×

คาดปี 67 ธุรกิจประกันชีวิตเติบโต 2-4% หลังคนไทยกังวลปัญหาด้านสุขภาพเพิ่ม ส่วนปี 66 เบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 6.3 แสนล้านบาท

21.02.2024
  • LOADING...

สาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า ในปี 2567 อัตราการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตอยู่ที่ในช่วง 2-4% หรือมีเบี้ยรับรวมอยู่ที่ราว 6.4-6.5 แสนล้านบาท จากปี 2566 ที่มีเบี้ยรับรวมอยู่ที่ 6.3 แสนล้านบาท โดยการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตนั้นสอดคล้องกับอัตราการขยายตัวของ GDP ปี 2567 ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้คาดการณ์ไว้ที่ 2.2-3.2% 

 

ปัจจัยสนับสนุนมาจากกระแสคนรักสุขภาพมากขึ้น หลังจากที่ภาคประชาชนตระหนักถึงผลกระทบของการเกิดโรคอุบัติใหม่ เช่น โควิดสายพันธุ์ใหม่ และมลภาวะจากฝุ่น PM2.5 มากขึ้น รวมถึงแนวโน้มค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ประชาชนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพและมีการทำประกันสุขภาพมากขึ้น รวมถึงการที่ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aged Society) นโยบายสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีของภาคธุรกิจ เช่น AI และ Data Analytics 

 

ปี 2566 ธุรกิจประกันชีวิตโต 3.61%

 

สำหรับภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตของปี 2566 ระหว่างเดือนมกราคม-ธันวาคม มีเบี้ยประกันภัยรับรวม (Total Premium) อยู่ที่ 633,445 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 3.61% เมื่อเทียบกับปี 2565 แบ่งเป็น

 

  1. เบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ (New Business Premium) 178,470 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 5.06%
  2. เบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป (Renewal Premium) 454,975 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 3.06% 

 

สำหรับเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ ประกอบด้วย

 

  1. เบี้ยประกันภัยรับปีแรก (First Year Premium) 112,377 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 6.83%
  2. เบี้ยประกันภัยจ่ายครั้งเดียว (Single Premium) 66,093 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 2.18%

 

‘ประกันสุขภาพ’ ยอดนิยม

 

สำหรับผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ได้รับความนิยมและมีอัตราการเติบโตมากขึ้นในปี 2566 คือ สัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพและคุ้มครองโรคร้ายแรง ที่มีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 109,786 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 5.93 คิดเป็นสัดส่วน 17.33 หลักๆ มาจากการที่ประชาชนใส่ใจดูแลสุขภาพและเริ่มตระหนักถึงความสำคัญในการทำประกันสุขภาพมากขึ้น เพื่อบริหารความเสี่ยงและรับมือกับค่ารักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น (Medical Inflation) 

 

ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Pension) ก็ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก อันเนื่องมาจากการที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว รวมถึงมีการเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนทางการเงินช่วงวัยเกษียณกันมากขึ้น เพราะนอกจากจะเป็นรูปแบบการออมประเภทหนึ่งที่มีความเสี่ยงต่ำแล้ว ยังได้รับความคุ้มครองชีวิตและสิทธิการลดหย่อนภาษีที่ทางภาครัฐให้การสนับสนุนมาตรการลดหย่อนภาษี จึงส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Pension) ในปี 2566 มีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 17,986 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 14.26 หรือคิดเป็นสัดส่วน 2.84 

 

จับตาความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก ดอกเบี้ย และเงินเฟ้อ

 

สำหรับความท้าทายที่ธุรกิจประกันชีวิตยังคงต้องติดตามคือ แนวโน้มและความผันผวนของสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอัตราดอกเบี้ย สถานการณ์เงินเฟ้อ และตลาดหุ้นไทย ที่ส่งผลกระทบต่อการออม การลงทุน และการใช้จ่ายของภาคประชาชน รวมถึงต้องติดตามสถานการณ์สงครามการค้าหรือความขัดแย้งระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการเกิดโรคอุบัติใหม่ เพราะส่งผลต่อความต้องการและความเชื่อมั่นของภาคประชาชนที่มีต่อธุรกิจประกันชีวิตโดยตรง 

 

“เศรษฐกิจและหนี้ครัวเรือนมีผลกระทบต่อกำลังซื้อโดยตรงของประชาชน ด้วยเพราะประกันชีวิตไม่ได้เป็นปัจจัยหลัก จึงขึ้นอยู่กับเบี้ยประกัน ความคุ้มครองที่จะมีผลต่อการตัดสินใจโดยรวม ส่วนอัตราการต่ออายุของลูกค้าเก่ายังคงเป็นปกติ ขณะเดียวกันในด้านของการป่วยเล็กน้อยทั่วไป หรือ Simple Diseases ยังคงมีสัดส่วนที่มากอยู่เช่นกัน” สาระกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X