×

รู้จัก ‘dTMS’ เทคโนโลยีใหม่ของการรักษาโรคซึมเศร้า

27.11.2024
  • LOADING...

ด้วยปัญหาความเครียด การนอนน้อย รวมถึงสิ่งแวดล้อมและการใช้ชีวิต ทำให้คนยุคนี้มักมีภาวะซึมเศร้าหรือเป็นโรคซึมเศร้ากันเยอะ ซึ่งวิธีการรักษาก็มีทั้งจิตบำบัด การใช้ยา และวิธีการอื่นตามที่แพทย์เห็นสมควร ทว่าไม่นานมานี้ Bangkok Mental Health Hospital (BMHH) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวชละแวกติวานนท์ เปิดตัวอีกหนึ่งวิธีการรักษาที่เรียกว่า ‘dTMS’ เทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยรักษาโรคซึมเศร้าด้วยการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

 

เทคโนโลยีนี้ทำงานอย่างไร ได้ผลหรือไม่ เจ็บมากน้อยอย่างไร วันนี้เราพาไปคุยกับ พญ.ณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล แพทย์จิตเวชผู้ใหญ่ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตบำบัดรายบุคคล ความผิดปกติทางอารมณ์ โรควิตกกังวล จิตเภท และภาวะสมองเสื่อม BMHH

 

 

ทำไมโรคซึมเศร้าจึงพบมากขึ้นในสังคมปัจจุบัน

 

ส่วนใหญ่มาจากความเครียดในชีวิตประจำวัน การเปลี่ยนแปลงหรือความกดดันทางสังคม ภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งหลายสิ่งหลายอย่างในโลกนี้ทำให้ความเครียดมากขึ้น สะสมมากขึ้น ซึ่งนั่นก็เป็นเหตุผลหนึ่ง แต่ในอีกนัยหนึ่งโรคซึมเศร้าอาจมีเยอะมานานแล้ว แต่คนไม่ทั่วไปไม่รู้จักและเพิ่งมาทำความเข้าใจในช่วงหลัง

 

จริงๆ มีความเข้าใจผิดในสังคมเยอะมาก เช่น โรคซึมเศร้าเป็นความอ่อนแอทางจิตใจ แต่แท้จริงแล้วโรคนี้อาจเกิดจากปัจจัยทางชีวภาพได้ด้วย เช่น พันธุกรรม หรือความไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง การให้ความรู้เรื่องสุขภาพจิตในสังคมจึงสำคัญอย่างยิ่ง เพราะคนจำนวนมากยังไม่ทราบว่าโรคซึมเศร้าเป็นความเจ็บป่วยที่รักษาได้ และการหันไปหาผู้เชี่ยวชาญก็เป็นเรื่องธรรมดาเหมือนการรักษาโรคทางกายอื่นๆ

 

เทคโนโลยี ‘dTMS’ คืออะไร แล้วแตกต่างจากการรักษาด้วยยาหรือจิตบำบัดอย่างไร

 

dTMS คือการรักษาโดยใช้เครื่องมือปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเข้าไปที่สมองส่วนหน้า โดยคลื่นจะทำหน้าที่ปรับสมดุลสารเคมีในสมอง ช่วยให้สมองเปิดรับยาที่เรากินได้ง่ายขึ้น ปกติยาจะถูกซึมจากกระเพาะเข้ากระแสเลือด ซึ่งระหว่างเลือดกับสมองจะมีผนังกั้น และเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าทำให้ยาผ่านง่ายขึ้น ยาจึงส่งประสิทธิภาพเข้าสมองได้ดีขึ้น

 

รูปแบบการรักษาด้วย dTMS ควรเลือกรักษาเดี่ยวหรือควบคู่กับยา

 

ทำได้ทั้ง 2 แบบ จะรักษาเดี่ยวหรือรักษาควบคู่กับยาก็ได้ การรักษาโรคทางจิตเวชด้วยยาเป็นการรักษาแบบมาตรฐานอยู่แล้ว ส่วนเครื่อง dTMS เป็นสิ่งใหม่ สมัยก่อนสัก 20 ปีที่แล้วผลการรักษายังอยู่ที่ 50 ต่อ 50 แต่หลังจากที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องจนตอนนี้สามารถรับรองแล้วว่าใช้รักษาได้จริง ซึ่งได้รับรองจาก FDA หรือองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาว่ามีความปลอดภัยและช่วยรักษาซึมเศร้าได้มีประสิทธิภาพ

 

 

โรคทางจิตเวชใดบ้างที่สามารถรักษาด้วย dTMS

 

รักษาได้หลายชนิด ส่วนใหญ่จะเน้นที่โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ และผู้ป่วยที่ติดบุหรี่ ซึ่งแต่ละโรคจะมีหมวกไม่เหมือนกัน แต่ใช้ระบบเดียวกันในการรักษา

 

ผลข้างเคียงจากการรักษาด้วย dTMS

 

เรียกว่ามีน้อยมาก ส่วนใหญ่มักมีอาการปวดศีรษะบ้าง แต่ปวดไม่เยอะ ปวดในระดับที่กินยาพาราเซตามอลแล้วหาย นอกจากนี้มีอาการง่วง อารมณ์คนออกกำลังกายหนักแล้วง่วงเหนื่อย เป็นความเหนื่อยล้าของสมองที่ถูกกระตุ้น

 

ขั้นตอนการเข้ารับการรักษาด้วย dTMS ต้องทำอย่างไร

 

อย่างแรกเลยคือมาหาแพทย์ที่โรงพยาบาล โดยแพทย์จะประเมินว่ารักษาได้หรือไม่ สำหรับการรักษาครั้งแรกจะใช้เวลานานนิดหนึ่ง หลังสวมหมวกแพทย์จะเซ็ตตำแหน่งในการรักษา รวมถึงระดับความแรงในการยิงคลื่นแม่เหล็ก การรักษาแต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที และจำเป็นต้องกระตุ้นต่อเนื่องอย่างน้อย 10-15 วัน และเว้นไม่เกิน 1 สัปดาห์ ถึงจะเริ่มเห็นผล

 

 

ผู้ป่วยกลุ่มใดที่เหมาะสมกับการรักษาแบบ dTMS

 

เบื้องต้นรักษาได้ทั่วไป แต่เหมาะเป็นพิเศษในกรณีคนไข้ที่มีปัญหาผลข้างเคียงจากการกินยา คนไข้ที่ไม่ต้องการยุ่งกับยามาก เช่น ไม่ต้องการกินเลย หรือกินแล้วมีผลข้างเคียงที่รับไม่ไหว หรือลองกินยาแล้วไม่ได้ผล ดื้อต่อการรักษาด้วยยา หญิงมีครรภ์ หรือหญิงให้นมบุตร

 

สัญญาณเตือนโรคซึมเศร้าและการเข้าพบจิตแพทย์

 

เมื่อรู้สึกว่าตัวเองคุมไม่ไหว จัดการตัวเองไม่ได้ จนส่งผลกระทบกับชีวิตตัวเองหรือคนรอบข้าง จริงๆ ไม่จำเป็นต้องซึมเศร้าเท่านั้นก็สามารถเข้ามาปรึกษาแพทย์ได้ เพราะการเข้ารับการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตถือเป็นก้าวแรกในการดูแลสุขภาพจิตและปรับปรุงคุณภาพชีวิต

 

 

แม้การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง dTMS อาจช่วยเสริมการรักษาได้ดีขึ้น แต่การตระหนักรู้เรื่องสุขภาพจิตในระดับสังคมยังเป็นสิ่งสำคัญ การเปิดใจกับการรักษาทางจิตเวชไม่ควรถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดปกติ แต่ควรมองว่าเป็นการดูแลสุขภาพของตนเองในอีกรูปแบบหนึ่ง

 

สำหรับใครที่สนใจสามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาได้ที่เว็บไซต์ของ Bangkok Mental Health Hospital (BMHH): https://bangkokmentalhealthhospital.com 

 

ภาพ: พลอยจันทร์ สุขคง, Shutterstock

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising