×

ก้าวต่อไป (อีกยาวไกล): ความเสมอภาคในการสมรสของ LGBTI ในประเทศไทย

09.07.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต (ร่างที่ 3) ที่จะผลักดันเข้าสู่คณะรัฐมนตรีปลายปี 2561 จะมีเนื้อหาสาระอย่างไร
  • เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต ร่างที่ 1 และร่างที่ 2 มีแนวโน้มลดทอนสิทธิของคู่ LGBTI ลงเรื่อยๆ และสิทธิของคู่ LGBTI ในการรับบุตรบุญธรรมและการปกครองบุตรบุญธรรมร่วมกันยังคงเป็น ‘สิทธิหวงห้าม’ ในทุกร่างที่ผ่านมา
  • ผู้เขียนภาวนาขอให้พลเมือง LGBTI ในประเทศไทยติดตามการทำงานของร่างดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยดังเช่นพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558

 

 

งานเสวนา ‘ก้าวต่อไปของประเทศไทย: ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ…..’  เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2561 โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ ถือเป็นกิจกรรมใหญ่งานหนึ่งในรอบ 5 ปีที่แสดงหมุดหมายสำคัญของการผลักดันร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต (ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต) เพื่อรับรองสิทธิการใช้ชีวิตคู่ของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI) นับตั้งแต่มีการรัฐประหารในปี 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้กล่าวเปิดการประชุมและให้คำมั่นว่าจะยกร่างให้เสร็จภายในเดือนกันยายน และจะนำเข้าสู่คณะรัฐมนตรีภายในเดือนธันวาคม 2561

 

ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกล่าวถึงถือเป็นร่างที่ 3 (เท่าที่ผู้เขียนรวบรวมได้) โดยร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ร่างที่ 1 เผยแพร่ในปี 2556 มีจำนวน 15 มาตรา ร่างต่อมาคือร่างที่ 2 มีจำนวน 63 มาตรา เผยแพร่ร่างในงาน IDAHOT ปี 2560

 

ผู้เขียนได้เข้าร่วมงานเสวนาดังกล่าวในฐานะประชาชนที่ติดตามการร่างกฎหมาย ทว่าไม่ปรากฏเอกสารร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ร่างที่ 3 ในงานนี้แต่อย่างใด จึงเป็นที่น่ากังวลอย่างยิ่งว่าสาระสำคัญและเนื้อหาของร่างที่ 3 จะให้สิทธิในการสมรสและก่อตั้งครอบครัว ซึ่งเป็นประเด็นที่กระทรวงยุติธรรมให้ความสำคัญ เนื่องจากถูกรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) รวมทั้งแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 และตามคำปฏิญาณโดยสมัครใจที่รัฐบาลไทยได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ในกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในปี 2559 (Universal Periodic Review – UPR) ว่าจะมีการทบทวนการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่มีเงื่อนไขจำกัดการสมรสเฉพาะชายกับหญิงหรือไม่เพียงใด

 

 

ในงานเสวนาดังกล่าว ช่วงแรกมีท่านทูตจากนานาอารยประเทศมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต้นแบบที่ดีในการพัฒนากฎหมายคู่ชีวิตและการสมรสของ LGBTI ได้แก่ แคนาดา, ฟินแลนด์, เม็กซิโก, แอฟริกาใต้ และออสเตรเลีย ในทุกประเทศดังกล่าวมีกฎหมายรับรองสิทธิการใช้ชีวิตคู่ 2 รูปแบบคือ

 

1. การจดทะเบียนรับรองความสัมพันธ์ หรือจดทะเบียนคู่ชีวิต ได้แก่ Civil Partnership, Civil Union, Registered Partnership

 

2. กฎหมายที่ให้ความเสมอภาคในการสมรส ได้แก่ Marriage Equality, Same-sex Marriage ประเทศที่น่าสนใจคือ แคนาดา เริ่มแรกมีการออกกฎหมาย Civil Union หลังจากนั้นพบว่า Civil Union ไม่เพียงพอที่จะรับรองสิทธิ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีของ LGBTI จนนำมาสู่การผลักดันต่อสู้ในทุกรูปแบบทั้งการเรียกร้องและการฟ้องต่อศาลสูง จนประสบความสำเร็จในการแก้ไขกฎหมายให้ความเสมอภาคในการสมรส (Civil Marriage) ในปี 2548                                                       

 

การเสวนาช่วงที่ 2 มีการกล่าวถึงการผลักดันร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต (ร่างที่ 3 ที่ไม่ปรากฏเอกสาร) ในวงเสวนากล่าวถึงเหตุผลที่เลือกร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตและไม่ผลักดันแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 (ปพพ.) ซึ่งจำกัดเงื่อนไขการสมรสเฉพาะชายและหญิงคือ ‘ปพพ. แก้ยาก’ และ ‘แนวทางแก้ไข ปพพ. เป็นการคิดแบบโลกสวย ไม่ใช่โลกความเป็นจริง’ โดยไม่ได้ยึดโยงบทเรียนจากท่านทูตของนานาอารยประเทศที่ได้เชิญมาเล่าประสบการณ์ในงานนี้แต่อย่างใด มีการกล่าวว่า “ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศแรกในเอเชียที่มีกฎหมายรับรองความสัมพันธ์ของ LGBTI” ทำให้ผู้เขียนนึกถึงการเรียกร้องกฎหมายความเสมอภาคในการสมรสของ LGBTI ไต้หวัน จนทำให้ศาลรัฐธรรมนูญไต้หวันมีคำสั่งแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งไต้หวันที่เดิมให้สิทธิเฉพาะชายหญิง แก้ไขเป็นขยายสิทธิการสมรสให้ LGBTI ภายในปี 2562

 

ความสำเร็จนี้เป็นผลจากองค์กรภาคประชาสังคมของไต้หวันมีการศึกษารูปแบบกฎหมายฝรั่งเศส พบว่ามีกฎหมาย 3 รูปแบบคือ กฎหมายรับรองการอยู่กิน (Concubinage), กฎหมายจดทะเบียนคู่ชีวิต (PACS) และกฎหมายสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส (Marriage / Civil Code) และเมื่อวิเคราะห์บทเรียนจากฝรั่งเศสจึงมีฉันทามติร่วมกันในการผลักดันเรียกร้อง โดยมุ่งสู่ความเสมอภาคในการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งไต้หวัน โดยมิได้เริ่มต้นจากกฎหมายจดทะเบียนคู่ชีวิต  

 

 

ผู้เขียนเกิดข้อสงสัยว่าร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต (ร่างที่ 3) ที่จะผลักดันเข้าสู่คณะรัฐมนตรีในปลายปี 2561 จะมีเนื้อหาสาระอย่างไร เนื่องจากร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ร่างที่ 1 และร่างที่ 2 มีแนวโน้มลดทอนสิทธิของคู่ LGBTI ลงเรื่อยๆ และสิทธิของคู่ LGBTI ในการรับบุตรบุญธรรมและการปกครองบุตรบุญธรรมร่วมกันยังคงเป็น ‘สิทธิหวงห้าม’ ในทุกร่างที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าจะมีข้อเสนอแนะจากเครือข่ายความหลากหลายทางเพศแล้วก็ตาม  

 

ผู้เขียนภาวนาขอให้พลเมือง LGBTI ในประเทศไทยติดตามการทำงานของร่างดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยดังเช่นพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ที่ผ่านกฎหมายอย่างรวดเร็วในยุค คสช. จึงเกิดพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ที่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่มีข้อยกเว้นในการอนุญาตให้มีการเลือกปฏิบัติ สวนทางกับร่างกฎหมายของภาคประชาชนอย่างสิ้นเชิง

 

 

ผู้เขียนเห็นว่าการพัฒนากฎหมายสู่ความเสมอภาคในการสมรสของ LGBTI อันนำมาสู่สิทธิ หน้าที่ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หนทางคงอีกยาวไกล หากผู้มีส่วนในการร่างกฎหมายและผลักดันกฎหมายเอ่ยคำว่า ‘ยาก’ โดยมิได้ถอดบทเรียนจากประเทศอื่นในทุกมิติ ในขณะที่ ‘โลกความเป็นจริง’ ใน 27 ประเทศทั่วโลกที่มีกฎหมายให้ความเสมอภาคในการสมรสกับ LGBTI ให้บทเรียนว่าการออกกฎหมายเฉพาะแยกจากกฎหมายสมรส เช่น กฎหมายการจดทะเบียนคู่ชีวิตจำกัดสิทธิบางประการกับคู่ LGBTI ถือเป็นการขัดต่อหลักห้ามการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งอัตลักษณ์ทางเพศและรสนิยมทางเพศ (Gender Identity and Sexual Orientation) จึงทำให้เกิดการผลักดัน เรียกร้องการแก้ไข หรือออกกฎหมายที่ให้ความเสมอภาคในการสมรส  

 

นอกจากนั้นท่านทูตแคนาดาได้เล่าความจริงว่า ในประเทศของท่านมีกฎหมายที่ให้ความเสมอภาคในการสมรสกับพลเมือง LGBTI กว่า 10 ปีมาแล้ว และความจริงที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือมีเด็กในประเทศไทยที่ถูกเลี้ยงดูโดยคู่รัก LGBTI อยู่แล้ว   

 

ผู้เขียนหวังว่าร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ร่างที่ 3 ที่จะเข้าสู่ สนช. เร็วๆ นี้จะไม่ละเลยสิทธิและผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเหล่านั้นที่ถูกเลี้ยงดูโดยคู่รัก LGBTI เหมือนกับที่ไม่ละเลยเด็กและโค้ชทั้ง 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง จังหวัดเชียงราย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X