×

เที่ยวราชสถาน อินเดีย ฉบับปี 2024: จองรถไฟ รถทัวร์ ขอวีซ่า และส่วนลดค่าเข้าชมสถานที่สำคัญ

03.02.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • โลกยุคดิจิทัลทำให้การเดินทางท่องเที่ยวอินเดียง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ตรงตามแผนพัฒนาสมาร์ทซิตี้ของอินเดียที่พยายามพลิกโฉมหน้าใหม่ของเมืองต่างๆ ในประเทศ บทความนี้เราจึงมาอัปเดตข้อมูลการเดินทางในแคว้นราชสถานสำหรับปี 2024 ที่จะทำให้การไปอินเดียง่ายกว่าที่คิด บีบจิตน้อยกว่าที่เคยคิด

Incredible India คือสโลแกนการท่องเที่ยวอินเดีย ที่ผ่านมากี่ปีคำคำนี้ก็ยังจำกัดความ ‘ความเป็นอินเดียๆ’ ที่เต็มไปด้วยเรื่อง ‘เหลือจะเชื่อ’ ได้ตรงใจนักเดินทางเหลือเกิน 

 

ถึงอย่างนั้นโลกยุคดิจิทัลก็ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวอินเดียง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ตรงตามแผนพัฒนาสมาร์ทซิตี้ของอินเดียที่พยายามพลิกโฉมหน้าใหม่ของเมืองต่างๆ ในประเทศ บทความนี้เราจึงมาอัปเดตข้อมูลการเดินทางในแคว้นราชสถานสำหรับปี 2024 ที่จะทำให้การไปอินเดียง่ายกว่าที่คิด บีบจิตน้อยกว่าที่เคยคิดด้วยเช่นกัน

 

วีซ่าอินเดีย

ก่อนการเดินทางไปอินเดีย ไม่ว่าแคว้นไหนๆ คนไทยก็ต้องทำวีซ่าเข้าประเทศให้เรียบร้อยก่อน ปัจจุบันนี้เราสามารถทำวีซ่าออนไลน์หรือ e-Tourist Visa (eTV) ได้แล้ว โดยไม่ต้องไปที่สถานทูตหรือที่ทำการวีซ่าให้เสียเวลา

 

 

eTV เปิดสำหรับ 166 ประเทศทั่วโลก ใช้เดินทางเข้าประเทศได้ 30 วัน (นับจากวันที่เข้ามาถึง) โดยประเทศไทยนับเป็นหนึ่งในนั้น คุณสมบัติสำหรับผู้ที่จะทำ eTV ได้ก็คือ

  • สำหรับบุคคลที่ต้องการไปท่องเที่ยว พบเพื่อน ญาติ หรือทริปดูงานระยะสั้นที่ไม่ได้เป็นทางการ 
  • พาสปอร์ตมีอายุเกิน 6 เดือน นับจากวันที่เดินทางถึงประเทศอินเดีย มีหน้าว่างอย่างน้อยสองหน้าสำหรับประทับตราตรวจคนเข้าเมือง
  • มีตั๋วเครื่องบินทั้งขาไปและกลับ ใบจองที่พัก และภาพถ่ายขนาด 2 นิ้ว
  • ใช้เวลาดำเนินการราว 3 วันทำการ
  • วีซ่าท่องเที่ยวออนไลน์มีแบบ 30 วัน (25 USD), 1 ปี (40 USD) และ 5 ปี (80 USD)
  • eTV ใช้ได้เฉพาะขาเข้าและออกจากสนามบิน 24 แห่ง และท่าเรือ 3 แห่ง
  • รายละเอียดเพิ่มเติมและเอกสารที่ใช้ในการยื่นขอวีซ่าอินเดีย อ่านได้ที่ https://embassyofindiabangkok.gov.in/eoibk_pages/MzQ3 
  • สมัครวีซ่าอินเดียออนไลน์ผ่านสถานทูตโดยตรงได้ที่ https://indianvisaonline.gov.in/ 

 

สนามบินแคว้นราชสถาน

 

ราชสถานเป็นแคว้นใหญ่ของอินเดีย ทั้งยังเต็มไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญจำนวนมากมาย สนามบินหลักๆ ที่นิยมบินจากประเทศไทยก็คือ Jaipur International Airport (JAI) ปัจจุบันมีสายการบิน Thai AirAsia บินตรง

 

 

สนามบินจัยปูร์มีหนึ่งเทอร์มินอล อยู่ห่างจากตัวเมืองจัยปูร์ราว 20-30 นาที สามารถเดินทางต่อได้ด้วยการเรียก Uber หรือแท็กซี่ที่เรียงรายอยู่ด้านหน้าได้เช่นเดียวกัน การเดินทางภายในเมืองก็สามารถเรียก Uber หรือเรียกแท็กซี่ต่อรองราคาได้เลย

 

สนามบินใกล้เคียง เช่น สนามบินจ๊อดห์ปูร์ และสนามบินเดลี อยู่ห่างออกไปราว 5 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับการวางแผนเดินทางตามความต้องการ

 

การเดินทางระหว่างเมือง

 

การเดินทางระหว่างเมืองในอินเดียสะดวกสบายและง่ายขึ้นมาก มีให้เลือกทั้งทางเครื่องบิน รถไฟ รถบัส รวมไปถึงรถเช่าพร้อมคนขับ ถนนไฮเวย์ค่อนข้างสะดวก เพียงแต่มีการจำกัดความเร็วที่ทำให้การขับขี่เป็นไปตามกฎ

 

  • เครื่องบิน 

ถ้าเดินทางระหว่างเมืองระดับ 10 ชั่วโมงขึ้นไป แนะนำให้เลือกย่นระยะทางด้วยเครื่องบิน ซึ่งปัจจุบันตามเมืองใหญ่ๆ อย่างจัยปูร์ จ๊อดห์ปูร์ และไจซาลเมอร์ มีสนามบิน พร้อมด้วยสายการบินให้เลือกทั้งแบบโลว์คอสต์และปกติ 

 

  • รถไฟ

การโดยสารรถไฟเรียกว่าเป็นหนึ่งประสบการณ์ที่ไม่ควรพลาดในการท่องเที่ยวอินเดีย เพราะระบบรถไฟอินเดียเรียกได้ว่าปราบเซียนสุดๆ ขณะเดียวกันก็สนุกสนานไปกับความตรงเวลา และความลุ้นว่าที่นั่งที่เราเลือกตรงปกไม่จกตาหรือเปล่า 

 

สถานีรถไฟที่จัยปูร์ (Jaipur Railway Station) อยู่ไม่ไกลตัวเมืองนัก ใช้เวลาราว 10-20 นาที ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาเดินทางว่าไพรม์ไทม์หรือเปล่า ตัวสถานีมีชานชาลาไม่มากนัก ไม่สับสน ยิ่งปัจจุบันสามารถจองตั๋วรถไฟล่วงหน้าผ่านอินเทอร์เน็ตได้แล้ว ยิ่งสะดวกสบายมาก ตั๋วจะเป็น QR Code ที่ใช้ยื่นให้นายตรวจได้เลย พร้อมกับกรอกชื่อผู้เดินทางให้ครบ และเลือกชั้นที่นั่งของรถไฟให้ตรงความต้องการ

 

 

  • การจองตั๋วรถไฟ: 
    • กดเข้าเว็บไซต์การรถไฟอินเดีย IRCTC และสมัครสมาชิกให้เรียบร้อย www.irctc.co.in/nget/train-search 
    • กระบวนการล็อกอินค่อนข้างซับซ้อน เพราะต้องยืนยันตัวตนผ่านทั้ง SMS ทางโทรศัพท์มือถือของผู้ลงทะเบียน และยืนยันผ่านอีเมลของผู้ลงทะเบียนอีกขั้นตอนหนึ่ง
    • เมื่อล็อกอินแล้วเลือกเส้นทางการเดินรถไฟที่ต้องการ รอบเวลา ที่นั่ง และขบวนรถที่ต้องการ กรอกข้อมูลให้ถูกต้อง
    • เมื่อจ่ายเงินเรียบร้อยแล้วจะได้รับ QR Code เพื่อใช้ในการเดินทาง โดยจะมีอีเมลจากทางการรถไฟส่งมาให้ 
    • วันเดินทางจะพรินต์เอกสารออกมา หรือใช้เพียง QR Code ในโทรศัพท์ก็ได้ 
    • ควรไปถึงก่อนเวลารถไฟมาถึง เพราะรถหยุดรับ-ส่งคนไม่นานนัก

 

  • รถบัส 

สะดวกสบาย ไม่ต้องจองล่วงหน้านาน และมีเส้นทางสำหรับเมืองเล็กๆ ให้การเดินทางระหว่างเมืองเป็นไปโดยง่าย ปัจจุบันมีบริษัทรถบัสระหว่างเมืองจำนวนมาก ทั้งแบบที่ยังเป็นตั๋วกระดาษเขียนที่นั่ง ท่ารถฝุ่นฟุ้ง ไปจนถึงรถบัสระหว่างเมืองที่มีท่ารถใหญ่โต มีชานชาลาเป็นระเบียบเรียบร้อย 

 

รถบัสมีหลายแบบ ทั้งที่เป็นที่นั่ง ที่นั่งปรับเอนนอนได้ ไปจนถึงห้องสำหรับนอนเหยียดยาวสำหรับการเดินทางช่วงกลางคืน หรือตามระยะทางการเดินรถนั้นๆ

 

  • การจองตั๋วรถบัส 

รถบัสสามารถจองออนไลน์ได้เช่นกัน เพียงแต่ในกรณีนี้จำเป็นต้องใช้เบอร์โทรศัพท์มือถืออินเดียในการลงทะเบียน เพราะเบอร์นอกประเทศไม่สามารถรับเมสเสจยืนยันตัวตนได้ วิธีแก้ปัญหาอาจเลือกซื้อซิมมือถืออินเดียเพื่อใช้ในการเดินทาง ซึ่งใช้จองรถทัวร์ได้ด้วย หรือกรณีที่เดินทางด้วยรถบัสเพียง 1-2 ครั้ง สามารถให้ทางที่พักจองตั๋วรถทัวร์ให้ได้ด้วยเช่นกัน หรือเดินทางไปซื้อที่ที่ทำการบริษัทรถบัสด้วยตัวเอง

 

บริษัทเดินรถที่แนะนำ 

  • IRTCT www.bus.irctc.co.in/home การขนส่งอินเดียที่มีระบบการจองเข้าใจง่าย ทั้งยังเชื่อมโยงการขนส่งหลากหลายรูปแบบในอินเดีย
  • redBus www.redbus.in/ มีแอปพลิเคชันสำหรับสมาร์ทโฟน และนอกจากรถทัวร์แล้ว ยังมีบริการรถรับ-ส่งสนามบิน หรือรถเช่าพร้อมคนขับด้วย 
  • AbhiBus www.abhibus.com/ บริการเสริมจองรถไฟ จองโรงแรมร่วมด้วย มีแอปพลิเคชันพร้อมใช้งาน และมีโปรโมชันพิเศษเป็นประจำ

 

  • รถเช่าพร้อมคนขับ

เช่ารถพร้อมคนขับดูจะเป็นความสะดวกสบายสำหรับนักเดินทาง กรณีที่ระยะทางไม่ไกลเกินไปนัก เพราะสามารถกำหนดเวลาเดินทาง หรือหยุดแวะพักได้ด้วยตัวเอง สำหรับราคาค่อนข้างแตกต่างไปตามชนิดของรถ รวมถึงระยะทาง 

 

 

สามารถสอบถามราคาล่วงหน้าได้จากบริษัททัวร์ในราชสถาน หรือสอบถามจากเจ้าหน้าที่โรงแรมที่มักมีบริการนี้รองรับด้วย ตั้งแต่รถรับ-ส่งระหว่างเมือง หรือรถเดินทางท่องเที่ยวในแต่ละเมืองตามจำนวนวันที่ต้องการ 

 

สำหรับรถเช่าพร้อมคนขับอาจต้องทำใจล่วงหน้าสำหรับการแวะพักร้านอาหารที่แพงเกินจำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงร้านของที่ระลึกหรือแวะพักช้อปปิ้งเซ็นเตอร์ที่มักผูกอยู่กับโปรแกรมการเดินทาง

 

 

ส่วนลดค่าเข้าชมสำหรับคนไทย

  • การเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวในราชสถาน โดยส่วนใหญ่สามารถจองผ่านเว็บไซต์ได้ล่วงหน้า หรือซื้อตั๋วด้านหน้าก่อนเข้าก็ได้เช่นกัน
  • สำหรับพาสปอร์ตไทย ในบางสถานที่ใช้เป็นส่วนลดค่าเข้าชมได้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นสมาชิกสมาคม BIMSTEC ทำให้ได้รับส่วนลดราวๆ 50% เท่ากับกลุ่มประเทศอ่าวเบงกอล 
  • การจองและจ่ายเงินผ่านทางเว็บไซต์ล่วงหน้าจะได้รับ QR Code เพื่อใช้สแกนผ่านเข้าประตูได้เลย
  • จองตั๋วล่วงหน้าได้ 7 วันผ่านทางเว็บไซต์แหล่งโบราณคดี กระทรวงวัฒนธรรมอินเดีย https://asi.payumoney.com/ 
  • เลือกสถานที่ จำนวนตั๋ว และใส่รายละเอียดชื่อ พร้อมหมายเลขพาสปอร์ต อย่าลืมกดส่วนลด BIMSTEC แล้วจ่ายเงินได้เลย

 

 

สกุลเงินและการใช้จ่าย

  • สกุลเงินอินเดียคือรูปี สามารถแลกเงินล่วงหน้าได้จากร้านรับแลกเงินในประเทศไทย
  • สำหรับการแลกเงินที่อินเดีย แนะนำให้แลกโดยใช้ดอลลาร์สหรัฐ เพราะเงินบาทอาจไม่ได้มีให้แลกแพร่หลายนัก
  • ร้านค้าและโรงแรมส่วนใหญ่รับบัตรเครดิตและบัตรเดบิต
  • ถ้าหากมี Google Pay จะสแกนใช้จ่ายได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

 

เช็กลิสต์สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในแคว้นราชสถาน

 

Jaipur (จัยปูร์)

เมืองหลวงของแคว้นราชสถาน นับว่าเป็นเมืองใหญ่เมืองหนึ่งในประเทศอินเดีย เมืองจัยปูร์มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า นครสีชมพู หรือ Pink City เนื่องมาจากสีชมพูของบ้านเรือนส่วนใหญ่ ตามเรื่องราวที่ว่า กษัตริย์ซาราม ซิงห์ ได้ให้ชาวเมืองทาบ้านพักอาศัยเป็นสีชมพูเพื่อต้อนรับราชวงศ์อังกฤษที่เดินทางมายังจัยปูร์ ซึ่งภายในพระราชวังมีบริเวณจัดแสดงท้องพระโรงที่ใช้ต้อนรับราชวงศ์อังกฤษอยู่ด้วย แสดงความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ

 

 

  • City Palace พระราชวังจัยปูร์ มีหลายบริเวณ ราคาค่าเข้าชมแตกต่างกันไป 
  • Hawa Mahal พระราชวังสายลม อยู่ในบริเวณพระราชวังและตลาดเก่าแก่ของเมือง สำหรับให้เหล่านางในได้มาเฝ้ามองสิ่งที่เกิดขึ้นนอกเมืองโดยที่ไม่จำเป็นต้องปรากฏตัว พระราชวังแห่งนี้มีหน้าต่างราว 953 บาน มีการเจาะช่องรับลมได้เป็นอย่างดี
  • Jantar Mantar หอดูดาวที่สร้างโดยกษัตริย์สวาอี ชัยสิงห์ นับว่าเป็นการก่อสร้างเครื่องมือทางดาราศาสตร์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ทั้งนาฬิกาแดด หอนาฬิกาขนาดใหญ่ที่ใช้แสงแดดในการคำนวณ
  • Patrika Gate ประตูปาตริกา อยู่ตรงวงเวียน Jawahar Circle ความงดงามของสีสันทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและถ่ายรูปที่นักท่องเที่ยวหนาแน่นตลอดเวลา
  • Nahargarh Fort ป้อมนาหรครห์ อยู่ห่างออกจากตัวเมืองจัยปูร์ ใช้ในการป้องกันเมืองมาตั้งแต่สมัยโบราณ สร้างราวปี 1734
  • Amber Fort ป้อมแอมเบอร์ ป้อมป้องกันข้าศึกอีกแห่งที่อยู่บริเวณทะเลสาบเมาตา งานออกแบบงดงามตามแบบราชปุตและศิลปะฮินดู 
  • Raj Mandir Cinema โรงภาพยนตร์แบบสแตนด์อโลนที่เก่าแก่และหรูหราสุดๆ แห่งจัยปูร์ การออกแบบสุดคลาสสิก และการรับชมภาพยนตร์อินเดียร่วมกับชาวอินเดีย นับเป็นประสบการณ์ที่ไม่ควรพลาด

 

Jodhpur (จ๊อดห์ปูร์)

นครสีฟ้า หรือเมืองจ๊อดห์ปูร์ อยู่ห่างจากเมืองจัยปูร์ราว 333 กิโลเมตร สร้างโดยกษัตริย์ราโอ โชธา ด้วยความที่ตัวเมืองเป็นสีฟ้าจากสีประจำเมืองที่บ้านแทบทุกหลังใช้ทาสี เล่าต่อกันมาว่าสีฟ้าเป็นสีที่หายากและราคาแพงในสมัยก่อน เพราะมีส่วนผสมของแร่คอปเปอร์ซัลเฟตอยู่ด้วย ทำให้การทาสีฟ้าแสดงถึงสถานะและวรรณะของผู้คน ซึ่งส่วนใหญ่คนในวรรณะพราหมณ์ในเมืองจ๊อดห์ปูร์เป็นเจ้าของดั้งเดิมของเหล่าอาคารสีฟ้าเหล่านี้

 

 

  • Toorji Ka Jhalra Bavdi บ่อน้ำที่ในอดีตใช้สำหรับเก็บกักน้ำสำหรับชาวเมือง สร้างราวปี 1700 ด้วยหินทราย มีการแกะสลักเพิ่มความสวยงามด้วย ถ้าหากกลัวความสูงโปรดระมัดระวัง
  • Sardar Market ตลาดเก่าจ๊อดห์ปูร์ ที่จะมีหอนาฬิกา Ghanta Ghar Jodhpur เป็นเอกลักษณ์ ช้อปปิ้งที่นี่สนุกมาก มีของทุกอย่างที่ต้องการ
  • Old Town Jodhpur เมืองเก่าจ๊อดห์ปูร์ เต็มไปด้วยตรอกซอกซอยจำนวนมากมาย ช่วงกลางวันไปจนถึงเย็นๆ ร้านรวงจะเปิดทำการ ถ้าแสงดีๆ ถ่ายรูปเพลินได้ทั้งวัน
  • Mehrangarh Fort ป้อมเมห์รานการห์ ป้อมปราการบนเนินเขาสูงที่มองเห็นได้ชัดเจนจากบริเวณเมืองเก่า ตัวป้อมยิ่งใหญ่ ขณะเดียวกันก็งดงามด้วยการใช้หินทรายสีแดงมาแกะช่องลม ช่องประตูต่างๆ

 

Jaisalmer (ไจซาลเมอร์)

เมืองไจซาลเมอร์ เรียกอีกชื่อว่า เมืองสีทองของทะเลทราย ด้วยความที่ตัวเมืองอยู่ติดกับทะเลทรายธาร์ ตัวเมืองและพระราชวังในสมัยโบราณจะอยู่ในป้อมปราการบนเนินเขา ซึ่งปัจจุบันในป้อมปราการยังมีชาวบ้านอยู่อาศัยจริงๆ ต่างจากเมืองอื่นๆ ที่กลายเป็นพื้นที่สำหรับการท่องเที่ยวไปหมดแล้ว ความที่เมืองไจซาลเมอร์อยู่ติดกับทะเลทราย จึงทำให้สีของเมืองเลียนแบบสีของทราย กลมกลืนไปกับทะเลทราย รวมถึงกลมกลืนไปกับช่วงพายุทรายที่จะทำให้บ้านเมืองเต็มไปด้วยสีฝุ่นทราย

 

 

    • Jaisalmer Fort ป้อมไจซาลเมอร์ หรือ Golden Fort ที่นับว่าเป็นหมุดหมายที่นักเดินทางอยากมาให้ถึงสักครั้ง เพราะการได้เดินไปบนป้อมสีทอง มองลงมาเห็นเมืองสีฝุ่นกระจัดกระจายโดยรอบ คือความงามที่ทำให้นึกว่าอยู่ในภาพยนตร์แฟนตาซีสักเรื่อง
    • Pansari Bazaar ตลาดเก่าที่อยู่ติดกับป้อมไจซาลเมอร์ ตรอกซอกซอยมากมาย รวมถึงร้านค้า ร้านอาหาร 
  • Kothari’s Patwon Ki Haveli Museum บ้านของเศรษฐีตระกูลปัฏวาออกแบบ ก่อสร้างอย่างประณีตงดงาม
  • ขี่อูฐชมทะเลทรายธาร์ นับเป็นไฮไลต์ของการเดินทางมาไจซาลเมอร์ และต้องบอกว่าสวยคุ้มค่าการเดินทางอันยาวนาน 
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising