ต้องขอบคุณการสื่อสารและคมนาคมที่ทำให้โลกนี้สะดวกและกลมขึ้นเรื่อยๆ จนเทรนด์การเที่ยวตะลุยกินถือเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้วทุกวันนี้ ดังที่คุณเอ้-ธนฤกษ์ เหล่าเราวิโรจน์ แห่งร้าน Somtum Der เคยบอกไว้กับ THE STANDARD ว่า การจัดอันดับร้านอาหารมีอิทธิพลที่ทำให้คนเดินทางจากทั้งในและนอกประเทศไปที่นั้นๆ เพื่อไปกินตาม แต่คำถามคือ เมื่อเราอุตส่าห์ดั้นด้นไปกินถึงที่แล้ว เรา ‘กิน’ กันถูกวิธีไหม?
เกิร์ต โคเปรา (Gert Kopera) รองผู้จัดการใหญ่ของเครือร้านอาหาร Hakkasan Group ที่มีร้านอาหารและบาร์ในเครือกว่า 41 แห่งทั่วโลกเผยว่า “การกินอาหารตามร้านของคนท้องถิ่นขณะเดินทางสอนให้รู้จักวัฒนธรรมการกินอยู่ท้องถิ่น แต่เพราะจรรยาที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ อาจทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกเคอะเขินเอาได้หากไม่รู้ว่าควรทำตัวอย่างไร”
และในฐานะนักกินมืออาชีพที่ลิ้มรสอาหารมานับพันๆ มื้อในกว่า 70 ประเทศ เขาแบ่งวิธีกินรอบโลกอย่างถูกตามครรลองวิถีโลกให้เลือกปรับใช้ไม่ว่าคุณจะไปที่ใดบนโลกใบนี้ เพราะเข้าเมืองอร่อย ต้องอร่อย (อย่างถูกครรลอง) ตามสิ
กินให้ถูกเวลา
เวลาเป็นเรื่องสำคัญ เกิร์ตแนะว่า หากไม่อยากไปแล้วเจอร้านปิด หรือไปตอนร้านเงียบกริบต้องเป่าสากแข่งกัน ให้ศึกษาเวลากินข้าวของคนที่นั้นๆ อาทิ คนไทยเริ่มกินข้าวเย็นตั้งแต่ 5 โมงเย็นไปจนถึง 2 ทุ่ม ในอเมริกา ผู้คนกินมื้อเย็นกันราวๆ 6 โมงเย็น หรือ 1 ทุ่ม และมื้อนั้นจัดเป็นมื้อใหญ่ที่สุดของวัน ขณะที่ในอังกฤษ เวลาจิบชายามบ่ายหาใช่บ่ายโมง แต่เป็น 4 โมงเย็น และหาใช่มื้อจุบจิบเหมาะแก่การเมาท์มอยกระมิดกระเมี้ยน เพราะแท้จริงแล้วเป็นอาหารมื้อหนักมื้อหนึ่ง ส่วนอาหารเย็นของชนผู้ดีอาจจะกินกันเบากว่า High tea และเสิร์ฟราวๆ 2 ทุ่มหรือหลังจากนั้น ส่วนในอเมริกาใต้และสเปน ผู้คนจะเริ่มกินมื้อเย็นโดยเฉลี่ยราวๆ 4 ทุ่ม ขณะที่คนอินเดียจะเริ่มรับประทานอาหารราวๆ 3 ทุ่ม ไปจนถึง 5 ทุ่มกันเป็นเรื่องปกติ การไปกินที่ร้านถูกเวลาจะช่วยให้เห็นวิถีการกินอยู่ของคนที่นั้นๆ แบบครบรส
ใช้เครื่องมือให้ถูก
รู้ไหมว่าการใช้เครื่องไม้เครื่องมือการกินที่ผิดสามารถทำให้คนในท้องที่เคืองเอาได้ เกิร์ตแนะนำให้นักเดินทางสังเกตวิธีกินของคนในพื้นที่แล้วปฏิบัติตาม เช่น ในญี่ปุ่น จีน และเวียดนาม ตะเกียบถือเป็นอาวุธคู่ใจยามกินข้าว แต่การปักตะเกียบให้ตั้งเด่ไว้บนข้าวนั้นเป็นมารยาทที่ไม่สมควร (หรือการกินลาบด้วยตะเกียบก็เป็นเรื่องตลก รู้ใช่ไหมปีเตอร์ ปาร์คเกอร์และน้าเมย์) ในอินเดีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา การรับประทานอาหารด้วยมือ ถือเป็นเรื่องปกติ แต่มือซ้ายถูกมองว่าเป็นข้างที่ไม่สะอาด จึงควรทำความสะอาดอย่างดีก่อนรับประทานอาหาร
ไม่ต้องรีบ
ในหลายประเทศ อาทิ บราซิล ฝรั่งเศส และอิตาลี มื้ออาหารอาจใช้เวลาในการละเลียดหลายชั่วโมง โดยถือเป็นเวลาที่ใช้พูดคุยกับคนในครอบครัวและเพื่อนพ้อง ซึ่งเกิร์ตแนะนำว่า แม้จะเป็นนักท่องเที่ยว คุณก็ควรทำเช่นกัน “รับรู้และเพลินไปกับรสของอาหาร พร้อมๆ กับบทสนทนาไปด้วย และเมื่อพร้อมจะไป ให้บอกคนเสิร์ฟให้คิดเงิน เพราะบางที่ถึงนั่งไปเรื่อยๆ หากไม่บอกให้คิดเงิน คนเสิร์ฟจะไม่รู้เลยว่าคุณต้องการจะไปแล้ว”
ทำการบ้านเสียหน่อย
ก่อนไปถึง ควรหาข้อมูลสักนิดถึงธรรมเนียมการให้ทิป และการจ่ายเงินที่เหมาะสมของที่นั้นๆ เช่น การให้ทิปในญี่ปุ่นถือเป็นการดูถูก หรือการแยกบิลในฝรั่งเศสถือเป็นเรื่องที่ไม่ดีงาม การไม่ให้ทิปในอเมริกาและอีกหลายประเทศถือเป็นเรื่องเสียมารยาท นอกจากนั้นยังควรศึกษาว่าร้านอาหารที่จะไปนั้นรับบัตรเครดิตหรือไม่ ในแอฟริกาและเอเชียมักรับแต่เงินท้องถิ่นและเงินสดเท่านั้น (คงตลกดีหากเห็นชาวต่างชาติพยายามจ่ายเงินด้วยแบงก์ดอลลาร์ในร้านอาหารในไทย แม้จะเป็นในเมืองท่องเที่ยวก็เถอะ)
สุดท้ายแล้ว ดังที่โบราณว่า ‘เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม’ ดังนั้น นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น หากบุกบั่นไปถึงร้านแล้วไม่เห็นใครยกกล้องจริงจังมาแชะภาพ ขอจงเก็บกล้อง แล้วเพลินกับรสชาติและบทสนทนากับคนที่อยู่ตรงหน้าดีกว่า มาทั้งทีจะได้ไม่เสียเที่ยว… Bon Appétit.
ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan
อ้างอิง:
- www.fb101.com/2017/05/gert-kopera-appointed-executive-vice-president
- mobile.nytimes.com/2017/07/18/travel/how-to-dine-properly-in-another-country.html
- ธรรมเนียมการให้ทิปในแต่ละประเทศแตกต่างกัน ดังนั้น ควรศึกษาก่อนเดินทาง
- ชายามบ่าย หรือ High tea แบบอังกฤษ สามารถเป็นได้ระหว่างชายามบ่ายผสมกับมื้อเย็น และบางบ้านในชนบทเรียกมื้อเย็นว่า ‘tea’