×

How to: วิธีอ่านฉลากผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ถูกต้อง

17.02.2023
  • LOADING...
ฉลากผลิตภัณฑ์

แม้ว่าสกินแคร์จะมีฉลากหลังกล่องที่ระบุส่วนผสม วันเดือนปีที่ผลิต วันหมดอายุ วิธีการเปิดใช้งานต่างๆ รวมถึงสัญลักษณ์ที่จัดหมวดหมู่ของสกินแคร์ในแต่ละประเภทที่แตกต่างกัน แต่เชื่อไหมว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะอ่านรายละเอียดได้ครบถ้วนจริงๆ หากคุณอยากอ่านฉลากผลิตภัณฑ์บำรุงผิวให้เข้าใจถ่องแท้แบบมือโปร จึงต้องเริ่มฝึกอ่านฉลากทั้งหมดอย่างละเอียด ซึ่ง LIFE สรุปมาให้แล้วดังนี้    

 

  1. อ่านชื่อแบรนด์และชื่อผลิตภัณฑ์ ตามข้อกำหนดทางกฎหมายสกินแคร์ทุกแบรนด์จะต้องมีชื่อแบรนด์และชื่อผลิตภัณฑ์ ประเภทสินค้า วัตถุประสงค์และคำอธิบาย ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่เราต้องอ่านทุกครั้ง

 

 

  1. เช็กรายการส่วนผสม หรือมองหาคำว่า Ingredient ซึ่งตรงนี้สำคัญ เพราะลำดับการขึ้นก่อนของรายชื่อส่วนผสมนั้นหมายความว่ามีปริมาณที่สูงกว่าส่วนผสมลำดับถัดไป แปลว่าจะเรียงจากส่วนผสมมากไปหาน้อยนั่นเอง ในบางแบรนด์จะระบุเปอร์เซ็นต์ให้ทราบด้วย เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบของลูกค้า ดังนั้นเมื่อเราเช็กรายชื่อส่วนผสมตามลำดับบ่อยๆ ก็จะรู้เท่าทันการตลาด เพราะมีบางแบรนด์ที่ใส่ส่วนผสมสำคัญซึ่งอาจมีราคาแพงมากในปริมาณเพียงเล็กน้อยกว่าส่วนผสมอื่นๆ แต่กลับเคลมใช้เป็นจุดเด่นสร้าง Selling Point เพื่อดึงดูดใจลูกค้า หรือใช้เป็นคำโฆษณาหลักให้กับผลิตภัณฑ์นั้นๆ ก็มี 

 

  1. รู้จัก INCI ซึ่งย่อมาจาก International Nomenclature of Cosmetic Ingredients มันคือชื่อศัพท์เฉพาะของส่วนผสมในเครื่องสำอางที่เป็นสากล ซึ่งตั้งชื่อส่วนผสมตามศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เข้าใจความหมายตรงกันทั่วโลก เช่น ส่วนผสมที่เป็นน้ำจะใช้ศัพท์ส่วนผสมว่า Aqua, วิตามิน E ใช้ศัพท์ส่วนผสมว่า Tocopherol หรือสารสีน้ำเงินที่สกัดได้จากน้ำมันของคาโมมายล์ ใช้ศัพท์ส่วนผสมว่า Azulene มีคุณสมบัติลดการระคายเคือง เป็นต้น 

 

การตั้งชื่อกลางขึ้นมาใช้เป็นสากลแบบนี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการแพ้สารประกอบต่างๆ ในเครื่องสำอาง แน่นอนว่าคนทั่วไปอย่างเราที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์อาจไม่รู้จักคำศัพท์ INCI เลย แต่ก็จะสามารถเช็กได้จากเว็บไซต์ที่ตรวจสอบส่วนผสม เช่น เว็บไซต์ skincarisma.com 

 

 

  1. ตรวจสอบสัญลักษณ์ต่างๆ บนฉลากผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะมีความหมายดังนี้

 

  • Cruelty Free เป็นเครื่องสำอางที่ไม่มีการทดลองในสัตว์ Not Tested on Animals
  • Vegan Society สัญลักษณ์ว่าเป็นผลิตภัณฑ์วีแกน ที่ไม่ได้ผลิตมาจากส่วนผสมที่ได้จากสัตว์ และไม่มีการทดลองในสัตว์ เช่น น้ำผึ้ง แว็กซ์ หรือไขมันจากสัตว์ก็จะไม่ใช้เลย 
  • USDA Organic เป็นมาตรฐานสากลออร์แกนิกของสหรัฐอเมริกา ถ้าเห็นสัญลักษณ์นี้ก็มั่นใจได้เลยว่าส่วนผสม 95% ขึ้นไปของผลิตภัณฑ์ไม่มีการใช้สารเคมีหรือสารต้องห้ามในการผลิตจริงๆ  
  • Fairtrade แสดงว่าผลิตภัณฑ์มีจุดยืนที่เป็นธรรมตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ไม่มีการเอาเปรียบตลอดกระบวนการผลิต ทั้งเกษตรกร แรงงาน โรงงาน การตลาด ทุกอย่างโปร่งใส และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำลายธรรมชาติ 
  • ZeroList™ แปลว่าไม่มีส่วนผสมที่เป็นสารอันตราย หรือแม้แต่ส่วนผสมที่มีแนวโน้มหรือเสี่ยงจะเป็นอันตรายต่อผิวพรรณกว่า 2,300 รายการ ก็จะไม่ถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่าคลีนและปลอดภัยจริง 
  • Paraben Free ไม่มีพาราเบน หรือสารกันเสีย ที่เสี่ยงทำให้เกิดผื่นแพ้บนผิวหนังได้ 
  • RSPO (The Roundtable on Sustainable Palm Oil) มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มที่ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม และมีส่วนรณรงค์ช่วยลิงอุรังอุตังในหลายประเทศด้วย 
  • Gluten Free ปราศจากกลูเตน ที่ส่งผลระคายเคืองต่อผิวหนัง 
  • Cosmebio อีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่รับรองความเป็นออร์แกนิกจากองค์กรของประเทศฝรั่งเศส ส่วนผสม 95% ขึ้นไปมาจากธรรมชาติจริงๆ ไม่มีสารกันเสีย ไม่มีน้ำหอม ไม่แต่งสี ไม่แต่งกลิ่น 
  • Soil Association Organic Standards การันตีจากองค์กรของอังกฤษว่าเป็นส่วนผสมที่ไม่มี GMO (ไม่มีการดัดแปลงพันธุกรรมทั้งจากพืช สัตว์ แบคทีเรีย จุลินทรีย์) และมีส่วนผสมที่รับรองจากเกษตรอินทรีย์ 70% ขึ้นไป 
  • SLS Free ปราศจากสารซัลเฟต ซึ่งเป็นหนึ่งในสารเคมีที่ลดแรงตึงผิว ข้อเสียของ SLS คือสร้างการระคายเคืองได้ง่าย ทั้งต่อผิว หนังศีรษะ ดวงตา พบมากในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เช่น แชมพู สบู่ คลีนเซอร์ 
  • Recycle Sign เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ 
  • Natrue รับรองโดยองค์กรในยุโรปว่าเป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก หรือผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่ไม่มีน้ำหอม ไม่แต่งสีสังเคราะห์ ไม่มีปิโตรเลียม น้ำมัน ซิลิโคน หรือการทดลองในสัตว์ และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย 
  • Silicone Free ปราศจากซิลิโคน ซึ่งมีความเสี่ยงทำให้ผิวเกิดการอุดตันรูขุมขนได้ง่าย 
  • Clinically Tested บอกให้รู้ว่าผ่านการทดสอบโดยคลินิกและผู้เชี่ยวชาญของแบรนด์นั้นๆ แล้ว มีความเสี่ยงต่ออาการแพ้น้อย เมื่อเทียบกับเครื่องสำอางทั่วไป 
  • Dermatologically Tested ผลิตภัณฑ์ผ่านการทดสอบแล้วว่ามีความปลอดภัยต่อผิวพรรณ 
  • Green Dot สัญลักษณ์บ่งบอกว่าแบรนด์ได้สมทบเงินช่วยเหลือแก่องค์กรต่างๆ ที่จัดการกู้คืน รีไซเคิล และจำกัดขยะอย่างถูกวิธี และมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

 

  1. ตรวจเช็กวันหมดอายุ 

การดูว่าเครื่องสำอางหมดอายุหรือไม่นั้นให้มองหาคำว่า MFG / MFD หมายถึง วันที่ผลิต (MFG ย่อมาจาก Manufacturing Date/Manufactured Date) ส่วน EXP/EXD หมายถึง วันหมดอายุ (ย่อมาจาก Expiry Date/Expiration Date)

 

นอกจากนี้ยังสังเกตได้จาก Period After Opening (PAO) ซึ่งมีสัญลักษณ์รูปบรรจุภัณฑ์เปิดฝาที่มีตัวเลขกำกับ เช่น 6M หรือ 12M หมายถึงช่วงเวลาวันหมดอายุหลังจากเปิดใช้ แต่ถ้าเห็นสัญลักษณ์นาฬิกาทราย Hourglass หรือ Best Before End Date บอกให้รู้ว่าจะหมดอายุเมื่อไร ไม่ว่าจะเปิดใช้หรือไม่ก็ตาม 

 

เรายังสามารถตรวจสอบจากเว็บไซต์เพื่อหาวันหมดอายุของผลิตภัณฑ์ได้ด้วยนะ เช่น ที่คนนิยมใช้กันเยอะๆ ก็จะมีเว็บไซต์ https://www.checkfresh.com/ หรือ https://checkcosmetic.net/ วิธีการเช็กก็ง่ายๆ เลย เราแค่พิมพ์ชื่อแบรนด์แล้วใส่ Batch Number หรือ Batch Code ของผลิตภัณฑ์ ก็จะเช็กได้เลยว่าผลิตภัณฑ์ที่เราซื้อมามีระยะเวลาที่ใช้ได้กี่เดือน กี่ปี 

 

 

อ้างอิง:

FYI

หลังจากตรวจสอบชื่อแบรนด์​ ชื่อผลิตภัณฑ์ ประเภทสินค้า วัตถุประสงค์ คำอธิบาย รายการส่วนผสม สัญลักษณ์ต่างๆ ก็ต้องอย่าลืมตรวจสอบแนวทางการใช้งาน การจัดเก็บ และรายละเอียดในการติดต่อผู้ผลิตด้วยเสมอ

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising