×

เกาะติดสถานการณ์กลุ่มประชาชนปลดแอกชุมนุมใหญ่ 16 สิงหาคม

โดย THE STANDARD TEAM
16.08.2020
  • LOADING...

23.00 แกนนำ #ประชาชนปลดแอก เดินทางออกจาก สน.สำราญราษฎร์ หลังตำรวจไม่สามารถแสดงหมายจับได้

 

 

23.00 น. แกนนำ #ประชาชนปลดแอก ทั้ง 31 คนที่มีชื่อถูกหมายเรียก เดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมุ่งหน้าไปที่ สน.สำราญราษฎร์ เพื่อทวงถามความชัดเจนว่ามีใครถูกหมายจับแล้วบ้าง หลังมีรายงานข่าวว่าในจำนวนนี้มี 15 คนมีหมายจับแล้ว
 
 
ต่อมาเวลาประมาณ 23.35 น. แกนนำประชาชนปลดแอกทั้ง 31 คนเดินทางออกจาก สน.สำราญราษฎร์ หลังเข้ารายงานตัวเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแสดงหมายจับ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถแสดงหมายจับโดยระบุรูปพรรณสัณฐานได้ ทั้งหมดจึงเดินออกจาก สน.สำราญราษฎร์ กลับพื้นที่ชุมนุม

 

 


 

ชมคลิป: แกนนำนักศึกษาเดินเท้าเข้ารับฟังข้อกล่าวหาที่ สน.สำราญราษฎร์

 

 


 

23.00 แกนนำ #ประชาชนปลดแอก เดินขบวนจากที่ชุมนุม มุ่งหน้า สน.สำราญราษฎร์ ถามความชัดเจน ใครถูกหมายจับบ้าง

 

 

23.00 น. แกนนำ #ประชาชนปลดแอก ทั้ง 31 คนที่มีชื่อถูกหมายเรียก เดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมุ่งหน้าไปที่ สน.สำราญราษฎร์ เพื่อทวงถามความชัดเจนว่ามีใครถูกหมายจับแล้วบ้าง หลังมีรายงานข่าวว่าในจำนวนนี้มี 15 คนมีหมายจับแล้ว

 

 


 

ชมคลิป: คณะประชาชนปลดแอกยุติการชุมนุมแล้ว ขีดเส้นกันยายนรัฐต้องตอบสนองข้อเรียกร้อง

 

 


 

22.40 ประชาชนปลดแอกประกาศยุติการชุมนุม ขีดเส้นเดือนกันยายนกลับมาอีกครั้งหากรัฐไม่ตอบสนอง

 

 

เวลา 22.40 น. คณะประชาชนปลดแอกประกาศยุติการชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน โดยแกนนำ #ประชาชนปลดแอก ประกาศให้ 31 คนที่ถูกหมายเรียกขึ้นไปบนเวที พร้อมให้มวลชนที่อยู่ในที่ชุมนุมร่วมกันเปิดแฟลชโทรศัพท์มือถือเชิงสัญลักษณ์ และขีดเส้นให้เวลาตำรวจ 5 นาทีขึ้นมาชี้แจงว่าใครถูกหมายจับและถูกหมายเรียกบ้าง และถ้าหากมีหมายจับขอให้ถือมาด้วย
 
 
“ตำรวจต้องรับใช้ประชาชน” แกนนำและมวลชนส่งเสียงทั่วถนนราชดำเนิน นอกจากนี้แกนนำประชาชนปลดแอกยังได้อ่านแถลงการณ์ ใจความตอนหนึ่งว่า
 
 
การที่เราทุกคนอยู่ตรงนี้ต่างต้องเสียสละอะไรมากมาย แต่เทียบไม่ได้กับสิ่งที่ประชาชนคนไทยต้องเสียไปหากยังอยู่ภายใต้ความอยุติธรรมต่อไป และหากจะมีใครถูกนิยามว่ารักชาติ คนเหล่านั้นควรเป็นเรา พร้อมย้ำ 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน และ 1 ความฝัน ประกอบด้วย
 
 
1. รัฐบาลต้อง ‘หยุดคุกคามประชาชน’ ที่ออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตย
2. รัฐบาลต้อง ‘ร่างรัฐธรรมนูญใหม่’ ที่มาจากเจตนารมณ์ของประชาชน เพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนอย่างแท้จริง
3. รัฐบาลต้อง ‘ยุบสภา’ เพื่อเป็นการเปิดทางให้ประชาชนสามารถแสดงเจตจำนงในการเลือกผู้แทนของตนได้อีกครั้ง
 
 
2 จุดยืน ได้แก่
1. ต้องไม่มีการทำรัฐประหาร
2. ต้องไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ
 
 
1 ความฝัน คือการมีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง
 
 
“ผมในฐานะตัวแทนของคณะประชาชนปลดแอก ขอบคุณทุกคนที่มาร่วมทวงคืนประชาธิปไตย อนาคตที่ดีของประเทศนี้ให้กลับมาอยู่ในมือของพวกเรา ถ้าในเดือนกันยายนไม่มีการตอบสนองใดๆ จากรัฐบาลที่เป็นผลบวกกับข้อเรียกของเราทั้ง 3 ข้อ เราจะยกระดับการชุมนุมต่อไป และจะกลับมาพบกันอีกที่นี่” ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี แกนนำคณะประชาชนปลดแอกกล่าวปิดท้าย
 
 
สำหรับข้อเรียกร้อง 10 ข้อที่มีแกนนำนักศึกษาประกาศเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมนั้น ทัตเทพ ยืนยันกับ THE STANDARD ว่าเป็นข้อเรียกร้องที่แยกส่วนกัน

 


 

22.05 ทนายอานนท์ประกาศสู้เพื่อฝัน มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง

 

 

22.05 น. อานนท์ นำภา ทนายความและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ขึ้นปราศรัยในการชุมนุมของคณะประชาชนปลดแอก โดยกล่าวว่าพวกเราผ่านการต่อสู้ไม่นานมาก ขบวนการนักศึกษาได้ก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว มีนักศึกษาหลายคนถูกจับกุมภายหลังจากที่ออกมาต่อสู้ อานนท์กล่าวถึงเพนกวินที่มีความกล้าหาญ ใช้ชีวิตของเขาดันเพดานการเรียกร้องให้พวกเรา เวลานี้ทุกคนกำลังถูกใช้อำนาจมืดในการกดดันให้มีการออกหมายจับและหมายค้นเพื่อดำเนินการกับเรา โดยขอให้เลือกข้างว่าจะอยู่ข้างประชาธิปไตยหรือเผด็จการ ขอให้ระลึกถึงผู้พิพากษาที่ชื่อ คณากร เพียรชนะ เขาคือผู้พิพากษาที่ยืนอยู่ข้างประชาชน ใช้ชีวิตยืนยันว่าต่อให้สูงขนาดไหนก็สั่งเขาไม่ได้
 
 
อานนท์กล่าวว่า ณ นาทีที่ผมพูดอยู่นี้ มีพรรคการเมืองที่พร้อมลงชื่อให้มีการแก้รัฐธรรมนูญใหม่ ขอเสียงปรบมือให้พรรคการเมืองเหล่านั้น แต่อย่าเพิ่งดีใจ เพราะ ส.ว. ยังไม่น่าเชื่อใจ และไม่มีสิทธิ์มาพูด ต้องเลือก สสร. หรือสภาร่างรัฐธรรมนูญไทยมาแก้เท่านั้น โดยตัวแทน สสร. ต้องมาจากกกลุ่มหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนิสิต นักเรียน นักศึกษา ขอให้ทุกคนปรบมือให้พรรคการเมืองที่ไม่ยอมคุกเข่าให้เผด็จการ ลุกขึ้นยืนเคียงข้างประชาชน และประชาชนจะสนับสนุนพรรคการเมืองที่ยืนขึ้นมา
 
 
อานนท์กล่าวว่า ข้อเรียกร้องเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมได้ถูกประกาศและขานรับจากประชาชนทั่วประเทศแล้ว น้องๆ หลายคนที่ประกาศถูกไล่จับถึงหอพัก แต่พวกเขาไม่เสียใจที่เป็นหินก้อนแรกในเรื่องนี้ พวกเราต้องช่วยกันปกป้องพวกเขา ถ้าหากเป็นอะไร พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพวกจะไม่มีที่ยืนในแผ่นดินนี้
 
 
“ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่ให้อยู่คู่สังคมไทย อยู่เหนือการเมือง เขาขอให้พวกเราหยุดฝัน ผมขอประกาศว่าพวกเราจะฝันต่ออย่างแน่นอน และจะเผยแพร่ความฝันนี้ไปทั่วประเทศเพื่อให้มาร่วมฝันกับพวกเรา ความฝันที่อยากเห็นสถาบันกษัตริย์อยู่คู่สังคมไทย อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ อยู่เหนือการเมือง เราจึงเรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์มาร่วมฝันกับเรา เพื่อให้เราได้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง”

 


 

20.55 The Bottom Blues ขึ้นแสดงบนเวทีชุมนุม #ประชาชนปลดแอก

 

 

20.55 น. วงดนตรี The Bottom Blues ทำเซอร์ไพรส์ผู้เข้าร่วมชุมนุมด้วยการขึ้นแสดงบนเวทีชุมนุมของคณะประชาชนปลดแอก ซึ่งเริ่มแสดงด้วยเพลง ‘Made in Thailand’ ของวงคาราบาว โดยมีการแปลงเนื้อร้องให้เปลี่ยนไปในเชิงเสียดสีเรื่องการเมือง
 
 
ในช่วงหนึ่งของการแสดง แอมมี่-ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ นักร้องนำของวง ระบุว่า “ถ้าวันหนึ่งผมหายไป ผมอยากให้ทุกคนรู้ไว้ว่าผมดีใจมากที่ได้มาอยู่ตรงนี้ ได้ทำ และได้พูดในสิ่งที่ผมคิดว่ามันถูกต้อง”
 
 
ทั้งนี้ แอมมี่ นักร้องนำวง The Bottom Blues ถือเป็นอีกหนึ่งศิลปินที่ออกมา Call Out เรียกร้องประชาธิปไตย และเรียกร้องให้หยุดการคุกคามประชาชนที่มีความเห็นต่าง

 

 


 

21.30 #ประชาชนปลดแอก แสดงละคร ‘ปีศาจ’ สะท้อนภาพปัญหาในสังคม

 

 

21.30 น. ในการชุมนุมใหญ่ของคณะประชาชนปลดแอกช่วงหนึ่ง มีการแสดงละครเวทีปีศาจ ซึ่งประพันธ์โดย เสนีย์ เสาวพงศ์ โดยผู้แสดงแต่งชุดเลียนแบบอาชีพต่างๆ เช่น ทหาร นักการเมือง ผู้พิพากษา ซึ่งเนื้อหาของละครบางช่วงได้กล่าวถึงเรื่องราวที่กำลังเป็นประเด็นในสังคม ทั้งคดีบอส อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มชูกำลังที่ขับรถชนนายตำรวจจนเสียชีวิต กรณีบ้านพักผู้พิพากษาที่สร้างในพื้นที่ป่าหรือบ้านป่าแหว่ง และสะท้อนถึงการรับสินบนในกรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
 
 
“ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอ หวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที” คำพูดของพระเอกของเรื่องที่พูดก่อนจบการแสดง เปรียบเปรยตัวเองไว้ว่าเป็นปีศาจ
 
 
สำหรับบทละคร ‘ปีศาจ’ ที่ผู้ประพันธ์ได้ให้ความหมายไว้เป็นเรื่องราวการต่อสู้ระหว่างความเชื่อในสังคมเก่าหรือสังคมของผู้ลากมากดี กับสังคมใหม่หรือสังคมเสรีที่เชื่อในสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกันของคนในสังคม ‘ปีศาจ’ จึงถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของความจริงที่หลอกหลอนคนในสังคมเก่า และในขณะเดียวกันปีศาจตนนี้ก็ไม่ได้สยบยอมให้กับความฉ้อฉลเอารัดเอาเปรียบที่มีอยู่ในสังคมใหม่เช่นกัน
 
 
 
 
 
 
ภาพ: ศักดิภัท ประพันธ์วรคุณ

 


 

ชมคลิป: อีสานสิบ่ทน ใช้ลีลาและอารมณ์ขันวิจารณ์รัฐบาลกลางราชดำเนิน

 

 


 

20.00 แฮชแท็ก #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 หลังมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นกว่า 3 ล้านครั้ง

 

 

เมื่อเวลา 20.00 น. นอกเหนือจากการชุมนุมครั้งใหญ่ของกลุ่มประชาชน ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บรรยากาศบนสื่อโซเชียลอย่าง Twitter ก็มีผู้ใช้งานจำนวนมากร่วมบอกเล่าและพูดคุยถึงความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการชุมนุมตลอดช่วงเย็นวันนี้

โดยล่าสุดมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านแฮชแท็ก #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ รวมแล้ว 3 ล้านครั้ง ซึ่งกลายเป็นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 ของไทยในเวลานี้ โดยความคิดเห็นส่วนใหญ่มีทิศทางในการให้กำลังใจผู้เข้าร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของรัฐบาลที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และบอกเล่าความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในที่ชุมนุม รวมทั้งตอกย้ำหลักการเคลื่อนไหว 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน และ 1 ความฝัน

 


 

ชมคลิป: บรรยากาศการชุมนุม คณะ #ประชาชนปลดแอก ช่วง 19.00 น.

 

 


 

ชมคลิป: ‘วันนี้จะไม่สูญเปล่า’ แกนนำ #ประชาชนปลดแอก ยืนยัน 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน 1 ความฝัน

 

 

 


 

18.40 แสงไฟจากมวลชนทอดยาวทั่วราชดำเนิน #ประชาชนปลดแอก ขอบคุณผู้ใหญ่ร่วมชุมนุม ให้กำลังใจผู้ลี้ภัย

 

 

(16 สิงหาคม) ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เวลา 18.40 น. ศิลปินวงสามัญชนขึ้นเล่นดนตรีคั่นระหว่างการปราศรัยของแกนนำ #ประชาชนปลดแอก โดยก่อนการเล่นดนตรีได้กล่าวขอบคุณผู้ใหญ่ทุกคนที่มาร่วมชุมนุมเคียงข้างนิสิตนักศึกษาในวันนี้ พร้อมขอบคุณคนเสื้อแดงที่อดทนกับการคุกคาม และมายืนเคียงข้างรวมถึงปรบมือให้กำลังใจผู้ลี้ภัยทางการเมืองทุกคน
 
 
จากนั้นศิลปินวงสามัญชนชวนผู้ชุมนุมทุกคนเปิดไฟฉายโทรศัพท์มือถือ โบกมือตามจังหวะเพลง แสงไฟทอดยาวจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปทั่วถนนราชดำเนิน

 

เรื่อง: พลวุฒิ สงสกุล
ภาพ: ฐานิส สุดโต

 


 

ชมคลิป: บรรยากาศการชุมนุม ‘คณะประชาชนปลดแอก’

 

 


 

ชมคลิป: นักศึกษาเดินเท้าเข้าร่วมชุมนุม คณะ #ประชาชนปลดแอก อย่างต่อเนื่อง

 

 


 

ทยอยเดินมุ่งหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ร่วม #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ 

 

 

ประชาชนทยอยเดินทางร่วมชุมนุม #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ โดยคณะประชาชนปลดแอก นัดชุมนุมตั้งแต่เวลา 15.00 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 

 

สถานีรถไฟฟ้าสามยอดหนาแน่นกว่าปกติ ผู้คนพร้อมใจกันลงสถานีสามยอดเพื่อเดินเท้าผ่านถนนดินสอมุ่งหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมชุมนุมตอกย้ำ 3 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลคือ หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา 

 

ภายใต้จุดยืนสองข้อคือ ต้องไม่มีการรัฐประหาร ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ พร้อมกับอีกหนึ่งความฝันคือการมีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

 

ผ่าน 3 ขั้นตอนการเคลื่อนไหวคือ

  1. ปลด ส.ว. ผ่านการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 269-272 
  2. ตั้ง สสร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่
  3. ยุบสภา

 

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต, ศวิตา พูลเสถียร

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

 


 

17.24 #ประชาชนปลดแอก ชูจัดม็อบ Arts & Politics Festival ดัน 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน และ 1 ความฝัน

 

 

เวลา 17.24 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคณะประชาชนปลดแอกออกแถลงวันที่ 16 สิงหาคม 2563 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน โดยคณะประชาชนปลดแอก – Free People นัดชุมนุมใหญ่ยกระดับขึ้นหลังจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา จัดม็อบสร้างสรรค์ภายใต้แนวคิด Arts & Politics Festival หรือเทศกาลศิลปะและการเมือง หวังลบภาพเดิมของการชุมนุมที่เคยเกิดขึ้น และลดความเสี่ยงการเกิดความรุนแรงระหว่างการชุมนุม โดยยังยึดหลักการเคลื่อนไหว 3 ข้อ เรียกร้อง 2 จุดยืน 1 ความฝัน โดย 3 ข้อเรียกร้อง ได้แก่ 

 

  1. รัฐบาลต้อง ‘หยุดคุกคามประชาชน’ ที่ออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพตามหลักการประชาธิปไตย

 

  1. รัฐบาลต้อง ‘ร่างรัฐธรรมนูญใหม่’ ที่มาจากเจตนารมณ์ของประชาชน เพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนอย่างแท้จริง

 

  1. รัฐบาลต้อง ‘ยุบสภา’ เพื่อเป็นการเปิดทางให้ประชาชนสามารถแสดงเจตจำนงในการเลือกผู้แทนของตนได้อีกครั้ง

 

2 จุดยืน ได้แก่

  1. ต้องไม่มีการทำรัฐประหาร
    2. ต้องไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

 

1 ความฝัน คือการมีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ผ่าน 3 ขั้นตอนการเคลื่อนไหวคือ

  1. ปลด ส.ว. ผ่านการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 269-272 
  2. ตั้ง สสร.เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่
  3. ยุบสภา

 

โดยภายในงานมีกิจกรรมการปราศรัยสลับกับการแสดงศิลปะทั้งบนเวทีและพื้นถนน ซึ่งปัจจุบันคณะประชาชนปลดแอกไม่จำกัดอยู่แค่เพียงกลุ่มนักเรียนและนักศึกษาเท่านั้น แต่ยังมีประชาชนจากภาคส่วนอื่นๆ ของสังคมเข้าร่วมด้วย ทั้งศิลปิน แรงงาน และประชาชนทั่วไป

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

 


 

ชมคลิป: สองกลุ่มกิจกรรมแบ่งซีกปักหลักชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

 

 


 

นายกฯ ขอบคุณเจ้าหน้าที่ ดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม ขอให้อดทนอดกลั้น ห้ามใช้ความรุนแรงเด็ดขาด

 

 

วันนี้ (16 สิงหาคม) ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ดูแลความสงบเรียบร้อยในการจัดการชุมนุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยให้กำลังใจและขอให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ใช้ความอดทนอดกลั้นต่อการยั่วยุ ห้ามใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมเด็ดขาด โดยให้เข้าใจว่าความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติของการเมือง จึงต้องเปิดโอกาสให้เยาวชนคนหนุ่มสาวได้แสดงออกอย่างเต็มที่ แต่ต้องไม่เกินเลยกรอบของกฎหมาย และไม่กระทบต่อสิทธิของผู้อื่น
 
ไตรศุลีกล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ ยังแสดงความห่วงใยไปยังเจ้าหน้าที่รวมถึงผู้ชุมนุม จึงขอให้หลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความรุนแรง ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนคนไทยไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก เพราะต้องอย่าลืมว่าขณะนี้ทั่วโลกและประเทศไทยกำลังเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง และทางออกของสถานการณ์ก็คือความร่วมมือร่วมใจกันของทุกภาคส่วน
 
ไตรศุลีกล่าวอีกว่า พล.อ. ประยุทธ์ ให้ความสำคัญกับบทบาทของคนรุ่นใหม่ จึงมีนโยบายให้ส่งเสริมกระบวนการสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน ลดช่องว่างทางความคิดระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ เสริมสร้างความรักและความสามัคคีในการที่จะช่วยกันขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศไปข้างหน้าด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน คนไทยทุกๆ รุ่นต้องร่วมกันสร้างชาติไทยไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดย พล.อ. ประยุทธ์ ได้มอบนโยบายให้คณะรัฐมนตรีไปดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 


 

14.30 กลุ่มเลือกข้างประชาธิปไตยและคนเสื้อแดงทยอยปักหลักชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ให้กำลังใจนักศึกษา

 

 

วันนี้ (16 สิงหาคม) ตั้งแต่ช่วงเวลา 10.00 น. กลุ่มเลือกข้างประชาธิปไตยทยอยปักหลักชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บริเวณด้านหน้าร้านแมคโดนัลด์ ฝั่งโรงเรียนสตรีวิทยา มีการปราศรัยและจัดแสดงละคร พร้อมตะโกน “ที่นี่มีคนตาย” ก่อนการเข้าร่วมการชุมนุมใหญ่ของคณะประชาชนปลดแอกในช่วงเย็นวันนี้

 

โดยส่วนหนึ่งของมวลชนมีการสวมเสื้อสีแดง และหลายคนประกาศว่ามาในฐานะคนเสื้อแดงที่เคยเข้าร่วมการชุมนุม และต้องการมาร่วมให้กำลังใจนิสิตนักศึกษาในการชุมนุม

 

ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้กระจายกำลังดูแลความปลอดภัย พร้อมนำรั้วเหล็กมากั้นแนวบริเวณถนนเพื่อไม่ให้ประชาชนล้นลงไปยังพื้นผิวการจราจรด้วย

 

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

 


 

14.20 ปิดถนนราชดำเนินตั้งเวทีปราศรัย คณะประชาชนปลดแอกเริ่ม #ขีดเส้นใต้ไล่เผด็จการ ประชาชนทยอยมาต่อเนื่อง

 

 

วันนี้ (16 สิงหาคม) เวลาประมาณ 14.20 น. คณะประชาชนปลดแอกได้ประกาศให้นักศึกษาและประชาชนที่มาเข้าร่วมชุมนุมใหญ่ในวันนี้ขยายพื้นที่การชุมนุมจากบริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ลงไปยังบริเวณถนนราชดำเนินเพื่อเริ่มการปราศรัย โดยมีการตั้งเวทีหันหน้าออกจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

 

ขณะที่อยู่ในระหว่างการตั้งเวทีปราศรัย แกนนำนักศึกษาได้จัดกิจกรรมโดยมีกองสันทนาการมานำร้องเพลงสร้างบรรยากาศความครึกครื้น และขอให้ประชาชนที่มาร่วมชุมนุมได้จับจองพื้นที่บริเวณด้านหน้าเวที

 

บรรยากาศการชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดูแลความสงบ มีรายงานว่า เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ได้มาถึงพื้นที่การชุมนุมแล้ว ขณะที่นักเรียนและนิสิตนักศึกษาเดินทางด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินมาลงที่สถานีสามยอดเพื่อเดินเท้าเข้าสู่พื้นที่การชุมนุมเป็นจำนวนมาก และทยอยเดินทางมาอย่างต่อเนื่อง

 

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

 

 

 

 


 

14:00 แอมเนสตี้ เปิดตัวอาสาสมัครสังเกตการณ์การชุมนุมและบันทึกข้อมูลตามหลักสิทธิมนุษยชน

 

 

วันนี้ (16 สิงหาคม) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดตัว ‘อาสาสมัครสังเกตการณ์การชุมนุม’ เพื่อสังเกตการณ์และบันทึกข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมสาธารณะ โดยใช้หลักการที่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล โดยประกาศเริ่มงานในเดือนสิงหาคม 2563 พร้อมเปิดตัวเว็บไซต์ม็อบดาต้าไทยแลนด์ (Mob Data Thailand) ซึ่งได้พัฒนาร่วมกับโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เพื่อเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างฐานข้อมูลการชุมนุมภาคประชาชน

 

อาสาสมัครสังเกตการณ์การชุมนุมของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย คืออาสาสมัครที่สนใจและให้ความสำคัญในประเด็นสิทธิมนุษยชน ทั้งหมดผ่านการฝึกอบรม แลกเปลี่ยนความรู้และทักษะการเฝ้าสังเกตการณ์และการบันทึกการชุมนุมสาธารณะอย่างถูกต้องตามมาตรฐานสากล ซึ่งเนื้อหาหลักสูตรการอบรมบางส่วนมาจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติด้วย และผ่านการอบรมโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสันติวิธี นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมการอบรมจะได้เรียนรู้ทักษะการสังเกตการณ์และการบันทึกการชุมนุม รวมไปถึงการเตรียมตัวด้านความปลอดภัยในการรับมือกับสถานการณ์รูปแบบต่างๆ

 

ด้าน ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่าการรวมตัวกันของอาสาสมัครสังเกตการณ์การชุมนุมมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวและความชอบธรรมของผู้สังเกตการณ์ว่ามิได้เป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุม ต้องการบันทึกข้อมูลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยอิงจากตัวชี้วัดด้านสิทธิมนุษยชน และเสริมทักษะการเฝ้าสังเกตการณ์การชุมนุมอย่างมืออาชีพ

 

“หลักการสำคัญคือผู้สังเกตการณ์จะต้องไม่แสดงความคิดเห็นถึงการชุมนุมสาธารณะ ไม่ส่งเสริมหรือทำลายขวัญกำลังใจของผู้ที่ประสงค์จะมาร่วมชุมนุม และที่สำคัญคือผู้สังเกตการณ์จะต้องไม่มีส่วนร่วมหรือมีความเกี่ยวข้องใดๆ ต่อการชุมนุม การดำเนินกิจกรรมจะทำโดยเข้าไปสังเกตการณ์ จดบันทึก และรวบรวมข้อมูลที่บันทึกได้จัดทำเป็นเอกสารสำหรับรายงานต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป”

 

ปิยนุชยังกล่าวเสริมว่าสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้รับการคุ้มครอง รวมทั้งสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การรวมตัวและสมาคมด้วย ซึ่งรัฐบาลของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยต้องไม่จำกัดเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ เพราะสิทธิเหล่านี้ได้รับการรับรองภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

 

โดยทางเครือข่ายแจ้งว่าการสังเกตการณ์การชุมนุมครั้งแรกจะมีขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ โดยอาสาสมัครสังเกตการณ์ชุมนุมจะมีการแขวนป้ายซึ่งมีคำว่า ‘ผู้สังเกตการณ์’ ระบุไว้อย่างชัดเจน เพื่อแยกว่าผู้สังเกตการณ์มิได้เป็นส่วนหนึ่งของผู้ชุมนุม

 

นอกจากนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ยังได้ร่วมกันพัฒนาเว็บไซต์ม็อบดาต้าไทยแลนด์ (Mobdatathailand.org) เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลการชุมนุมสาธารณะที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเริ่มบันทึกข้อมูลตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 และเปิดให้ทดลองใช้งานตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2563 โดยเว็บไซต์นี้จะเป็นอีกพื้นที่สาธารณะที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการรายงานสถานการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้นได้ 

 

นอกจากนี้ได้ยังร่วมมือกับองค์กรที่มีภารกิจเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมอย่างศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน มูลนิธินิติธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ประชาไท และ Law Long Beach โดยหากมีชุดข้อมูลที่มีนัยสำคัญที่สามารถนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย จะได้ถูกนำเสนอต่อภาครัฐหรือองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องในประเด็นนี้เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งเสรีภาพในการชุมนุมที่ดีขึ้นในประเทศไทย

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

 


 

14.55 อาชีวะปกป้องสถาบันฯ ชุมนุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จับตาประชาชนปลดแอก เก็บข้อมูลส่งตำรวจ

 

 

วันนี้ (16 สิงหาคม) กลุ่มศูนย์กลางประสานงานนักศึกษาอาชีวะ ประชาชนป้องสถาบัน (ศอปส.) นัดชุมนุมเมื่อเวลา 11.00 น. ยึดพื้นที่บริเวณหน้าหอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับกลุ่มเลือกข้างประชาธิปไตย เพื่อแสดงออกถึงการไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอของนิสิตนักศึกษา 10 ข้อ

 

ด้าน สุเมธ ตระกูล​วุ่นหนู แกนนำ ศอปส. เปิดเผยว่าการชุมนุมในวันนี้มีภารกิจเพื่อติดตามการชุมนุมของกลุ่มบุคคลที่แอบอ้างประชาธิปไตยและพยายามแยกสถาบันออกจากระบอบการปกครอง พร้อมยืนยันว่าหากเป็นการชุมนุมทางการเมือง ทางกลุ่ม ศอปส. จะไม่ยุ่ง แต่หากมีการจาบจ้วงและกล่าวถึงสถาบันฯ จะมีการเก็บข้อมูลและหลักฐานเพื่อนำไปยื่นต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติในวันพรุ่งนี้

 

ทั้งนี้ สุเมธย้ำว่าได้มีการขออนุญาตปักหลักชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจาก สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ไปจนถึงเวลาเที่ยงคืนวันนี้ โดยจะไม่มีการเคลื่อนย้ายออกจากจุดที่ปักหลักหน้าหอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน แม้ว่าจะมีความพยายามยั่วยุปลุกปั่นก็ตาม ทั้งนี้ไม่กังวลว่าจะมีการปะทะกัน เพราะไม่ใช่แนวทางของกลุ่ม แต่หากมีใครลงถนนเพื่อไปปะทะกับอีกฝ่าย น่าจะเป็นมือที่สามที่หวังสร้างสถานการณ์ ไม่ใช่คนของกลุ่มตนเองอย่างแน่นอน

 

อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการชุมนุมของทั้งสองกลุ่ม มวลชนต่างอยู่บนทางเท้าและมีแกนนำสลับสับเปลี่ยนกันปราศรัย ในส่วนของ ศอปส. เน้นการทำกิจกรรมที่แสดงถึงความสำคัญและความผูกพันของสถาบันฯ รวมถึงทำความเข้าใจกับผู้ชุมนุมไม่ให้ลงถนนและให้สังเกตการณ์การชุมนุมของฝ่ายตรงข้าม แต่อย่าไปยุ่งเกี่ยวกัน และอย่าสนใจหากมีความพยายามยั่วยุ

 

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

 


 

12.51 น. กลุ่มเลือกข้างประชาธิปไตยทยอยปักหลักชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนเข้าร่วมการชุมนุมใหญ่ในช่วงเย็นวันนี้

 

 

โดยส่วนหนึ่งของมวลชนมีการสวมเสื้อสีแดง และหลายคนประกาศว่ามาในฐานะคนเสื้อแดงที่เคยเข้าร่วมการชุมนุม ต้องการมาร่วมให้กำลังใจนักศึกษาในการชุมนุมวันนี้

 

 


 

10.33 สองกลุ่มการเมืองแบ่งซีกอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยปักหลักชุมนุม ตำรวจดูแลเข้ม

 

 

10.33 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ประกาศทำกิจกรรมในวันนี้ได้เดินทางมาปักหลักชุมนุมตามที่ได้นัดหมายก่อนหน้านี้ โดย ศูนย์กลางประสานงาน นักศึกษา อาชีวะ ประชาชน ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ (ศอปส.) ได้ยึดพื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยบริเวณด้านหน้าหอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน เพื่อแสดงออกถึงการไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอของนิสิตนักศึกษา 10 ข้อ ซึ่งการชุมนุมของกลุ่มนี้อยู่ในพื้นที่ สน.สำราญราษฎร์ ขณะที่บริเวณด้านหน้าแมคโดนัลด์ กลุ่มเลือกข้างประชาธิปไตยได้ยึดพื้นที่การชุมนุมตั้งแต่ช่วงเวลา 10.30 น. เช่นเดียวกัน โดยจะสิ้นสุดในเวลา 15.00 น. และจะเป็นการจัดกิจกรรมของคณะประชาชนปลดแอกต่อเนื่อง โดยมีการแจ้งจัดชุมนุมต่อ สน.ชนะสงคราม แล้ว
 
ด้าน พล.ต.ต. สมประสงค์ เย็นท้วม รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ดูแลงานความมั่นคง เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่ากองบัญชาการตำรวจนครบาลได้จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 กองร้อย เพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่เดินทางมาร่วมกิจกรรม พร้อมทั้งจัดกำลังตำรวจจราจรคอยอำนวยความสะดวกการจราจร
 
ขณะที่บรรยากาศโดยรอบ มีรถสื่อสารของตำรวจและมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดูแลความสงบเรียบร้อยของผู้ชุมนุมและผู้ใช้ถนน โดยขอความร่วมมือไม่ให้ทั้งสองกลุ่มยั่วยุและเผชิญหน้ากัน พร้อมขอให้อยู่ในที่ตั้งของตนเอง อย่าลงไปที่พื้นผิวการจราจร
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising