปรุงรสต่างๆ เช่น รสหมู รสไก่ รสเห็ดหอม จึงไม่ได้หมายความว่าอาหารจานนั้นปลอดโซเดียม เพราะโซเดียมยังแฝงตัวมาในอาหารที่คุณคาดไม่ถึง เช่น ผงชูรส อาหารแช่แข็ง อาหารแปรรูป หรือแม้แต่ซอสมะเขือเทศ

     ทางที่ดีเราควรปรามคุณแม่ว่าไม่จำเป็นต้องปรุงหนักมือขนาดนั้น อะไรที่ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องใส่ ค่อยๆ ปรุงไม่ใช่เทพรวดเดียวลงกระทะ เพราะถ้าเค็มไปมันแก้ลำบาก (จะทิ้งเลยแม่ก็เสียดายอีก)

     ในขณะเดียวกันคนในบ้านก็ต้องปรับลิ้นให้เข้ากับอาหารที่มีรสอ่อนลงด้วย เลิกกินเค็มหรือหวานจัด แล้วเปลี่ยนมาปรุงด้วยรสที่ธรรมชาติให้มาอย่างเกลือ พริกไทย พริก หรือมะนาว จะดีกว่า

 

ภาพประกอบ: Karin Foxx

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising