เช้าวันที่ 27 ตุลาคม CCTV และสื่อในเครือ China Media Group ของจีน รายงานข่าวการถึงแก่อสัญกรรมของอดีตนายกรัฐมนตรี หลี่เค่อเฉียง ในวัย 68 ปี เป็นที่ตกใจและสร้างความประหลาดใจให้กับคนจีนเป็นอย่างมาก ทำให้คำค้นหา ‘การเสียชีวิตของสหาย หลี่เค่อเฉียง (李克强同志逝世)’ กลายเป็นคำค้นหาอันดับ 1 ในสื่อสังคมออนไลน์ Weibo ของจีน กว่า 13.8 ล้านครั้งในระยะเวลาเพียงชั่วโมงเศษ และยังคงเป็นคำค้นหาที่มาแรงต่อเนื่องตลอดทั้งวัน
แม้ในช่วงเกือบ 8 เดือนที่ผ่านมา อดีตนายกฯ หลี่จะไม่ได้ปรากฏตัวในสื่อภายหลังการประชุมสองสภา นับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่ภาพที่อดีตประธานาธิบดี หูจิ่นเทา แตะไหล่ของเขา ก่อนจะถูกนำตัวออกไปจากที่ประชุม ยังเป็นที่พูดถึงของคนจีนและทั่วโลก ภาพการกล่าวรายงานผลงานของรัฐบาล หรือแม้กระทั่งการเสนอรวมชาติไต้หวันในการประชุมสองสภาครั้งสุดท้ายของเขา ไม่มีสัญญาณที่บอกว่าเขาเจ็บป่วยหรือมีปัญหาสุขภาพ ซึ่งในวัย 68 ปี สำหรับคณะรัฐบาลจีนยังถือว่าเป็นช่วงอายุที่สามารถทำงานไปได้ อาจ 5 ปี หรือยาวนานถึง 10 ปี นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนจีนรู้สึกตกใจหลังจากทราบข่าวนี้
คนจีนตั้งข้อสังเกต สื่อทางการจีนรายงานข่าวการถึงแก่อสัญกรรมของอดีตนายกฯ เร็วเกินคาด
นอกจากนั้น การเสนอข่าวการถึงแก่อสัญกรรมของอดีตนายกฯ หลี่ที่เร็วเกินคาดของสื่อทางการจีนอย่าง CCTV และสื่อในเครือ China Media Group สร้างความประหลาดใจให้กับคนจีนจำนวนไม่น้อย เพราะที่ผ่านมาการนำเสนอข่าวการเสียชีวิตของผู้นำของสื่อในเครือ China Media Group รวมถึง CCTV ซึ่งเป็นสื่อหลักภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล มักจะรายงานมาเป็นลำดับท้ายๆ เสมอ ด้วยเหตุผลที่ว่า ต้องการตรวจเช็กความถูกต้องให้แน่ใจก่อนจึงจะรายงาน แต่ในครั้งนี้ CCTV และสื่อในเครือ China Media Group ใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบและอนุมัติน้อยกว่า 8 ชั่วโมง จากเดิมที่บางครั้งต้องใช้เวลาเป็นวันแม้จะมีรายละเอียดไม่มาก และยังมีการระบุว่าจะมีการรายงานข่าวเพิ่มเติมในภายหลัง
และยังมีประเด็นเรื่องของเมืองเซี่ยงไฮ้ที่กลายเป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามในมุมมองของคนจีนหลายคนว่า เป็นเมืองที่มีความทันสมัยมากในทุกด้าน รวมถึงด้านการแพทย์ แต่ทำไมจึงดูแลอดีตผู้นำระดับสูงท่านนี้ได้ไม่ดีพอ และไม่สามารถรักษาชีวิตไว้ได้ ทำให้ 2 ประเด็นนี้นำไปสู่คำถามอีกมากมายเกี่ยวกับการเสียชีวิตของอดีตนายกรัฐมนตรีจีนคนนี้
เส้นทางการเมืองของหลี่เค่อเฉียง
ย้อนกลับไปในปี 1982 ตอนที่หลี่เค่อเฉียงอายุได้ 27 ปี เขาได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการสันนิบาตเยาวชนพรรคคอมมิวนิสต์จีน (ระดับมหาวิทยาลัย) และได้รับตำแหน่งสูงสุดในสันนิบาตเยาวชนพรรคคอมมิวนิสต์จีนในอีก 10 ปีต่อมา และสันนิบาตเยาวชนนี้เองก็เป็นจุดเริ่มต้นให้เขาได้ทำงานใกล้ชิดกับอดีตประธานาธิบดีหูจิ่นเทา ซึ่งคนจีนมองว่าทั้งสองเติบโตมาในรูปแบบเดียวกัน ทำให้หลี่เค่อเฉียงได้รับการสนับสนุนจากหูจิ่นเทาอย่างมาก
หลี่เค่อเฉียง เป็นข้าราชการในระบบเยาวชนจนถึงปี 1998 และได้เลื่อนขั้นแบบก้าวกระโดด ทั้งที่ไม่มีประสบการณ์ในการบริหารตำบล อำเภอ ให้ไปเป็นหัวหน้างานมณฑลเหอหนาน หรือที่เรียกว่าเป็นเบอร์ 2 ของมณฑล ซึ่งถือว่าในวัย 42 ปีของหลี่ การได้บริหารงานระดับมณฑลนั้นถือว่าเป็นการเติบโตเร็วที่สุด หลังจากนั้นเขาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคฯ ของมณฑลเหลียวหนิงในปี 2003 และได้เข้าเป็น 1 ใน 7 ของกรรมาธิการถาวรของคณะกรรมการกรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 2007 ด้วยวัยเพียง 52 ปี ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จสูงสุดอย่างรวดเร็วในเส้นทางการเมือง และในเดือนมีนาคมปี 2018 เขาได้เข้ารับตำแหน่งรองนายกฯ รัฐมนตรี และก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจีนในปี 2013
หลี่เค่อเฉียง นายกฯ ผู้มีอำนาจน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์จีนใหม่
อู๋กั๋วกวง นักวิชาการจีนจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด อดีตทีมงานของนายกรัฐมนตรี จ้าวจื่อหยาง นักปฏิรูปในช่วงทศวรรษ 1980 ให้สัมภาษณ์กับ Washington Post ถึงอดีตนายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียงว่า “ความคิดของเขาก็คงเหมือนคนในพรรคคอมมิวนิสต์จีนจำนวนมากภายใต้การนำของสีจิ้นผิง แม้จะไม่พอใจหรือไม่ชอบ แต่พวกเขาก็อยู่เป็น ไม่ทำอะไรที่ต่อต้านหรือท้าทาย หรือแม้แต่การสร้างความไม่พอใจให้กับสีจิ้นผิง”
ความคิดเห็นของอู๋อาจมีความจริงบางส่วน แต่คงไม่ใช่ความจริงทั้งหมด เพราะในช่วงการดำเนินนโยบาย Zero-COVID ของจีน อดีตนายกฯ หลี่เค่อเฉียง เป็น 1 ในไม่กี่คนที่กล้าออกมาแสดงความเห็นต่างในการบริหาร COVID-19 ของจีนต่อสาธารณะอย่างเปิดเผย ช่วงการล็อกดาวน์ที่เซี่ยงไฮ้ถือเป็นช่วงที่มาตรการ Zero-COVID เกือบพีคที่สุดของจีน อดีตนายกรัฐมนตรี หลี่เค่อเฉียง ได้เรียกประชุมข้าราชการกว่าแสนคน และชี้ว่านโยบาย Zero-COVID ของผู้นำสูงสุดของจีนกำลังพาประเทศไปสู่หายนะ เขาไม่เห็นด้วยกับการล็อกดาวน์ในวงกว้าง เขาเรียกร้องให้เกิดการอยู่ร่วมกับโควิดอย่างสมดุล เขามองว่า หากยังคงดำเนินนโยบาย Zero-COVID ต่อไปจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรงในประเทศ และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน การลุกขึ้นมาของหลี่เค่อเฉียงในตอนนั้นเป็นเหมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของคนเซี่ยงไฮ้ และคนจีนเกือบทั้งประเทศที่กำลังถูกล็อกดาวน์อย่างไม่จบไม่สิ้น แต่สิ่งที่เขาได้รับกลับไม่ใช่การตอบสนองข้อเรียกร้อง แต่เป็นการถูกลดบทบาทในการทำงาน
และนั่นไม่ใช่ครั้งแรกที่หลี่เค่อเฉียงออกมาแสดงจุดยืนที่สวนกระแสการบริหารของรัฐบาลภายใต้นโยบายของผู้นำสูงสุด
ไฮไลต์อีกครั้งที่ต้องถือว่าเป็นความทรงจำของคนจีนที่มีต่ออดีตนายกรัฐมนตรีคนนี้ คือตอนที่เขาประกาศว่าคนจีนกว่า 600 ล้านคนมีรายได้ต่อเดือนไม่ถึง 1,000 หยวน หรือน้อยกว่า 5 พันบาท โดยเขาบอกว่าเป็นรายได้ที่จ่ายค่าห้องยังแทบไม่พอ ซึ่งประชากรจำนวนนี้ถือเป็นเกือบครึ่งของทั้งประเทศจีน สวนทางกับการที่รัฐบาลจีนประกาศว่าประเทศหลุดพ้นความยากจนแล้ว
จุดยืนที่แม้จะทำให้เขาอยู่ยากในพรรคคอมมิวนิสต์จีนและในรัฐบาล แต่เขาก็ยังเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในใจคนจีนจำนวนมากจนถึงปัจจุบัน เวลาที่เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ภาพของเขาที่อยู่ในพื้นที่และทำงานอย่างจริงจังมาตลอด จนทำให้เกิดการเปรียบเทียบกับนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การสูญเสีย หลี่เค่อเฉียง สำหรับคนจีนแล้วถือเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้ง เว็บไซต์ของรัฐบาลบางแห่งได้เปลี่ยนเป็นสีขาวดำเพื่อแสดงความไว้อาลัยอย่างเป็นทางการ สื่อสังคมออนไลน์ Weibo ได้เปลี่ยนปุ่ม ‘ถูกใจ’ ให้เป็นไอคอนดอกเบญจมาศ สำหรับการ ‘ไว้อาลัย’ อดีตนายกรัฐมนตรีของจีนคนนี้ด้วย
ภาพ: Carsten Koall / Getty Images
อ้างอิง: