×

เมื่อไรเราจะหยุดทะเลาะกันด้วยเรื่องไร้สาระ?

03.12.2024
  • LOADING...

“วันนี้กินอะไรดี?” คำถามธรรมดาที่อาจนำไปสู่การทะเลาะกันได้ง่ายๆ เพราะพอฝ่ายหนึ่งเสนอร้าน อีกฝ่ายก็บอก
“ไม่เอา กินบ่อยแล้ว เบื่อ”
พอถามต่อว่า “แล้วจะกินอะไร?”
ก็ได้คำตอบกลับมาว่า “ไม่รู้ แล้วจะถามทำไม?” 

 

นอกจากนี้ยังมีประโยคชวนหงุดหงิดอย่าง
“ทำไมไม่อ่านข้อความ?”
“ทำไมกดไลก์รูปเพื่อน แต่ไม่กดไลก์รูปฉัน?”
“ทำไมออนไลน์อยู่แต่ไม่ตอบแชต?”

 

ถ้าคุณเคยเจอสถานการณ์เหล่านี้ เรามีแนวทางในการปรับตัวและแก้ไขพฤติกรรมเพื่อรักษาความสัมพันธ์ให้ราบรื่นกว่าเดิมมาฝาก 

 


 

เมื่อโซเชียลมีเดียและชีวิตประจำวันกลายเป็นสนามรบของความรัก

 

เดี๋ยวนี้การสื่อสารผ่านหน้าจอกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้วใช่ไหมล่ะ?
แต่เราก็อาจลืมไปว่าบางครั้งการ ‘ออฟไลน์’ ก็เป็นเรื่องปกติ การที่แฟนไม่ได้ตอบข้อความทันทีหรือไม่เห็นด้วยกับตัวเลือกร้านอาหารของเรา ไม่ได้หมายความว่าเขาหรือเธอไม่รักหรือกำลังจงใจทำให้เราหงุดหงิด ความจริงแล้วการทะเลาะกันด้วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ทำนองนี้มักมีสาเหตุมาจากความไม่มั่นคงในตัวเอง เรามักจะกังวลมากเกินไปกับพฤติกรรมของคนรัก บวกกับการสื่อสารที่ไม่ชัดเจน ทำให้เกิดการตีความผิดๆ และความคาดหวังที่ไม่ตรงกัน 

 

แล้วอะไรคือกุญแจสำคัญของความสัมพันธ์ที่มั่นคง

 

การมีวุฒิภาวะทางอารมณ์คือคำตอบ เพราะวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่ดีจะเพิ่มความสามารถในการจัดการกับความรู้สึกของตัวเองเมื่อเกิดความไม่พอใจ แทนที่จะระเบิดอารมณ์ออกมาทันที เราจะมีทางออกที่ดีต่อใจมากกว่านั้น ลองหยุดหายใจลึกๆ และให้เวลาตัวเองคิดทบทวน บางครั้งสิ่งที่ทำให้เราโกรธอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่อย่างที่คิด

 

การฝึกควบคุมอารมณ์ไม่ได้หมายถึงการเก็บกด แต่หมายถึงการเลือกวิธีแสดงออกที่เหมาะสม เช่น แทนที่จะพูดว่า “ทำไมไม่รู้จักคิดซะบ้าง” ลองเปลี่ยนเป็น “ฉันรู้สึกไม่ดีเมื่อเธอตอบช้า” การสื่อสารแบบนี้จะช่วยให้อีกฝ่ายเข้าใจความรู้สึกของเราโดยไม่รู้สึกถูกโจมตี

 

วิธีจัดการกับความขัดแย้งในชีวิตประจำวัน

 

การหยุดและถามตัวเองก็เป็นสิ่งสำคัญ เช่น เมื่อไรก็ตามที่เรารู้สึกหงุดหงิดกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ลองถามตัวเองว่า เรื่องที่กำลังทะเลาะกันสำคัญขนาดไหน ถ้าผ่านไป 1 ปี เราจะยังจำเรื่องนี้ได้ไหม หรือมีสาเหตุอื่นที่ทำให้เรารู้สึกไม่พอใจหรือเปล่า

 

แทนที่จะโกรธเงียบหรือโพสต์ระบายทางโซเชียลมีเดียเพื่อประกาศให้คนทั้งโลกรู้
ลองเปลี่ยนวิธีมาเป็นการสื่อสารอย่างเปิดใจ บอกความรู้สึกไปตรงๆ เช่น “ที่ฉันถามเรื่องอาหารเพราะอยากให้เราได้กินในสิ่งที่เราทั้งคู่ชอบ ช่วยบอกได้ไหมว่ามีเมนูไหนที่เราชอบเหมือนกันบ้าง?” 

 

สร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแรงในยุคดิจิทัล

 

การสร้างความไว้ใจเป็นพื้นฐานสำคัญ เราต้องเชื่อใจในความรู้สึกที่มีต่อกัน ไม่จำเป็นต้องคอยจับผิดกันในโซเชียลมีเดีย หรือคาดหวังให้อีกฝ่ายต้องเห็นด้วยกับเราในทุกเรื่อง การพัฒนาตัวเองก็สำคัญไม่แพ้กัน ทำความเข้าใจความไม่มั่นคงของตัวเอง หาวิธีจัดการกับความวิตกกังวล และที่สำคัญคือการใช้เวลาคุณภาพด้วยกัน สร้างความทรงจำดีๆ แทนการจดจ่อกับเรื่องเล็กน้อย

 

จริงๆ แล้วการทะเลาะกันด้วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อาจเป็นสัญญาณว่าเราต้องหันมาใส่ใจกับสิ่งที่สำคัญจริงๆ ในความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นความไว้ใจ การสื่อสาร หรือการเข้าใจซึ่งกันและกัน จำไว้ว่าความรักที่แท้จริงไม่ได้วัดกันที่การตอบคำถาม “วันนี้กินอะไรดี?” ได้ถูกใจ หรือความเร็วในการตอบแชต แต่วัดที่ความเข้าใจ การให้อภัย และการเติบโตไปด้วยกัน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X