ถ้าพูดถึงการออกแบบและการใช้ชีวิตแนวมินิมัลลิสต์ต้องบอกว่านอกจากญี่ปุ่นแล้ว ก็คงจะเป็นประเทศแถบสแกนดิเนเวียนี่ล่ะ ที่เป็นต้นแบบการออกแบบแนวนี้ จะด้วยปรัชญาการใช้ชีวิต มุมมองทางสุนทรียศาสตร์ หรืออะไรก็ตามแต่ กลุ่มประเทศเหล่านี้ ถ่ายทอดแง่งามแบบน้อยแต่มากออกมาได้อย่างมีเสน่ห์และน่าสนใจเสมอ
เราได้พบกับ Erik Kolman Janouch หนึ่งในสถาปนิกผู้ก่อตั้ง Kolman Boye Architects ระหว่างทริปที่เขาเดินทางมาประเทศไทย เพื่อตรวจความคืบหน้าของโครงการออกแบบโครงการแรกในไทยของสตูดิโอ ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในเฟสการก่อสร้าง นี่จึงเป็นโอกาสสุด exclusive ที่เราจะได้ถอดรหัสแนวคิดการออกแบบของ Erik และอัปเดตโปรเจกต์ในไทยของเขา ที่ใกล้จะได้เปิดตัวเต็มที
หากจะให้อธิบายผลงานการออกแบบของ Kolman Boye Architects คำว่าเนิร์ด และ เรียล น่าจะ capture ตัวตนของพวกเขาได้ดี งานออกแบบของพวกเขาเน้นการทำรีเสิร์ช ทั้งการศึกษาบริบทแวดล้อมโครงการ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น รวมไปถึงการลงพื้นที่เก็บข้อมูลและเก็บบรรยากาศเพื่อนำไปแบ็กอัพการออกแบบของพวกเขา นอกจากนั้นพวกเขายังโดดเด่นเรื่องการเลือกใช้สัจจะวัสดุ ในแบบที่ยกระดับการใช้งานวัสดุธรรมชาติไปอีกขั้น เรียกได้ว่า ‘น้อยแต่มาก’ ในแบบของ Kolman Boye Architects นั้น น้อยมากๆ แต่เปี่ยมไปด้วยความมากในทุกรายละเอียด
Erik เล่าให้เราฟังถึงแนวทางการออกแบบที่มีรีเสิร์ชมาแบ็กอัพว่า มีนักออกแบบและสตูดิโอสถาปัตย์มากมายที่ออกแบบอาคารที่น่าตื่นตาตื่นใจ แต่ไม่บ่อยนักหรอกที่สิ่งสวยๆ งามๆ เหล่านั้นจะมีคอนเน็กชันหรือมีหลักเกณฑ์ให้มันยึดเกาะ แต่สำหรับพวกเขา ก่อนจะเริ่มลงมือออกแบบ Kolman Boye Architects เลือกที่จะลงไปทำความรู้จักกับสิ่งที่พวกเขาจะต้องออกแบบก่อน มองหาความน่าสนใจในแง่มุมต่างๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอแกน ที่กลายมาเป็นเสาหลักให้กับงานออกแบบของพวกเขา นอกจากจะลงลึกแล้ว พวกเขายังเลือกที่จะท้าทายเส้นแบ่งของความเป็นไปได้ ผลักดันให้เกิดการทดลองใหม่ๆ ในผลงานของตัวเองเสมอ รีเสิร์ชเหล่านี้ทำให้งานดีไซน์ของพวกเขาเป็นมากกว่าบ้าน หรืออาคารสวยๆ สักหลัง แต่เป็นสถาปัตยกรรมที่กลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ โดดเด่นแต่ไม่โดดเดี่ยวจากศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น เรียกได้ว่าอยู่ถูกที่ถูกทางแบบไม่ดูประดักประเดิด
