×

ธุรกิจกับสิทธิ LGBTQIA+ ว่าด้วยการปฏิเสธการจ้างงานคนที่มีความหลากหลายทางเพศ

03.06.2024
  • LOADING...
LGBTQIA+

ยังไม่เคยรับกะเทยเป็นลูกเรือเลย?

จริงไหมคะ ที่เวลามีกะเทยสมัครงานแล้วไม่เคยเรียกสัมภาษณ์เลย?

 

การวัดว่าองค์กรหรือบริษัทของเรานั้นทำเรื่อง LGBTQIA+ จริงๆ แบบไม่จกตา ก็ใช้ตัวชี้วัดนี้ประเมินผลองค์กรไปเลยค่ะ สะดวก ชัดเจน มีคู่เทียบมากมาย ได้ผลมาก็เอามาแปะโชว์ว่าเรามันของจริง องค์กรเรามันคือที่สุดในเรื่องการสนับสนุนสิทธิความเท่าเทียม

 

ปี 2015 โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ในประเทศไทยได้จัดการประชุมว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิLGBTQIA+ซึ่งในช่วงปีนั้นไทยมีข่าวการปฏิเสธการจ้างงาน ส่วนในกระแสภาคธุรกิจสากล The Economist ได้จัดเสวนาว่าด้วย ‘Pride And Prejudice The Business And Economic Case For LGBT Diversity And Inclusion’ ในปี 2016 จึงเป็นที่มาของการพูดถึงบทบาทของภาคเอกชนในการสนับสนุนสิทธิ LGBTQIA+มาอย่างต่อเนื่อง การเคลื่อนไหวทางสังคมเป็นประเด็นการสื่อสารสังคมของกลุ่มLGBTQIA+ที่ใช้พื้นที่ในการแสดงออกอย่างภาคภูมิใจ

 

​แรกเริ่มกิจกรรมแนวนี้เป็นงานของนักรณรงค์ที่รวมกลุ่มกันในด้านการรำลึกถึงเหตุการณ์ต่อต้านและใช้ความรุนแรง สื่อใจความสำคัญเรื่องความเสมอภาคและความเท่าเทียม มีการสนับสนุนของแหล่งทุนจากภาคเอกชนมากยิ่งขึ้น กล่าวได้ว่ากลุ่มทุนในโลกแบบทุนนิยมส่งผลด้านบวกต่อการจัดงานของLGBTQIA+แม้จุดประสงค์อยู่ที่การพยายามใช้กลไกการตลาดเพื่อสังคม หรือการลงทุนกับประเด็นสังคม และสนับสนุนด้านเงินทุนจำนวนมาก แต่ก็นับเป็นผลลัพธ์ที่คุ้มค่า ทำให้เกิดมูลค่าและคุณค่าต่อทั้งองค์กรและสินค้าของแบรนด์นั้นๆ เป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคต่อสินค้าและบริการมากขึ้น

 

มองกลุ่มเพศหลากหลายเป็นกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหม่ที่ต้องตีตลาดด้วยความเข้าใจในเรื่องความทันสมัยและกำลังซื้อต่อสินค้า ทุนจึงเป็นอีกแรงหนึ่งของการทำงานเคลื่อนไหวในสิทธิความหลากหลายทางเพศ หากเทียบกับเมื่อก่อนที่ใช้กลไกทางการเมืองเป็นหลัก คือการพยายามสร้างความเข้าใจสิทธิกับพรรคการเมือง มีนักการเมืองสนับสนุนให้เป็นนโยบาย ระยะเวลาสั่งสมจนทำให้สามารถมีนักการเมืองที่สนับสนุนสิทธิและมีตัวแทนของเพศหลากหลายอยู่ในสภา แต่กลไกกลายมาแนวของการทำงานเรื่องสิทธิที่อิงกับแหล่งทุนทางภาคธุรกิจมีแนวโน้มสูงขึ้นดังที่ปรากฏชัดเจนในสหรัฐอเมริกา

 

The Economist เป็นอีกข้อยืนยันหนึ่ง การศึกษาโครงการ #EcoPride Pride and Prejudice ภาคธุรกิจและเศรษฐกิจเพื่อเพศหลากหลาย ที่ให้บรรดาผู้นำองค์กร ผู้บริหารระดับสูง ออกมากล่าวถึงนโยบายการสนับสนุนเพศหลากหลายในภาคธุรกิจ ไทยเคยจัดงานนี้ดังที่กล่าวไปแล้วโดย UNDP มีบริษัทชั้นนำในไทยเข้าร่วมกว่า 10 บริษัท นับเป็นเวทีที่สะท้อนว่าภาคธุรกิจไทยห่างไกลจากแนวคิดเรื่องสิทธิอยู่มากหากเทียบกับบริษัทเอกชนในต่างประเทศ

 

เนื่องด้วยกลไกในระบบของราชการยังไม่สามารถรองรับปัญหาที่เกิดขึ้นได้จริง งานส่วนใหญ่จึงเป็นงานของกลุ่มของนักเคลื่อนไหวหรือภาคประชาสังคม ไม่เพียงพอและตอบสนองต่อปัญหาได้ทันท่วงที สังคมไทยจะมีแนวโน้มการยอมรับความหลากหลายทางเพศได้มากขึ้นแบบทีละเรื่องอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ก้าวกระโดดในด้านสิทธิ แต่ในทางกลับกัน ในด้านทุนนิยม บริโภคนิยม การท่องเที่ยว จะถีบตัวไปไวมากเพื่อตอบโจทย์ของเพศหลากหลาย และเมื่อมีกิจกรรมเดินขบวนไพรด์ เราก็จะเห็นบริษัทเอกชนต่างใช้โอกาสนี้เข้ามาสนับสนุนและสร้างกระแสการมีส่วนร่วมสนับสนุนสิทธิของเพศหลากหลาย ในต่างประเทศมีการตั้งประเด็นว่าองค์กรเหล่านั้นช่วงชิงการตลาดเพื่อยอดขายเท่านั้นจริงหรือไม่

 

คำที่หลายคนคุ้นเคยมากขึ้นในสังคมไทยคือ Rainbow Washing คือการที่บริษัท แบรนด์ หรือองค์กรต่างๆ ใช้สัญลักษณ์LGBTQIA+เช่น ธงสีรุ้ง หรือการโปรโมต เพื่อให้ดูเหมือนสนับสนุนเพื่อจุดประสงค์ทางการตลาด โดยไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการสนับสนุนสิทธิหรือการแก้ไขปัญหาของLGBTQIA+สามารถเห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงโลโก้ โฆษณา หรือผลิตภัณฑ์ในช่วงเดือนไพรด์ โดยที่ไม่ได้มีการสนับสนุนหรือช่วยเหลือที่จริงใจ คำถามก็คือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าองค์กรไหนสนับสนุนจริง จึงขอยกตัวอย่างดัชนีชี้วัดที่น่าสนใจมาเล่าให้อ่านกัน

 

Human Rights Campaign (HRC) เป็นองค์กรในสหรัฐฯ ที่ประเมินนโยบายและแนวปฏิบัติของบริษัทต่างๆ ในการสนับสนุนความเท่าเทียมสำหรับพนักงานLGBTQIA+ผ่านดัชนีความเสมอภาคองค์กรภาคเอกชน (Corporate Equality Index: CEI) ดัชนีนี้ช่วยให้บริษัทต่างๆ นำแนวทางและภาษาที่เหมาะสมสำหรับLGBTQIA+มาใช้ในโครงสร้างบริหารธุรกิจที่มีอยู่ โดยมีการประเมินในหลายด้าน เช่น นโยบายการไม่เลือกปฏิบัติ สิทธิประโยชน์ทางสุขภาพที่ครอบคลุมทั้งพนักงานข้ามเพศและครอบครัว การสนับสนุนวัฒนธรรมการรวมตัวในองค์กร และความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร

 

ในปี 2023-2024 มี 545 บริษัทที่ได้ 100 คะแนนเต็ม จากบริษัทที่เข้าร่วมการประเมินดัชนี CEI ทั้งหมด 1,384 บริษัท ซึ่งนับว่าเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีบริษัทใหม่ 128 บริษัทจากหลากหลายอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมการประเมินในปีนี้ หนึ่งในความก้าวหน้าที่สำคัญของดัชนี CEI คือการนำแนวทางที่ครอบคลุมคนข้ามเพศมาใช้ โดยร้อยละ 90 ของบริษัทมีการระบุนโยบายไม่เลือกปฏิบัติตามอัตลักษณ์ทางเพศ และร้อยละ 73 มีประกันสุขภาพที่รวมถึงคนข้ามเพศ อีกทั้งดัชนี CEI ยังเน้นการจัดทำคู่มือสิทธิประโยชน์สำหรับLGBTQIA+เพื่อให้พนักงานทุกคนทราบถึงสิทธิประโยชน์ที่มี

 

โดยบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับสูงสุดในดัชนี CEI มาจากแทบทุกอุตสาหกรรมและภูมิภาคของสหรัฐฯ และเป็นตัวแทนของนายจ้างในทั้ง 50 รัฐด้วย

 

ในขณะที่เข้าสู่ปีที่ 30 ของการมีส่วนร่วมในสถานที่ทำงานเพื่อประโยชน์ของพนักงานLGBTQIA+และครอบครัว HRC ได้ยกระดับมาตรฐานในการเป็นพันธมิตรขององค์กรที่สนับสนุนการรวมตัวกัน การสำรวจในปีนี้ยากกว่าที่เคยเป็นมา เนื่องจากฝ่ายนิติบัญญัติของหลายรัฐโจมตีสมาชิกชุมชนคนข้ามเพศและนอน-ไบนารี รวมถึงฝ่ายที่ต่อต้านความเท่าเทียมของLGBTQIA+โจมตีพันธมิตรทางธุรกิจจำนวนมากขึ้น การโจมตีเหล่านี้มุ่งเป้าไปที่การยกเลิกการคุ้มครอง และโจมตีความสามารถของพนักงานที่เป็นเพศหลากหลาย

 

การสำรวจดัชนี CEI ในปีนี้มีธุรกิจ 545 แห่งที่ผ่านเกณฑ์ใหม่และได้ 100 คะแนนเต็ม และได้รับรางวัล Equality 100 Award ปี 2023-2024 จาก HRC ในฐานะผู้นำด้านการรวมตัวของLGBTQIA+ในที่ทำงาน ซึ่งถือเป็นงานหนักของหลายบริษัทที่เข้าร่วม เพราะต้องมีทั้งนโยบายที่ชัดเจนและการปฏิบัติที่ครอบคลุมดัชนี CEI นอกจากนี้ยังมีบริษัทที่ได้ 90 คะแนนขึ้นไปมากกว่าที่เคยเป็นมาด้วย แสดงให้เห็นว่านายจ้างจากบริษัทชั้นนำของประเทศเห็นถึงความจริงจังในความมุ่งมั่นในการรวมตัวและใช้ดัชนี CEI เป็นแนวทางพื้นฐานในองค์กรในเรื่องความเสมอภาคทางเพศ

 

เกณฑ์การให้คะแนนดัชนี CEI ปัจจุบันมีหลัก 4 ประการ ได้แก่

 

เกณฑ์ 1 การคุ้มครองพนักงาน

  • รสนิยมทางเพศ
  • อัตลักษณ์ทางเพศ

 

เกณฑ์ 2 สิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุม

  • สิทธิประโยชน์สำหรับคู่สมรสและคู่ชีวิต การรักษาพยาบาล และสิทธิประโยชน์อื่นๆ
  • สิทธิประโยชน์การสร้างครอบครัวที่ครอบคลุม
  • ประกันสุขภาพที่รวมถึงคนข้ามเพศ
  • คู่มือสิทธิประโยชน์LGBTQIA+

 

เกณฑ์ 3 การสนับสนุนวัฒนธรรมที่ครอบคลุม

  • แนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในการศึกษาและฝึกอบรมภายในเกี่ยวกับLGBTQIA+
  • การเก็บข้อมูลLGBTQIA+
  • แนวปฏิบัติที่ครอบคลุมสำหรับคนข้ามเพศ
  • แหล่งทรัพยากรสำหรับพนักงาน LGBTQIA+หรือมีชมรม/กลุ่ม

 

เกณฑ์ 4 ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร

  • ความพยายามในการมีส่วนร่วมกับชุมชนLGBTQIA+ ที่กว้างขึ้น
  • มาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร และแนวทางการบริจาคเพื่อการกุศลที่ครอบคลุมLGBTQIA+
  • นโยบายไม่เลือกปฏิบัติในหน่วยธุรกิจ
  • สวัสดิการที่เท่าเทียมกันสำหรับพนักงานLGBTQIA+ และครอบครัว
  • การสนับสนุนวัฒนธรรมการโอบรับ
  • ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร

 

ทั้งนี้ HRC ได้เผยแพร่รายงานดัชนี CEI ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการสำรวจประจำปีที่จัดทำขึ้นกับนายจ้างรายใหญ่ทั่วโลก ในดัชนีแรกในปี 2002 มีเพียง 13 บริษัทที่ได้ 100 คะแนนเต็ม เมื่อเทียบกับ 545 บริษัทที่ได้รับคะแนนเต็มในปีนี้ เมื่อภาคธุรกิจให้การศึกษา ฝึกอบรม และมีนโยบายความรับผิดชอบเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศและการรวมตัวในสถานที่ทำงาน พบว่ามีทิศทางที่ดีขึ้นต่อการรวมตัวของคนข้ามเพศในที่ทำงาน มีการนำเสนอเรื่องการดูแลสุขภาพและอื่นๆ ด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าพนักงานทุกคนทราบถึงสิทธิประโยชน์และบริการที่นายจ้างของตนจัดหาให้อย่างเท่าเทียม

 

ลองจินตนาการว่าหากมีบริษัทในไทยสนใจลงทุนเพื่อเข้าร่วมเพื่อวัดดัชนีความเสมอภาคองค์กรภาคเอกชนก็คงจะดีไม่น้อย แม้ต้องใช้เวลาอยู่บ้างเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายในประเทศ การได้วัดและประเมินบริษัทด้วยแบบวัดที่เป็นสากลคงเป็นหลักฐานหนึ่งเพื่อจะยืนยันว่าบริษัทมีนโยบายและการปฏิบัติจริง และเป็นการยืนยันว่าการออกมาสนับสนุนสิทธิLGBTQIA+นั้นมีที่มาที่ไปที่จริงจังและจริงใจ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising