×

นวดรักษาความปวดเมื่อยอย่างไร ไม่ให้เดี้ยงหนักกว่าเดิม

28.03.2024
  • LOADING...

หลายคนมองหาการผ่อนคลายง่ายๆ หลังจากทำงานหนักและเจอเรื่องเครียดมาทั้งวัน การนวดเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมในการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ แต่บางครั้งกลับไม่ได้รู้สึกสบายตัวอย่างที่คิด บางครั้งปวดระบม อักเสบ บวมแดง มีไข้ขึ้น จนรู้สึกทรมานยิ่งกว่าเดิม แล้วการนวดมีประโยชน์จริงหรือไม่ และเราจะเลือกอย่างไรไม่ให้ต้องเสี่ยงเดี้ยงหนักกว่าเดิม ไปไขข้อข้องใจด้วยกันเลย

 

การนวดคืออะไร และมีแบบไหนบ้าง?

 

 

การนวดเป็นวิธีการดั้งเดิมในการดูแลลดปวดและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ โดยใช้มือและเครื่องมือต่างๆ กดนวด จับ คลึง บีบ กดจุด เพื่อให้เกิดผลที่ต้องการ เทคนิคการนวดพื้นฐาน ได้แก่ การลูบเบาๆ การบีบคลึง การเคาะ การกดจุด และการใช้แรงสั่นสะเทือน ปัจจุบันมีการนวดหลายแบบ เช่น นวดแผนไทย นวดจีน นวดนักกีฬา นวดน้ำมัน นวดอโรมา โดยผสมผสานเทคนิคต่างๆ ตามความเชี่ยวชาญของแต่ละสำนัก

 

 

ใครสามารถรับการนวดได้บ้าง?

 

 

การนวดนั้นมีจุดประสงค์หลักคือใช้คลาย รักษา และฟื้นฟูกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่มีความตึงตัวที่ทำให้เกิดความไม่สบายตัว หรือมีการเคลื่อนไหวของข้อต่อที่ลดลง ในบางครั้งทำให้เกิดอาการปวดตามข้อต่อ ปวดหลัง ปวดบ่าไหล่ขึ้นได้ ซึ่งสามารถทำได้ในทุกวัยรวมถึงผู้สูงอายุ แต่จำเป็นต้องได้รับการนวดจากผู้ที่มีความรู้เพื่อให้ได้ผลดีที่สุดและโอกาสเกิดอันตรายน้อยที่สุด  

 

 

ความถี่ของการนวดไม่ได้มีตายตัว โดยหากนวดเบาๆ เพื่อผ่อนคลายอาจทำได้ถึงวันเว้นวันและหยุดนวดเมื่ออาการดีขึ้น แต่หากเป็นการนวดบำบัดรักษาอาการซึ่งมีการใช้ความแรงมากกว่าควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ขึ้นไปเพื่อให้กล้ามเนื้อได้มีการฟื้นฟูตัวเองด้วย และหากยังมีอาการปวดระบมจากการนวดก็ยังไม่ควรนวดซ้ำ เนื่องจากอาจทำให้เกิดความอักเสบขึ้นได้

 

 

ข้อควรระวังในการไปนวดเพื่อไม่ให้มีอาการปวดมากขึ้นหรือเกิดภาวะแทรกซ้อน ได้แก่

 

 

  1. ผู้ที่มีอาการยอก ระบม หรือช้ำได้ง่าย
  2. อาการปวดนั้นเพิ่งเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน มีระดับความปวดมาก มีอาการบวม แดง ร้อนในบริเวณที่ปวด ซึ่งเป็นลักษณะของการอักเสบ
  3. ผู้ที่มีอาการของข้อเคลื่อน ข้อต่อไม่มั่นคง หรือโรคทางกระดูกและข้ออื่นๆ เช่น รูมาตอยด์ ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวห้ามนวดแรงและนวดดัด ซึ่งอาจทำให้อาการแย่ลงได้
  4. ผู้ที่มีโรคหรือมีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน เช่น ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะหากมีประวัติหกล้มแล้วกระดูกหัก ผู้ที่กินยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน หญิงที่มีการตัดรังไข่ตั้งแต่อายุน้อย ฯลฯ
  5. ผู้ที่มีภาวะเลือดออกง่าย หยุดยาก หรือกินยาละลายลิ่มเลือด
  6. ผู้ที่มีการใส่ข้อเทียมหรือกระดูกหักที่ยังไม่สมานเต็มที่ 
  7. ผู้ที่มีโรคติดต่อ หรือโรคติดเชื้อ หรือยังมีแผลทางผิวหนัง
  8. หญิงตั้งครรภ์ ให้ระวังการกดนวดที่บริเวณท้องและหลัง และระวังการกดกระตุ้นอย่างรุนแรง

 

อาการหลังการนวดที่ควรพบแพทย์

 

 

ตามปกติหลังจากการนวดจะรู้สึกผ่อนคลายได้ทันที แต่หากผู้รับการนวดมีความเกร็งไม่ผ่อนคลายขณะนวดก็สามารถทำให้ปวดระบมได้มาก ซึ่งตามปกติอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นจนหายเป็นปกติใน 2-3 วัน แต่หากมีอาการปวดบริเวณที่ถูกนวดอย่างรุนแรง ขยับลำบาก ข้อบวมผิดรูป หรือมีอาการไข้ร่วมด้วย อาการเหล่านี้ถือเป็นอาการผิดปกติที่ควรระวังและแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินเนื่องจากอาจมีการอักเสบเกิดขึ้นและรับการรักษาต่อไป

 

 

สรุป

 

 

การนวดเป็นวิธีที่มีประโยชน์ในการผ่อนคลาย บำบัด และฟื้นฟูกล้ามเนื้อและความตึงเครียด ผู้ที่จะรับการนวดควรพิจารณาข้อควรระวัง เลือกสถานที่สะอาด และผู้นวดที่มีความรู้ความชำนาญ หากมีโรคประจำตัวหรืออาการผิดปกติหลังนวด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อความปลอดภัยและได้รับคำแนะนำที่เหมาะสม

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising