×

“แค่เห็นรูปไม่ตรงกับเพศในใบสมัคร…ก็ไม่เอาแล้ว” เสียงจาก ‘เคท ครั้งพิบูลย์’ สู้เพื่อสิทธิ LGBT

15.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • เคท ครั้งพิบูลย์ ต่อสู้เพื่อสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมาตลอด เธอบอกว่าในประเทศไทย กฎหมายอนุญาตให้เพศเดียวกันแต่งงานกันได้ยังเป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้ เพราะรัฐธรรมนูญของไทยยังไม่เอื้อ รวมทั้งสิ่งที่เรียกว่า ‘บรรยากาศสังคม’ ด้วย
  • เคทมองว่า การต่อสู้เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิความเท่าเทียมกันทางเพศ บรรยากาศทางการเมืองต้องเอื้อให้เคลื่อนไหวได้ และให้พูดเรื่องนี้ได้อย่างเป็นประชาธิปไตยจริงๆ การต่อสู้เรื่องนี้จะสมบูรณ์แบบ

     ชื่อของ อาจารย์เคท-คทาวุธ ครั้งพิบูลย์ เป็นชื่อแรกๆ เสมอเมื่อเรานึกถึงคนที่สามารถพูดถึงสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBT เพราะนอกจากอาจารย์จะมีความรู้ในเรื่องนี้เป็นอย่างดีแล้ว ยังปฏิเสธไม่ได้ว่าการยืนหยัดต่อสู้ในเรื่องนี้อย่างยาวนานเป็นสิ่งที่รับรู้และจดจำได้ดี โดยเฉพาะกรณีที่อาจารย์ยื่นฟ้องและร้องเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ -อดีตต้นสังกัด ที่ไม่บรรจุเป็นอาจารย์ประจำในคณะสังคมสงเคราะห์ ด้วยเหตุที่เข้าใจได้ว่าเกิดจากอคติทางเพศ

     หลังจากนั้นชื่อและเสียงพูดของอาจารย์ก็แทบไม่เคยห่างหายไปจากสื่อและสังคมไทยในยามที่มีการถกเถียงกันเรื่องสิทธิของ LGBT และแน่นอนว่าทุกครั้งที่อาจารย์ส่งเสียง มันเป็นเสียงที่ดังฟังชัดและน่าขบคิดเสมอ  

จริงๆ ส่วนตัวคิดว่าประเทศที่เขาประสบความสำเร็จในการเรียกร้องสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นไต้หวัน ไอร์แลนด์​ เป็นเพราะกฎหมายของเขาเอื้อ รัฐธรรมนูญของเขาก็เอื้อด้วย

 

     อาจารย์เคทเริ่มต้นพูดคุยกับเราจากกรณีล่าสุดอย่างการมีกฎหมายอนุญาตให้เพศเดียวกันแต่งงานกันได้ในไต้หวัน รวมทั้งการที่ประเทศไอร์แลนด์มีนายกรัฐมนตรีเป็นคนรักเพศเดียวกันเป็นครั้งแรก

     “สิ่งที่เราควรเรียนรู้จากเรื่องนี้คือกระบวนการเคลื่อนไหว ซึ่งไม่ใช่แค่การเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม NGO หรือกลุ่มนักสิทธิมนุษยชน แต่ทุกที่ที่มันประสบความสำเร็จ เป็นเพราะว่ามีคนเข้าไปทำงานกับคนที่กำหนดนโยบาย หรือหลายที่ก็ส่งสมาชิกในกลุ่มของเขาเองเข้าไปเป็นสมาชิกรัฐสภา ไปมีสิทธิมีเสียงในการตัดสินใจ หรือไปให้ความเห็น แต่บ้านเรายังไม่เคยมีแม้แต่ LGBT ที่เป็นนักการเมือง ก็เลยไม่มีใครเข้ามาสนับสนุนเรื่องสิทธิ

     “ดังนั้นสิ่งแรกที่เราเห็นได้ชัดก็คือการเคลื่อนไหวแบบเป็นทีม มีคนรับลูกต่อ จนท้ายที่สุดมันมีคนส่งเรื่องไปให้คนที่กำหนดนโยบายคนสุดท้าย อีกอย่างก็คือฝ่าย NGO ต้องเข้มแข็งและมีเน็ตเวิร์กที่แข็งแกร่งมาก นอกจากนั้นในประเทศอื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จเรื่องการเรียกร้องสิทธิก็เพราะคนในประเทศของเขามีความเข้าใจพื้นฐานเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างดีอยู่แล้ว ดังนั้นเวลาที่เขาถูกตั้งคำถามบ่อยๆ ว่า คุณคิดว่าประชาชนส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับสิ่งที่คุณเคลื่อนไหวหรือเปล่า เขาจึงสามารถตอบได้ ซึ่งตอนนี้รัฐบาลเราก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน แล้วก็เป็นมาตั้งนานแล้วด้วย เราเองก็โดนตั้งคำถามนี้ เพราะทางรัฐเขาจะคิดว่า การมีกฎหมายใหม่ขึ้นมาก็ไม่ควรจะไปขัดกับความเห็นของคนส่วนรวม ซึ่งเขาชอบใช้คำว่า ‘บรรยากาศสังคม’ แต่ที่อื่นบรรยากาศสังคมเขาเอื้อ เพราะคนของเขาจะทนไม่ได้ที่เห็นคนถูกเลือกปฏิบัติ จริงๆ ส่วนตัวคิดว่าประเทศที่เขาประสบความสำเร็จในการเรียกร้องสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นไต้หวัน ไอร์แลนด์​ เป็นเพราะกฎหมายของเขาเอื้อ รัฐธรรมนูญของเขาก็เอื้อด้วย เช่น ถ้าคนเพศเดียวกันจะแต่งงาน กฎหมายจะมาห้ามไม่ได้ เพราะมันขัดกับรัฐธรรมนูญ”  

 

 

     อย่างไรก็ดี การเรียกร้องให้มีการแต่งงานได้ในกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายสำหรับเธอ เพราะยังมีดัชนีชี้วัดอื่นๆ ที่สำคัญไปกว่าการแต่งงาน และเป็นสิ่งที่เธอเชื่อว่าสังคมควรจะเรียนรู้ในเรื่องนี้

     “อีกเรื่องที่น่าสนใจคือเรื่องของสวัสดิการ ให้วัดกันง่ายๆ เลยว่า ถ้าประเทศนั้นมีความเท่าเทียมในเรื่องสิทธิมนุษยชนของ LGBT อย่างแท้จริง ให้ดูเรื่องนี้เรื่องเดียว ก็คือเรื่องที่ว่าคนข้ามเพศจะสามารถเปลี่ยนเป็นนายหรือนางสาวได้หรือไม่ หรือที่เรียกว่า การรับรองเพศ (Gender Recognition) เราว่าเรื่องของการแต่งงานมันเป็นการแก้ไขกฎหมายแล้วไม่กระทบกับกฎหมายอื่นๆ เยอะ แม้จะมีกฎหมายเก่าอยู่ แต่มันก็สามารถสร้างกฎหมายใหม่ขึ้นมาได้ แต่การเปลี่ยนจากผู้ชายเป็นผู้หญิง หรือผู้หญิงเป็นผู้ชาย แล้วให้บัตรประชาชนใหม่ หรือให้เปลี่ยนตั้งแต่ใบเกิด มันจะกระทบกับกฎหมายที่มีอยู่เดิม ดังนั้นประเทศไหนเปลี่ยนได้ก็จะถือว่าเป็นความก้าวหน้ามาก ตอนนี้มีไม่ถึง 20 ประเทศ แต่ที่มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจที่สุดก็คือประเทศไอร์แลนด์ เพราะเขาอนุญาตให้เปลี่ยนคำนำหน้าได้เลยโดยไม่ต้องไปหาหมอหรือขอใบรับรองแพทย์ก่อน เพราะเขาสู้กันด้านกฎหมายถึงขนาดที่คนมีสิทธิยืนยันอัตลักษณ์ทางเพศว่าเราเป็นคนข้ามเพศ แล้วเราก็ไปขอเปลี่ยนคำนำหน้าได้เลย เป็นกฎหมายที่เปิดกว้างมาก”

เราไม่ได้เชื่อว่าการประท้วงจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างเดียว แต่มันก็เป็นเหมือนมวยที่ชกย้ำไปเรื่อยๆ มันยังมีพื้นที่ในการส่งเสียงและทำให้คนในสังคมหันมาสนใจว่า เออ อยู่ดีๆ คนเรามันจะพูดเรื่องนี้ซ้ำๆ บ่อยๆ ไปทำไม ถ้ามันไม่มีปัญหาจริงๆ แต่ว่าตอนนี้ทุกอย่างมันถูกทำให้เงียบ

 

     ย้อนกลับมาที่เมืองไทย อาจารย์เคทมองว่าการต่อสู้และเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิความเท่าเทียมกันทางเพศ มีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงให้มากในเรื่องเวลาที่เหมาะสมในการสื่อสารและเรียกร้อง

     “สำหรับคนที่ต้องสู้ เขาต้องทำตอนที่สามารถเคลื่อนไหวได้ด้วยตัวเอง คือบรรยากาศทางการเมืองเอื้อให้เคลื่อนไหวได้ และให้พูดเรื่องนี้ได้อย่างเป็นประชาธิปไตยจริงๆ การต่อสู้เรื่องนี้จะสมบูรณ์แบบ แล้วก็จะได้รับการยอมรับมากกว่าที่จะมาบังคับให้มีการเปลี่ยนแปลงหรือสร้างกฎหมายในรัฐบาลทหาร ซึ่งเรามองว่ายังไม่สง่างาม แล้วมันก็ยังไม่ใช่เวลานี้ ก่อนหน้านี้เราว่าบรรยากาศมันดีกว่านี้ มีการผลักดันกฎหมาย ทำให้คนออกจากวงตัวเองไปพูดกับรัฐบาล หรืออย่างน้อยก็ออกไปประท้วง แต่ตอนนี้มันไม่มีเลย เราไม่ได้เชื่อว่าการประท้วงจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างเดียว แต่มันก็เป็นเหมือนมวยที่ชกย้ำไปเรื่อยๆ มันยังมีพื้นที่ในการส่งเสียงและทำให้คนในสังคมหันมาสนใจว่า เออ อยู่ดีๆ คนเรามันจะพูดเรื่องนี้ซ้ำๆ บ่อยๆ ไปทำไม ถ้ามันไม่มีปัญหาจริงๆ แต่ว่าตอนนี้ทุกอย่างมันถูกทำให้เงียบ แล้วมันก็มีพื้นที่ให้กับนักกิจกรรมบางกลุ่มเท่านั้นที่เขามีช่องทางที่จะคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐ คือบรรยากาศที่เอื้อให้เกิดการเคลื่อนไหว มันก็คือสังคมแบบประชาธิปไตยนั่นแหละ เพราะการเคลื่อนไหวที่ประสบความสำเร็จเกิดจากบรรยากาศที่มีการผลักดันให้เกิดการสร้างผู้แทนเพื่อไปพูดเรื่องของเราได้ เป็นผู้แทนที่เป็น ส.ส. หรือ ส.ว. จริงๆ ที่ไม่ใช่แค่ในระดับกรรมาธิการไปให้ความเห็น ซึ่งความจริงบางทีคนที่เป็น LGBT ก็อาจจะไม่ได้สนใจเรื่องสิทธิของตัวเองด้วยก็ได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางขึ้นไปที่ชีวิตไม่ได้รับผลกระทบมาก เมื่อเทียบกับชนชั้นล่างที่ต้องเจอเรื่องการเลือกปฏิบัติกันอยู่บ่อยๆ ซึ่งมันก็เห็นชัดมาก เช่น ถ้าคุณเป็น LGBT อยู่ในวงการบันเทิง เรื่องของการเลือกปฏิบัติมันก็แทบจะไม่มีการถูกพูดถึงเลย ชีวิตมีแต่ด้านที่เราเห็นว่าดี สังคมมองว่าเป็นคนมีความสามารถ มีความฉลาดแต่สำหรับคนที่ไม่ได้มีสถานภาพทางสังคมแบบนี้ เขาก็ยิ่งถูกกดลงไป ไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่ได้ ถูกตัดสินจากเพศก่อนเลย แค่เห็นรูปไม่ตรงกับเพศในใบสมัครที่เขียนว่า ‘นาย’ ก็ไม่เอาแล้ว แล้วถ้าอยากได้รับการยอมรับ ก็เหมือนมีทางเลือกเดียวว่าต้องไปทำงานในวงการบันเทิง ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวที่ LGBT ไทยจะได้รับการยอมรับ ซึ่งมันเป็นเรื่องพื้นที่ชนชั้นที่ LGBT ไทยก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้มากนัก เพราะนักกิจกรรมไทยบางกลุ่มก็ไม่ได้ทำความเข้าใจเรื่องโครงสร้างสังคมด้วย มันก็เลยเหมือนการสู้แบบไม่ถูกจุดนัก”

 

 

     เมื่อถามว่า ถ้าให้พูดแทนคนที่เป็นนักกิจกรรมหรือคนที่ต้องการเรียกร้องสิทธิว่าคนเรามักจะลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิเมื่อไร และทำไมถึงเป็นเช่นนั้น คำตอบที่ได้ก็คือ  

     “ง่ายๆ เลยคือเมื่อถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศนั่นแหละ ถ้าเทียบกันนะ เราจะรู้จัก พ.ร.บ. รถยนต์ก็ต่อเมื่อรถเราชน คือกำลังจะเปรียบเทียบว่า เมื่อไรที่สิ่งนั้นมันไม่มีผลกระทบกับชีวิตเขาก็จะไม่มีใครลุกขึ้นมาทำอะไรหรอก ซึ่งที่ผ่านมามันแย่กว่านี้อีกคือ มันมีคนที่ถูกเลือกปฏิบัติแล้วกลับไม่ลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วย เพราะโครงสร้างสังคมไม่ได้เอื้อให้เขาลุกขึ้นมาต่อสู้ เช่น ถ้ามีกะเทยถูกข่มขืนแล้วไปหาตำรวจ ตำรวจจะนั่งขำกันทั้งโรงพักแล้วบอกว่า มันแจ้งความไม่ได้หรอก มันเป็นผู้ชายกับผู้ชาย หรือไปแซวว่าเขาไม่หล่อเหรอ ถึงมาแจ้งความ คือเรื่องแบบนี้มันไม่ควรเกิดขึ้น เพราะมันยิ่งทำให้คนรู้สึกว่าไม่มีกลไกอะไรคุ้มครองเขาเลยไม่รู้จะลุกมาสู้เพื่ออะไร แล้วแรงที่เขาจะลุกมาสู้มันมีได้แค่ไหน เอาง่ายๆ ที่เราฟ้องธรรมศาสตร์ เราก็ยังเครียดตั้งนานว่าเราจะพิสูจน์ได้ยังไงว่านี่คือการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ เราจะฟ้องยังไง หาทนายยังไง ค่าทนายต้องเท่าไร เรื่องแบบนี้ล่ะที่ถ้าไม่เกิดกับตัวเอง เราก็จะไม่รู้ ดังนั้นหลายครั้งที่คนออกมาต่อสู้เรียกร้อง มันก็เป็นเพราะว่าเขาเจอปัญหา และเป็นสิ่งที่เขาไม่สามารถยอมได้ คือเป็นแนวตั้งรับมากกว่า แล้วหลายคนก็หมดแรงสู้ไประหว่างทางด้วย  

     “การที่ลุกมาสู้เมื่อเกิดเหตุกับตัว ดีกว่าไม่สู้เลย แต่ถ้าจะให้ดีกว่านั้น ควรเป็นเรื่องที่เราลุกมาพูดได้ตลอดเวลา ไม่ควรนิ่งเฉยกับการถูกเลือกปฏิบัติ เหมือนที่แท็กซี่ไม่รับผู้โดยสาร คุณไปบ่นในเฟซบุ๊กร้อยครั้งเขาก็ไม่รับ นอกจากคุณจะจำเลขทะเบียนแล้วไปร้องเรียนที่กรมการขนส่งทางบก พูดง่ายๆ ว่าไม่ควรนิ่งเฉย แต่คุณควรร้องเรียน ต้องมีกลไกอะไรสักอย่างมาบอกว่าสิ่งที่คุณถูกละเมิดคือสิ่งที่ไม่ควรถูกกระทำ”

มันมีคนที่ถูกเลือกปฏิบัติแล้วกลับไม่ลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วย เพราะโครงสร้างสังคมไม่ได้เอื้อให้เขาลุกขึ้นมาต่อสู้

 

     ทุกวันนี้การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันยังดำเนินต่อไป แม้หลายเรื่องยังหาข้อยุติร่วมกันไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความหวัง

     “ความหวังที่อยากเห็นในการเรียกร้องสิทธิ LGBT คือก่อนหน้านี้ใน พ.ศ. 2550 เคยมีการเขียนคำว่าเพศในรัฐธรรมนูญ แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มี แต่มีสิ่งที่เขียนมาเพิ่มเติมคือ ชายหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน พอคุณไปเปลี่ยนเป็นนางสาว คุณสามารถใช้สิทธิการแต่งงานในแบบนางสาวก็ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่คนทำงานด้านความหลากหลายทางเพศมองก็คือ มันก็จะไปผลิตซ้ำเรื่องเพศหญิงชาย เพราะในอนาคตข้างหน้า คนควรจะสามารถเลือกระบุเพศได้มากกว่านี้ ดังนั้นถ้าเราจะตัดช่องน้อยแต่พอตัวต่อสู้เพื่อเรื่องเพียงเท่านี้ มันก็ยังไม่เป็นธรรม ไม่ทั่วถึงจริงๆ เพราะเป็นการยัดตัวเองเข้าไปเป็นเพศกระแสหลัก ส่วนตัวแล้วอยากให้ใช้ ‘บุคคล’ มากกว่าจะไประบุเพศ​ จะได้เผื่อที่ให้เขาได้นิยามความเป็นเพศตัวเองในอนาคต พูดง่ายๆ ว่าเมื่อเราไประบุความเป็นเพศไว้ตั้งแต่แรก เราก็เหมือนมองคนที่เรื่องเพศอย่างเดียว ไม่ได้มองทรงผม หรือสิ่งอื่นๆ ที่เป็นเส้นแบ่งความเป็นหญิงชาย จริงๆ เราเชื่อเรื่องความลื่นไหลทางเพศนะ แต่ก็ไม่รู้จะอธิบายกับสังคมยังไง เราถึงได้พูดเรื่อง gender non-conforming ในเด็ก เพราะเด็กจะต้องเติบโตมาแบบที่เขาอาจจะยังไม่เลือกว่าจะเป็นเพศไหนก็ได้ เพราะนักสิทธิมนุษยชนเองก็เชื่อว่าเด็กยังมีพัฒนาการในด้านการตัดสินใจอยู่ เด็กจึงยังไม่สามารถบอกได้ตั้งแต่แรกว่าจะเป็นเพศไหน เพราะเราเชื่อว่าการเลือกเพศมันสามารถกลับหรือเปลี่ยนได้ตลอด แต่เอาเถอะ ก่อนที่เราจะไปพูดเรื่องความลื่นไหล เราไปทำความเข้าใจกันให้ได้ก่อนเถอะว่าเพศมีอะไรบ้าง LGBT คืออะไร เพราะถ้าเราเอาคำนี้ไปพูดกับผู้ใหญ่ในกระทรวง เขาอาจจะไม่เข้าใจก็ได้ว่าคืออะไร อาจจะ

     คิดว่าเป็นตัวย่อของปุ๋ยตัวใหม่หรือเปล่า”

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X