×

เมื่อการแต่งกายข้ามเพศขัดกับหลักศาสนา การขอสถานะผู้ลี้ภัยในต่างแดน เพื่อเลี่ยงการประหัตประหารจึงเกิดขึ้น

22.09.2021
  • LOADING...
นูร ซาญัต

นูร ซาญัต (Nur Sajat) คือใคร เกิดอะไรขึ้นกับเธอ

 

นูร ซาญัต ทรานส์เจนเดอร์สาวชาวมาเลเซีย เจ้าของธุรกิจเครื่องสำอาง ถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองไทยจับกุมตัวเมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา หลังเดินทางมาลี้ภัยยังประเทศไทย เพื่อเดินเรื่องขอสถานะผู้ลี้ภัยไปยังออสเตรเลีย หลังรัฐบาลมาเลเซียสั่งยกเลิกการใช้หนังสือเดินทางของเธอ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลไทยส่งตัวเธอกลับไปยังมาเลเซีย เพื่อรับโทษตามกฎหมาย 

 

แม้ประเทศไทยจะมีสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ แต่ไทยไม่ได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกกับอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ปี 1951 และพิธีสาร ปี 1967 และไม่มีกฎหมายที่รองรับการเข้ามาของผู้ขอลี้ภัย ผู้ลี้ภัยจึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายการตรวจคนเข้าเมืองเหมือนกับชาวต่างชาติคนอื่นๆ จึงสามารถถูกจับกุม กักกัน และเนรเทศออกนอกประเทศได้ 

 

จากฐานความผิดเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย นูร ซาญัต ได้รับการปล่อยตัวหลังจากวางหลักทรัพย์ประกันตัวเป็นเงิน 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 66,700 บาท) พร้อมเงื่อนไขให้เธอเข้ารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของไทยเป็นประจำทุก 2 สัปดาห์ 

 

สาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงข้ามเพศ (Transwoman) รายนี้ถูกติดตามตัวจากรัฐบาลมาเลเซีย เนื่องจากเมื่อปี 2018 นูร ซาญัต ถูกเจ้าหน้าที่การศาสนาอิสลามของรัฐเซอลาโงร์ 1 ใน 13 รัฐของมาเลเซีย แจ้งข้อหาดูหมิ่นศาสนาอิสลาม ละเมิดกฎหมายชารีอะห์ หลังจากที่เธอเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนาด้วยการสวมใส่เครื่องแต่งกายที่กำหนดไว้ให้เพศหญิงใส่ โดยศาลศาสนาอิสลามได้ขอหมายจับกุมตัวตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากไม่ได้เข้าฟังการพิจารณาไต่สวนของศาล ซึ่งเธออาจต้องโทษจำคุกสูงสุดถึง 3 ปี หากพบว่ามีความผิดจริง

 

ตัวแทนองค์การด้านสิทธิทั้งในไทยและมาเลเซียต่างเคลื่อนไหวในประเด็นของ นูร ซาญัต

 

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม โพสต์จดหมายเปิดผนึกผ่านเฟซบุ๊ก Cross Cultural Foundation (CrCF) ถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา กรณีเจ้าหน้าที่รัฐไทยเข้าจับกุมชาวมาเลเซีย เสี่ยงต่อการส่งตัวกลับประเทศและถูกการทรมาน ถูกกระทำอย่างโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรี จากการประหัตประหารด้วยกฎหมายชารีอะห์ รัฐเซอลาโงร์ ประเทศมาเลเซีย

 

โดยระบุว่า ประเทศไทยเป็นภาคีในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: CAT) ข้อ 3 (1) ว่า รัฐภาคีต้องไม่ขับไล่ ส่งกลับ (ผลักดันกลับออกไป) หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะตกอยู่ภายใต้อันตรายที่จะถูกทรมาน ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่รัฐภาคีจำต้องปฏิบัติตามหลักการ Non-Refoulement

 

ประกอบกับรัฐสภาไทยได้มีมติรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .… เพื่อให้การกระทำทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรี และการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญา โดยประธานสภาผู้แทนราษฎรได้บรรจุร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเป็นวาระเร่งด่วนตามการร้องขอของนายกรัฐมนตรี 

 

5 ข้อเรียกร้องของประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรมต่อนายกรัฐมนตรี

 

  1. นูร ซาญัต มีสถานะเป็นผู้ลี้ภัย กำลังอยู่ระหว่างเตรียมการเดินทางไปประเทศที่สาม จึงมีสิทธิอาศัยอยู่ชั่วคราวในประเทศไทย รัฐบาลต้องดูแลให้ความปลอดภัยจนกว่าจะเดินทางออกนอกราชอาณาจักรไปประเทศที่สาม
  2. มาเลเซียไม่สามารถขอตัว นูร ซาญัต ไปดำเนินคดีในมาเลเซียได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายให้อำนาจประเทศไทยในการส่งให้มาเลเซีย ด้วยกรณีนี้ไม่เข้าด้วยเงื่อนไขและองค์ประกอบสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
  3. การแต่งกายข้ามเพศและการแปลงเพศ แม้จะเป็นความผิดตามกฎหมายมาเลเซีย แต่มิได้เป็นความผิดตามกฎหมายไทย และการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไปปฏิบัติตามกฎหมายมาเลเซีย ในการจับกุม นูร ซาญัต และส่งตัวกลับไปประเทศมาเลเซีย จะทำให้ประเทศไทยเสียอธิปไตยทางศาล
  4. รัฐบาลต้องไม่ส่ง นูร ซาญัต กลับไปยังประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้ เพราะจะทำให้ นูร ซาญัต ตกอยู่ภายใต้อันตรายของภัยประหัตประหาร การทรมาน เเละการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรี 
  5. นายกรัฐมนตรีต้องกำกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ และหากพบว่ามีการกระทำความผิด ก็ขอให้ดำเนินการต่อเจ้าหน้าที่ทั้งทางวินัย ทางอาญา และทางปกครองด้วย

 

ขณะที่ Thilaga Sulathireh ผู้ร่วมก่อตั้ง Justice for Sisters กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิทรานส์เจนเดอร์ในมาเลเซีย ชี้ว่าการเดินหน้าข่มเหงรังแก นูร ซาญัต อย่างต่อเนื่อง สะท้อนบรรยากาศของการกดขี่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ในมาเลเซีย โดยเธอเรียกร้องผ่าน AFP ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องยุติการสืบสวนสอบสวนและการละเมิดสิทธิของ นูร ซาญัต ในทันที 

 

“นี่คือสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นในมาเลเซีย ผู้หญิงข้ามเพศอย่างฉันถูกลงโทษจากกฎหมายอิสลาม เพียงเพราะฉันทำบุญทำการกุศลเพื่อศาสนาอิสลามของฉัน เพียงเพราะฉันสวมใส่ชุดผู้หญิง โปรดช่วยเหลือฉันในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง มองสิ่งที่เกิดขึ้นกับฉันในประเทศของฉัน” – ทวีตของ นูร ซาญัต ที่แท็กขอความช่วยเหลือจาก เคนเนท รอธ ผู้อำนวยการองค์การ Human Rights Watch เมื่อ 25 มกราคมที่ผ่านมา –

 

ภาพ: @Nursajat03 / Twitter

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X