×

Myofascial Pain อาการปวดที่เกิดจากพังผืดรักษาอย่างไร?

20.08.2024
  • LOADING...
Myofascial Pain

รู้ไหมว่าอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังตามจุดต่างๆ ของร่างกาย หากไม่ได้รักษาจะทำให้กลายเป็นโรคร้ายแรงได้ไหม หลายๆ คนคงสังเกตว่าบางครั้งอาการปวดนั้นจะปวดมากจนทำอะไรไม่ได้ หรือมีมุมการขยับข้อลดลง บางครั้งก็คลำได้เป็นก้อนแข็งๆ แต่พอทิ้งไว้กลับกลายเป็นไม่มีอาการเลยจนทำให้เกิดความกังวล บทความนี้จะพามารู้จัก ‘พังผืดกล้ามเนื้อ’ (Myofascial) ให้หายสงสัยกัน 

 

พังผืดกล้ามเนื้อคืออะไร?

คำว่า ‘พังผืด’ เป็นคำภาษาไทยที่ผู้เขียนคิดว่ามาจากคำว่า Fibrous ซึ่งหมายถึงเส้นใยที่เหนียวและไม่ยืดหยุ่น มักจะเจอในส่วนประกอบของแผลเป็นที่มีลักษณะตึงแข็งเป็นก้อน ดังนั้นเมื่อได้ยินคำว่ากล้ามเนื้อเป็นพังผืดจึงดูน่ากังวลมากขึ้น หลายครั้งเมื่อเรามีอาการปวดกล้ามเนื้อและมีกล้ามเนื้อที่ตึงตัวจนคลำได้เป็นก้อนแข็ง ก้อนนี้เองเมื่อไปเข้ารับบริการคลายกล้ามเนื้อด้วยวิธีต่างๆ ก็จะมีการพูดถึงชื่อของปมนี้จากผู้ให้บริการในแบบต่างๆ กันไป เช่น ปมกล้ามเนื้อ ลูกหนู และพังผืด ในทางการแพทย์จุดของก้อนกล้ามเนื้อเหล่านี้ก็คือ Taut Band ซึ่งเกิดจากการรัดตัวแน่นของใยกล้ามเนื้อจนคลำได้เป็นปมก้อนที่มีขอบเขตชัดเจน และปมนี้ก็เป็นสาเหตุหนึ่งให้เกิดอาการตึงปวดนั่นเอง

 

เราจะสามารถตรวจพบ Taut Band ได้ในกลุ่มโรคที่ชื่อว่า ‘ไมโอฟาสเชียลเพน’ หรือ ‘Myofascial Pain Syndrome’ ซึ่งหากแปลความตามศัพท์จะสามารถแยกได้เป็นคำว่า Myo ซึ่งหมายถึงกล้ามเนื้อ Fascia หมายถึงเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ ซึ่งจะมีลักษณะของใยที่ไม่ยืดหยุ่นคล้ายกับเนื้อเยื่อพังผืด (Fascia มีหน้าที่ปกคลุมกล้ามเนื้อให้มีรูปร่างและขอบชัดเจนแยกออกจากกล้ามเนื้ออื่นๆ) และ Pain Syndrome หมายถึงกลุ่มอาการปวด ดังนั้นคำว่า Myofascial Pain Syndrome จึงมีความหมายแบบตรงตัวว่า ‘กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อพังผืด’ หรือ ‘กลุ่มอาการปวดพังผืดกล้ามเนื้อ’ นั่นเอง ทำให้พบว่า Taut Band เป็นเพียงกล้ามเนื้อและเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อที่รัดตัวจนคลำได้เป็นก้อน ไม่ใช่ก้อนของกล้ามเนื้อที่กลายเป็นเนื้อเยื่อพังผืดจริงๆ 

 

กลุ่มอาการปวดพังผืดกล้ามเนื้อเกิดจากอะไร?

สาเหตุของกลุ่มอาการปวดพังผืดกล้ามเนื้อ หรือ Myofascial Pain Syndrome ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มักจะเกี่ยวข้องกับหลายๆ ปัจจัยดังนี้

 

  1. กล้ามเนื้อที่ไม่สมดุล (Muscle Imbalance) 

เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม เช่น การนั่งเอียง นั่งผิดท่า เตียงที่นุ่มหรือแข็งเกินไป ทำให้ท่านอนผิดปกติ โดยที่ไม่มีการปรับให้กลับเข้าสู่ท่าทางที่ถูกต้อง การนั่ง ยืน เดินนาน การใช้ชุดกล้ามเนื้อเดิมๆ ทำงาน โดยบางชุดกล้ามเนื้อไม่ได้ทำงานเลย ฯลฯ สาเหตุเหล่านี้ทำให้กล้ามเนื้อไม่สมดุลได้ทั้งสิ้น ยกตัวอย่างที่พบบ่อย เช่น ผู้ป่วยออฟฟิศซินโดรม พนักงานหญิงที่ต้องใส่รองเท้าส้นสูงตลอดเวลา นักกีฬาวิ่งที่วิ่งเพียงอย่างเดียว โดยไม่เคยออกกำลังกายกล้ามเนื้อชุดอื่นๆ ในกิจกรรมอื่น 

 

  1. การใช้งานกล้ามเนื้อมากเกินไป (Muscle Overuse) ทำให้กล้ามเนื้อยืด-หดตัวมากจนไม่สามารถคลายตัวออกได้สุด เกิดเป็นการสะสมความตึงตัวเป็นเวลานาน

 

  1. การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็น (Muscle or Tendon Injury) ทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็งขึ้น และเมื่ออาการบาดเจ็บหายแล้ว กล้ามเนื้อก็ไม่คลายออกสู่สภาพเดิม

 

  1. ภาวะตะคริว (Muscle Cramp) ทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็ง ไม่ว่าจะเกิดจากสมดุลแคลเซียมในร่างกายผิดปกติ หรือเกิดจากการขยับกล้ามเนื้อเร็วเกินไป เมื่อตะคริวคลายออกมักทิ้ง Taut Band เอาไว้ และเป็นสาเหตุให้เกิดอาการตึงปวดเรื้อรังได้

 

  1. สาเหตุอื่นๆ เช่น ความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทที่ควบคุมความเจ็บปวด ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับการนอนน้อย ความเครียด ฯลฯ 

 

  1. ไม่ทราบสาเหตุ

 

อาการของกลุ่มอาการปวดพังผืดกล้ามเนื้อ

ผู้ป่วยกลุ่มอาการปวดพังผืดกล้ามเนื้อ หรือ Myofascial Pain Syndrome จะมีอาการได้หลากหลาย อธิบายได้ไม่เหมือนกันในแต่ละคน แต่โดยมากจะอธิบายเป็นกลุ่มของอาการคือ

 

  1. มีความตึงตัวของกล้ามเนื้อบริเวณนั้น ทำให้มีพิสัยข้อที่อยู่ใกล้เคียงลดลง 

 

  1. มีอาการปวดในบริเวณที่มี Taut Band โดยการปวดมีได้หลายแบบ ที่พบบ่อยคืออาการปวดตื้อๆ ร้าวๆ แต่บางครั้งอาจมีอาการปวดจี๊ด บางครั้งที่บริเวณ Taut Band เองกลับไม่ปวด หรือปวดร่วมกับการร้าวไปที่อวัยวะใกล้เคียงแบบเป็นแบบแผน เรียกว่า Refer Pain เช่น ปวดที่บ่าขวาและรู้สึกร้าวๆ ตึงไปที่ขมับขวาและแขนขวา หรือปวดที่สะโพกและรู้สึกร้าวๆ ตึงไปที่ขาขวา ทำให้มีความคล้ายกับอาการปวดและชาของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้ แม้ว่าจะไม่มีความผิดปกติของหมอนรองกระดูกเลยก็ตาม

 

  1. รู้สึกอ่อนล้าที่กล้ามเนื้อที่มี Taut Band หรือกล้ามเนื้อส่วนปลาย เช่น การมี Taut Band ที่สะบัก อาจทำให้รู้สึกยกแขนได้ไม่เหมือนปกติ หรือกำมือได้ไม่ปกติ ซึ่งหากตรวจร่างกายอาจไม่พบความอ่อนแรงที่ชัดเจน

 

  1. อาการอื่นๆ ตามแต่ลักษณะแบบแผนของ Taut Band ในกล้ามเนื้อแต่ละชนิด เช่น เมื่อมี Taut Band ที่กล้ามเนื้อบริเวณกลางหลังช่วงอก อาจทำให้มีอาการหายใจไม่สะดวก หรือหากมี Taut Band ที่กล้ามเนื้อคอด้านหน้า อาจทำให้มีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนได้ 

 

จะเป็นอันตรายไหมหากไม่ได้รักษากลุ่มอาการปวดพังผืดกล้ามเนื้อ

ยังไม่มีรายงานว่ากลุ่มอาการปวดพังผืดกล้ามเนื้อ หรือ Myofascial Pain Syndrome ทำให้เกิดโรคร้ายแรงอื่นๆ แต่ตัวของมันเองมักจะพบร่วมกับโรคอื่นๆ ได้ เช่น กลุ่มคนไข้หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทในระดับต่างๆ กัน ก็สามารถมี Taut Band ตามแนวของกล้ามเนื้อที่เส้นประสาทนั้นๆ เลี้ยงอยู่, กลุ่มคนไข้ที่มีการบาดเจ็บของเอ็นและกระดูกก็สามารถมี Taut Band บริเวณที่บาดเจ็บได้ (เช่น คนไข้ข้อเท้าพลิกก็มักมี Taut Band ที่กล้ามเนื้อหน้าแข้ง หรือคนไข้รองช้ำก็มักพบ Taut Band ที่กล้ามเนื้อน่อง) และในบางครั้งการที่มีอาการปวดจาก Taut Band เป็นเวลานานก็สามารถทำให้กลายเป็นอาการปวดเรื้อรัง หรือกลุ่มอาการไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia Syndrome) ซึ่งทำให้การรักษาทำได้ยากมากขึ้นได้ 

 

ดังนั้นแม้ว่ากลุ่มอาการนี้จะไม่มีอันตราย แต่ก็ควรเข้ารับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม และหากอาการไม่ดีขึ้นก็ควรได้รับการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุหรือโรคที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถรักษาให้หายสนิทได้

 

การรักษากลุ่มอาการปวดพังผืดกล้ามเนื้อ

การรักษาสามารถเริ่มจากการดูแลตัวเอง ขยับยืดกล้ามเนื้อบ่อยๆ หากไม่ดีขึ้นก็ไปเข้ารับการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ และให้การรักษาที่ต้นเหตุร่วมกับการคลาย Taut Band นั้นๆ ไปพร้อมๆ กัน การจัดการพังผืดกล้ามเนื้อ หรือ Taut Band ทำได้โดยหัตถการทางกายภาพบำบัด เช่น การนวดและหัตถการโดยนักกายภาพบำบัด (Therapeutic Massage and Manual Therapy) ซึ่งทำร่วมกับการใช้เครื่องมือ เช่น อัลตราซาวด์, ช็อกเวฟ และอื่นๆ ได้ หากมีข้อบ่งชี้ หรือการรักษาด้วยการฝังเข็มคลายกล้ามเนื้อทั้งชนิด Dry Needling และ Trigger Point Injection ก็เป็นอีกวิธีที่นิยมกันมากขึ้น ซึ่งต้องทำโดยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูหรือผู้เชี่ยวชาญ และในปัจจุบันการรักษาด้วยแพทย์แผนไทย แผนจีน หรือแผนทางเลือกต่างๆ ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในการจัดการพังผืดกล้ามเนื้อมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ หากรักษาแล้วไม่ได้ผล ต้องไม่ลืมกลับไปหาสาเหตุอย่างละเอียดอีกครั้งเสมอ

 

การป้องกันการเกิดกลุ่มอาการปวดพังผืดกล้ามเนื้อ

การป้องกันที่ดีที่สุดก็คือการสังเกตพฤติกรรมของตนเองให้ถูกต้อง นอน นั่ง ยืน เดิน ให้ถูกหลักการยศาสตร์ การใช้ชีวิตที่สมดุล ไม่ทำอะไรมากหรือน้อยจนเกินไปที่จะทำให้เกิดกล้ามเนื้อเสียสมดุล และการออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อแข็งแรงอยู่เสมอ โดยมีวันพักผ่อนเพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ไม่เกิดภาวะการใช้กล้ามเนื้อที่มากเกินไป 

 

หากอยู่ในช่วงการรักษาหรือรักษาหายแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการหาสาเหตุของการเกิดพังผืดกล้ามเนื้อ หรือ Taut Band นั้นๆ หากพบสาเหตุแล้วก็ควรรักษาหรือเลี่ยงสาเหตุนั้นๆ ร่วมไปกับการรักษา นอกจากนั้นยังต้องออกกำลังกายอย่างถูกวิธี เพื่อให้การรักษาได้ประสิทธิภาพสูงสุด และลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำได้มากที่สุดเช่นกัน


สรุปแล้ว ‘พังผืดกล้ามเนื้อ’ ไม่อันตรายอย่างที่คิด แต่มักจะสร้างความกังวลในการใช้ชีวิต ทั้งนี้ อาการปวดพังผืดกล้ามเนื้ออาจเกิดขึ้นร่วมกับโรคอื่นๆ ได้ด้วย จึงควรสังเกตอาการและเข้ารับการรักษา ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ในระยะยาว เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้มากที่สุด

  • LOADING...

READ MORE



Latest Stories

Close Advertising
X