×

งมงาย? ความเข้าใจต่อการฆ่าควายเลี้ยงผีปู่แสะ-ย่าแสะ ในประเพณีเลี้ยงดง

15.06.2022
  • LOADING...
ประเพณีเลี้ยงดง

HIGHLIGHTS

5 mins. read
  • ด้วยการที่ปู่แสะ-ย่าแสะเป็นผู้อยู่มาก่อนการสร้างเมืองเชียงใหม่ ทำให้สถานะของปู่แสะ-ย่าแสะนั้นสูงเด่น ถ้าสังเกตคำอัญเชิญปู่แสะ-ย่าแสะก็จะทราบว่า สถานะของทั้งสองนั้นเป็นเหมือนกับผีเสื้อบ้านเสื้อเมืองผู้คุ้มครองเมืองเชียงใหม่ นี่จึงเป็นเหตุให้ประเพณีการบูชาผีปู่แสะ-ย่าแสะนั้นสำคัญ
  • เมื่อศาสนาใหม่เข้ามา ซึ่งมีวิถีปฏิบัติปฏิเสธลัทธิบูชายัญด้วยการฆ่าสัตว์และการล่ามนุษย์จึงปะทะเข้ากับศาสนาดั้งเดิม ดังนั้นจึงต้องการให้คนพื้นเมืองคือชาวลัวะเลิกพิธีกรรมดังกล่าว แต่ด้วยความเชื่อที่ยาวนานทำให้ยากที่จะงดไป จึงผ่อนกันคนละครึ่งทางด้วยการยอมให้ฆ่าควายเพื่อเลี้ยงผี 
  • การผสมผสานยอมผ่อนตามความเชื่อเดิมบางอย่างนั้นคือลักษณะสำคัญของพระพุทธศาสนาที่เข้ามาในภูมิภาคนี้

ความเข้าใจต่อวัฒนธรรมความเชื่อนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและซับซ้อน คร่อมๆ กันอยู่ระหว่างคุณค่าเชิงวัฒนธรรมกับความงมงาย เมื่อไม่กี่วันมานี้มีประเพณีเลี้ยงดง หรือพิธีเลี้ยงผีปู่แสะ-ย่าแสะที่เชิงดอยคำ ใกล้ดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นประเพณีที่จัดเป็นประจำทุกปีในช่วงราวเดือนมิถุนายนนี้ (คือในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 9 เหนือ) ปรากฏว่าเมื่อคนนำภาพไปลงในเพจ Chiang Mai Creative City ก็มีคนจำนวนหนึ่งคอมเมนต์วิจารณ์ว่าเป็นประเพณีที่งมงายและทารุณสัตว์ เนื่องจากพิธีจะต้องมีการฆ่าควายเลี้ยงผี กินเลือดกินเนื้อกันสดๆ 

 

เมื่อหลายปีก่อน ผู้เขียนเคยมีโอกาสได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในพิธีกรรมนี้ช่วงทำวิจัย โดยไปร่วมตั้งแต่วันก่อนจัดงานจนถึงวันพิธีจริง ได้มีโอกาสคุยกับเจ้าพิธี คุยกับหนาน ม้าขี่ (ร่างทรง) และบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อเข้าใจประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาวลัวะ (และชาวละเวือะ) จึงอยากจะชี้ชวนให้เห็นคุณค่าของพิธีกรรมนี้ในแง่มุมทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอย่างสั้นๆ 

 

ชาวบ้านกำลังช่วยกันเตรียมงานพิธีเลี้ยงดง โดยมีป้าบัวเรียวเป็นแม่งานหลัก

 

ลัวะเป็นกลุ่มชนดั้งเดิม อยู่มาก่อนพวกคนไทจะอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาหลายพันปี ตัวอย่างเช่น คำว่าอมแปลว่าน้ำ ดังนั้นชื่ออำเภออมก๋อยจึงแปลว่าแม่น้ำก๋อย (ก๋อยเป็นชื่อเฉพาะ) หรือคำว่าทูแปลว่าภูเขา เช่น ชื่อดอยทูเลที่คนนิยมไปเที่ยวกัน หรือคำว่าโกรงแปลว่าคลอง สังเกตว่าเสียงใกล้เคียงกัน เพราะคำนี้มีรากมาจากภาษาในตระกูลออสโตรเอเชียติก (หรือมอญ-เขมร) นั่นเอง คำว่าโขงหรือคงที่ใช้เรียกชื่อแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาละวินก็มาจากคำนี้นี่เอง 

 

รูปปั้น (ใหม่) ของปู่แสะ-ย่าแสะ ที่ดอยคำ

 

ในเชิงประวัติศาสตร์แล้ว ชาวลัวะก็ปรากฏในหลักฐานของทางล้านนามาตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ 13 แล้ว คือตำนานเรื่องพระนางจามเทวีที่เสด็จไปจากเมืองละโว้ (ลพบุรี) ภายใต้คำเชิญของฤาษีวาสุเทพ เพื่อไปปกครองเมืองหริภุญไชย (ลำพูน) ปรากฏว่าเมื่อไปปกครองเมืองนี้ กษัตริย์ลัวะคือขุนหลวงวิลังคะ (บะลังก๊ะ) นั้นก็หวังจะได้นางจามเทวีเป็นมเหสี แต่พระนางปฏิเสธ จนเป็นเหตุให้ทำสงครามกัน สุดท้ายขุนหลวงวิลังคะพ่ายแพ้ หนีเข้าเขตป่าเขาไปตายที่เมืองก๊ะ อำเภอแม่ริม 

 

ตำนานข้างต้นมีนัยทางประวัติศาสตร์อยู่ 2 เรื่อง

 

เรื่องแรกคือ ความจริงแล้วฤาษีวาสุเทพเป็นลูกของลัวะตระกูลใหญ่คือ ปู่แสะ-ย่าแสะ เพียงแต่นับถือพระพุทธศาสนาผสมพราหมณ์ เคยบวช แต่ด้วยศีลเยอะจึงสึก กลายมาเป็นฤาษี ชื่อวาสุเทพนี้ก็คือวสุเทพหรือวะสุเทวะ พ่อของพระกฤษณะ ซึ่งทวารวดีก็คือเมืองของพระกฤษณะ ในเวลานั้นละโว้คือศูนย์กลางหนึ่งของกลุ่มรัฐทวารวดี ซึ่งพระนางจามเทวีเสด็จมาจากเมืองนี้นี่เอง ดังนั้นการสนับสนุนพระนางจามเทวีก็คือสัญลักษณ์ของการนำศาสนาพุทธ-พราหมณ์มายังเมืองหริภุญไชย 

 

อนุสาวรีย์ของขุนหลวงวิลังคะ ที่บ้านเมืองก๊ะ จังหวัดเชียงใหม่

 

เรื่องที่สองคือ สงครามที่เกิดขึ้นระหว่างพระนางจามเทวีกับขุนหลวงวิลังคะนั้นคือความขัดแย้งของคน 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งนับถือพระพุทธศาสนา อีกกลุ่มนับถือผีอย่างเหนียวแน่น มีเรื่องเล่าในตำนานพระธาตุดอยสุเทพว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าได้เสด็จมายังดอยสุเทพ (ในเวลานั้นเรียกดอยอ้อยช้าง) เมื่อปู่แสะ-ย่าแสะเห็นจึงคิดจะจับกิน แต่พระพุทธเจ้าได้เปล่งรัศมีแสดงปาฏิหาริย์ ทำให้ทั้งสองยอมแพ้ ปรับเปลี่ยนไม่กินคน แต่ก็อดไม่ได้ที่จะฆ่าสัตว์เพื่อกิน ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ยอม แต่ให้กินได้ปีละ 1 ครั้งเท่านั้น 

 

พระพุทธเจ้าที่ว่านั้นไม่ใช่พระพุทธเจ้าจริงๆ แน่ (ส่วนใครจะเชื่อก็แล้วแต่ศรัทธา) แต่เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา หรืออาจเป็นพระสงฆ์ที่มาเผยแพร่พระพุทธศาสนาจากละโว้ จนทำให้ลูกของปู่แสะ-ย่าแสะศรัทธาจนออกบวช เมื่อศาสนาใหม่เข้ามา ซึ่งมีวิถีปฏิบัติปฏิเสธลัทธิบูชายัญด้วยการฆ่าสัตว์และการล่ามนุษย์จึงปะทะเข้ากับศาสนาดั้งเดิม ดังนั้นจึงต้องการให้คนพื้นเมืองคือชาวลัวะเลิกพิธีกรรมดังกล่าว แต่ด้วยความที่เชื่อกันมาอย่างยาวนาน จึงทำให้ยากที่จะงดพิธีกรรมดังกล่าว จึงยอมผ่อนกันคนละครึ่งทางด้วยการยอมให้ฆ่าควายเพื่อเลี้ยงผี ซึ่งการผสมผสานยอมผ่อนตามความเชื่อเดิมบางอย่าง นั่นคือลักษณะสำคัญของพระพุทธศาสนาที่เข้ามาในภูมิภาคนี้

 

ร่างทรงของปู่แสะกำลังกินเนื้อควายที่เป็นเครื่องเซ่นสังเวย 

หลังจากนี้จะมีการนำเนื้อควายไปประกอบอาหารแจกจ่ายให้ชาวบ้านต่อไป

 

ย่าแสะกำลังเดินมากราบผ้าพระบฏ ซึ่งเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า

 

เรื่องคร่าวๆ ทั้งหมดนี้เองที่เป็นที่มาของประเพณีเลี้ยงดงหรือเลี้ยงผีปู่แสะ-ย่าแสะ ในพื้นที่พิธีจึงมีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 3 อย่าง คือ 

 

  1. คนทรงที่เข้าทรงปู่แสะ-ย่าแสะและกินเนื้อควาย 
  2. ผ้าพระบฏวาดภาพพระพุทธเจ้าและสาวก เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา 
  3. ศาลผีที่เลี้ยงผีลูกหลานของปู่แสะ-ย่าแสะ ซึ่งมีฤาษีวาสุเทพและขุนหลวงวิลังคะรวมอยู่ด้วย 

 

หอผี หออารักษ์ ที่เป็นเหมือนศาลผีตัวแทนของลูกหลานปู่แสะ-ย่าแสะในลานพิธี

 

ด้วยการที่ปู่แสะ-ย่าแสะเป็นผู้อยู่มาก่อนการสร้างเมืองเชียงใหม่ ทำให้สถานะของปู่แสะ-ย่าแสะนั้นสูงเด่น ถ้าสังเกตคำอัญเชิญปู่แสะ-ย่าแสะ ก็จะทราบว่าสถานะของทั้งสองนั้นเป็นเหมือนกับผีเสื้อบ้านเสื้อเมืองผู้คุ้มครองเมืองเชียงใหม่ นี่จึงเป็นเหตุให้ประเพณีการบูชาผีปู่แสะ-ย่าแสะนั้นสำคัญ

 

ประชาชนที่ศรัทธากำลังถ่ายภาพพระบฏเก่าแก่ที่ปีหนึ่งจะออกมาเพียง 1 ครั้ง

 

กระแสการวิพากษ์วิจารณ์ว่าประเพณีดังกล่าวเป็นเรื่องงมงายนั้นไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีมาตั้งแต่สมัยล้านนาแล้ว เช่น ในสมัยพญาสามฝั่งแกนเมื่อยังเป็นเจ้าดิสกุมารก็นิยมการเลี้ยงผีด้วยการฆ่าควาย ทำให้ทางฝ่ายศาสนาจักรเขียนไว้ในเชิงต่อว่าว่ามีใจศรัทธาไปทางบูชาผีมากกว่าพระพุทธศาสนา คงไม่ต่างจากคำวิพากษ์วิจารณ์ในสมัยนี้เช่นกันที่ยังอยู่ภายใต้วิธีคิดแบบคู่ตรงข้ามระหว่างพุทธกับผี ทำให้การถือผีกลายเป็นเรื่องงมงายไป 

 

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ไม่ได้ต้องการบอกว่าคนที่นับถือผีนั้นไม่งมงายนะครับ มีครับที่งมงาย เห็นกันอยู่มากมายในสื่อ เช่นเดียวกัน ในพื้นที่เลี้ยงดงก็มีคนหลายแบบปะปนกันไป แต่หากเราลองข้ามกำแพงของความคิดแบบคู่ตรงข้าม แล้วมองคุณค่าเชิงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่แฝงในพิธี ก็จะเห็นคุณค่าบางอย่างในนั้น ซึ่งความจริงแล้วผมคิดว่าทางเทศบาลเมืองแม่เหียะ ที่เป็นหนึ่งในแม่งานจัดงาน คงต้องทำงานในเชิงประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ในมิติดังกล่าวมากขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจทางวัฒนธรรม เพราะพิธีกรรมนี้คือส่วนหนึ่งของต้นรากทางประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ แต่เป็นประวัติศาสตร์ที่อยู่ในรูปของพิธีกรรม ซึ่งอาจมีชีวิตชีวามากกว่าประวัติศาสตร์แบบตัวหนังสือ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising