×

สิทธิการเลี้ยงดูบุตรของครอบครัวหลากหลายทางเพศ… ความเท่าเทียมที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย

26.09.2019
  • LOADING...
ครอบครัวหลากหลายทางเพศ

HIGHLIGHTS

8 MINS. READ
  • การจดทะเบียน ‘คู่ชีวิต’ ไม่เท่ากับการจดทะเบียน ‘สมรส’ เพราะยังมีสิทธิหลายอย่างที่ไม่เสมอภาคกัน โดยเฉพาะในประเด็นของการรับบุตรบุญธรรม หรือการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อช่วยในการมีบุตร
  • ในงานเสวนาสิทธิเพื่อการมีและรับรองบุตรของครอบครัวหลากหลายทางเพศ = บุพการี ผู้ร่วมเสวนาต่างฉายภาพให้เห็นถึงปัญหา เมื่อชาว LGBTQ ต้องการจะเป็นพ่อแม่ ซึ่งนอกจากกฎหมายจะไม่เปิดทางให้แล้ว ยังมีความท้าทายเกี่ยวกับมุมมองของคนในสังคมหลายประเด็นที่ยังไม่ถูกแก้ไขอีกด้วย
  • สุดท้ายความ ‘เท่าเทียม’ จะเกิดขึ้นจริงในสังคมไทยได้หรือไม่ ยังมีหลายเรื่องที่เราต้องช่วยกันหาทางออก

ในช่วงที่ผ่านมา พ.ร.บ. คู่ชีวิต กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างมากทั้งในสังคม LGBTQ และสังคมในวงกว้าง โดยเฉพาะในเนื้อหา พ.ร.บ. คู่ชีวิต ที่แม้จะเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่สิทธิที่ระบุไว้ กลับไม่ครอบคลุมในหลายประเด็น 

 

ประเด็นแรกและสำคัญในแง่กฎหมายของกลุ่ม LGBTQ ที่อยากสร้างสถาบันครอบครัวคือ ต้องเข้าใจว่าในประเทศไทยการจดทะเบียน ‘คู่ชีวิต’ ไม่เท่ากับการจดทะเบียน ‘สมรส’ ไม่ว่าจะเป็นการรับบุตรบุญธรรม หรือใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์เข้ามาช่วยในการมีบุตร

 

ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) มาตรา 1448 กำหนดเงื่อนไขอนุญาตให้เฉพาะบุคคล ‘เพศชาย’ กับ ‘เพศหญิง’ เท่านั้น ที่จะจดทะเบียนสมรสได้ แม้ว่าจะมีการออกกฎหมายชัดเจนเพื่อให้สิทธิ แต่นักกิจกรรมความหลากหลายทางเพศยังมองว่า มีความไม่เสมอภาคอยู่ ยังไม่นับรวมประเด็นที่ว่า ในยุคนี้ปัจเจก (แม้แต่คู่ชายหญิง) ก็ไม่ได้นิยมที่จะแต่งงานและจดทะเบียนสมรสกันเสมอไป แต่พวกเขายังถูกข้อจำกัดทางกฎหมายบีบให้จดทะเบียน ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย

 

ตามสถานการณ์โลกมี 27 ประเทศ ที่มีการเปิดให้จดทะเบียนคู่ชีวิต ในขณะที่มี 22 ประเทศ ที่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ ในอังกฤษ (ใช้ระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือ Common Law) กำลังจะขับเคลื่อนนโยบายที่อนุญาตให้บุคคลที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันจดทะเบียนคู่ชีวิตกันได้ด้วย เพื่อประโยชน์ทางสิทธิตามกฎหมาย หรือให้สิทธิคู่รักต่างเพศจดทะเบียนสมรสกันได้ตั้งแต่ปี 2014 ในขณะที่ไต้หวัน (ประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร หรือ Civil Law เหมือนกับไทย) เพิ่งเป็นชาติแรกของเอเชียที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมบังคับใช้แล้ว โดยที่รัฐบาลไต้หวันใช้เวลา 2 ปีในการออกกฎหมายสมรสให้กับคู่รัก LGBT แต่ก็ยังคงจำกัดสิทธิบางประการ

 

หรือแม้กระทั่งที่โบโกต้า เมืองหลวงของประเทศโคลอมเบีย ที่มีความเข้มข้นเรื่องแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม (Conservative) ก็ยังมีความคืบหน้าในเรื่องสิทธิของ LGBTQ เพราะปี 2016 รัฐบาลได้ออกกฎหมายอนุญาตให้กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศแต่งงานหรือรับบุตรบุญธรรมมาเลี้ยงได้

 

ส่วนในประเทศไทย กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศและองค์กรที่ผลักดันในประเด็นสีรุ้ง ยังพยายามที่จะต่อสู้กับ ปพพ. มาตรา 1448 อยู่ เพราะในความเข้าใจที่ว่า สังคมเปิดรับเรื่องความเท่าเทียมทางเพศเข้ามาในไอเดียของการพัฒนาแล้ว ในทางกฎหมายยังมีอีกหลายประเด็นที่เข้าใจยากว่าเท่าเทียมอย่างไรบ้าง

 

ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการตัดสินใจในการรักษาพยาบาลและจัดการศพ สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน การอุ้มบุญและปกครองบุตรร่วมกัน ซึ่งรวมทั้งบุตรที่มาจากคู่สมรสเดิม บุตรบุญธรรม หรือบุตรที่เกิดจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ สิทธิในผลประโยชน์และสวัสดิการของคู่รักอีกฝ่ายในฐานะคู่สมรสทางกฎหมาย ซึ่งความไม่เสมอภาคระหว่าง ‘คู่ชีวิต’ และ ‘คู่สมรส’ ส่งผลให้คู่ชีวิตไม่ได้รับสิทธิต่างๆ จากที่คู่สมรสมี เช่น สิทธิในการลดหย่อนภาษี สิทธิในกองทุนประกันสังคม เป็นต้น

 

ครอบครัวหลากหลายทางเพศ

 

พ่อแม่ LGBTQ จะเกิดขึ้นได้ไหมในสังคมไทย

ในงานเสวนาสิทธิเพื่อการมีและรับรองบุตรของครอบครัวหลากหลายทางเพศ = บุพการี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2562 มีผู้ร่วมวงถกเถียงจากหลายหลายที่มา เช่น อังคณา นีละไพจิตร อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ วิทยา แสงอรุณ ผู้ประสานงานกลุ่ม Love United ชุมชนของคู่รักความหลากหลายทางเพศ ชวินโรจน์ ธีรพัชรพร นักกฎหมายและผู้เขียนวิทยานิพนธ์ เรื่องสิทธิความเสมอภาคในการสมรสของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ภาวิณี เทียมสอน ตัวแทนจากครอบครัวคู่รักเพศหลากหลาย และ อันธิฌา แสงชัย เจ้าของร้านหนังสือ Buku Buku Classroom และผู้ก่อตั้งทีมฟุตบอลบูคู ปัตตานี

 

ครอบครัวหลากหลายทางเพศ

 

งานเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการอ่านจดหมายเปิดผนึกของ เพชร-คริษฐา ลีละผลิน สมาชิกโรงน้ำชา กลุ่มนักกิจกรรมที่ทำงานเพื่อสนับสนุนประเด็นความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ อายุ 21 ปี ที่มีพ่อเป็น Single Dad และแม่เป็น Single Mom 

 

เพชรเล่าว่า แม้จะมีความขัดแย้งกันบ้าง แต่พ่อและแม่ที่ไม่ได้ตรงตามบทบาทในหนังสือเรียนก็มอบความรัก ความเข้าใจให้กับลูกสาวคนเดียวของบ้านได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง อีกทั้งยังให้อิสระและพื้นที่ปลอดภัยเท่าที่กำลังของพ่อและแม่จะทำได้ และพวกเขาไม่เสียใจเลยสักนิดที่ลูกสาวไม่ใช่ลูกสาวที่ตรงตามกรอบของสังคม สิ่งเหล่านี้ทำให้เพชรรู้คุณค่าของตัวเองโดยไม่ยึดติดกับกรอบหรือบทบาทใด

 

“ปัจจุบันเพชรอายุ 21 ปี มีความสัมพันธ์ที่แข็งแรงดีกับพาร์ตเนอร์ทั้ง 2 คน พวกเราทั้ง 3 คน หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้เป็นผู้ปกครองร่วมกัน ดูแลทะนุถนอมลูกด้วยกัน และสร้างครอบครัวแสนสุข ถึงแม้ว่าเพชรและพาร์ตเนอร์อีก 2 คน จะเป็นเพศหลากหลายในชนชั้นรากหญ้า แต่ก็ยังวาดฝันถึงครอบครัวแสนสุขโดยไม่จำเป็นต้องมีพ่อแม่หรือมีลูกด้วยวิธีการทางธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องมีบทบาทตามที่สังคมและรัฐกำหนด เพื่อให้ลูกของเราในอนาคตเคารพพื้นฐานของความหลากหลายและใช้ชีวิตอย่างมีความสุข โดยไม่ยืนอยู่บนความทุกข์ของคนอื่น”

 

ครอบครัวหลากหลายทางเพศ

 

ในฐานะของ LGBTQ ที่ได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ที่ไม่เป็นไปตามกรอบของสังคม เพชรได้เริ่มบทนำที่ดีในแง่ของการส่งต่อเรื่องความเสมอภาคไปที่กลุ่มคนชายขอบทั้ง Non-Binary (สำนึกทางเพศที่ไม่ใช่ชายหญิง) ชนชั้นแรงงาน ผู้พิการ หรือกลุ่มชาติพันธุ์ถูกกดขี่จากรัฐด้วย เพราะโครงสร้างทางสังคมยังมีความเหลื่อมล้ำสูง ดังนั้นพลังของการยึดถือสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์จึงมีคุณค่า

 

“โอบกอดเพื่อนมนุษย์บนพื้นฐานของความเท่าเทียม ขอให้สิทธิของการมีและรับรองบุตรของเพศหลากหลาย เป็นหนึ่งในผลผลิตของการต่อสู้ในระบอบประชาธิปไตย”

 

คงจะไม่เกินความจริงไปนัก ถ้าจะบอกว่า น้ำเสียงปิดท้ายของเพชรมีความหวังซึมอยู่ในจังหวะที่ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ฉบับที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ตามข้อมูลเอกสารมติ ครม. มีทั้งหมด 6 หมวด 44 มาตรา ซึ่งมีจำนวนมาตราลดลงจากฉบับที่เปิดรับฟังความเห็น

 

“การทำงานเพื่อสังคมไม่ได้ทำจากอุดมการณ์ข้างนอก แต่เพราะเราเป็นแม่ที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งในสมัยก่อนยังไม่มีการพูดถึงเรื่องการมีแฟนเป็นผู้หญิงอย่างกว้างขวางเท่าตอนนี้ ดังนั้นเราจะไม่ได้รับความเชื่อถือในฐานะแม่เลย ถ้าเรามีแฟนเป็นเพศเดียวกัน แม้ว่าในเชิงกฎหมายจะบอกว่า สถานะของคุณคือ ‘แม่’ ก็ตาม คู่รักเพศเดียวกันมีโอกาสเป็นได้แค่คนรู้จัก และความเป็นแม่ของคุณจะแปดเปื้อนในทันทีเมื่อถูกเปิดเผยในที่สาธารณะ” อันธิฌา แสงชัย เจ้าของร้านหนังสือ Buku Buku Classroom บอกเล่าประสบการณ์ตรง

 

ยังไม่นับวาทกรรมทางสังคมที่ยังมองว่า การที่ลูกมีพ่อหรือแม่เป็นคนรักเพศเดียวกันจะเป็นต้นแบบที่ไม่ดีต่อเด็ก อุปสรรคเรื่องการสื่อสารกับญาติด้วยกันเองก็ยังมี LGBTQ ในครอบครัวที่ยังไม่ยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศ จึงต้องรับมือกับรูปแบบความดีที่ญาติหรือคนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดคิดว่าถูกต้อง การเปิดเผยตัวว่า เป็นกะเทย เกย์ เลสเบี้ยน หรือคบหากับแฟนเพศเดียวกัน จึงสามารถเป็นเชื้อไฟแห่งความร้าวฉาน สร้างความขัดแย้งที่รุนแรงหรือบาดแผลที่พวกเขาจะต้องอยู่กับมันไปตลอดชีวิต

 

ครอบครัวหลากหลายทางเพศ

 

“เมื่อ 5 ปีก่อน เราอยากมีบุตร มีความรู้สึกอยากมีลูก เพราะแม่เปรยไว้ว่า ชาตินี้แม่จะมีโอกาสได้อุ้มหลานไหม เลยลองศึกษาหาข้อมูลหลายด้านดู ลองปรึกษาคุณหมอ แต่หมอก็แจ้งว่า หมอจะดำเนินการให้ได้ต่อเมื่อจดทะเบียนสมรสกับผู้ชาย จะลองขอเชื้อจากเพื่อนฝรั่งก็มีคนเตือนว่ามันจะยุ่งยากมาก เรากังวลว่า จะสร้างปมให้เด็กหรือเปล่า เลยลองหาทางว่า จะทำอย่างไรได้บ้างโดยที่ไม่ต้องจดทะเบียน” ส้ม-ภาวิณี เทียมสอน เทรนเนอร์อายุ 32 ปี ยังคงหวังเหมือนเดิมอยู่ แม้จะหาทางมีลูกอย่างถูกกฎหมายมาเป็นเวลาหลายปี แม้จะไม่มีวี่แววว่าจะสำเร็จในเร็ววัน

 

เธอกังวลเป็นพิเศษว่า สิทธิทางกฎหมายที่ไม่เท่ากับคู่สมรสหญิงชายอาจจะนำไปสู่ปัญหาที่ร้ายแรงที่สุด นั่นคือการต้องเสียลูกไป เช่น ผู้ชายที่ให้เชื้ออาจจะมาทวงสิทธิให้ลูกเลี้ยงดูยามแก่เฒ่า 

 

ซึ่ง อังคณา นีละไพจิตร ก็สะท้อนว่า จากประสบการณ์ที่ได้ติดตามกรณีอุ้มบุญของ กอร์ดอน เลก ที่ดำเนินการตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก ที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์หรือการอุ้มบุญ พ.ศ. 2558 โดยมีผู้หญิงไทยบริจาคไข่และใช้น้ำเชื้อจากทางฝ่ายชาย ศาลก็มีคำพิพากษาออกมาเป็นเชิงบวกมาก เพราะสุดท้ายคู่เกย์คู่นี้ก็ได้รับสิทธิในการอุ้มบุญเด็กหญิงคาร์เมน ถ้าใช้แนวทางคำพิพากษาในลักษณะนี้เป็นตัวอย่างในการคุ้มครองสิทธิทางกฎหมาย ก็สามารถเป็นกรณีศึกษาให้กับการต่อสู้ในสังเวียนต่อไปได้

 

“ก็ถือว่าเป็นความท้าทายใหม่ เพราะที่ผ่านมาประเด็นที่ LGBTQ ร้องเรียนจะมีเรื่องการแต่งกาย การเลือกปฏิบัติ หรือการไม่รับบุคคลข้ามเพศเข้าทำงานในบริษัท ไม่ว่าจะยังไงก็แล้วแต่ คนทุกคนจะต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติ จะต้องไม่เป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรง หรือคำพูดที่ทำให้เกิดความเกลียดชังและอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง เพราะฉะนั้นเรายืนยันหลักตรงนี้ เพราะเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร เพศไหน มีลักษณะใด มีวิถีทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศอย่างไรก็แล้วแต่ เราต้องเคารพสิทธิของเขา นี่คือคุณค่าของมนุษย์เลยนะ ทีนี้ถ้าเรายังมองว่า กลุ่มพวกผู้หลากหลายทางเพศพวกนี้เป็นกะเทย ถ้าเป็นครูแล้วเข้าไปสอนเดี๋ยวนักเรียนก็เป็นกะเทยกันหมด คือเราไม่ได้พิจารณาความสามารถหรือองค์ความรู้ของเขา แต่เราไปหวาดระแวงว่า ถ้าคนเหล่านี้เข้ามาจะทำให้เกิดการเบี่ยงเบนทางเพศ เราไม่ได้มองคุณค่าของเขา” อังคณากล่าวเสริม

 

มัจฉา พรอินทร์ นักรณรงค์ด้านสิทธิทั้งประเด็นสิทธิความหลากหลายทางเพศ สิทธิเด็ก สิทธิชาติพันธุ์ และสิทธิสตรี วิดีโอคอลมาในระหว่างเสวนา แต่เธอพูดชัดถ้อยชัดคำอยู่หลาย 10 นาที ในประเด็นของครอบครัว LGBTQ ที่มีบุตรบุญธรรม ซึ่งใช้ชีวิตลำบากและน่าหงุดหงิดกว่าครอบครัวที่มีพ่อแม่ชายหญิง ทั้งในมุมมองการใช้ชีวิตธรรมดา การออกไปเที่ยวต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งประเด็นที่ไปไกลกว่านั้นคือ การตั้งคำถามต่อรัฐและสังคมในกรณีที่ลูกของ LGBTQ โดนรังแกที่โรงเรียน

 

“LGBTQ ไม่มั่นใจว่ารัฐมีวิธีการในการดูแลเรื่องสิทธิการรับบุตรบุญธรรมอย่างไรบ้าง เพราะถ้าตัดสินด้วยอคติ อาจจะเป็นไปได้ว่า เราไม่คู่ควรที่จะเลี้ยงดูเด็ก ส่วนตัวมีลูกสาวครั้งแรกแล้วต้องขึ้นทะเบียนให้ลูกเรียนหนังสือ แต่โรงเรียนก็ถามหาพ่อแม่ทางสายเลือดถ้าเราไม่ได้เลี้ยงดูเด็กตั้งแต่ 3 ขวบ จึงต้องมีการเซ็นเอกสารมากมาย เราเลยรู้สึกว่าไม่ได้รับการคุ้มครอง หรือถ้าเราอยากพาลูกไปเที่ยวต่างประเทศก็มีปัญหาเรื่องพาสปอร์ต เดินทางออกนอกประเทศไม่ได้ หรืออาจจะเลยเถิดไปถึงเรื่องการค้าเด็ก (Children Trafficking) เลยก็ได้

 

“คู่ชีวิตที่เป็นแม่อีกคนไม่มีสิทธิในการเป็นผู้ปกครองโดยชอบธรรม กฎหมายที่ไม่ครอบคลุมการอุ้มบุญที่เป็นธรรม อาจจะทำให้ลูกเราโดนละเมิดสิทธิในโรงเรียนได้ ดังนั้นข้อเสนอของเราคือ อยากให้เกิดการรวมตัวกัน และมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเพื่อแก้ไขกฎหมาย ควรใช้มาตรฐานเดียวกัน เพื่อความเท่าเทียม เพื่อให้กลุ่ม LGBTQ ปกป้องคุ้มครองลูกได้อย่างเป็นธรรม

 

“นิยามของคำว่าครอบครัวในปัจจุบันก็สะท้อนค่านิยมรูปแบบหนึ่ง ซึ่งนิยามที่กว้างขวางหรือครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ค่อยได้ถูกพูดถึงในไทย เพราะความจริงใจที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมกันยังไม่มี”

 

อังคณา นีละไพจิตร สมทบข้อมูลเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงความคิดของสถาบันครอบครัวว่า ทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ทำงานร่วมกัน เพื่อที่จะสร้างหลักสูตรเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศในโรงเรียน เนื้อหาคือ นิยามของครอบครัวสมัยใหม่อาจจะเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือพ่อพ่อ แม่แม่ก็ได้ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้สังคมเข้าใจวิถีทางเพศ หรืออัตลักษณ์ที่แตกต่าง

 

ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีและน่าประทับใจในการปรับเปลี่ยนตามบริบทของสังคมและวัฒนธรรม แต่ก็ยังมีช่องว่างอยู่ว่า แล้วครูในแต่ละโรงเรียนจะเข้าใจแก่นแท้เรื่องความเท่าเทียมของมนุษย์มากแค่ไหน ถ้าพูดกันตั้งแต่ระดับของสถาบันครอบครัว เพราะสถาบันการศึกษาในไทยหลายแห่งยังมีโครงสร้างหลักสูตรและการสอนในเชิงอนุรักษ์นิยม เป็นหน้าที่ของบุคลากรครูที่ต้องทำความรู้จักกับประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ ไม่รวมเหตุผลทางด้านศาสนา สวัสดิภาพ และความมั่นคง

 

ครอบครัวหลากหลายทางเพศ

 

ในแง่มุมของกฎหมาย ชวินโรจน์ ธีรพัชรพร เพิ่มความมั่นใจเรื่องคำพิพากษา สามารถเปลี่ยนมุมมองของครอบครัวในวงการกฎหมายไทยได้จากการศึกษากรณีของกอร์ดอนและคู่ชีวิต

 

“ผมเห็นเขาให้นมลูก ดูแลลูกเหมือนกับพ่อแม่ชายหญิงทั่วไป แต่น่าเสียดายที่ผู้หญิงที่รับตั้งครรภ์ให้ไม่ยอมเซ็นให้เด็กกลับไปที่สเปน จนกระทั่งเรื่องไปสู่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เราได้สัมผัสกับเขา ได้เห็นการต่อสู้อดทนทุกอย่างที่เขาพยายาม จนในที่สุดศาลฯ ก็ได้ให้คำนิยามใหม่ของครอบครัว โดยบอกว่า การที่ผู้ร้องได้อุปการะเด็กหญิงด้วยความรักเอาใจใส่ ถึงแม้ผู้ร้องเป็นคนรักเพศเดียวกัน แต่คนรักเพศเดียวกันไม่ใช่อุปสรรคที่ทำให้ผู้ร้องไม่สามารถอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิงให้ได้รับความสุขและความอบอุ่นเท่ากับเด็กอื่นๆ ได้ นี่ทำให้เห็นได้ว่า คู่รัก LGBTQ ก็สามารถเลี้ยงดูเด็กได้ดีเทียบเท่ากับคู่รักต่างเพศ”

 

ชวินโรจน์ยกตัวอย่างเคสในต่างประเทศที่มีคำพิพากษาที่เปิดกว้างคล้ายคลึงกันแล้วสะท้อนว่า ครอบครัวหลากหลายทางเพศสามารถมีพื้นที่เพิ่มขึ้นได้จากพลังจากการต่อสู้ในระดับศาล และสื่อมวลชนเองก็มีผลต่อการตัดสินใจของศาลด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างง่ายๆ ใน ป.พ.พ. หากเปลี่ยนคำว่า ชายหญิง เป็น บุคคล 2 คน หรือคำว่า บิดา มารดา เป็นคำว่า บุพการี ก็จะช่วยไกล่เกลี่ยเรื่องความเสมอภาคได้มากขึ้น

 

“ตอนนี้ในไทยยังไม่มีองค์กร LGBTQ ที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องสถาบันครอบครัวอย่างจริงจัง ซึ่งเทคโนโลยีเป็นของมนุษยชาติ กฎหมายที่อยู่บนพื้นฐานศีลธรรมนิยมไม่สอดคล้องกับความจริง และทำให้ พ.ร.บ. คู่ชีวิตล้าหลัง แทนที่เราจะภาคภูมิใจได้ว่า นี่คือความก้าวหน้า แต่เราไม่สามารถตอบคำถามของสังคมได้ว่า ความเคลื่อนไหวของทั่วโลกเป็นอย่างไร

 

ครอบครัวหลากหลายทางเพศ

 

“อย่างเทคโนโลยีก็เป็นของมนุษยชาติ มนุษย์ทุกคนจึงต้องมีสิทธิเข้าถึง ดังนั้น คำถามที่ว่า ‘ทำไมถึงทำให้ความเท่าเทียมทางเพศเกิดขึ้นไม่ได้’ จึงเป็นคำถามที่ง่าย แต่ตอบยาก” อันธิฌาออกความเห็น

 

“ภาคประชาสังคมทำให้เกิดความตระหนักรู้ พยายามที่จะทำให้คนเข้าใจถึงปัญหา แต่ว่าสุดท้ายแล้ว ผู้ที่จะแก้ปัญหาและมีหน้าที่รับผิดชอบก็คือรัฐ เมื่อเกิดการละเมิด รัฐก็ต้องเยียวยาด้วย ทุกวันนี้เราก็ยังมีปัญหาที่ว่า ครูที่เป็นข้ามเพศแต่งตัวเป็นหญิงไม่ได้หรืออย่างปัญหาที่เผชิญกันอยู่ในเรือนจำ คือผู้หญิงที่ทำหน้าอกแล้ว แต่ยังไม่ได้ผ่าตัด แล้วถ้าหากถูกขังรวมกับผู้ชาย ก็มีโอกาสที่เขาจะถูกล่วงละเมิดทางเพศได้ อย่างน้อยเราดีใจที่วันนี้มีกลุ่มหลากหลายทางเพศเข้าไปอยู่ในสภาฯ ก็ถือว่าเป็นขั้นแรกของ Gender Recognition การยอมรับสถานะทางเพศ แต่การนำมาสู่การแก้กฎหมายต้องมีการพูดคุยกันต่อไป” อังคณาเล่าจากประสบการณ์และมุมมองการทำงานในฐานะ กสม.

 

ในพาร์ตหลังของงานเสวนา ผู้เข้าร่วมที่เป็นกลุ่ม LGBTQ ชายหญิงลงมือวาดรูป ครอบครัวในมุมมองของตัวเองและสะท้อนความเห็นของตัวเองต่อความสัมพันธ์ที่ฝืดหนืดภายใต้ข้อจำกัดของกฎหมายและปราการด้านวัฒนธรรม 

 

วงเสวนาเป็นวงเล็กๆ แต่ความเข้มข้นของการต่อสู้ของแต่ละคนยิ่งใหญ่ หนึ่งในผู้ร่วมงานน้ำตาซึมระหว่างที่อธิบายภาพ เขาเล่าว่า เคยมีความฝันอยากจะสร้างครอบครัวตั้งแต่ 13 ปีมาแล้ว เจ็บปวดและไม่เข้าใจว่า ทำไมไม่มีโอกาสนั้นเสียที ปัจจุบันอายุ 30 ปี รู้สึกว่า เวลาหายไปอย่างรวดเร็ว และไม่อยากให้ความเจ็บปวดนี้ถูกส่งต่อไปยังรุ่นน้องๆ อีก

 

คงไม่มีใครอยากดราม่าเรื่องส่วนตัวแบบนี้ในที่สาธารณะบ่อยๆ แต่เพราะบริบทของสังคมยังไม่เอื้อให้ทุกคนเข้าถึงความรักอย่างเท่าเทียมกัน หรือการร่างกฎหมายยังร่างมาจากมุมมองของการจัดระเบียบทางสังคม และพลวัตของสังคมในยุคปัจจุบันยังมีความซับซ้อนอยู่มากที่จะแก้ไขแบบเรียลไทม์

 

ครอบครัวหลากหลายทางเพศ

 

 

อังคณาเองก็บอกว่า การต่อสู้เรื่องเปลี่ยนแปลงกฎหมายมันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์

 

“จากประสบการณ์เราเอง เรารู้ว่าไปโต้แย้งเขาอย่างเดียวนี่ไม่มีใครเขาคุยกับเราหรอก แต่เราต้องทำให้เขาได้เห็นปัญหาว่าชีวิตมันเป็นแบบนี้ เราอยู่กับคู่ชีวิต หากินกันมาญาติพี่น้องไม่เคยเห็นหน้าเลย ถึงเวลาคู่ชีวิตเราเสียชีวิต โอ้โห มีคนออกมารับมรดกเต็มไปหมดเลย แต่นี่เป็นสิ่งที่เรา 2 คน ร่วมกันสร้างกันมา มันไม่เป็นธรรมนะ ถ้าหากมีกฎหมายละเมิดสิทธิ คุณก็ต้องแก้ไข ข้อยกเว้นที่เห็นมันเป็นการละเมิดสิทธิ เพราะทำให้คนไม่สามารถใช้สิทธิในความเสมอภาคได้เต็มที่”

 

เราเลยพบเจอประสบการณ์ของคนรักเพศเดียวกัน หรือความในใจที่ถูกอำนาจของการตัดสินว่า คุณเป็นคนดีหรือไม่ดีของสังคมกดไว้อยู่บ่อยครั้ง จึงอาจจะไม่ยุติธรรมนักถ้าจะปล่อยให้ประเด็นเรื่อง Gender Blind (การไม่ตัดสินคนด้วยเพศ) Blind ต่อไปถ้ามองว่า ทุกคนมีสิทธิของความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน

 

ในระยะหลัง สถานการณ์การการเคลื่อนไหวในประเด็น LGBTQ ทั่วโลกเริ่มชัดเจน ในระบบเศรษฐกิจใหม่ บทบาทของผู้หญิงหรือ LGBTQ เริ่มได้รับการไฮไลต์มากขึ้น ทั้งในด้านของทัศนคติและความสามารถ โซเชียลมีเดียเองก็เป็นพื้นที่กระจายเสียงที่สำคัญของการต่อสู้เรื่องสิทธิและค่านิยมที่ว่า ‘มนุษย์เท่ากัน’ ซึ่งประเด็น LGBTQ สร้างทั้งความ Controversial และพื้นที่ที่กว้างขวางมากขึ้นในเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศ

 

“ถ้าย้อนไปตั้งแต่ปี 2540 เริ่มมีระบุไว้ในรัฐธรรมนูญว่า เราเป็นภาคอนุสัญญาการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบของสหประชาชาติ (Convention on the Elimination of all Forms of Discrimination Against Women หรือย่อว่า CEDAW) นี่ 30 กว่าปีมาแล้ว แต่เราเพิ่งจะมี พ.ร.บ. ความเสมอภาคระหว่างเพศเมื่อปี 2558 ถึงแม้จะช้า แต่อย่างน้อยก็ยังมีกฎหมาย แต่ถามว่า เราได้ในสิ่งที่เราต้องการทั้งหมดไหม ก็ไม่ เราสู้เยอะ เพราะมันยังมีข้อจำกัดทั้งหลาย ด้วยเหตุแห่งศาสนา สวัสดิภาพของผู้หญิง หรือเรื่องของความมั่นคง เลยทำให้ผู้หญิงยังไม่สามารถเข้าถึงความเสมอภาคที่แท้จริง

 

“ถ้าเป็นกลุ่ม LGBTQ ก็จะซับซ้อนมากขึ้นไปอีก ตอนเป็นกรรมการสิทธิฯ เคยตรวจสอบเรื่องที่ว่า มีโรงแรมบางแห่งห้ามเลดี้บอยเข้า แล้วพวกผู้หญิงข้ามเพศทั้งหลายเขาก็ไม่รู้จะไปทำงานอะไร เป็นข้าราชการก็ไม่ได้ บางทีถูกตีตราในการทำงานว่า พวกกะเทยน่าจะเกี่ยวข้องกับยาเสพติด

 

“สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กที่เกิดจากเทคโนโลยีขึ้นมาด้วยความกลัว ทั้งเรื่องธุรกิจหรือเรื่องตั้งครรภ์แทน และได้รับการทัดทานในฝ่ายคนที่สนับสนุนเรื่องความเสมอภาคทางเพศเสมอมา แต่เลือกที่จะไม่ฟัง จริงๆ ไม่ใช่แค่กลุ่ม LGBTQ คู่ชายหญิงบางคู่บางทีก็ไม่ได้อยากเป็นคู่สมรส ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้จึงไม่เอื้อเลยต่อกลุ่มคนที่มีบุตรยาก แม่ที่อุ้มบุญจะตั้งครรภ์เองก็ยังไม่ได้ เขาก็รู้สึกไม่ปลอดภัย มีความซับซ้อนและไม่เอื้อให้มนุษย์เข้าถึงสิทธิของการมีครอบครัว ซึ่งกฎหมายที่เขียนขึ้นมาด้วยความกลัว สมควรได้รับการแก้ไข” อังคณาย้ำ

 

ครอบครัวหลากหลายทางเพศ

ครอบครัวหลากหลายทางเพศ

 

มุมมองในด้านสถาบันครอบครัว LGBTQ ยังไม่กว้างขวางในไทยมากนัก กลุ่มคนหลากหลายทางเพศจำนวนหนึ่งอาจจะยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่า เขายังไม่มีสิทธิเข้าถึงการเป็นครอบครัวเหมือนที่คู่รักหญิงชายที่จดทะเบียนแล้วมีสิทธิ 

 

สุดท้ายเราอาจจะสรุปความได้เหมือนกับที่มัจฉาได้พูดไว้สั้นๆ ในวิดีโอคอลของเธอว่า 

 

“แค่เรามีความจริงใจที่จะแก้ไข เปิดใจและตั้งต้นมองมนุษย์จากสิ่งที่เขาทำ ไม่ใช่เพศสภาพ เริ่มง่ายๆ จากคนรอบข้างหรือคนในครอบครัว เท่านั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการสร้างแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมกันแล้ว”

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

FYI
  • ข้อมูลจาก Washington Post บอกว่า เด็กที่ถูกเลี้ยงด้วยครอบครัวที่มีพ่อแม่เพศเดียวกัน มีแนวโน้มที่จะทำได้ดีกว่าเด็กที่ถูกเลี้ยงโดยครอบครัวต่างเพศ ร้อยละ 7 โดยทำวิจัยในเนเธอร์แลนด์ระหว่างปี 1995-2005 ในโรงเรียนประถม โดยมีกลุ่มตัวอย่างของเด็กที่ถูกเลี้ยงด้วยครอบครัวที่มีพ่อแม่เพศเดียวกัน 1,200 คน และตัวอย่างของเด็กที่ถูกเลี้ยงโดยครอบครัวต่างเพศมากกว่า 1 ล้านคน สาเหตุหนึ่งที่นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ก็คือ ครอบครัวที่มีพ่อแม่เพศเดียวกันมักจะมีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม (Socioeconomic Status) ที่ดี สามารถดำเนินการทางการแพทย์ที่ใช้ค่าใช้จ่ายสูง เพื่อที่จะมีบุตร
  • ซานฟรานซิสโกเป็นเมืองที่ทุกคนกล่าวขานว่าเป็น ‘Gay Capital of the World’ เพราะเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมแห่งความอดกลั้น (Culture of Tolerance) และสีสันในการขับเคลื่อนที่โดดเด่น
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X