×

Passion Calling: ก้อย อรัชพร จากนักแสดงสู่การเขียนหนังสือเล่มแรก

25.11.2023
  • LOADING...

ถ้าย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน ในซีรีส์ Hormones จะมีผู้หญิงคนหนึ่งรับบทหญิงสาวที่จัดจ้าน มีบุคลิกแรงๆ ต่อมากับซีรีส์ O-Negative รักออกแบบไม่ได้ ผู้หญิงคนนี้ได้กลับมารับบท ชมพู่ ผู้หญิงสายฮาที่สามารถเรียกเสียงหัวเราะจากคนดูได้หลายๆ ฉาก และต่อมาก็มีอีกหลากหลายบทบาทที่เธอได้รับ ไม่น่าเชื่อว่าคาแรกเตอร์ที่แตกต่างกันเหล่านั้นจะมาจากนักแสดงหญิงคนเดียวกันนั่นคือ ก้อย-อรัชพร โภคินภากร

 

ในช่วงหลังๆ มานี้เราจะได้เห็นก้อยในอีกหนึ่งบทบาทนั่นคือการเป็นยูทูเบอร์ คอยสร้างความสนุก เสียงหัวเราะ และคอนเทนต์ดีๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ และล่าสุดเธอกลายเป็นนักเขียนที่เริ่มต้นออกหนังสือของตัวเองด้วยมุมมองที่บอกเล่าเรื่องราวความเจ็บปวดในวัย 20 กว่าของเธอ

 

ในเมื่อก้อยมีอาชีพและความสามารถที่หลากหลายขนาดนี้ เราเลยอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักเธอให้มากขึ้นผ่าน Passion Calling ครั้งนี้กัน

 

 

เราเห็นว่าก้อยทำอาชีพนักแสดงเป็นหลัก เลยอยากทราบว่าจุดเริ่มต้นของความชอบการแสดงมาจากไหน 

 

ก้อย: มันเริ่มต้นมาตั้งแต่เด็ก ในทุกสัปดาห์เราจะชอบทำการแสดงให้ยายดู มีเรื่อง บ้านทรายทอง,  อังกอร์ และ สาวน้อยในตะเกียงแก้ว เราเล่นทุกบทตั้งแต่เด็ก แค่รู้สึกว่ามันเป็นกิจกรรมที่สนุกสนานดี แต่พอโตขึ้นมันก็ไม่ได้สานต่อ เพราะพ่อแม่อยากให้เป็นหมอ แล้วก็รู้สึกว่ามาชอบการแสดงก็คือตอนเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว 

 

 

ในวัยเด็กก้อยมีความคิดไหมว่าอยากเป็นนักแสดงจริงๆ จังๆ

 

ก้อย: ไม่เลย ทุกครั้งที่มีคนถามก็จะตอบว่าฉันอยากเป็นหมอ อันที่จริงมันมาจากการที่เราเป็นคนเสพติดกับคำชม พอเราตอบว่าอยากเป็นหมอคนก็จะชมว่าดี เอาเข้าจริงเราแทบไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าหมอต้องทำอะไร (หัวเราะ) อย่างมากสุดที่รู้ก็อาจจะรักษาคน พอคนชมว่าดีที่อยากเป็นหมอเราก็รู้สึกดีใจ แต่พอเราโตขึ้นเรายิ่งชินกับคำชมเหล่านั้นมากขึ้น พอได้รับคำชมมาก็รู้สึกว่าแล้วยังไงต่อ แต่สุดท้ายในวันนี้เราเปลี่ยนจากความรู้สึกดีใจ๊ดีใจที่ได้คำชมมาเป็นขอบคุณที่ชม แล้วก็มาพัฒนาต่อยังไงดี

 

พอเริ่มโตขึ้นเข้ามหาวิทยาลัย เส้นทางงานแสดงของก้อยเป็นยังไงต่อ

 

ก้อย: งานแรกที่ได้ลองแสดงคือการเล่นละครเวทีของคณะ ตอนเล่นก็ไม่แน่ใจว่าชอบไหม แอบรู้สึกกดดันตัวเอง คงเพราะเราเป็น Perfectionist ด้วยมั้ง ก็เลยเป็นประสาทไปช่วงหนึ่งเลย (หัวเราะ) แต่หลังจากนั้นก็ได้ลองเล่นหนังสั้นของเพื่อนคนหนึ่ง มันทำให้เราตกหลุมรักงานแสดงไปเลย มันเป็นหนังสั้นของเพื่อนที่เราไม่ค่อยเข้าใจความเป็นเขา หนังเรื่องนั้นเขาเขียนเกี่ยวกับตัวเอง พอเราได้ไปลองเล่น พอได้ลองทำความเข้าใจในตัวละคร ได้ลองเข้าใจมิติต่างๆ ของตัวละคร มันเลยทำให้เราเข้าใจเพื่อนคนนี้มากขึ้น และมันเลยทำให้เรารู้สึกว่าศาสตร์นี้มันทำให้เราเข้าใจคนในอีกขั้นหนึ่งได้

 

 

ที่ก้อยบอกว่าช่วงแรกเป็น Perfectionist เวลาแสดง แล้วก้อยจัดการความรู้สึกนั้นอย่างไร

 

ก้อย: จัดการไม่ได้เลย เราเป็นพวกที่คิดวนอยู่อย่างนั้น เวลาที่เจอปัญหาแล้วรู้สึกว่าทำไม่ได้ เราร้องไห้เหมือนทุกอย่างมันแหลกสลาย แต่พอมันพังมาถึงจุดหนึ่งแล้ว คนเราจะค่อยๆ ก่อตัวเองขึ้นมาใหม่ ภายใต้มุมมองใหม่ แบบที่ยอมรับว่าคนเราไม่สามารถทำได้ดีทุกอย่าง มันอาจจะมีบางอย่างที่เราทำไม่ได้ก็ได้

 

“หลังจากที่เรารู้สึกพังและแหลกสลาย คนเรามันจะค่อยๆ กลับมา 

พร้อมกับเรียนรู้ว่า บางทีเราไม่สามารถทำได้ทุกอย่าง มีหลายๆ อย่างที่เราทำไม่ได้ 

คนเราไม่ได้ทำได้ทุกอย่าง แล้วก็ยอมรับมัน

 

ในช่วงเวลานั้นก้อยเริ่มหันมาสนใจความรู้สึกของตัวเองมากขึ้นด้วยใช่ไหม

 

ก้อย: ใช่ แล้วช่วงนั้นเราได้ลองอ่านหนังสือเล่มแรกที่คุณครูการแสดงแนะนำมาชื่อว่า กล้าที่จะถูกเกลียด ปกติเราก็ไม่ค่อยอ่านหนังสือเท่าไร จะอ่านก็แค่ช่วงใกล้สอบ แบบว่าเดี๋ยวอีกอาทิตย์หนึ่งจะสอบแล้วต้องรีบอ่านหน่อย (หัวเราะ) แต่หนังสือ กล้าที่จะถูกเกลียด แค่ชื่อมันก็มีความหมายกับเรามากเลย คือคนไม่ต้องรักคุณขนาดนั้นก็ได้ แต่คุณต้องรู้ว่าคุณจะเอาอะไร เนื้อหาข้างในมันเป็นนักจิตวิทยาคุยกับคนคนหนึ่งที่มีคำถามแล้วไม่ได้คำตอบ แล้วเราก็รู้สึกว่ามันเหมือนตัวเองได้ถามตอบกับนักจิตวิทยาคนนั้น ก็เลยอ่านยาวเลย

 

 

การอ่านหนังสือให้อะไรกับก้อยบ้าง

 

ก้อย: เราว่ามันคือการสงบจิตนะ บางที่เรามีความฟุ้ง ชอบตั้งคำถามเยอะแยะ พออ่านหนังสือมันก็อาจทำให้เราได้คำตอบบ้าง ไม่ได้คำตอบบ้าง ทำให้เราเข้าใจว่าเราไม่จำเป็นต้องได้คำตอบเร็วๆ นี้ก็ได้ แต่ในขณะเดียวกันมันก็ช่วยให้ความคิดเรากว้างขึ้น

 

พี่ชอบตั้งคำถามเสียเหลือเกิน 

บางทีการอ่านหนังสือก็ทำให้พี่ได้คำตอบ บางทีก็ไม่ได้คำตอบ 

แต่บางครั้งก็ไม่ต้องได้คำตอบทันทีก็ได้ 

ในขณะเดียวกันมันก็ทำให้ Mind ของเรากว้างขึ้น”

 

จากการเป็นคนอ่าน มาเริ่มเปลี่ยนเป็นนักเขียนตอนไหน

 

ก้อย: ตอนแรกไม่มีความคิดจะเป็นนักเขียนเลย แต่ก็ได้ไปเจอกับหนังสือเล่มหนึ่งของ Salmon Books มันเกี่ยวกับเรื่องสั้น มันมีบางเรื่องที่รีเลตกับชีวิตเรา มันทำให้ในหัวเหมือนเกิดภาพขึ้นมาทันทีว่า ถ้าเราเขียนหนังสือมันคงจะประมาณนี้ ประกอบกับเราเป็นคนเขียน Morning Pages อยู่แล้ว ประมาณว่าวันนี้รู้สึกอะไร จนมันเริ่มมาเป็นไดอารีส่วนตัว

 

 

แล้วก้อยเริ่มเขียน Morning Pages ตั้งแต่เมื่อไร

 

ก้อย: น่าจะเป็นช่วงโควิด ตอนแรกเราก็เขียนอยู่คนเดียว เขียนตั้งแต่ตอนตื่น ต่อมาเราก็ลองจับกลุ่มกับเพื่อนประมาณ 3 คน เขียน Morning Pages แล้วแลกกันอ่าน แต่ไม่ต้องคอมเมนต์ อ่านอย่างเดียวเท่านั้น เราว่าข้อดีคือมันทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของเพื่อนในวันที่เราไม่ค่อยได้เจอกัน 

 

จากการเขียนเรื่องราวใน Morning Pages กลายมาเป็นหนังสือเล่มแรกได้อย่างไร

 

ก้อย: ตอนแรกเราตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า 28 คือเราเกิดวันที่ 28 แล้วเราก็อายุ 28 พอดี แต่ต้องให้เครดิตทีม Salmon Books ที่ค่อยๆ หาจนเจอว่ามันเป็นการรวมเอาความเจ็บปวด 28 เรื่องในวัยนี้ของเรา ก็เลยกลายเป็นชื่อ THE TWENTIES’ ACHE วันแรกที่เราเริ่มเขียนจำได้ว่าใช้เวลาไม่นานเลย เหมือนมันมีอะไรอยู่ในหัวอยู่แล้ว พอเริ่มเขียนคำแรกมันเหมือนแล่นออกมาทั้งหมด จนกลายเป็นหนึ่งเรื่องภายใน 1-2 ชั่วโมง

 

“THE TWENTIES’ ACHE คือความเจ็บปวด 

ซึ่งเรื่องนี้ก็ยอมรับว่ามันก็มีความเจ็บปวดในช่วงวัย 20 กว่าของเรา” 

 

 

แล้วพอออกมาเป็นหนังสือก้อยรู้สึกอย่างไรบ้าง

 

ก้อย: กรี๊ดกร๊าดมาก (หัวเราะ) มันเหมือนบันทึกความเป็นเราเอาไว้ ถ้าวันหนึ่งอายุเรา 40 หรือ 50 ปีแล้วเรากลับมาดู เราก็จะเข้าใจว่านี่คือเราในวัย 20 กว่าๆ แล้วเราก็จะรู้สึกภูมิใจมากๆ

 

ให้เลือก 1 เรื่องจากทั้งหมด 28 เรื่องที่ก้อยเขียน ก้อยชอบเรื่องไหนที่สุด

 

ก้อย: ความจริงคือชอบทุกเรื่องนะ แต่เรื่องที่นึกถึงแล้วมันเด้งขึ้นมาเลยจะเป็นเรื่อง ผู้พิทักษ์ ขึ้นมาคือเรื่องผู้พิทักษ์ เรารู้สึกว่ามันเป็นการเชื่อมต่อกับเราในวัยเด็ก เรารู้สึกว่าเด็กในตัวเรามันยังมีอะไรอีกเยอะมาก แบบว่าพอเราโตขึ้นเราก็ค่อนข้างเซอร์ไพรส์เด็กคนนั้นไปเยอะ ด้วยสิ่งที่สังคมคาดหวัง สิ่งที่เราอยากเป็น เราจำได้ว่าเราเขียนบทนั้นไปแล้วเราก็ร้องไห้ แบบที่เขียนแล้วน้ำตาไหลไปด้วย ทุกคนที่ได้อ่านก็จะพูดว่าไดอะล็อกมันมีเสียง เพราะตอนเราเขียนก็ยอมรับว่ามันไม่ใช่ภาษาที่สละสลวยอะไร มันก็แค่พูดสิ่งที่คิดออกไปเรื่อยๆ ก็สนุกดีนะ

 

งานแสดงกับการอ่านหนังสือและการเขียนหนังสือ มีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง

 

ก้อย: เราว่าทั้งหมดมันเหมือนเป็นการเอาตัวเองไปอยู่ในสภาวะหนึ่ง เราเรียกมันว่าเหมือนเราโดนดูดเข้าไป แล้วทำอะไรบางอย่างอยู่ตรงนั้น แค่อยู่กับปัจจุบันแล้วทำมันให้ดีที่สุด

 

“มันคือการที่เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานะหนึ่ง 

คือการแสดงมันเป็นพาร์ตที่เป็นตัวละครใช่ไหม แต่ว่าจริงๆ ความรู้สึกที่มันเหมือนกัน พี่เรียกสภาวะนั้นว่าเป็นสภาวะที่เราโดนดูดเข้าไป แค่อยู่จุดนั้นแล้วทำอะไรบางอย่าง แต่สภาวะปัจจุบันน่าจะเป็นสภาวะที่เหมือนกันกับการแสดง 

แต่สิ่งที่ต่างคือเป็นตัวละครหรือเป็นตัวเรา”

 

 

สุดท้ายแล้วก้อยชอบทำอาชีพไหนมากที่สุด

 

ก้อย: เราว่าเราชอบการแสดงที่สุด ตอนที่เราได้แสดงเรารู้สึกฟินนะ ขั้นตอนของการแสดงมันไม่ใช่แค่แสดงแล้วจบ มันมีขั้นตอนของการค่อยๆ ก่อสร้างตัวละคร จนเรากลายเป็นมัน จนมันเข้าเนื้อหนังเรา จนมันออกมาจากตัวเรา มันเป็นอาชีพที่เราจะพูดกันว่าต้อง Pay the Price คือมันต้องแลกด้วยจิตวิญญาณ ร่างกาย และทัศนคติ ที่มันไม่ใช่เรา พอเราทุ่มให้กับตัวละครนั้นไปแล้วแล้วมันออกมาดี นั่นแหละคือจุดที่เราเองมีความสุข

 

ในด้านของงานแสดงก้อยอยากให้ตัวเองไปถึงจุดไหน

 

ก้อย: เราอยากทำงานกับคนที่มี Passion ในเรื่องเดียวกันไปเรื่อยๆ มันทำให้พลังงานในตัวเราพลุ่งพล่านมาก แล้วเราก็อยากทำสิ่งนี้ไปเรื่อยๆ จนตาย คือเราอยากรับบทดีๆ สนุกๆ แบบนี้ไปเรื่อยๆ แต่ในภาพใหญ่เราอยากให้วงการบันเทิงไทยไปได้ไกลขึ้น กว้างขึ้น และได้รับการสนับสนุนมากขึ้น

 

มุมมองความคิดที่มีต่อเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง

 

ก้อย: พอเราโตขึ้นเรารู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องตามแพลนขนาดนั้นก็ได้ เมื่อก่อนเราเคยจะต้องตั้งเป้าไว้ว่าอีกกี่ปีต้องทำอะไร แต่ตอนนี้เหมือนทุกอย่างมันยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ เราอยากทำอะไรทำ เราไม่อยากก็ไม่ทำ เราค่อนข้างจะคุยกับตัวเองมากขึ้น

 

 

อยากให้ก้อยแนะนำหนังสือหรือแนวการอ่านหนังสือสำหรับมือใหม่หน่อย

 

ก้อย: เราว่าเริ่มอ่านจากอะไรที่เราอิน อะไรที่มันคอนเน็กต์กับเราได้ เราว่าหนังสือเล่มแรกควรเริ่มจากความอยากของเราก่อน แต่ถ้าต้องเริ่มจริงๆ เราว่าจิตวิทยามันก็เป็นเรื่องที่ง่ายดีนะ อย่างน้อยคุณอ่านไปมันก็จะเกิดคำถามในตัวคุณ และคงจะได้คำตอบไปไม่มากก็น้อย 

 

อยากฝากอะไรถึงคนที่ยังกล้าๆ กลัวๆ ที่จะลงมือทำอะไรใหม่ๆ หน่อย

 

ก้อย: เราว่าเริ่มต้นจากชัตดาวน์สมองก่อนเลย หลายโปรเจกต์ของเราเกิดจากการที่เราเลิกคิด เลิกกังวลเรื่องต่างๆ แล้วลงมือทำเลย เช่น งานคอนเสิร์ต แฟนมีต หรืองานเพลง ถ้าเรายังไม่เริ่มมันไม่มีทางรู้หรอก ถ้าเรามัวแต่คิดว่าจะลงมือทำตอนพร้อม มันไม่มีอะไรพร้อมสุดๆ หรอก สุดท้ายพอลงมือทำจริงมันจะมีปัญหาบางอย่างให้เราได้แก้ไขไปเรื่อยๆ อยู่ดี เอาตัวเองออกจากคอมฟอร์ตโซน แล้วทุกอย่างมันจะพาคุณไปเอง อย่าคิดเยอะ 

 

“เราว่าหลายๆ อย่างในชีวิตเราเกิดจากการชัตดาวน์สมอง

แล้วให้มันเกิดจากตัวฉัน”

 

“ถ้าวันนี้คุณรู้สึกว่าความอยากของคุณมีมากพอจะทำอะไรสักอย่าง 

เอาตัวเองออกจากคอมฟอร์ตโซน แล้วทุกอย่างมันจะพาไป อย่าคิดเยอะ”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising