เชื่อว่าต้องมีสักครั้งในชีวิตที่ซื้อสกินแคร์ตามที่ใครต่อใครว่าดีมาลอง แต่พอใช้ปุ๊บสิวกลับเห่อ ผดผื่นถามหาจนต้องตัดใจยกให้คนอื่นไม่ก็กลั้นใจทิ้งไป ข่าวดีที่เราอยากบอกคือ ความจริงแล้วคุณอาจจะไม่ได้แพ้สกินแคร์ชิ้นนั้น แต่แค่ระคายเคืองก็ได้นะ ดังนั้นก่อนจะทิ้งชิ้นที่ถูกวางลืมจนฝุ่นเกาะ เรามาทำความเข้าใจก่อนว่าอาการระคายเคืองและแพ้แตกต่างกันอย่างไร
อาการระคายเคือง (Irritation)
อาการระคายเคืองนั้นเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น มลภาวะ สภาพอากาศ สารในเครื่องสำอางที่ใช้ ไม่ว่าจะเป็นสกินแคร์ น้ำหอม แอลกอฮอล์ รวมไปถึงสภาพผิวและความแข็งแรงของผิว ณ ช่วงเวลานั้น แน่นอนว่าใครที่เพิ่งผลัดเซลล์ผิว เลเซอร์มาหมาดๆ หรือมีผิวแห้งก็ย่อมมีโอกาสที่จะระคายเคืองได้ง่ายกว่า เนื่องจากเกราะคุ้มกันผิว (Skin Barrier) อ่อนแอนั่นเอง
อาการที่บ่งชี้ว่าเกิดจากการระคายเคืองนั้นเป็นได้ตั้งแต่ผื่น คัน สิว แสบแดง หรือแห้งลอก แต่จะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับสภาพผิวของแต่ละบุคคล ทว่าอาการดังกล่าวนี้จะไม่เกิดกับทุกส่วนของร่างกาย เช่น หากคุณทาสกินแคร์กับผิวหน้าแล้วมีอาการคันยุบยิบ เป็นผื่น แต่พอล้างออกแล้วหาย หรือนำไปทาส่วนแขน ขา ลำตัวแล้วไม่เกิดอาการใดๆ แสดงว่าแท้จริงแล้วคุณไม่ได้แพ้สกินแคร์ชิ้นดังกล่าว แต่เป็นเพียงอาการระคายเคืองเท่านั้น
Solution
พักการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ระคายเคืองผิวชั่วคราวแล้วไปฟื้นบำรุงผิวให้แข็งแรงก่อน เช่น การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยปลอบประโลมผิว ลดอาการอักเสบ หรือเติมความชุ่มชื้นด้วยมอยส์เจอไรเซอร์เพื่อสร้างความแข็งแรงให้เกราะคุ้มกันผิว จากนั้นค่อยกลับมาใช้ผลิตภัณฑ์ตัวดังกล่าว โดยเริ่มจากปริมาณน้อย อาจลองเป็นสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง คอยสังเกตดูอาการ แล้วค่อยๆ เพิ่มปริมาณตามความเหมาะสม
อาการแพ้ (Allergy)
อาการแพ้นั้นเป็นปฏิกิริยาส่วนบุคคลที่มีความคล้ายคลึงกับอาการระคายเคืองแต่รุนแรงกว่า เช่น หลังทาสกินแคร์แล้วเกิดผื่นแดง คัน บวม แสบ ลุกลามเป็นสิว และอาจรุนแรงลุกลามมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ล้างผลิตภัณฑ์ออกแล้วก็ยังมีอาการ และที่สำคัญคือ ต่อให้นำมาใช้กับผิวบริเวณอื่นของร่างกาย หรือกลับมาใช้ซ้ำในวันข้างหน้าก็ยังมีอาการในลักษณะเดียวกันอยู่ดี
Solution
หยุดใช้ทันที หากมีอาการแพ้รุนแรงควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังเพื่อรักษาตามอาการ
ทดสอบอาการแพ้
การทดสอบอาการแพ้ก่อนใช้ถือเป็นวิธีที่แพทย์ผิวหนังแนะนำให้ทำอยู่เสมอ วิธีแรกคือการทดสอบด้วยตัวเองอย่างการทาผลิตภัณฑ์ในขนาดเท่าเหรียญ 10 บาท ไว้บริเวณหลังหู ท้องแขน หรือข้อพับ เช้า-เย็น เป็นเวลา 7-10 วัน แล้วคอยสังเกตอาการ ถ้าไม่มีอาการบ่งชี้ใดๆ ก็เป็นอันผ่าน หรือถ้าจะให้ชัวร์คือทำ Patch Test หรือการทดสอบภูมิแพ้ผิวหนังชนิดผื่นแพ้สัมผัสกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังโดยตรง โดยแพทย์จะปิดแผ่นทดสอบบริเวณหลัง โดยที่เราจะต้องเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้แผ่นทดสอบโดนน้ำหรือมีเหงื่อเป็นเวลา 48 ชั่วโมง ก่อนกลับไปพบแพทย์เพื่อประเมินอีกครั้ง วิธีนี้ค่อนข้างให้ความแม่นยำและเป็นประโยชน์ต่อแนวทางการปฏิบัติตัวต่อไปในอนาคตได้ ที่สำคัญคือจะไม่ทำให้เราเสียทรัพย์ซื้อสกินแคร์ที่ไม่ถูกกับผิวมาใช้เก้อ
อ้างอิง:
- https://synergieskin.com/blogs/all/what-is-the-difference-between-skin-irritation-and-a-skin-allergy#:~:text=The%20outward%20appearance%20of%20skin,specific%20site%20of%20direct%20contact.
- https://www.aad.org/public/everyday-care/skin-care-secrets/prevent-skin-problems/test-skin-care-products
- https://www.bangkokhospital.com/content/patch-test