×

ทำความรู้จัก 7 ไอคอนิกเฟอร์นิเจอร์จากยุค Mid-Century Modern: สัญลักษณ์แห่งความเรียบง่ายเหนือกาลเวลา

14.09.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • สไตล์การออกแบบนี้เบ่งบานขึ้นในช่วงปี 1933-1965 แต่มาได้รับความนิยมสูงสุดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 
  • คำว่า Mid-Century Modern นี้เพิ่งถูกบัญญัติขึ้นในปี 1984 โดย คารา กรีนเบิร์ก ผู้เขียนหนังสือ Mid-Century Modern: Furniture of the 1950s และจากวันนั้นเป็นต้นมามันก็เติบโตกลายเป็นมากกว่าแค่สไตล์การออกแบบ หากแต่ยังเป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่ส่งอิทธิพลต่อสังคมในวงกว้าง ผ่านความเรียบง่าย ประโยชน์ใช้สอย และความงามที่ไม่มีวันล้าสมัย ​​​​​​​​​​​​​​​​

ถ้าคุณเป็นหนึ่งในคนที่ชื่นชอบการแต่งบ้าน คุณน่าจะเคยผ่านหูผ่านตากับสไตล์ที่เรียกว่า ‘Mid-Century Modern’ กันมาบ้างแล้ว ต้นกำเนิดของสไตล์การตกแต่งที่คนไทยเรียกกันสั้นๆ ว่า ‘มิดเซ็น’ นี้ เกิดขึ้นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาช่วงกลางศตวรรษที่ 20 โดยได้รับอิทธิพลหลักมาจาก Bauhaus Style (เบาเฮาส์) ของเยอรมนีอีกทีหนึ่ง สุนทรียศาสตร์แบบ Mid-Century Modern คือการเน้นเส้นสายที่เรียบง่าย สะอาดตา และการใช้วัสดุที่ผสมผสานระหว่างธรรมชาติกับสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นอย่างลงตัว  

 

ว่ากันว่าสไตล์การออกแบบนี้เบ่งบานขึ้นในช่วงปี 1933-1965 แต่มาได้รับความนิยมสูงสุดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นยุคแห่งความหวังและการมองไปข้างหน้าของชาวโลก เริ่มจากการที่มหาสงครามสิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของฝ่ายพันธมิตร และการที่สหรัฐอเมริกาเริ่มออก ‘สำรวจอวกาศ’ เป็นครั้งแรกนั่นเอง 

 

อันที่จริงคำว่า Mid-Century Modern นี้เพิ่งถูกบัญญัติขึ้นในปี 1984 โดย คารา กรีนเบิร์ก ผู้เขียนหนังสือ Mid-Century Modern: Furniture of the 1950s และจากวันนั้นเป็นต้นมามันก็เติบโตกลายเป็นมากกว่าแค่สไตล์การออกแบบ หากแต่ยังเป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่ส่งอิทธิพลต่อสังคมในวงกว้าง ผ่านความเรียบง่าย ประโยชน์ใช้สอย และความงามที่ไม่มีวันล้าสมัย ​​​​​​​​​​​​​​​​ 

 

แล้วเฟอร์นิเจอร์ชิ้นไหนบ้างล่ะที่ถือเป็นตัวแทนสำคัญของยุคนี้ เรามาดูตัวอย่าง 7 ชิ้นงานระดับไอคอนที่สะท้อนถึงจิตวิญญาณของ Mid-Century Modern กัน

 

1. เก้าอี้วาสซิลี (Wassily Chair) โดย มาร์เซล บรูเออร์ (1925) 

 

 

ออกแบบขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1925 (หลายปีก่อนที่ Mid-Century Modern Movement จะเริ่มต้นขึ้น) เก้าอี้วาสซิลีนับเป็นหนึ่งในผลงานที่ล้ำสมัยที่สุดแห่งยุค โดยนักออกแบบ มาร์เซล บรูเออร์ นำแรงบันดาลใจมาจากโครงจักรยานโลหะในสมัยที่เขาเป็นนักศึกษาฝึกงานที่เบาเฮาส์ ส่วนที่มาของชื่อ Wassily Chair นั้นเกิดขี้นภายหลัง (เมื่อปี 1960 ที่มีการผลิตใหม่) โดยบรูเออร์ตั้งให้เป็นเกียรติแก่ Wassily Kandinsky จิตรกรชื่อดังที่เป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนของเขา​​​​​​​​​​​​​นั่นเอง

 


 

2. โคมไฟอาร์ติโชค (Artichoke Lamp) โดย พอล เฮนนิงเซน (1958) 

 

 

โคมไฟอาร์ติโชคเป็นตัวอย่างชั้นเลิศของการผสมผสานความงามและประโยชน์ใช้สอย พอล เฮนนิงเซน นักออกแบบชาวเดนมาร์ก นำแรงบันดาลใจมาจากรูปทรงของดอกอาร์ติโชค โดยออกแบบให้แผ่นโลหะ 72 ชิ้นซ้อนทับกันคล้ายกลีบดอกไม้ นอกจากความสวยงามแล้วโคมไฟนี้ยังถูกออกแบบมาเพื่อลดแสงจ้าและกระจายแสงอย่างนุ่มนวล ทำให้เป็นทั้งงานศิลปะและของใช้ที่มีประโยชน์ในเวลาเดียวกัน ถึงวันนี้แม้เวลาจะผ่านมากว่า 60 ปี โคมไฟอาร์ติโชคก็ยังเป็นที่นิยมอยู่เสมอในวงการตกแต่งภายใน สะท้อนให้เห็นถึงความไร้กาลเวลาของ Mid-Century Modern Design ได้เป็นอย่างดี

 


 

3. โต๊ะกลางโนกุจิ (Noguchi Table) โดย อิซามุ โนกุจิ (1948) 

 

 

บางครั้งความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นเพราะคุณ ‘รู้อะไร’ แต่เพราะคุณ ‘รู้จักใคร’ มีเรื่องเล่าว่า จอร์จ เนลสัน นักออกแบบชื่อดัง เห็นโต๊ะของโนกุจิครั้งแรกขณะที่กำลังเขียนบทความเรื่อง ‘วิธีทำโต๊ะ’ เนลสันหลงใหลโต๊ะชิ้นนี้มากจนถึงขั้นวิงวอนให้บริษัท Herman Miller ผลิตมันออกมา และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของตำนานเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนี้ โต๊ะโนกุจิโดดเด่นด้วยฐานไม้ทรงอิสระที่ดูเหมือนงานประติมากรรม ทำหน้าที่รองรับหน้าโต๊ะกระจกรูปไข่ได้อย่างสมดุล น่าสนใจที่แม้ว่า อิซามุ โนกุจิ จะทำงานออกแบบมายาวนาน 60 ปี แต่เขากลับมองว่าโต๊ะนี้เป็นผลงานเพียงชิ้นเดียวที่เขาประสบความสำเร็จ มันไม่ได้เป็นแค่เฟอร์นิเจอร์ที่สวยงาม แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตก สะท้อนถึงรากเหง้าของโนกุจิที่มีพ่อเป็นชาวญี่ปุ่นและแม่เป็นชาวอเมริกันนั่นเอง 

 


 

4. โซฟาฟลอเรนซ์ นอลล์ (Florence Knoll Sofa) โดย ฟลอเรนซ์ นอลล์ (1954) 

 

 

เชื่อเถอะว่าโซฟาแนว ‘มิดเซ็น’ ที่เราเห็นในบ้านของคนยุคมิลเลนเนียล คืองานที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากโซฟาของ ฟลอเรนซ์ นอลล์ ทั้งหมด นอลล์คือหนึ่งในนักออกแบบหญิงที่มีจำนวนน้อยมากในยุคกลางศตวรรษ เธอโด่งดังขึ้นจากปรัชญาการออกแบบแนวเหตุผลนิยม ตรงไปตรงมา และงดงามเป็นอมตะ ซึ่งโซฟาฟลอเรนซ์ นอลล์ พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นจริง เพราะแม้เวลาจะผ่านไปกว่า 60 ปี โซฟานี้ยังคงเป็นที่นิยมในวงการออกแบบ โดดเด่นด้วยรูปทรงเรขาคณิตที่สะอาดสะอ้าน ผสานกับความสะดวกสบายในการใช้งาน สามารถประยุกต์เข้ากับการตกแต่งภายในได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน สำนักงาน หรือพื้นที่สาธารณะ

 




5. เลานจ์แชร์และออตโตมัน (Eames Lounge Chair & Ottoman) โดย ชาร์ลส์ และ เรย์ อีมส์ (1956)

 

 

ดีไซเนอร์ไม่จำเป็นต้องรังสรรค์ผลงานทุกชิ้นขึ้นจากศูนย์เสมอไป และบางครั้งผลงานชิ้นเอกก็เกิดจากการนำดีไซน์เก่าๆ มาปัดฝุ่นใหม่นี่แหละ หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดที่สุดของเรื่องนี้เห็นจะหนีไม่พ้น ‘เลานจ์แชร์’ ตัวดังของ Charles and Ray Eames ที่สองสามีภรรยา ชาร์ลส และ เรย์ อีมส์ บอกว่า พวกเขานำแรงบันดาลใจจากเก้าอี้คลับในยุคศตวรรษที่ 19 และถุงมือเบสบอลเก่าๆ มาผสมรวมกัน ที่ไม่น่าเชื่อกว่านั้นคือผลงานนี้ของทั้งคู่ยังคงได้รับการผลิตและจำหน่ายอย่างต่อเนื่องยาวนานมาตั้งแต่ปี 1956 จวบจนปัจจุบัน

 


 

6. โคมไฟอาร์โค (Arco Lamp) โดย ฟลอส (1962)

 

 

เชื่อว่าทุกคนต้องเคยเห็นโคมไฟ Arco นี้มาก่อนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ฟลอสเปิดตัวผลงานนี้ครั้งแรกในปี 1962 และมันเคยปรากฏตัวในภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น Diamonds Are Forever และ The Italian Job ซึ่งทำให้มันกลายเป็นไอคอนทางวัฒนธรรมไปโดยปริยาย โคมไฟนี้ไม่เพียงแต่มีรูปทรงสวยงาม แต่ยังสะท้อนถึงความชาญฉลาดและใช้งานได้จริง พี่น้องกัสติลโยนี (Castiglioni) ผู้ออกแบบใส่ใจในทุกรายละเอียด เช่น องศาโค้งของแขนโคมไฟทำให้มันให้แสงสว่างได้จากระยะไกลโดยไม่ต้องมีสายไฟรุงรัง เหมาะมากสำหรับการให้แสงสว่างเหนือโต๊ะกลางหรือพื้นที่นั่งเล่น นอกจากนี้ตัวฐานที่ทำจากแท่งหินอ่อนมีรูยังเอื้อให้โคมไฟนี้เคลื่อนย้ายได้อย่างสะดวก 

 


 

7. ชุดโต๊ะอาหารทิวลิป (Tulip) โดย เอโร ซาริเนน (1957) 

 

 

เอโร ซาริเนน นักออกแบบชาวอเมริกันเชื้อสายฟินแลนด์ สร้างสรรค์โต๊ะและเก้าอี้ Tulip ขึ้นเพื่อหลีกหนีจากความเละเทะภายใต้โต๊ะเก้าอี้สไตล์ดั้งเดิม ผลงานชุดนี้ของซาริเนนโดดเด่นด้วยการใช้ผิวไฟเบอร์กลาสและโครงอะลูมิเนียม เพื่อส่งผ่านรูปทรงที่เรียบง่ายและเป็นเอกภาพ ซาริเนนออกแบบโต๊ะเก้าอี้ Tulip นี้ให้กับ Knoll ในปี 1957 และมันก็ดังเป็นพลุแตกจากการปรากฏตัวในภาพยนตร์ 2001: A Space Odyssey ของผู้กำกับ สแตนลีย์ คูบริก

 

ภาพ: Courtesy of Brands

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising