×

แนวคิด 4 ข้อสำหรับการตกแต่งบ้านและสร้างสิ่งแวดล้อมสีเขียว

17.02.2024
  • LOADING...
การตกแต่งบ้าน

HIGHLIGHTS

  • หัวใจข้อแรกของการทำบ้านให้กรีนขึ้นนั่นคือ คุณต้องลดสิ่งที่จะกลายเป็นขยะหรือส่งผลกระทบระยะยาวต่อโลกให้ได้มากที่สุด ฉะนั้นคำว่า ‘คุณภาพ’ จะต้องมาก่อน ‘ปริมาณ’ เสมอ 
  • การช้อปงานดีไซน์ท้องถิ่น นอกจากจะช่วยลด Carbon Footprint (จากการขนส่งระยะไกล) ได้แล้ว ยังถือเป็นการสนับสนุนช่างฝีมือในชุมชนใกล้เราไปในตัว

แต่งบ้านอย่างไรให้ดีต่อโลกและดีต่อเรา? ทุกวันนี้การใช้ชีวิตในบ้านให้ ‘กรีนขึ้น’ คงไม่ใช่แค่เทรนด์เท่ๆ อีกต่อไป เพราะเราต่างตระหนักดีแล้วว่าการทำชีวิตให้ ‘ไม่เป็นพิษ’ ต่อโลกรอบตัวนั้นคือ ‘ทางเลือก’ ที่เราทุกคนทำได้ เริ่มต้นจากการเปลี่ยนวิถีความเคยชินเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การทิ้งขยะ การเปิดปิดน้ำ ไปจนถึงการพิจารณาตัวเลือกวัสดุที่ใช้การปรับปรุงหรือตกแต่งบ้าน 

 

เชื่อเถอะว่าเราทุกคนสามารถทำบ้านให้สวยงาม มีสไตล์ ไปพร้อมๆ กับการทะนุถนอมโลกใบเดียวใบนี้ไว้ให้คนรุ่นต่อไป

 

ในบทความนี้เราชวนคุณสำรวจ 4 แนวคิดการทำบ้านให้เป็นมิตรกับโลกยิ่งขึ้น เพื่อที่คุณจะสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการอัปเกรดบ้านเก่าหรือแต่งบ้านใหม่ให้ถูกใจตัวเอง

 

  1. แต่งบ้านวิถีมินิมัล คิดให้เยอะ ซื้อให้น้อย 

 

วิถีมินิมัล (Minimalism) ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่สไตล์หรือเทรนด์การตกแต่งแบบ Japandi หรือ Nordic อะไรพวกนั้น แต่คือกลยุทธ์การออกแบบที่ขอให้คุณคิดก่อนทำ ก่อนซื้อ และก่อนสร้างทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมาใหม่ เพราะหัวใจข้อแรกของการทำบ้านให้กรีนขึ้นนั่นคือ คุณต้องลดสิ่งที่จะกลายเป็นขยะหรือส่งผลกระทบระยะยาวต่อโลกให้ได้มากที่สุด 

 

ฉะนั้นคำว่า ‘คุณภาพ’ จะต้องมาก่อน ‘ปริมาณ’ เสมอ ในทุกครั้งที่จะเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์หรืออุปกรณ์เครื่องใช้ชิ้นใหม่ ขอให้คุณพิจารณาถึงอรรถประโยชน์อย่างรอบด้าน คุยกับสมาชิกในครอบครัวว่าใครคิดเห็นอย่างไร เพื่อให้มั่นใจว่าของใหม่ที่ซื้อมานั้นจะมีที่ทางในบ้านของคุณไปได้อีกนานแสนนาน 

 

  1. เลือกของกรีนๆ เพราะคุณเลือกได้เสมอ

 

ว่าด้วยการเลือกแอ็กเซสซอรีกรีนๆ เข้าบ้าน ทุกวันนี้มีข้าวของเครื่องใช้มากมายในท้องตลาดที่หน้าตาดี ราคาดี แต่เจาะไส้ในแล้วไม่ได้ดีต่อใครทั้งสิ้น ดังนั้นสำหรับคนที่กำลังแต่งบ้านและมองหา Finishing Touch เพิ่มความรื่นรมย์ ไม่ว่าจะเป็น ผ้าม่าน ปลอกหมอน ผ้าคลุม ตู้ ตั่ง ม้านั่ง หรือของตกแต่งที่เป็นตัวคุณ ลองมองหาตัวเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมดูบ้าง ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น

 

  • ใช้ผ้าออร์แกนิกและวัสดุจากธรรมชาติในงาน Soft Furnishing เช่น ผ้าฝ้าย ผ้ากัญชง และเส้นใยธรรมชาติต่างๆ ด้วยว่าในกระบวนการผลิตสิ่งทอเหล่านี้จะเกิดสารพิษน้อยกว่าและไม่ปนเปื้อนเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อม
  • เลือกงานคราฟต์ท้องถิ่นและงานทำมือ ไม่ว่าจะเป็นหม้อชามรามไห ตะกร้าหวาย ถาดไม้ไผ่ หรืองานไม้แกะ เป็นต้น การช้อปงานดีไซน์ท้องถิ่นนอกจากจะช่วยลด Carbon Footprint (จากการขนส่งระยะไกล) ได้แล้ว ยังถือเป็นการสนับสนุนช่างฝีมือในชุมชนใกล้เราไปในตัว แม้ราคาอาจแพงกว่าบ้าง แต่รับรองว่าเป็นมิตรกับโลกกว่าการกดซื้อของจากโรงงานจีนหลายสิบเท่า
  • เลือกเฟอร์นิเจอร์วินเทจ ของใช้มือสอง และของจากวัสดุรีไซเคิล ลองออกไปสำรวจร้านขายของเก่า ร้านเฟอร์นิเจอร์มือสอง และร้านขายของแนวอีโคดูบ้าง คุณอาจได้พบกับของแต่งบ้านชิ้นโปรดที่ไม่เหมือนใคร เช่น โคมไฟ แจกัน เชิงเทียน หรืองานแก้วรีไซเคิลสวยๆ เป็นต้น

 

  1. ใช้อย่างรับผิดชอบ ปรับวงจรทุกสิ่งในบ้าน 

 

นอกเหนือจากการเลือกซื้อและเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว การออกแบบวิถีชีวิตในบ้านแบบยั่งยืนย่อมต้องอาศัยการเปลี่ยนทัศนคติหลายๆ ด้าน มันเป็นเรื่องของวิธีคิดแบบองค์รวม ทั้งในด้านการสร้างสรรค์และการบริโภคที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยที่เริ่มได้ง่ายๆ อย่างก็เช่น

 

  • DIY หรือ HACK ให้เป็นเรื่องปกติ: ออกกำลังความคิดสร้างสรรค์ของคุณให้บ่อยขึ้น ลองประดิษฐ์ของตกแต่งบ้านด้วยตัวคุณเองโดยใช้วัสดุรีไซเคิลหรืออัปไซเคิล หาวิธี Repurpose ของเก่าในบ้านให้มีประโยชน์ใช้สอยแบบใหม่ วิธีนี้ไม่เพียงช่วยลดขยะในชีวิต แต่ยังเพิ่มเสน่ห์และเอกลักษณ์พิเศษให้กับบ้านของคุณด้วย
  • ซ่อมแซม-ยืดอายุของใช้: เมื่อข้าวของเครื่องใช้ในบ้านเริ่มส่งสัญญาณว่าจะพังหรือหมดอายุขัย แทนที่คุณจะรีบเก็บทิ้งแล้วถอยตัวใหม่ ให้เรียนรู้วิธีการซ่อมแซมและบำรุงรักษาเพื่อยืดอายุการใช้งานของสิ่งเหล่านั้นก่อน ถ้าทำเองไม่ไหว ก็ลองปรึกษาหารือกับช่างที่รับซ่อมสิ่งของพวกนั้นดูก่อน ปัจจุบันมีร้านค้าที่ให้บริการซ่อมแซมของใช้ในบ้านกันมากขึ้น ทั้งเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ เป็นกระแสการบริโภคแบบใหม่ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างชัดเจน ลองดูอีเวนต์ของ Repair Café จะนึกภาพออก
  • บริจาคและทิ้งอย่างถูกวิธี: อย่างไรก็ดี เมื่อถึงเวลาที่คุณต้องลาขาดกับเฟอร์นิเจอร์ตัวเก่าหรือของใช้ที่หมดประโยชน์กับคุณจริงๆ ขอให้เลือกบริจาคสิ่งเหล่านั้นกับองค์กรการกุศลหรือศูนย์รีไซเคิลที่จัดการขยะอย่างเหมาะสม

 

  1. รีโนเวต & อัปเกรดบ้าน เปลี่ยนใหม่ให้ยั่งยืนกว่า

 

โครงการปรับปรุงบ้านคือโอกาสอันดีในการบูรณาการความยั่งยืนให้เข้ากับที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน โดยคุณสามารถเติมรายละเอียดหลายๆ อย่าง เพื่อทำบ้านให้เป็น ‘สมาร์ทโฮม’ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมขึ้นอีก ตัวอย่างเช่น

 

  • หลังคาโซลาร์: ลองคำนวณค่าไฟและการใช้ไฟฟ้าในบ้านของคุณอีกครั้งว่า ‘คุ้มไหม’ ที่จะติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน หากประเมินดีๆ แล้วหลายครอบครัวก็ประหยัดค่าไฟได้ในระยะยาว ที่สำคัญบ้านคุณจะเป็นบ้านที่ใช้พลังงานสะอาดยิ่งขึ้นทันที
  • อุปกรณ์ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน: แม้ของบางอย่างยังไม่หมดอายุขัย แต่การเปลี่ยนเพื่อโลกที่ดีกว่าบางครั้งก็เป็นทางเลือกที่ฉลาดกว่า เมื่อคุณอัปเกรดเครื่องใช้ไฟฟ้าและระบบไฟภายในบ้านให้เป็นรุ่นประหยัดพลังงาน คุณจะลดการใช้พลังงานในบ้านลงได้อย่างเหลือเชื่อ
  • อุปกรณ์ประหยัดน้ำ: สมัยนี้มีสุขภัณฑ์ ก๊อกน้ำ สายชำระ และหัวฝักบัวรุ่นใหม่ๆ ที่ออกแบบมาสวยงาม พลังน้ำแรง แต่กลับประหยัดการใช้น้ำลงได้มหาศาล ถือเป็นทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการลด-ละ-เลิกการใช้น้ำแบบทิ้งขว้าง แถมช่วยลดภาระการบำบัดน้ำเสียในชุมชนไปในตัว

 

อ่านมาถึงบรรทัดนี้ คุณคงเห็นแล้วว่าการออกแบบพื้นที่ชีวิตในบ้านให้เป็นมิตรกับโลกนั้นไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไป ซึ่งถ้าคุณพร้อมจะเริ่มก้าวแรกแล้วก็ลุยเลย ทางเลือกที่จะ ‘รับผิดชอบ’ นั้นเป็นของเราทุกคนเสมอ 

 

ขอให้สายกรีนทุกท่านสนุกกับการแต่งบ้านค่ะ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X