ระยะหลังเอเชียเราอบอวลด้วยงานศิลปะ ไม่ว่าจะอีเวนต์ใหญ่ใดๆ ก็ล้วนแต่มุ่งเป้ามาจัดที่นี่ ซึ่งแน่นอนว่าเมนหลักย่อมต้องเป็น ฮ่องกง เกาหลี หรือญี่ปุ่น เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทีมงาน THE STANDARD LIFE ได้รับเชิญจากสถาบันการประมูลเก่าแก่อย่าง Christie’s ให้ร่วมงาน ‘20th/21st Century Evening Sale’ อีเวนต์ประมูลชิ้นงานศิลปะในช่วงศตวรรษที่ 20 และ 21 ที่จัดประมูลครั้งแรกในบ้านหลังใหม่บนชั้น 7 ของตึก Henderson เขตเซ็นทรัลของฮ่องกง และสิ่งที่สร้างความตื่นตาให้เราคือชิ้นงานจากศิลปินในเอเชียได้รับความนิยมมากในหมู่นักสะสม และแปลกใจเข้าไปอีกเมื่อเห็นผู้ร่วมงานและผู้ร่วมการประมูลเต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่มากหน้าหลายตาจากเอเชีย
ขณะเดียวกัน เรามีโอกาสพูดคุยกับ Francis Belin ประธานของ Christie’s Asia Pacific ซึ่งเขาก็ให้ความเห็นว่า ‘เอเชียกำลังมาจริงๆ และกำลังกลายเป็นปัจจุบันของงานศิลปะ’
Christie’s ในความหมายของคุณคืออะไร
Francis: Christie’s คือบ้านประมูลระดับโลกที่มีประวัติยาวนานกว่า 250 ปี เรานำเสนอของสะสมที่ดีที่สุดจากทั่วโลก ทั้งศิลปะคลาสสิก ศิลปะร่วมสมัย ไปจนถึงสินค้าหรูหราอย่างนาฬิกา เครื่องประดับ ไวน์ กระเป๋า และล่าสุดก็รวมถึงรถยนต์คลาสสิกด้วยครับ
ในมุมมองของคุณ ความหมายของคำว่า ‘หรูหรา’ คืออะไร?
Francis: สำหรับเราที่ Christie’s “ความหรูหรา” คือสิ่งที่มีคุณค่าทางการสะสม ซึ่งมักมีความหายาก มีเอกลักษณ์ และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เราชอบนำเสนอวัตถุที่เล่าเรื่องได้ เล่าเรื่องอดีตที่ยังส่งอิทธิพลต่อปัจจุบัน เช่น นาฬิกาจากยุค 60-70 ที่กลไกหรือดีไซน์ยังส่งผลต่อการออกแบบในปัจจุบัน เรามองว่านักสะสมไม่ใช่แค่เจ้าของ แต่คือผู้ดูแลวัตถุที่มีความหมาย ที่วันหนึ่งจะถูกส่งต่อให้ผู้อื่นดูแลต่อไป
Christie’s เพิ่งย้ายเข้าสำนักงานใหม่ที่เฮนเดอร์สัน อะไรทำให้ที่นี่พิเศษ?
Francis: เราย้ายมาอยู่ที่อาคาร Henderson ตั้งแต่กันยายนปีที่แล้ว เป็นพื้นที่ที่ออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดัง Zaha Hadid รวมแล้วเรามีพื้นที่กว่า 50,000 ตารางฟุต ทำให้สามารถจัดงานได้ตลอดทั้งปี ไม่ใช่แค่การประมูล แต่ยังรวมถึงกิจกรรมที่เชื่อมโยงนักสะสมกับสิ่งที่พวกเขารักได้มากขึ้น
มองเทรนด์ตลาดการประมูลในตอนนี้อย่างไรบ้าง?
Francis: เรายังเห็นความแข็งแกร่งและกิจกรรมที่ต่อเนื่องในทุกหมวด แม้บางหมวดราคาจะปรับตัวลงบ้าง แต่สินค้าที่หายากและคุณภาพสูงยังคงมีมูลค่ามั่นคง ตัวอย่างเช่น งานของ Basquiat ที่มีผู้ปิดประมูลไปกว่า 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับนักสะสมชาวเอเชียเมื่อคืนที่ผ่านมา เป็นเครื่องยืนยันว่าความพิเศษยังคงเป็นที่ต้องการเสมอ
ทุกคนคิดว่าการประมูลต้องคู่กับงานศิลปะเท่านั้น มีสินค้าประเภทไหนบ้างที่กำลังมาแรง?
Francis: นอกจากงานศิลปะ เรามีสินค้าหรูหราอีกหลากหลาย เช่น เครื่องประดับ กระเป๋าแบรนด์เนม ไวน์ สุรา นาฬิกา และล่าสุดคือรถยนต์คลาสสิก หลังจากที่เราซื้อกิจการ Gooding & Co. ซึ่งตอนนี้เรียกว่า Gooding Christie’s เราเห็นนักสะสมรถยนต์มากมาย โดยเฉพาะในประเทศไทย ส่วนตลาดไวน์บางส่วนอาจราคาตกเล็กน้อย แต่ก็เริ่มกลับมาฟื้นตัว นาฬิกาโบราณยังคงแข็งแกร่งมาก เช่นเดียวกับพลอยสีที่ยังคงทำสถิติราคาใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง
พูดถึงประเทศไทยบ้าง คุณมองตลาดศิลปะไทยเป็นอย่างไร?
Francis: เรามีสำนักงานและทีมงานในประเทศไทยมาหลายปีแล้ว ทีมงานของเราทำหน้าที่ทั้งดูแลนักสะสมในไทย และคัดเลือกศิลปะไทยที่โดดเด่นเพื่อส่งไปยังเวทีประมูลระดับโลก เช่น ที่ฮ่องกง อย่างการประมูลในครั้งนี้ จากผลงาน 43 ชิ้น มีถึง 2 ชิ้นที่เป็นผลงานของศิลปินไทย หนึ่งในนั้นคือผลงานของ ‘ถวัลย์ ดัชนี’ ซึ่งทำราคาสูงสุดที่เคยมีมาในตลาดรอง ขายได้ประมาณ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ เรานำเสนอศิลปินไทยในระดับโลก เพราะเราเชื่อว่าเวทีของเราจะช่วยให้คนทั่วโลกได้รู้จักศิลปินไทยมากขึ้น
ในสายตาของคุณ ตลาดศิลปะเอเชียเปลี่ยนไปอย่างไรในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา?
Francis: เอเชียโตเร็วมากครับ เมื่อสิบปีก่อน เราอาจยังพูดถึงนักสะสมกลุ่มเล็กๆ แต่ตอนนี้ เราเห็นนักสะสมรุ่นใหม่จำนวนมาก ทั้งที่มาจากจีน เกาหลี ญี่ปุ่น รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสิ่งที่น่าตื่นเต้นคือ พวกเขาไม่ได้ซื้อแค่เพื่อเก็บ แต่ซื้อเพราะชอบกับศิลปะจริงๆ พวกเขาศึกษา เข้าร่วมงานแสดง และพูดคุยกับศิลปินโดยตรง มันทำให้ตลาดศิลปะมีชีวิตชีวามากขึ้น
อะไรคือจุดแข็งของ Christie’s ที่ทำให้ยังคงยืนหนึ่งในโลกของการประมูลศิลปะมานาน?
Francis: ผมคิดว่าเรามี 3 จุดแข็งหลักๆ หนึ่งคือความเชี่ยวชาญของทีมงาน สองคือความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับลูกค้า และสามคือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เราพยายามปรับตัวอยู่เสมอ เช่น ช่วงโควิดที่ผ่านมา เราก็เป็นเจ้าแรกที่จัดประมูลแบบไลฟ์สตรีมหลายประเทศพร้อมกัน เรียกว่าทลายขอบเขตของห้องประมูลแบบเดิมๆ ไปเลย
แล้วในมุมของคุณ เอเชีย โดยเฉพาะไทย มีศักยภาพอะไรที่น่าจับตามอง?
Francis: เอเชียไม่ใช่ ‘อนาคต’ ของวงการศิลปะอีกต่อไป แต่คือ ‘ปัจจุบัน’ ไปแล้ว ส่วนไทยเอง ผมรู้สึกว่ามีศักยภาพมหาศาล ทั้งในด้านศิลปินร่วมสมัย แกลเลอรี และนักสะสมรุ่นใหม่ Christie’s เองก็สนใจตลาดไทยมากขึ้น เราเพิ่งจัดแสดงงานของศิลปินไทยในนิวยอร์ก และได้เสียงตอบรับดีมาก ผมว่าเราจะได้เห็นศิลปินไทยในเวทีโลกมากขึ้นแน่นอน
สุดท้าย อยากให้ฝากคำแนะนำถึงคนที่เพิ่งเริ่มสนใจอยากเป็นนักสะสมหน่อยค่ะ
Francis: การสะสมคือการเดินทางระยะยาว และอาจมีค่าใช้จ่ายสูง คำแนะนำของผม คือ เริ่มจากการรู้ว่าคุณรักอะไร หลงใหลอะไร แล้วค่อยๆ ศึกษาให้ลึกซึ้ง ใช้เวลาสังเกต ทำความเข้าใจ และเลือกสะสมสิ่งที่มีความหมายกับคุณจริงๆ ไม่ต้องรีบร้อน ค่อยเป็นค่อยไป แล้วคุณจะได้ของสะสมที่คุณภาคภูมิใจที่สุดในระยะยาว