×

ซื้อรองเท้าสุขภาพมาใส่ แต่ทำไมยังเจ็บ?

11.06.2023
  • LOADING...
รองเท้าสุขภาพ

หลายๆ คนคงเคยประสบปัญหาการเลือกซื้อรองเท้าดีๆ สักคู่ ที่นอกจากความสวยงามแล้ว ก็ยังอยากได้รองเท้าที่ใส่ลุยไปได้ทุกที่ ที่สำคัญต้องดูแลสุขภาพเท้าของเราได้ดีอีกด้วย

 

ในท้องตลาดปัจจุบันมีการขายรองเท้าสุขภาพกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อของไทยเราเองหรือจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป แต่หลายๆ ครั้งเมื่อเราได้ลองใส่ดูแล้วอาจจะไม่ได้รู้สึกสบายอย่างที่คิด ไม่หายจากอาการเจ็บหรือเมื่อยเท้า หรือแม้กระทั่งทำให้อาการเจ็บเท้าต่างๆ เป็นมากขึ้นด้วย ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นได้ ในบทความนี้จึงขอพูดถึงรองเท้าสุขภาพว่ามีต้นกำเนิดมาอย่างไร และควรเลือกอย่างไรให้เหมาะสมกับเราที่สุด

ขอย้อนเวลากลับไปตั้งแต่กว่า 2,000 ปีก่อน รู้ไหมว่ารองเท้าได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อปกป้องเท้าของเราจากการเดินเท้าเปล่า ต่อมาเมื่อมีวิวัฒนาการมากขึ้น ก็เริ่มมีการประดิษฐ์ชิ้นส่วนต่างๆ ของรองเท้าขึ้นมา เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของมนุษย์เรามากขึ้น โดยอิงจากหลักการของชีวกลศาสตร์ของเท้าจนไปถึงทั้งร่างกาย กล่าวคือ เมื่อเท้าของเรามีปัญหา อาทิ เท้าแบนก็สามารถทำให้เกิดแรงกระทำเป็นลูกโซ่ ทำให้เกิดการปวดสะโพกหรือปวดหลัง เป็นต้น โดยชิ้นส่วนแรกที่มีรายงานว่าถูกประดิษฐ์ขึ้นก็คือ ส่วนของอุ้งเท้าด้านในของรองเท้านั่นเอง

 

เมื่อความรู้ทางด้านชีวกลศาสตร์เริ่มรุดหน้า ก็เริ่มมีหลายๆ บริษัทเริ่มประดิษฐ์รองเท้าสำเร็จรูปเพื่อการปรับสรีระขึ้น (Corrective Shoes) โดยการใส่ชิ้นส่วนหลายชนิดเข้าไปในรองเท้า เพื่อหวังให้ปรับแนวของกระดูกหรือกล้ามเนื้อให้อยู่ในตำแหน่งที่ใกล้เคียงอุดมคติที่สุด โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดอาการเจ็บของเท้า ข้อเท้า และส่วนอื่นๆ ของร่างกายที่เกี่ยวข้องให้ได้ ไม่ว่าจะเป็น การเสริมอุ้งเท้า, การเสริมความนุ่มของแผ่นรองรับน้ำหนัก, การเสริมแกนเหล็กในพื้นรองเท้า, เสริมลิ่ม (Wedge) หรือเสริมถ้วยครอบส้นเท้า เพื่อความมั่นคงของข้อเท้า เป็นต้น 

 

รวมถึงยังมีการออกแบบตัววัสดุของรองเท้า การผูกเชือกรองเท้า หรือรูปแบบการดึงสายรัดด้วยวิธีต่างๆ เพื่อจัดการแรงกระทำต่อเท้าของเราให้ได้ตามแผนอีกด้วย 

 

ในทางการแพทย์ก็มีการใช้รองเท้าเหล่านี้ในการรักษาโรคต่างๆ ที่เกิดจากปัญหาของเท้าอีกด้วย ซึ่งถูกเรียกว่า Orthopedic Shoes รองเท้าสำเร็จรูปเหล่านี้โดยมากมักจะมีรูปร่างที่คล้ายกัน ไม่สวยงามตามแฟชั่น และมีน้ำหนักมาก ทำให้เป็นที่นิยมในบางกลุ่มเท่านั้น 

 

ในประเทศไทยมีการตัดรองเท้าชนิด Orthopedic Shoes ในโรงพยาบาลที่ให้การรักษาโรคของเท้าเช่นกัน แต่เป็นที่นิยมน้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากมีราคาสูงและใส่ได้เพียงบางโอกาสเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยมีอากาศร้อน ทำให้รองเท้าที่ทำจากวัสดุพวกหนังที่ทนทานและให้แรงปรับสรีระได้ไม่เหมาะในการใส่เป็นประจำ

 

ปัจจุบันโรงงานรองเท้าหลายแห่งได้มีการเลือกตัดส่วนประกอบบางอย่างออก เพื่อทำให้รองเท้ามีน้ำหนักน้อยลง แต่ยังคงเน้นเรื่องของส่วนประกอบที่ใช้ในคนปกติทั่วไปให้ได้มากที่สุด ทำให้หลายๆ ครั้งเวลาที่เราไปเลือกดูรองเท้าสุขภาพจะพบว่ามีลักษณะที่คล้ายกัน เช่น เป็นรองเท้าหุ้มส้นโดยที่ส้นเท้ามีโครงแข็ง มีอุ้งเท้าด้านในหนุนสูงแบบแข็งหรือนุ่มตามแต่ละรุ่น หรือรองเท้าแบนไม่มียกส้นสูง ฯลฯ 

 

ซึ่งหากเราไม่มีปัญหาเรื่องโครงสร้างที่ผิดปกติ การเลือกใส่รองเท้ากลุ่มนี้ก็มักจะไม่ทำให้เกิดปัญหาและรู้สึกสบายเวลาสวมใส่ แต่หากเป็นผู้ที่มีปัญหาเรื่องรูปเท้าหรือการเจ็บปวดที่เท้าชนิดต่างๆ รองเท้าเหล่านี้ก็ไม่ได้ตอบโจทย์ของเราทั้งหมด 

 

หมอจึงขอยกตัวอย่าง 5 ปัญหาที่พบบ่อย และเสนอแนะวิธีการเลือกรองเท้าสุขภาพที่เหมาะสม ดังนี้

 

 

1. ผู้ที่มีปัญหารองช้ำหรือเอ็นใต้ฝ่าเท้าอักเสบ คือมีอาการเจ็บที่ส้นเท้าและฝ่าเท้า ควรเลือกรองเท้าที่มีแผ่นรองเท้าที่นุ่ม โดยเฉพาะที่ส้นเท้า มีอุ้งเตี้ยๆ ที่นุ่มรองรับฝ่าเท้าให้ได้มากที่สุด ไม่ควรใส่รองเท้าบางหรือพื้นแข็งและมีส้นสูง เนื่องจากทำให้แรงกระแทกสูงและเอ็นใต้ฝ่าเท้าตึงมากขึ้นได้

 

2. ผู้ที่มีปัญหาเอ็นร้อยหวายอักเสบ คือมีอาการเจ็บบริเวณจุดเกาะของเอ็นร้อยหวายที่ส้นเท้าด้านหลัง บางคนมีลักษณะส้นเท้าปูดโปน ควรเลือกรองเท้าที่มีแผ่นรองรองเท้าที่นุ่ม โดยเฉพาะที่ส้นเท้า มีส้นสูงเล็กน้อยได้ เพื่อให้เอ็นร้อยหวายไม่ตึงเจ็บ และไม่ควรเลือกรองเท้าที่หุ้มส้น เนื่องจากบริเวณที่หุ้มนั้นสามารถกดครูดที่เอ็นร้อยหวาย ทำให้เกิดการเจ็บอักเสบเพิ่มขึ้นได้

 

3. ผู้ที่มีปัญหาเท้าแบนหรือฝ่าเท้าล้ม ไม่เห็นอุ้งเท้า ควรเลือกรองเท้าที่หุ้มด้วยส้นที่มีโครงแข็ง (Heel Counter) เพื่อลดการล้มของข้อเท้าเข้าด้านใน รวมถึงอาจมีอุ้งเท้าด้านในที่สูงและเฟิร์ม แต่ไม่แข็งจนเกินไป เพื่อดันให้อุ้งเท้ากลับมาใกล้เคียงปกติให้มากที่สุด แต่หากมีอาการเท้าแบนรุนแรงหรือชนิดติดแข็ง ไม่ควรหนุนด้วยอุ้งเท้า เนื่องจากจะทำให้เกิดการกดทับและเป็นแผลได้ นอกจากนี้ผู้ที่มีเท้าแบนมักมีเรื่องของกระดูกหัวแม่เท้าปูดโปนด้วย จึงควรเลือกรองเท้าที่หน้ากว้าง เพื่อลดการเสียดสีของหัวแม่เท้ากับรองเท้าด้วย

 

4. ผู้ที่มีปัญหาอุ้งเท้าสูง คือมีส่วนเว้าของอุ้งเท้าสูงกว่าปกติ มักมีอาการปวดที่ฝ่าเท้าและข้อเท้าได้ง่าย เนื่องจากขาดความยืดหยุ่นของเท้า จึงควรเลือกรองเท้าพื้นนุ่ม หรือหากมีอุ้งเท้าควรเป็นอุ้งที่นุ่ม เพื่อกระจายน้ำหนักที่กระทำต่อเท้าในเวลาเดินให้มากที่สุด

 

5. ผู้ที่มีปัญหาปวดเข่าควรเลือกรองเท้าที่มีพื้นรองเท้าเต็มและเฟิร์ม ไม่นุ่มจนเกินไป เพื่อกระจายน้ำหนักและลดแรงกระแทกไปยังข้อเข่า และหากมีภาวะเข่าเสื่อมด้าน ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ป่วยเข่าเสื่อมระยะแรก อาจเลือกที่มีการเสริมลิ่มที่ด้านนอกของพื้นรองเท้า เพื่อให้ลดแรงกระทำต่อข้อเข่าด้านในได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากเข่าที่เสื่อมมาก การปรับรองเท้าอาจไม่ได้ผล

 

ทั้งนี้ หากเป็นผู้ที่มีปัญหาทางโครงสร้างอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ภาวะกระดูกสันหลังคด ซึ่งสามารถส่งผลให้มีความยาวขาทั้งสองข้างที่ไม่เท่ากัน จนร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ ทำให้ต้องเสริมความสูงของรองเท้า เพื่อลดอาการปวดที่หลังและสะโพกที่ตามมา หรือแม้กระทั่งผู้ที่มีเท้าผิดรูปรุนแรง ไม่สามารถหารองเท้าที่เหมาะสมได้ ก็อาจจำเป็นต้องตัดรองเท้าเป็นรองเท้าเฉพาะบุคคล เพื่อลดปัญหาแทรกซ้อนที่อาจเกิดตามมาในอนาคต เป็นต้น 

 

ดังนั้นหากมีปัญหาเรื่องการปวดเท้า ปวดหลัง หรือโครงสร้างใดๆ อย่างเรื้อรัง ที่ไม่แน่ใจว่าสาเหตุเกิดจากรองเท้าที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ หรือได้ลองปรับรองเท้าแล้วไม่ดีขึ้น จึงควรพบแพทย์ศัลยกรรมกระดูกหรือแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เพื่อประเมิน วินิจฉัย และให้คำแนะนำที่ถูกต้องต่อไป

 

นอกจากการซื้อรองเท้าสุขภาพและการตัดรองเท้าเฉพาะบุคคลแล้ว ในปัจจุบันยังมีเทคโนโลยีการประดิษฐ์แผ่นรองรองเท้า (Insole) ที่สามารถดึงเข้าออกเปลี่ยนคู่รองเท้าที่ใส่ได้เป็นอีกทางเลือก ซึ่งแผ่นรองรองเท้านั้นมีทั้งแบบที่หาซื้อได้ทั่วไปและแบบตัดเฉพาะบุคคลเช่นกัน เพื่อลดปัญหารองเท้าที่ไม่สวยถูกใจ และสามารถกำหนดคุณสมบัติให้เป็นตามที่ต้องการได้ ซึ่งในประเทศไทยมีการผลิตแผ่นรองรองเท้าเฉพาะบุคคลในโรงพยาบาลใหญ่ๆ และเริ่มมีให้บริการจัดทำตามร้านหรือห้างสรรพสินค้าทั่วไปมากขึ้น แต่ก็ยังมีราคาที่สูงพอสมควร

 

จะเห็นได้ว่าการเลือกรองเท้าที่เหมาะกับเรานั้นอาจจะไม่ง่าย รองเท้าที่คนรอบข้างใส่แล้วดีเราอาจจะใส่แล้วเจ็บก็ได้ และหากเราได้รองเท้าคู่ใจแล้ว ก็อย่าลืมดูแลเท้าของเราให้ดี ทั้งการผ่อนคลายฝ่าเท้าด้วยการแช่น้ำอุ่นหรือการนวดคลึงเบาๆ ทุกวัน และการยืดกล้ามเนื้อน่องทั้งสองข้างของเราอย่างสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้เราก็จะหมดปัญหาการเจ็บปวดที่เท้าหรือข้อเท้าได้ และยังเดินได้ดี ไม่มีเจ็บไปอีกนาน 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising