สมาคมประกันชีวิตไทยเผยภาพรวมธุรกิจครึ่งปีแรก เดือนมกราคม-มิถุนายน กวาดเบี้ยประกัน 3 แสนล้านบาท โต 3.78% คาดครึ่งปีหลังโตต่อเนื่อง โดยยังคงเป้าเบี้ยรับรวมสิ้นปีนี้โต 0-2% ที่ 6.12-6.23 แสนล้านบาท
สาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 (เดือนมกราคม-มิถุนายน) มีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 3 แสนล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 3.78% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 โดยจำแนกเป็นเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ 8.68 หมื่นล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 8.93% และเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป 2.13 แสนล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 1.82% โดยมีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ 82%
ทั้งนี้ เมื่อจำแนกเบี้ยประกันภัยรับรวมแยกตามช่องทางการจำหน่ายพบว่าการขายผ่านช่องทางตัวแทนประกันชีวิต (Agency) คิดเป็นสัดส่วน 50.83% การขายผ่านช่องทางธนาคาร (Bancassurance) สัดส่วน 39.16% การขายผ่านช่องทางนายหน้าประกันชีวิต (Broker) สัดส่วน 5.55% การขายผ่านช่องทางการตลาดแบบตรง (Direct Marketing) สัดส่วน 2.29% การขายผ่านช่องทางดิจิทัล (Digital) มีสัดส่วน 0.16% และการขายผ่านช่องทางอื่น (Others) เช่น การขายผ่านการออกบูธ การขายผ่านร้านค้าสะดวกซื้อ เป็นต้น สัดส่วน 2.01%
สำหรับผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ได้รับความนิยมในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 และมีอัตราการเติบโตมากขึ้น ได้แก่ สัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพและคุ้มครองโรคร้ายแรง ที่เติบโตเพิ่มขึ้น 6.34% ซึ่งมาจากการที่ประชาชนเริ่มให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น อันเนื่องมาจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี รวมถึงแบบประกันบำนาญ ที่เติบโตเพิ่มขึ้น 12.84% ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากสังคมสูงวัยและมาจากค่านิยมของการแต่งงานช้า มีบุตรน้อยลง ทำให้คนทั่วไปเริ่มตระหนักถึงการออมเงินไว้สำหรับดูแลตัวเองในช่วงหลังเกษียณมากขึ้น
ขณะที่ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุนเติบโตลดลง 13.24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมาจากความไม่แน่นอนของทิศทางเศรษฐกิจโลกและภายในประเทศ รวมถึงความผันผวนของอัตราผลตอบแทนและภาวะอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถรับความผันผวนจากการลงทุน จึงทำให้ชะลอการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุนออกไปก่อน
สำหรับทิศทางภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 มีปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้ภาคธุรกิจประกันชีวิตมีอัตราการเติบโตเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี โดยคาดการณ์ว่าภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตปี 2566 จะมีเบี้ยประกันภัยรับรวมประมาณ 6.12-6.23 แสนล้านบาท เติบโตอยู่ในช่วงระหว่าง 0-2% ด้วยอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ประมาณ 81-82%
โดยมีปัจจัยบวกที่จะสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจคือประชาชนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันชีวิตและประกันภัยสุขภาพหรือโรคร้ายแรงมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะมาจากแนวโน้มค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้น ยังมาจากความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ เช่น โควิด และมาจากภาคธุรกิจที่ออกนโยบายและมีการบังคับใช้แบบมาตรฐานใหม่ของสัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพ ที่มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้ประชาชนสามารถเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์และเลือกความคุ้มครองได้ตามที่ต้องการได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ประชาชนก็เริ่มตระหนักในการทำประกันชีวิตแบบบำนาญมากขึ้น จากการที่ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัย รวมถึงภาครัฐให้การสนับสนุนเรื่องมาตรการลดหย่อนภาษีของประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันบำนาญ นอกจากนี้ภาคธุรกิจได้มีการส่งเสริมให้บริษัทประกันชีวิตมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและขีดความสามารถทางการแข่งขันให้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจประกันชีวิตยังคงต้องติดตามปัจจัยท้าทายต่างๆ อย่างใกล้ชิด อาทิ ความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลต่อระดับอัตราดอกเบี้ย (Yield Curve) สงครามการค้าและความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ หรืออำนาจซื้อของประชาชน ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมือง ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่สามารถสร้างผลกระทบและมีผลต่อเสถียรภาพของระบบการประกันชีวิตและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค