×

ส่องนิทรรศการ ‘ไอ้จุดไม่จบ’ จากแนวคิดร่วมสร้างสรรค์ ต่อยอดสู่ Creative Powerhouse ของสยามพิวรรธน์ [PR NEWS]

โดย THE STANDARD LIFE
02.02.2024
  • LOADING...

ถ้าตอนนี้เห็นอีเวนต์โชว์ไอเดีย นิทรรศการสร้างสรรค์ และการจัดแสดงผลงานศิลปะกระจายไปทั่วกรุงเทพฯ ก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะกำลังมีงาน Bangkok Design Week 2024 ที่จัดขึ้นเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กรุงเทพฯ น่าอยู่กว่าที่เคย และแน่นอนว่างานนี้ต้องเต็มไปด้วยนักออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์

 

หนึ่งในพันธมิตรที่โดดเด่นอย่างสยามพิวรรธน์ก็พร้อมส่งแพลตฟอร์มร่วมสร้างสรรค์ (Creative Co-Creation Platform) โดยร่วมมือกับศิลปินและนักออกแบบมากมาย จัดกิจกรรมหลากหลายและอีกหนึ่งไฮไลต์คือนิทรรศการ ‘ไอ้จุดไม่จบ’ (INFINI JUD) โดยไอคอนคราฟต์ จับมือ ‘วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์’ ที่ไอคอนสยาม ถือเป็นการคอลแลบที่สะท้อนแนวคิดของสยามพิวรรธน์ในการเป็น ‘ขุมพลังความคิดสร้างสรรค์’ หรือ Creative Powerhouse นำเสนอปรากฏการณ์พิเศษแปลกใหม่อย่างต่อเนื่อง

 

 

ไอ้จุดไม่จบ นำเสนอผลงานการสร้างสรรค์ของ วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ศิลปินผู้คร่ำหวอดในแวดวงศิลปะและเซรามิกไทย ‘ไอ้จุด’ เป็นผลงานรูปปั้นลูกหมาพันธุ์ทางจากราชบุรี ตัวแทนความฉลาดแสนรู้ของหมาบ้านๆ ซื่อ-ซ่า-ซน ที่รักบ้าน รักชุมชน ชอบงานศิลปะ เพราะคลุกคลีอยู่ในโรงงานเซรามิกกับพี่ๆ ช่างฝีมือ มีหน้าที่ส่งต่อความรัก ความซื่อสัตย์ กำลังใจ และพลังงานบวกให้แก่ผู้พบเห็น และในวันนี้ไอ้จุดได้เดินทางเข้ากรุงอีกครั้งแบบยกฝูงกว่า 100 ตัว มาวิ่งเล่นที่ไอคอนคราฟต์ ตอกย้ำการเป็นพื้นที่เพื่อสนับสนุนผลงานสร้างสรรค์ งานคราฟต์จากช่างฝีมือไทยทั่วประเทศแบบไม่รู้จบ

 

 

“สำหรับประติมากรรม ‘ไอ้จุด’ ดูง่าย ไม่ซับซ้อน สามารถเข้าถึงได้ง่าย จึงทำให้เกิดการเชื่อมโยงโดยใช้งานศิลปะร่วมสมัย ดึงดูดผู้ชมให้เข้าไปเรียนรู้กับงานที่เป็นประวัติศาสตร์และความทรงจำของชุมชนที่สะสมอยู่ในพิพิธภัณฑ์ ด้วยความน่ารักของประติมากรรมไอ้จุดยังได้สร้างความสนใจและดึงดูดผู้ชมทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างมากมาย” วศินบุรีกล่าว

 

 

จุดเริ่มต้นของ ’ไอ้จุด’ ลูกหมาพันธุ์ไทย ที่นับเป็นส่วนหนึ่งของ Street Culture ของไทย แต่เดิมทำจากเซรามิกขนาดเท่าลูกสุนัข ก่อนถูกนำไปจัดแสดงที่กรุงเทพฯ และเบอร์ลินเมื่อปี 2550 และนำกลับมาแสดงอีกครั้งในนิทรรศการรอยยิ้มสยาม งานเปิดหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในปี 2551 ซึ่งทำให้ไอ้จุดถูกเพิ่มบริบทให้กับคำว่าศิลปะร่วมสมัยเข้ามาอยู่ในสังคมไทยมากขึ้น และขยายเข้าถึงคนในวงกว้าง กลายเป็นตัวแทนของความรู้สึกอยากรู้อยากเห็น และรอยยิ้มสยาม เป็นสัญลักษณ์ว่าไม่ใช่เฉพาะที่เมืองหลวง แต่ทุกๆ ที่ในบ้านเรา ก็จำเป็นต้องมีคำว่าศิลปะเข้ามาอยู่ในวิถีการดำเนินชีวิตของคนในชุมชน

 

วศินบุรีเป็นศิลปินเจ้าของรางวัลศิลปาธร จากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ทายาทโรงงานเถ้า ฮง ไถ่ โรงงานผลิตเครื่องปั้นดินเผาแห่งราชบุรี ที่ก่อตั้งมากว่า 80 ปี เป็นหนึ่งในศิลปินที่เข้าร่วม Co-Creation กับสยามพิวรรธน์ กล่าวว่าไอ้จุดมีเป้าหมายที่จะทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้น มีการสื่อสาร ยอมรับ เห็นความจริงในมุมมองที่หลากหลาย เป็นโอกาสเรียนรู้ซึ่งกันและกันผ่าน Street Dog ตัวแทนที่จะทำให้ทุกคนเข้าใจเมืองไทยอีกมุมหนึ่ง และถึงแม้ผู้ชมจะไม่เข้าใจในคอนเซปต์ทั้งหมด เพียงแค่รู้สึกกับผลงานนี้ก็ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์แล้ว

 

 

“คุณค่าของผลงานคราฟต์ของไทยจะไม่ใช่แค่ประติมากรรมที่ใช้ประโยชน์ในการสื่อสารให้เข้าใจศิลปะเท่านั้น แต่ยังเป็นศิลปะร่วมสมัยที่สามารถตอบแทนหรือคืนบางสิ่งบางอย่างให้กับคนในชุมชนได้ด้วยเหมือนกัน ศิลปะจะเป็นตัวเชื่อมให้คนในชุมชนได้เห็นบางสิ่งบางอย่างที่สำคัญกับความรู้สึกหรือความทรงจำของเขา เปรียบเหมือนสปอตไลต์กระตุ้นให้เห็นว่าสิ่งสำคัญที่เขาอยากจะทำต่อไปคืออะไร หรือให้เกิดความรู้สึกเห็นคุณค่า ช่วยเพิ่มมูลค่าให้สิ่งต่างๆ ช่วยให้ทางเลือก เกิดการต่อยอดและอนุรักษ์ให้คุณค่าเหล่านั้นให้ยังอยู่ต่อไปได้”

 

 

ปารีสา จาตนิลพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาธุรกิจค้าปลีก Concept Shop บริษัท สยามพิวรรธน์ รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด เล่าด้วยความภาคภูมิใจว่า การเปิดพื้นที่ไอคอนคราฟต์จัดนิทรรศการ INFINI JUD ในครั้งนี้แสดงถึงความมุ่งมั่นของสยามพิวรรธน์ ในการเป็นแพลตฟอร์มที่ร่วมสร้างสรรค์ผลงานด้วยการ Co-Create กับศิลปินมากมาย เปิดโอกาสให้ได้โชว์เคสผลงานและนำเสนอประสบการณ์พิเศษ อีกทั้งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตที่ดีและมีประสิทธิภาพของทุกภาคส่วน (Well-Growing Platform) ส่งเสริมการพัฒนาเมืองในมิติต่างๆ สร้างการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืนให้กับผู้คน ชุมชน และสังคม

 

ปารีสา จาตนิลพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาธุรกิจค้าปลีก Concept Shop บริษัท สยามพิวรรธน์ โฮลดิ้ง จำกัด และ วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์

 

ด้วยวิสัยทัศน์ผู้นำความคิดสร้างสรรค์และ DNA ของผู้บุกเบิกริเริ่มสิ่งใหม่ สยามพิวรรธน์เดินหน้าสู่การพัฒนา Creative Co-Creation Platform ร่วมกับศิลปินและนักสร้างสรรค์เก่งๆ หลายคน เพื่อนำเสนอปรากฏการณ์พิเศษแปลกใหม่ นอกจากนี้ยังสะท้อนแนวคิดของผู้นำในการพัฒนาโครงการเดสติเนชันระดับโลก ด้วยการจัดงานนิทรรศการ Siam Piwat Creative Powerhouse ที่บริเวณโถงด้านในไปรษณีย์กลาง ชั้น 1 ที่มีจุดเด่นทรงกลมสีสันอันเป็นตัวแทนขุมพลังความคิดสร้างสรรค์ที่ต่อยอดออกไปได้อย่างไม่สิ้นสุด และสอดแทรกเรื่องความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมอย่างแยบยล ทั้งการนำวัสดุมาใช้ใหม่ เช่น อะคริลิกที่นำมาครอบโคมไฟ สามารถนำไปใช้เป็นของตกแต่งในร้านค้าแบรนด์รักษ์โลก การใช้หลอดไฟแบบประหยัดพลังงาน รวมถึงถ่ายทอดเรื่องราวการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อให้ทุกจุดสามารถนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ให้กับเมืองและโลก

 

 

นอกจากไอคอนสยามแล้ว สยามพิวรรธน์ยังเปิดพื้นที่ศูนย์การค้าให้กับนักออกแบบรุ่นใหม่และศิลปินไทยมากความสามารถนำเสนอประสบการณ์พิเศษ ได้แสดงศักยภาพ และส่งเสริมให้เกิดคอมมูนิตี้ของกลุ่มคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ สร้างเครือข่ายสำหรับนักออกแบบ เพื่อโชว์เคสผลงานผ่านกิจกรรมต่างๆ กระจายอยู่ในศูนย์การค้า ทั้งสยามดิสคัฟเวอรี่ สยามเซ็นเตอร์ และสยามพารากอน

 

นิทรรศการไอ้จุดไม่จบ เปิดให้ชมความน่ารักตั้งแต่วันนี้ถึง 18 กุมภาพันธ์ 2567 และยังมีกิจกรรมมากมายของเหล่าศิลปินรุ่นใหม่และนักออกแบบที่งาน Bangkok Design Week 2024 ทุกพื้นที่ 15 ย่าน ทั่วกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันนี้ถึง 4 กุมภาพันธ์ 2567

 

ผู้สนใจงานออกแบบและสร้างสรรค์ยังคงมาร่วมสัมผัสประสบการณ์สุดพิเศษ พบกับกิจกรรมสุดครีเอตโดยสยามพิวรรธน์ได้อย่างต่อเนื่องกันแบบยาวๆ โดยเฉพาะไอคอนสยาม หนึ่งในอาร์ตเดสติเนชันที่นำงานอาร์ตระดับมาสเตอร์พีซของศิลปินไทยและระดับโลกที่มาตกแต่งทั่วอาคารและมีการจัดแสดงอย่างต่อเนื่อง 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X