ก็เป็นเรื่องจริงตามคำโปรยที่นิทรรศการบอก เพราะเมื่อพูดถึงงานศิลปะสมัยใหม่ ส่วนใหญ่พวกเรามักเห็นงานดิจิทัลหรือศิลปะที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสียมากกว่า จนบางครั้งเสน่ห์ความคราฟต์ของฝีมือศิลปินเริ่มเลือนหาย กลายเป็นของหาดูยากขึ้นมา
‘Traditions Transformed’ นิทรรศการซึ่งจัดอยู่ที่แกลเลอรี ATT 19 ในย่านเจริญกรุง จึงอยากให้ทุกคนได้ชมเชย ‘งานฝีมือ’ ของมนุษย์จริงๆ ที่เต็มไปด้วยรายละเอียด ความจดจ่อ และความสร้างสรรค์ที่เทคโนโลยีให้ไม่ได้
ด้วยการจัดแสดงผลงานของศิลปินชายล้วน 7 คน เพื่อเอาชนะทั้งเทคโนโลยีที่เริ่มเข้ามาแทนที่มนุษย์ และค่านิยมในสังคมที่บอกว่า งานฝีมือเป็นเรื่องของผู้หญิงเท่านั้น
งานแรกเป็นของ ‘ธนเบศร์ ชาญปรีชา’ ที่ชอบการประดิษฐ์ของจิ๋วๆ มาตั้งแต่เด็ก ผลงานของเขาในนิทรรศการนี้คือตู้โทรศัพท์สาธารณะ ถังขยะสไตล์ประเทศไทย และห้างทองฮั่วเซ่งเฮง ที่เราอยากให้ทุกคนลองเพ่งดูรายละเอียดที่ศิลปินใส่ไว้
‘เอก รอดเมฆ’ เล่าเรื่อง Factory’s Tales เพราะในฐานะศิลปินผู้เคยเป็นทั้งช่างไม้และวิศวกร เขารู้สึกผูกพันกับโรงงานและวัตถุอุตสาหกรรม จึงหยิบอุปกรณ์ต่างๆ ที่คุ้นเคยมาผสมรวมเข้ากับแก้วที่เปราะบาง
ภาพงานปักเป็นผลงานของ ‘Hanyu Cui’ ที่ต้องการพูดถึงกลุ่มชาติพันธุ์ดง จึงวาดภาพขึ้นมาและใช้เทคนิคการปักด้วยมือแบบดั้งเดิมของชาวดง จนเกิดเป็นชิ้นงานเหล่านี้
เฟอร์นิเจอร์รูปร่างแปลกหน้า ลวดลายแปลกตาเป็นของ ‘ธีรพจน์ ธีโรภาส’ ผู้ต้องการผลักดันงานคราฟต์ที่มีทั้งความยั่งยืนและ ‘ความสมดุล’ เขาหยิบสิ่งของสะสมส่วนตัวมาจัดแสดงราวกับเป็นสนามเด็กเล่น
‘สุบรรณกริช ไกรคุ้ม’ นำศิลปะไทยดั้งเดิมที่ปกติเรามักเห็นบนผนังสถานที่โบราณ มาครีเอตใหม่ให้น่าสนุก เต็มไปด้วยดีเทล และดูจับต้องได้
งานเซรามิกเสมือนจริงที่เป็นของ ‘ศิริศักดิ์ แซ่โง้ว’ เขาเกิดไอเดียช่วงโควิดที่อุปกรณ์ศิลปะต้องนอนแน่นิ่ง จึงจำลองสิ่งของต่างๆ ขึ้นมาใหม่ แล้วเปิดขายเป็นของมือสองแบบ Garage Sales
ผลงานของ ‘รักษิต บุญนาค’ เป็นชิ้นที่เราชอบมากในงานนี้ โชว์พลังฝีมือมนุษย์ด้วยการฉีกกระดาษ 20 เมตรให้กลายเป็นชิ้นงาน 3 มิติที่เต็มไปด้วยลวดลาย การเคลื่อนไหว เพื่อสื่อถึงการหายไปของป่าไม้ในทุกๆ ครั้งที่มีการก่อสร้างป่าคอนกรีต
Traditions Transformed จัดแสดงถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2566 ณ ATT 19 ซอยเจริญกรุง 30 โดยนิทรรศการเปิดให้เข้าชมฟรี ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 11.00-18.00 น.