×

ไม่มีแดนสีรุ้งสำหรับเธอ สำรวจชีวิตและการปฏิบัติต่อนักโทษ LGBT ในเมืองไทย เท่าเทียมหรือถูกต้อง?

12.09.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • หากกลุ่มความหลากหลายทางเพศกระทำความผิดและต้องโทษตามกฎหมายแล้ว การจำแนกนักโทษจะถูกจำแนกตามเพศกำเนิด กล่าวคือหากเป็นคนข้ามเพศ (Transgender) แปลงเพศจากชายเป็นหญิง แต่ยังมีคำนำหน้าว่า ‘นาย’ ก็ต้องได้รับการปฏิบัติเทียบเท่ากับนักโทษชายที่เป็นชาย (Straight) คนอื่นๆ
  • แม้กลุ่มนักโทษหลากหลายทางเพศจะเป็นเพียง 1.2% ของนักโทษทั่วประเทศ แต่พวกเขาก็ไม่ควรถูกละเลยเพียงเพราะมีจำนวนน้อยกว่านักโทษที่ชอบเพศตรงข้าม ซึ่งในอีกแง่มุมหนึ่งก็เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน เพราะหากกลุ่มนักโทษหลากหลายทางเพศได้รับการปฏิบัติที่ต่างไปจะกลายเป็นความไม่เท่าเทียมกัน

ในบริบทเรื่องความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยของเรามีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจและควรจะหยิบยกขึ้นมาพูดถึง นั่นคือเรื่อง ‘ชีวิตของ LGBT ในเรือนจำ’

 

พื้นที่จองจำนักโทษต้องคดีต่างๆ ที่จะต้องมาอยู่ร่วมกันในพื้นที่เล็กๆ และใช้ชีวิตอยู่ตามเวลาที่ถูกกำหนด ไหนจะเรือนจำบางขวาง คลองเปรม คำว่าแดน 3 แดน 5 ทัณฑสถานหญิง หรือสุดแล้วแต่คุณจะคุ้นคำไหน แต่เราเชื่อเรื่องหนึ่งว่าคุณก็จะนึกออกเพียงแค่ภาพของเรือนจำที่ขังผู้ชาย เรือนจำที่ขังผู้หญิง แล้วนักโทษที่เป็นกลุ่มความหลากหลายทางเพศเขาอยู่ตรงไหนกัน มีชีวิตเป็นอย่างไร  

 

และขอโทษที เพราะที่นี่ไม่มีแดนสีรุ้งสำหรับเธอ

 

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP จัดงาน ‘การประชุมเชิงปฏิบัติการเรียกร้องให้มีแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานในการควบคุมดูแลผู้ต้องขังข้ามเพศ และเพื่อแก้ปัญหาการคุกคามทางเพศในเรือนจำ’ ซึ่งจัดขึ้นร่วมกับองค์กรในไทยที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องราวดังกล่าว ทั้งกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์ ร่วมกันถกประเด็นและพูดถึงความเป็นไปได้ของแนวทางปฏิบัติและแก้ไขปัญหาสำหรับกลุ่มนักโทษหลากหลายทางเพศ

 

รู้หรือไม่ว่าในปัจจุบันประเทศไทยของเรามีจำนวนเรือนจำอยู่ทั้งหมด 143 แห่ง มีจำนวนนักโทษที่ถูกคุมขังอยู่ในปัจจุบันราว 366,000 คน มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอีกราว 13,000 คน แต่มีเพียง 10,000 คนเท่านั้นที่เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในเรือนจำที่คลุกคลีกับนักโทษจริงๆ ฟังดูเป็นตัวเลขกลมๆ อาจดูน่าปวดหัว แต่ถ้าเราบอกคุณว่าอัตราส่วนผู้คุมต่อนักโทษในปัจจุบันอยู่ที่ราว 1 ต่อ 30 คุณจินตนาการภาพความแออัดออกหรือไม่

 

เพียงแค่นี้ก็เริ่มเกิดคำถามขึ้นว่านักโทษก็มีจำนวนเยอะมากแล้ว ทำไมกรมราชทัณฑ์ยังต้องดูแลหรือใส่ใจกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ‘เป็นพิเศษ’ กว่าเพศชายหญิงล่ะ และหากเกิดมีข้อปฏิบัติที่กำหนดขึ้นมาเพื่อใช้กับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศจริงๆ แล้วสิ่งที่เรือนจำต้องปฏิบัติกับนักโทษชายจริงหญิงแท้จะมีความแตกต่างด้วยไหม

 

 

เพศสภาพหรือเพศกำเนิด ปัญหาอยู่ที่ใคร

ในสังคมไทยที่ยังไม่มีการรองรับเพศอื่นๆ ให้เป็นเพศที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีเพียงเพศชายและหญิงอันเป็นกรอบความคิดเรื่องเพศ (Sex) ที่แสนคลาสสิก ดังนั้นเราจึงเห็นเพียงแต่การมีอยู่ของทัณฑสถานหญิงและทัณฑสถานชายเท่านั้น โดยหากกลุ่มความหลากหลายทางเพศกระทำความผิดและต้องโทษตามกฎหมายแล้ว การจำแนกนักโทษจึงถูกจำแนกตามเพศกำเนิด กล่าวคือหากคุณเป็นคนข้ามเพศ (Transgender) แปลงเพศจากชายเป็นหญิงแล้ว แต่ยังมีคำนำหน้าว่า ‘นาย’ ก็ต้องได้รับการปฏิบัติเทียบเท่ากับนักโทษชายที่ชอบเพศหญิง (Straight) คนอื่นๆ และถูกคุมขังในทัณฑสถานชายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

กรมราชทัณฑ์ได้ทำการสำรวจกลุ่มความหลากหลายทางเพศในเรือนจำทั่วประเทศ พบว่ามีอยู่ราว 4,500 คน หรือคิดเป็นเพียง 1.2% ของนักโทษทั้งหมด และด้วยลักษณะของการเหมารวมด้วยเพศกำเนิดนี้ ผู้ต้องขังหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะผู้ต้องขังที่เป็นคนข้ามเพศจึงมีความกังวลและรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศหรือวิถีทางเพศของตน ด้วยเกรงว่าอาจจะถูกเลือกปฏิบัติ หรือถูกปฏิบัติจากคนรอบข้างอันเนื่องมาจากความไม่เข้าใจและการมีอคติ ไปจนถึงการใช้ความรุนแรง

 

ขณะเดียวกัน นักโทษกลุ่มหลากหลายทางเพศเองก็สร้างปัญหาที่เกี่ยวเนื่องมาจากเพศสภาวะและการแสดงออกทางเพศเช่นกัน เช่น กรณีที่ บุษบา ศักรางกูร ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ได้แชร์เรื่องราวไว้ในการประชุม โดยเธอบอกว่าในส่วนของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่เองก็มีกลุ่มนักโทษทอมและเลสเบี้ยนในจำนวนประมาณ 200 คน ซึ่งปัญหาที่พบเจอคือการทะเลาะวิวาท ตบตีแย่งชิงภายในเรือนจำอยู่เสมอ รวมไปถึงการแสดงออกทางเพศในลักษณะของการมีเซ็กซ์ ซึ่งขัดกับกฎระเบียบปฏิบัติในเรือนจำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่เองก็ปฏิบัติงานอิงอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจอย่างมาก และควรหาหนทางที่จะทำอย่างไรให้เกิดความสมดุลกันระหว่างกลุ่มคนปฏิบัติงานและกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในเรือนจำ

 

 

ปัญหาของความไม่ถูกต้อง

เอาเพียงแค่นอกรั้วเรือนจำ กลุ่มความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยยังต้องเผชิญกับการตีตรา การเลือกปฏิบัติ และการกีดกันทางสังคม รวมไปถึงการเหมารวมในชีวิตประจำวัน เช่น การเป็นเกย์จะต้องถูกตราหน้าว่าเป็นคนที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก เกย์คือผู้ชายที่อยากเป็นผู้หญิง หรือเพียงแค่ความเข้าใจในคำว่า ‘คนข้ามเพศ’ ยังเป็นชุดความเข้าใจที่ไม่แพร่หลายเลยด้วยซ้ำ ซึ่งล้วนเป็นผลพวงมาจากกรอบความคิดล้าสมัยที่ยังคงมีอยู่ในสังคม

 

แล้วกับพื้นที่ภายในเรือนจำล่ะ? จากการรายงานภายในการสัมมนาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่านักโทษที่เป็นคนข้ามเพศมักถูกเลือกปฏิบัติและถูกละเมิดทางเพศ ถูกข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย ตลอดจนไม่ได้รับความคุ้มครองเมื่อถูกคุกคามจากผู้ต้องขังคนอื่นๆ หากเป็นนักโทษแปลงเพศหญิงที่มีคำนำหน้าว่านายจะไม่ได้รับ ‘เสื้อชั้นใน’ หรือหากเป็นเกย์แล้วมีเซ็กซ์หรือถูกละเมิดทางเพศจากนักโทษชายด้วยกัน ทางเรือนจำเองก็ไม่มีถุงยางอนามัยให้ใช้ป้องกันตัวเอง ซึ่งเสี่ยงกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างมาก

 

เราอาจเข้าใจได้ตรงนี้ว่านอกเหนือจากการจัดสรรนักโทษตามเพศกำเนิดจะเป็นปัจจัยหลักที่ก่อปัญหาแล้ว อีกหนึ่งปัญหาคือความไม่เข้าใจอันใหญ่หลวงของผู้ปฏิบัติงานเองที่ยังคงขับเบียดกลุ่มคนหลากหลายทางเพศให้เป็นสิ่งที่ดู ‘ไม่ปกติ’ เพิ่มความรุนแรงของการตีตราและการเหมารวมให้มากขึ้นไปอีก แต่สิ่งที่เราชื่นชมคือแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้ของกรมราชทัณฑ์ นั่นคือการให้ความรู้พื้นฐานเรื่องกลุ่มคนหลากหลายทางเพศประหนึ่งวิชา 101 ในมหาวิทยาลัยให้กับผู้ปฏิบัติงานทุกหน่วยอย่างเต็มที่ เริ่มต้นง่ายๆ จากการให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคนเข้าใจตรงกันว่า ‘LGBT is born to be.’ ไม่ใช่หวัด ไม่ได้เป็นๆ หายๆ

 

 

Photo: giphy.com

 

เท่าเทียมหรือถูกต้อง

สิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องเข้าใจอย่างแรกคือ การจองจำนักโทษไม่ว่าจะในกลุ่มไหนก็ตามย่อมไม่สามารถลบเลือนเพศวิถีของพวกเขาไปได้ ถึงเขาจะเป็น Transgender ที่มีคำนำหน้าว่า ‘นาย’ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเขาจะเป็น ‘ผู้ชาย’ เสมือนเพศ Straight คนอื่นๆ ซึ่งหนทางแก้ไขปัญหาคือควรจะต้องเปลี่ยนการจำแนกนักโทษจากเพศกำเนิดเป็นการจำแนกนักโทษด้วยเพศสภาพย่อมถูกต้องกว่า ซึ่งทางกรมราชทัณฑ์ก็มีแนวทางในการแก้ไขปัญหา เช่น การให้คนข้ามเพศแยกขังเดี่ยวเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะ หรือการถูกละเมิดทางเพศ ซึ่งเป็นเพียงแผนเบื้องต้นที่ปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบัน

 

และถึงแม้กลุ่มนักโทษหลากหลายทางเพศจะเป็นเพียง 1.2% ของนักโทษทั่วประเทศก็ตาม แต่พวกเขาก็ไม่ควรถูกละเลยเพียงเพราะมีจำนวนน้อยกว่านักโทษที่ชอบเพศตรงข้าม ซึ่งในอีกแง่มุมหนึ่งก็ประเด็นที่ละเอียดอ่อน เพราะอาจถูกมองว่าได้รับการปฏิบัติในรูปแบบที่ต่างไป และกลายเป็นความไม่เท่าเทียมกันเสียเอง

 

แต่สิ่งหนึ่งที่คลายกังวลใจได้คือการจ่ายยา PEP และ PrEP ในเรือนจำนั้น ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำงานมาอย่างต่อเนื่องเสมอตั้งแต่ในปี 2545 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นประเด็นเรื่องการแจกถุงยางอนามัยและเจลก็ดูจะเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาที่น่าสนใจเช่นกัน หากคุณไม่ได้มองว่าการมีถุงยางและเจลอย่างทั่วถึงในเรือนจำจะเป็นเสมือนการสนับสนุนให้มีเพศสัมพันธ์ แทนที่จะเป็นเรื่องของการป้องกันโรคเพียงอย่างเดียว โดยหลังจากนี้กรมราชทัณฑ์เองก็ต้องทำงานต่อเพื่อจัดทำแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานการควบคุมดูแลผู้ต้องขังข้ามเพศ โดยประเทศไทยจะนำเสนอประเด็นนี้เพื่อหารือกับผู้นำประเทศอื่นในอาเซียน และปรับปรุงการดูแลผู้ต้องขังข้ามเพศในเรือนจำในภูมิภาคให้ดียิ่งขึ้นในการประชุมอาเซียนปีหน้า และนั่นอาจจะเป็นสัญญาณที่ดีว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ความถูกต้องในเรื่องการปฏิบัติต่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในเรือนจำจะมีท่าทีที่ดีขึ้น ถูกต้อง เหมาะสม และมีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น

 

ขอขอบคุณ: โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

FYI
  • อัตราส่วนระหว่างเจ้าหน้าที่เรือนจำและนักโทษในระดับสากลคือ 1 ต่อ 5 แต่ประเทศไทยมีอัตราส่วน 1 ต่อ 30
  • สถิติการก่ออาชญากรรมซ้ำของนักโทษที่ถูกปล่อยตัวคือปัญหาที่ค่อนข้างใหญ่ในไทย เพราะถ้าหากมีผู้พ้นโทษจำนวน 100 คน 25% จะกลับเข้ามาในคุกอีกครั้งภายในเวลา 2 ปี และภายใน 3 ปีจะมีปริมาณกว่า 33% ที่กลับมารับโทษอีกครั้ง
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X