“การรักษามะเร็งคือการต่อสู้กับสิ่งที่มองไม่เห็น” รศ. นพ.ชลเกียรติ ขอประเสริฐ นายกสมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวขณะกำลังพาเราเดินชมอาคารสำหรับรักษาโรคมะเร็งของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ในประเทศไทยมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งติดต่อกันหลายสิบปี จากข้อมูลพบว่าคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปีละกว่า 67,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 8 คน และพบผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ยราว 120,000 คนต่อปี
ปัจจุบันเราเห็นผู้ป่วยมะเร็งมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ อย่างน่าตกใจ แถมยังมีแนวโน้มผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี ส่วนหนึ่งอาจมาจากการใช้ชีวิตของผู้คนสมัยใหม่ รวมถึงสภาพแวดล้อม ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ทั้งนั้น นี่จึงเป็นหนึ่งในโรคร้ายแรงที่น่าหวาดกลัว
รศ. นพ.ชลเกียรติ ขอประเสริฐ
พบเทคโนโลยีล้ำสมัย มีที่เดียวในไทย
วันนี้เราเดินทางมาพบกับ รศ. นพ.ชลเกียรติ ขอประเสริฐ เนื่องจากที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีเทคโนโลยีล้ำสมัยในการรักษามะเร็งอย่าง ‘การบำบัดด้วยโปรตอน’ (Proton Therapy) ณ ศูนย์โปรตอนพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ (Her Royal Highness Princess Maha Chakri Sirindhorn Proton Center) เป็นศูนย์แรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ติดตั้งเครื่องโปรตอน Varian ProBeam ระบบทันสมัยสำหรับการรักษามะเร็งในบริเวณที่ต้องการความแม่นยำสูง เช่น มะเร็งสมอง มะเร็งปอด และมะเร็งในเด็ก
ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
ธรรมชาติของโรคมะเร็งและหลากหลายวิธีการรักษา
“มะเร็งคือเซลล์ในร่างกายของคนเราที่แบ่งตัวผิดปกติและควบคุมไม่ได้ ปกติเซลล์ในร่างกายจะต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดู แต่ความยากคือเซลล์มะเร็งมันดูคล้ายเซลล์เนื้อเยื่อของเราจนแยกไม่ออก เหมือนเรากำลังต่อสู้กับสิ่งที่มองไม่เห็น” รศ. นพ.ชลเกียรติ อธิบายธรรมชาติของมะเร็ง ซึ่งมะเร็งที่พบได้บ่อย ได้แก่ มะเร็งตับ ปอด ลำไส้ใหญ่ ต่อมลูกหมาก ต่อมน้ำเหลือง เม็ดเลือดขาว กระเพาะปัสสาวะ และช่องปาก ฯลฯ
“วิธีการรักษามะเร็งในปัจจุบันมีตั้งแต่การผ่าตัดแล้วยกก้อนมะเร็งออกมาทั้งก้อนเลย แต่มะเร็งในบางอวัยวะอาจจะผ่ายาก ผ่าง่าย หรืออาจจะผ่าไม่ได้เลย ต่อมาคือการฉายรังสี เราวางแผนการให้รังสีด้วยคอมพิวเตอร์เข้าไปทำลายมะเร็งให้ตรงเป้าและโดนเนื้อเยื่อปกติให้น้อยที่สุดโดยไม่ทำลายอวัยวะนั้น ข้อดีคือไม่ต้องผ่าตัดเปิดเข้าไป ยิงจากข้างนอกได้ และให้รังสีในบริเวณที่กว้างขึ้นได้ เพราะมันอาจจะลุกลาม แต่ข้อเสียคือเซลล์มะเร็งบางชนิดก็ดื้อต่อรังสี หมอจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะให้รังสีได้ไหม และมันจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างไรบ้างสำหรับในบางอวัยวะที่ไวต่อรังสีมาก
ทำลายเซลล์มะเร็ง มาพร้อมกับเอฟเฟกต์ในร่างกายที่ไม่มีใครอยากเผชิญ
“สำหรับผู้ป่วยที่มะเร็งมีการลุกลาม บางทีอาจแทรกซึมไปตามกระแสเลือดหมดเลย จะให้ฉายรังสีทั่วร่างก็คงไม่ไหว หรือจะผ่าตัดทั้งหมดก็คงไม่ได้ เราก็ใช้วิธีให้ยา อย่างที่เรียกว่า ‘เคมีบำบัด’ มันจะทำลายเซลล์ที่แบ่งตัวไว ข้อดีคือมันรักษาได้ทั่วทั้งร่าง แต่ข้อเสียคือ ด้วยความที่เซลล์มะเร็งมันใกล้เคียงกับเซลล์ร่างกายของเรา แม้ว่าเราพยายามที่จะหาตัวยาที่ทำลายเฉพาะเซลล์มะเร็ง แต่มันก็ยังมีเอฟเฟกต์กับร่างกายเราอยู่ดี เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หรือผมร่วง เพราะเซลล์เส้นผมและเซลล์ทางเดินอาหารมันแบ่งตัวไว ก็เลยโดนทำลายด้วยยาไปด้วยเหมือนกัน แต่ในปัจจุบันเรามี ‘ยามุ่งเป้า’ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ก็พยายามจะหาความแตกต่างของเซลล์มะเร็งกับเซลล์ปกติในร่างกายของเราให้ได้ และเอายาเข้าไปจัดการเฉพาะจุดของมะเร็ง
“อีกวิธีหนึ่งคือภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของเราให้รู้จักเซลล์มะเร็ง หรือเอาภูมิบางตัวมาเลี้ยงและฝึกให้รู้จักเซลล์มะเร็งและฉีดกลับเข้าไปในร่างกายของเรา ฟังดูเหมือนดี แต่ปัจจุบันก็ยังใช้ได้แค่บางโรคและราคาสูงมากในเมืองไทย”
เทคโนโลยีขั้นสูงที่เรียกว่า ‘การบำบัดด้วยโปรตอน’ (Proton Beam Therapy) นี้เองที่เข้ามาช่วยปฏิวัติวิธีการรักษาโรคมะเร็งให้มีความละเอียดเฉพาะจุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เป็นเครื่องฉายรังสีด้วยอนุภาคโปรตอนด้วยความแม่นยำสูง แม่นยำกว่ารังสีเอ็กซ์แบบเดิมหลายเท่า ปล่อยรังสีพลังงานเข้มข้นในบริเวณที่ต้องการทำลายเซลล์มะเร็งโดยตรง ลดการกระจายรังสีไปยังเนื้อเยื่อปกติรอบข้าง เหมาะสำหรับมะเร็งที่อยู่ในตำแหน่งซับซ้อนและมีความสำคัญ เช่น สมอง ตา ไขสันหลัง หรืออวัยวะอื่นๆ ที่มีความเปราะบาง
โปรตอน เทคโนโลยีการรักษามะเร็งที่ละเอียดสูงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
“การตรวจมะเร็ง ถึงแม้ปัจจุบันเราจะมีเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ มีเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI หรือมี PET Scan ที่มันดูได้ละเอียดขึ้น แต่ละเอียดยังไงก็ยังไม่เท่าระดับเซลล์ คำว่าละเอียดขึ้นในปัจจุบันอาจจะได้สัก 2 มิลลิเมตร แต่เซลล์นี่ 1 เซนติเมตรมีอยู่พันล้านเซลล์ ถ้า 2 มิลลิเมตรก็อาจจะ 2 ร้อยล้านเซลล์ โปรตอนจึงเป็นเทคโนโลยีการรักษามะเร็งที่ละเอียดที่สุด ณ ตอนนี้
“ร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยหลายพันล้านอะตอม หลายล้านอะตอม ถึงจะเป็นหนึ่งโมเลกุลและถึงจะเป็นหนึ่งเซลล์ แต่โปรตอนเป็นประจุบวกที่มีขนาดเล็กมาก เล็กกว่านิวเคลียสของอะตอมถึง 3 แสนเท่าในการรักษา เราจะเร่งให้โปรตอนมีความเร็วสูงระดับ 2 ใน 3 ของความเร็วแสง หรือ 2 แสนกิโลเมตรต่อวินาที มันจึงวิ่งเข้าผ่านร่างกายมนุษย์แบบทะลุผ่านอะตอมไปเลย ถึงระยะหนึ่งมันจะไปหยุดนิ่งอยู่ที่ใจกลางร่างกายของคนเรา และประจุบวกจะไปทำปฏิกิริยากับประจุลบในก้อนมะเร็ง จึงทำให้มันสลายไปได้” รศ. นพ.ชลเกียรติ อธิบาย
เครื่องโปรตอนเดียวในประเทศไทย งบดูแลรักษาต่อปีกว่า 30 ล้าน
ต้องบอกว่าไม่ใช่ผู้ป่วยมะเร็งทุกคนในเมืองไทยจะได้เข้าถึงเครื่องโปรตอน เพราะปัจจุบันมีอยู่ที่ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพียงแห่งเดียว ค่าใช้จ่ายก็สูงกว่ารังสีแบบเดิมถึง 10 เท่า ของเดิมฉายรังสีประมาณ 4,000-5,000 บาทต่อครั้ง แต่โปรตอนอยู่ที่ 45,000 บาทต่อครั้ง รวม 1-2 ล้านบาทต่อการรักษาทั้งหมด (มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งและจำนวนครั้งที่ต้องทำ) ดังนั้นจะให้สิทธิ์ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีนี้และตรงข้อบ่งชี้ ได้แก่ มะเร็งในเด็ก ซึ่งมีอวัยวะบอบบาง หรือมะเร็งในผู้ใหญ่ในอวัยวะที่สำคัญ อย่างเช่น สมอง หู คอ หรือจมูก หากฉายรังสีด้วยเครื่องปกติจะมีอันตรายรุนแรง รวมไปถึงผู้ป่วยที่เคยได้รับรังสีไปแล้วมะเร็งกลับมาใหม่ หากฉายซ้ำด้วยเครื่องเดิม ผลข้างเคียงจะรุนแรงมาก
เราได้เข้าไปชมเบื้องหลังการทำงานภายในห้องควบคุมเครื่องโปรตอน และได้เห็นเครื่องที่มีขนาดใหญ่มาก ถึงกับต้องสร้างอาคารทั้งหลังโดยเฉพาะ ต้องมีวิศวกรคอยควบคุมการทำงานอยู่ตลอด วันหนึ่งรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 25 คน และช่วงกลางคืนก็จะมีวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญมาดูแลรักษาก่อนเปิดเครื่องพร้อมใช้งานใหม่ในวันรุ่งขึ้น รวมค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาต่อปีราว 30 ล้านบาท
การบำบัดด้วยโปรตอน (Proton Therapy)
กว่าที่เมืองไทยจะมีเครื่องโปรตอนรักษามะเร็งเป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“ผมสนใจเรื่องรังสีรักษาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนแพทย์และมีอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นแพทย์ทางด้านนี้ ต่อมามีโอกาสไปเรียนที่ญี่ปุ่น อาจารย์ที่นั่นก็เป็นผู้ที่สร้างเครื่องโปรตอนเครื่องแรกๆ ของญี่ปุ่น ก็ได้เรียนรู้และใฝ่ฝันอยากให้เมืองไทยมีเครื่องนี้ เพราะมันคือรังสีที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด เป็นโชคดีที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ของบประมาณไปตั้งแต่ก่อนช่วงโควิด และได้ราคาพิเศษจากผู้ผลิตในสหรัฐอเมริกาจาก 5,000 ล้านบาท เหลือประมาณ 1,200 ล้านบาท แต่ตอนนี้ราคาสูงขึ้นเท่าตัว เราเริ่มวางแผนและศึกษาความเป็นไปได้เรื่องโปรตอนตั้งแต่ปี 2557 และริเริ่มโปรเจกต์เมื่อประมาณปี 2562 กว่าจะสร้างอาคาร ติดตั้งเครื่อง เทสต์เครื่อง จนมาใช้งานได้จริงๆ คือเดือนสิงหาคม ปี 2564”
อัตราความสำเร็จของการรักษาด้วยโปรตอนขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของมะเร็ง แต่โดยรวมมีการควบคุมมะเร็งอยู่ในระดับสูงถึง 80-90% และผลข้างเคียงก็น้อยกว่าการฉายรังสีแบบดั้งเดิมมาก ในประเทศไทยมีศูนย์รังสีรักษาอยู่กว่า 40 แห่งทั่วประเทศ มีแพทย์เฉพาะทางด้านรังสีรักษาอยู่เพียง 200 ท่าน มีเครื่องฉายรังสีที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์แบบดั้งเดิมอยู่ร้อยกว่าเครื่อง และผู้ป่วยเข้าถึงการรักษามะเร็งแบบพื้นฐานได้แทบทุกจังหวัด โดยจะต้องไปตามสิทธิ์การรักษาของตนเองก่อน แต่เมื่อถึงขั้นของการรักษาที่ซับซ้อนมากขึ้นและจำเป็นต้องใช้โปรตอน ก็จะได้รับการส่งตัวมาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ
“การแพทย์ในไทยถือว่าไม่ด้อยกว่าที่ไหนเลยครับ เครื่องโปรตอนเรามีให้คนไทยได้ใช้งานก่อนสิงคโปร์ด้วยซ้ำ แต่ด้วยงบประมาณของเขาที่มากกว่า ตอนนี้สิงคโปร์มีเครื่องโปรตอนเพิ่มขึ้นเป็น 4 เครื่อง ทำให้ปัจจุบันในไทยเราต้องเลือกใช้เฉพาะเคสที่จำเป็นก่อน แต่คาดว่าในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีราคาถูกลง โปรตอนก็จะค่อยๆ เข้ามาแทนที่เครื่องฉายรังสีปกติ อาจจะ 20-30 ปีข้างหน้า” รศ. นพ.ชลเกียรติ กล่าว
ยิ่งตรวจพบเร็วในระยะเริ่มต้น ยิ่งเพิ่มโอกาสในการหายจากมะเร็งได้มาก
“ความฝันของผมก็คืออยากให้ผู้ป่วยมะเร็งมีโอกาสหายจากโรคได้มากที่สุด ผลข้างเคียงน้อยที่สุด เราในฐานะแพทย์ก็พยายามทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดเท่านั้นเอง สิ่งสำคัญคือต้องให้ผู้ป่วยมีกำลังใจที่จะรักษา เพราะการต่อสู้นี้มันมีผลข้างเคียง แต่ทุกคนมีโอกาสหายถ้าเราทำให้เต็มที่ และยิ่งตรวจพบเร็วในระยะเริ่มต้นมากเท่าไร โอกาสหายก็ยิ่งมากขึ้น
“ปัจจุบันโรคมะเร็งบางชนิดมีอุบัติการณ์ที่น้อยลง อย่างเช่น มะเร็งปากมดลูก เพราะผู้หญิงหลายคนได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV รวมถึงมะเร็งตับก็จะน้อยลงด้วย เพราะเรามีวัคซีนป้องกันตับอักเสบให้เด็กๆ และรัฐบาลก็ส่งเสริมให้มีการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีเพื่อคัดกรองโรค แต่อย่างไรก็ตาม การใช้ชีวิตแบบสมัยใหม่และสภาพแวดล้อมก็ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงนำไปสู่มะเร็งอีกหลายชนิด ฉะนั้นต้องดูแลสุขภาพ เลือกรับประทานอาหารที่มีคุณภาพ มีกากใยเยอะขึ้น และสวมหน้ากากเสมอเวลาอยู่นอกอาคาร” รศ. นพ.ชลเกียรติ กล่าว
ความฝันต่อไปของ รศ. นพ.ชลเกียรติ คือ อยากให้ประเทศไทยมีเครื่องโปรตอนเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับและดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งยกระดับการรักษาโรค แม้เราจะกำลังต่อสู้กับสิ่งที่มองไม่เห็นและไม่มีใครหนีพ้นจากสังสารวัฏได้ แต่การทำทุกวันให้เต็มที่ในหน้าที่ของตนเอง นั่นคือสิ่งที่ทำให้ทุกวินาทีของชีวิตมีคุณค่า
- ใครที่สนใจ สามารถทำบุญสมทบทุนในโครงการ Proton Therapy for Quality of Life ผ่านสภากาชาดไทย