Erik บอกกับเราว่าแม้เขาจะทำรีเสิร์ชอย่างหนักกับเรื่องพื้นที่ ศิลปวัฒนธรรม หรือวัสดุ แต่ผู้อยู่อาศัยก็เป็นสิ่งที่พวกเขาไม่เคยมองข้าม เรื่องโชคดีสำหรับสตูดิโอที่สั่งสมผลงานมาอย่างโชกโชนอย่างพวกเขาคือ ลูกค้าที่เข้ามาหา Kolman Boye Architects ไม่เคยมาด้วยโจทย์ด้านความสวยความงาม “ลูกค้าที่เข้ามาหาเรา ไม่เคยมาพร้อมแมกกาซีนดีไซน์เป็นปึกๆ แล้วจิ้มว่าอยากได้อย่างนั้น อย่างนี้ สิ่งเดียวที่พวกเขาบอกเราคือฟังก์ชันที่ต้องการ กี่ห้องนอน กี่ห้องน้ำ ต่างๆ นานา ซึ่งเราก็พูดคุยกับลูกค้าอย่างละเอียดเพื่อทำความเข้าใจการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเขา เพื่อออกแบบสิ่งที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิต ให้ตรงใจพวกเขาที่สุด” เมื่อโจทย์เปิดกว้าง Kolman Boye Architects จึงมีผืนผ้าใบที่กว้างใหญ่ ให้พวกเขาได้ทดลองอย่างเต็มที่
แน่นอนว่าการทดลองอะไรใหม่ๆ ย่อมนำมาซึ่งความกังวลสำหรับเจ้าของโครงการ Erik ยกตัวอย่างโปรเจกต์ออกแบบบ้าน Saltviga House ในเมือง Saltviga ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งแสดงถึงวิธีการทำงานอย่างรอบคอบของพวกเขา หลังจากได้รับโจทย์ Erik และทีมมีไอเดียที่จะสร้างบ้านหลังนี้ด้วยวัสดุเหลือใช้ อย่าง offcuts ที่เกิดจากการผลิตพื้นไม้ นำมาสร้างเป็นผนังและหลังคาบ้าน ไอเดียนี้มันช่างแปลกใหม่ ไม่เหมือนใคร จนเจ้าของบ้านอดตื่นเต้นไม่ได้ แต่พวกเขาก็มีคำถามมากมาย ว่าวัสดุนี้จะคงทนแค่ไหน? สามารถใช้งานเป็นหลังคาจริงหรือ? สร้างไปแล้วบริษัทประกันจะยอมประกันบ้านให้พวกเขาไหมเนี่ย? รีเสิร์ชและการทดลองของ Kolman Boye Architects จึงเป็นสิ่งที่ทำให้เจ้าของบ้านอุ่นใจ และเชื่อใจในไอเดียของพวกเขา จนได้เกิดเป็น Saltviga House ขึ้นมาในที่สุด
Erik และทีมของเขา ค่อนข้างจะใส่ใจเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วัสดุใหม่ๆ ที่มีการคิดค้นกันมา แม้จะสวยงาม น่าสนใจและมีประโยชน์หลากหลาย แต่ก็มาพร้อมกับผลกระทบเชิงลบมากมายเช่นกัน Kolman Boye Architects จึงมักจะเลือกใช้วัสดุธรรมชาติ แต่พลิกแพลงวิธีการและเทคนิคจนสามารถ push ความเป็นธรรมชาติของวัสดุ ไปไกลว่าสถาปนิกเจ้าอื่นๆ “ยกตัวอย่างแค่งานไม้ ผมว่าใช้ทั้งชีวิต ก็ยังไม่รู้เลยว่าจะเรียนรู้วัสดุนี้จนเรียกตัวเองว่าเชี่ยวชาญการทำงานไม้ได้หรือเปล่า มันมีเทคนิคและภูมิปัญญามากมายที่ทำให้วัสดุเดิมๆ น่าสนใจและแตกต่างไป” Erik กล่าว
ประสบการณ์ของ Kolman Boye Architects ตลอดช่วงหลายปีที่พวกเขาทำงานกันมา มีหลากหลายสเกล ตั้งแต่บ้านพักอาศัย ไปจนถึงโรงเรียน หรือผลงาน installation แต่พูดได้เลยว่า โปรเจกต์ที่พวกเขากำลังออกแบบในประเทศไทยในครั้งนี้ เป็นงานออกแบบแรกของสตูดิโอ ที่ออกแบบเพื่อสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ Grounds of Equestrian เป็นโปรเจกต์คอกม้าเพื่อม้าที่ปลดเกษียณแล้วในจังหวัดนครนายก
พิมละออ และ พิมพรรณ โภไคยอุดม เจ้าของโครงการ Grounds of Equestrian ติดต่อ Erik และ Victor Boye Julebäk ให้มาออกแบบโปรเจกต์ของพวกเธอ หลังจากได้เห็นงานออกแบบบ้านบนเกาะ Vega ของพวกเขา ซึ่งเป็นผลงานดังที่สร้างชื่อให้กับสตูดิโอ แต่ก่อนจะตกปากรับคับ ทั้งคู่ขอเดินทางมาดูสถานที่จริง และทำความรู้จัก สัมภาษณ์ทั้งสองเจ้าของโปรเจกต์ถึงประเทศไทยก่อนจะตัดสินใจรับงาน
“โปรเจกต์คอกม้านี้น่าสนใจมาก พื้นที่ก็สวยมาก ผมไม่รู้ว่าในเอเชียหรือประเทศไทยเป็นยังไงนะ แต่ในยุโรป แทบจะไม่มีใครคิดถึงการสร้างที่อยู่ให้ม้าปลดเกษียณหรอก” Erik กล่าวถึงหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เขาและทีมตัดสินใจรับงานนี้ แม้จะเป็นประเทศที่ไม่เคยมาแถมพวกเขาก็ไม่เคยมีหรือขี่ม้ากันด้วยซ้ำ ขั้นตอนการทำรีเสิร์ชและพูดคุยกับพิมละออและพิมพรรณอย่างเข้มข้นจึงเริ่มขึ้น เนื่องจากทั้งสองพี่น้อง เป็นคนรักม้าและมีม้าเป็นของตัวเอง คำถามที่ว่า เมื่อม้าของตัวเองแก่ตัวลงจะอยู่อย่างไร จึงเป็นจุดตั้งต้นของ โครงการ Grounds of Equestrian และก็เป็นพวกเธอทั้ง 2 คนนี่เอง ที่ช่วยกำหนดความต้องการของม้า เพื่อเป็นจุดตั้งต้นในการให้กับทาง Kolman Boye Architects
สำหรับ Erik และทีม การทำงานในไทย มันเหมือนทุกอย่างกลับหัวกลับหาง “ในขณะที่พวกผม อยากกักเก็บความร้อนไว้ในบ้าน คนไทยต้องการระบายมันออกไป ในขณะที่เราอยากได้แสงอาทิตย์ พวกคุณกลับต้องการร่มเงา” แม้ทุกอย่างจะกลายเป็นขั้วตรงข้าม แต่เมื่อปรับจูนได้ ความท้าทายของโปรเจกต์นี้จึงกลายเป็นเรื่องสนุก “เดี๋ยวนี้เราออกแบบกำแพงที่เทอะทะ หนา 40-50 ซม เพื่อกักเก็บความอบอุ่นและลดการใช้พลังงาน ซึ่งปัญหามันก็จะตามมาว่า แล้วคุณจะเอาหน้าต่างไปวางไว้ที่ระยะไหนดี ให้มันดูสวยงาม แต่สำหรับโปรเจกต์ที่ไทย เราไม่ต้องห่วงเรื่องนี้เลย เพราะเราต้องการผนังที่บางพอให้อากาศถ่ายเท ซึ่งมันดีมากๆ เลย” Erik ยกตัวอย่างแง่มุมดีๆ ที่เข้าพบ จากความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ ของประเทศไทย
เช่นเดียวกับโปรเจกต์ส่วนมากที่พวกเขาทำ Erik และทีม ลงมือสร้างโมเดลขนาดย่อของตัวคอกม้า ขึ้นมาที่สตูดิโอของเขาในสวีเดน เพื่อจำลองและทำความเข้าใจเทคนิคการเข้ามุมไม้ และการตกกระทบของแสง ฯลฯ “เดี๋ยวนี้จะออกแบบอะไร เราก็ทำได้ด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งมันก็ดีอยู่ล่ะ แต่การสร้างโมเดลจำลองมันแตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง เป็นขั้นตอนที่ต้องลงมือทำ ทั้งใช้เวลานานและใช้ทักษะเอามากๆ ในเมื่อเราต้องการสร้างอาคารซึ่งเป็น physical form ถ้าไม่ลงมือสร้างมันขึ้นมาจริงๆ จะเข้าใจมันอย่างถ่องแท้ได้อย่างไร”
หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน เราน่าจะได้เห็น Grounds of Equestrian เปิดตัวเฟสแรกช่วงปลายปีนี้ โปรเจกต์นี้ นอกจากจะเป็นผลงานการออกแบบที่น่าจับตามองของ Kolman Boye Architects แล้ว ยังจะเป็นอีก 1 โปรเจกต์ที่ยกระดับวงการขี่ม้าของไทยได้อย่างแน่นอน นอกจากคอกม้าแล้วที่นี่ยังจะมี สนามขี่ม้าเพื่อให้ม้าเกษียณและเจ้าของได้ทำกิจกรรมร่วมกัน, camping ground และคาเฟ่ ที่แพลนจะเปิดในเฟสแรก ตามด้วย วิลล่า และอีเวนต์สเปซ ที่แพลนจะเปิดตามในเฟสต่อๆ มาด้วย
ภาพ: Kolman Boye Architects