×

โรคเกี่ยวกับกระดูกและกล้ามเนื้อที่ชาวออฟฟิศซินโดรมควรระวัง

29.07.2023
  • LOADING...

โรคยอดฮิตในยุคนี้ของวัยทำงานคงจะหนีไม่พ้นโรคออฟฟิศซินโดรม ซึ่งในความหมายตรงๆ ของชื่อนี้ตามคำศัพท์คือ Syndrome หมายถึง กลุ่มอาการหรือกลุ่มโรคที่มีสาเหตุเดียวกัน และคำว่า Office หมายถึง งานในสำนักงาน คำว่า Office Syndrome จึงมีความหมายถึงกลุ่มอาการที่เกิดในคนทำงานในสำนักงาน ซึ่งโดยมากหมายถึงการงานแบบนั่งโต๊ะเพื่อเขียน เพื่อใช้คอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งการนั่งประชุมเป็นเวลานานหลายชั่วโมง จนทำให้เกิดความผิดปกติในระบบต่างๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น อาการปวดของกระดูกและกล้ามเนื้อ, กระเพาะปัสสาวะอักเสบจากการกลั้นปัสสาวะ, โรคกระเพาะอาหารอักเสบจากความเครียดหรือการกินอาหารไม่ตรงเวลา, อาการปวดศีรษะไมเกรนจากความเครียดหรืออาการใช้สายตาจ้องหนังสือหรือจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน, อาการทางสายตาจากการใช้สายตามากเกินไป โดยทั่วไปเป็นกลุ่มอาการเหล่านี้จะค่อยๆ ก่อตัวขึ้นและมักจะไม่รุนแรงถึงชีวิต แต่สร้างความรำคาญรบกวนการใช้ชีวิต หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างรวดเร็วสามารถเกิดเป็นโรคเรื้อรังตามมาได้ หมอจึงอยากชวนผู้อ่านไปรู้จักกับโรคเกี่ยวกับกระดูกและกล้ามเนื้อที่ชาวออฟฟิศซินโดรมควรระวัง จะได้ป้องกันตัวเองและปฏิบัติตัวอย่างถูกวิธีเมื่อเผชิญกับอาการเหล่านั้น

 


 

กลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมที่เป็นโรคทางระบบกระดูก และกล้ามเนื้อที่พบบ่อย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 

 

  1. โรคที่เกิดจากการใช้งานซ้ำๆ จนทำให้เกิดการบาดเจ็บของเส้นเอ็นและข้อต่อเรื้อรัง (Repetitive Trauma) เช่น โรคอุโมงค์ข้อมือ หรือเส้นเอ็นข้อมือกดทบเส้นประสาท (Carpal Tunnel Syndrome), โรคปลอกหุ้มเส้นเอ็นนิ้วโป้งมืออักเสบ (Radial Styloid Tenosynovitis หรือ De Quervain’s Disease), นิ้วล็อก (Trigger Finger) 

 

  1. โรคที่เกิดจากการอยู่ในท่าทางเดิมนานๆ จนทำให้กล้ามเนื้อเกิดความตึงตัวและปวด หรือทำให้การไหลเวียนหัวเลือดไม่สะดวกจากการถูกน้ำหนักตัวกดทับ เช่น การนั่ง ทำให้เกิดอาการชาที่ปลายเท้าหรือตามแขนขา หากพฤติกรรมนี้ยังเกิดซ้ำๆ และยังไม่ได้ปรับเปลี่ยน ก็จะนำไปสู่ความไม่สมดุลของกล้ามเนื้อทำให้รูปร่างของกระดูกสันหลังผิดปกติจนเสียบุคลิก เมื่อโครงสร้างมีความผิดปกติก็สามารถทำให้มีแรงกดที่หมอนรองกระดูกสันหลังผิดปกติ และนำไปสู่ความผิดปกติของหมอนรองกระดูกสันหลังได้ 

 

หากกล่าวถึงโรคทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อที่ชาวออฟฟิศพบบ่อยนั้นมี 3 โรคด้วยกันคือ

 

กลุ่มอาการพังผืดกล้ามเนื้อ หรือ Myofascial Pain Syndrome 

 

คือกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อที่ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดคือการอยู่ในท่าเดิมนานๆ จนทำให้กล้ามเนื้อมีการหดตึงเกร็งผิดปกติ พบบ่อยที่กล้ามเนื้อคอบ่าและสะบักไหล่ หรือแม้กระทั่งหลังและสะโพก เมื่อกล้ามเนื้อและเยื่อคลุมกล้ามเนื้อมีความตึงตัวมากๆ ทำให้เราสามารถคลำได้เป็นก้อนปมที่เรียกว่า Taut Band และเมื่อมีการขยับใช้งานจะทำให้มีความปวดและกดเจ็บเกิดขึ้นจึงเรียกว่า Trigger Point นั่นเอง การรักษานั้นสามารถทำได้โดยการคลายปมนี้ออก โดยใช้การยืดและการนวดกล้ามเนื้อ การทำกายภาพบำบัด หรือการฝังเข็ม ฯลฯ หากไม่ได้แก้ไขจะเกิดการสะสมและลุกลามไปเกิดในจุดอื่นๆ ได้ และยังสามารถทำให้เกิดกล้ามเนื้อที่ไม่สมดุล ทำให้โครงสร้างผิดปกติไป เช่น ไหล่ห่อ คอยื่น จนทำให้เสียบุคลิก และปวดเรื้อรังรักษาไม่หายได้ 

 

 

กลุ่มอาการพิริฟอร์มิส (Piriformis Syndrome)

 

คือกลุ่มอาการตึงตัวของกล้ามเนื้อในสะโพกชั้นลึกที่ชื่อว่า กล้ามเนื้อ Piriformis ซึ่งทำหน้าที่ในการหมุนสะโพกออกด้านนอก กล้ามเนื้อนี้วางตัวอยู่ที่แก้มก้นของเรา และมีเส้นประสาทชื่อ Sciatic พาดผ่านอยู่ด้วย เมื่อเรานั่งเป็นเวลานานโดยเฉพาะเก้าอี้ที่แข็งจะทำให้กล้ามเนื้อนี้ตึงตัวขึ้นและไปกดระคายเส้นประสาทนั้น ทำให้เกิดอาการปวดร้าวหรือชาลงขาด้านหลัง อาการนี้มักจะแย่ลงเมื่อนั่ง และดีขึ้นเมื่อลุกยืนเดิน เราสามารถแก้ไขอาการนี้ได้โดยการเปลี่ยนเก้าอี้ให้นุ่มขึ้น นั่งให้นานน้อยลง และการยืดกล้ามเนื้อ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์ เนื่องจากอาการนี้คล้ายกับอาการของหมอนรองกระดูกส่วนเอวเคลื่อนทับเส้นประสาทนั่นเอง

 

 

โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับเส้นประสาท

 

ตามปกติหมอนรองกระดูกจะวางตัวอยู่ระหว่างกระดูกสันหลังทุกข้อของร่างกาย ทำหน้าที่ช่วยให้กระดูกสันหลังสามารถขยับได้อย่างราบรื่นและมีความยืดหยุ่นเพื่อรับแรงกระแทกต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละกิจวัตรประจำวัน เมื่อเรานั่งนานๆ จนกล้ามเนื้อตามแนวกระดูกสันหลังตึงตัวและมีโครงสร้างเปลี่ยนแปลงไป จะมีแรงกดลงที่หมอนรองกระดูกผิดปกติ ซึ่งทำให้หมอนรองกระดูกเคลื่อนตัวไปกดเส้นประสาทคู่สันหลังได้ จนทำให้เกิดอาการปวดคอร้าวลงแขน หรือปวดหลังร้าวลงขาได้ หากยังไม่เกิดการเคลื่อน แรงกดหมอนรองกระดูกที่ผิดปกตินี้สามารถทำให้เกิดหมอนรองกระดูกที่เสื่อมเร็วกว่าที่ควรเป็น และนำไปสู่อาการปวดเรื้อรังได้เช่นกัน 

 

 

การป้องกันหรือการแก้ไขเบื้องต้นสำหรับ Office Syndrome

 

 

  1. ไม่นั่งหรืออยู่ท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน มีคำแนะนำให้ทุกคนที่มีอาการขยับตัวเปลี่ยนท่าบ่อยๆ ทุก 20 นาที เพื่อให้กล้ามเนื้อได้ขยับและการไหลเวียนของเลือดไม่ติดขัด ทำให้กล้ามเนื้อติดตึงลดลง เราสามารถใช้โทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทวอทช์ของเราส่งสัญญาณทุกๆ 20 นาทีเพื่อทำให้เราขยับตัวก็ได้

 

  1. การนั่งในท่าที่ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์ (Ergonomics) คือการจัดท่านั่งให้ถูกต้อง เพื่อให้แรงกระทำต่อข้อกระดูก เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อนั้นเหมาะสม สามารถทำได้ด้วยตนเอง หรือในปัจจุบันก็มีอุปกรณ์ช่วยมากมาย เช่น โต๊ะหรือเก้าอี้ Ergonomics ฯลฯ แต่อุปกรณ์เหล่านี้หากไม่พอดีกับร่างกายจะทำให้อาการปวดมากขึ้นได้ 

 

 

  1. การออกกำลังกายที่ถูกต้อง ซึ่งประกอบด้วยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อเพื่อลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อจากการใช้งาน และการทำให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อให้สามารถพยุงโครงสร้างของร่างกายให้อยู่ในสภาวะปกติให้มากที่สุด หากมีอาการปวดอยู่แล้วควรปรึกษาแพทย์หรือออกกำลังกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ไม่หนักเกินไปและอาการแย่ลงกว่าเดิม

 

 

หลักการทั้ง 3 ข้อนี้จะได้ผลดีและยืนยาวมากที่สุดหากทำครบทุกข้อ หากทำแค่ข้อใดข้อหนึ่งนั้นก็มักได้ผลเพียงระยะเวลาอันสั้นเท่านั้น หากทำครบทั้ง 3 ข้อนี้แล้วยังไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยตรวจวินิจฉัยและรักษาให้ตรงจุดจะสามารถช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการเรื้อรังได้

 

จากความเห็นของผู้เขียน ออฟฟิศซินโดรมเป็นแค่ตัวแทนของกลุ่มอาการที่เกิดจากการทำงานเฉพาะกลุ่มเท่านั้น หากผู้ใดที่ไม่ได้ทำงานออฟฟิศก็สามารถมีอาการดังกล่าวได้ถ้ามีพฤติกรรมคล้ายกัน หรือหากทำงานในกิจกรรมที่ต่างกันไปแต่เป็นพฤติกรรมซ้ำๆ เป็นเวลานานเช่นกัน เช่น การยืนนาน ก็สามารถทำให้เกิดอาการผิดปกติของกระดูกและข้อได้ในแต่ละรูปแบบ นั่นหมายความว่าไม่ว่าเราจะทำอาชีพอะไรหากลองปฏิบัติตามแนวทาง 3 ข้อดังกล่าวก็จะทำให้ลดอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นได้เช่นกัน

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X