ถือเป็นความสำเร็จปี 2565 ที่แอลจีครองแชมป์ตลาดเครื่องซักผ้าติดต่อกัน 23 ปี พร้อมตอกย้ำผู้นำกลุ่มทีวีพรีเมียมขึ้นแท่นเบอร์หนึ่ง 10 ปีซ้อน บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) ผู้นำระดับโลกในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและโฮมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ จึงได้ชวนสื่อมวลชนมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลที่น่าสนใจของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทย พร้อมอัปเดตภาพรวมความสำเร็จของปีที่ผ่านมา
ความพิเศษของแอลจีในปีนี้ ไม่เพียงครองแชมป์เบอร์หนึ่งตลาดเครื่องซักผ้าติดต่อกัน 23 ปี แต่ยังเป็นปีแรกที่แอลจีกวาดยอดขายอันดับหนึ่งตลอดทั้งปี 2565 ได้ในทุกเซ็กเมนต์ของเครื่องซักผ้า และแน่นอนว่ายังรักษาแชมป์เบอร์หนึ่งผู้นำกลุ่มทีวีพรีเมียมไว้ได้ต่อเนื่อง 10 ปีซ้อนเช่นกัน
สรุปว่าในปี 2565 แอลจีครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับหนึ่งในทั้งสองกลุ่มผลิตภัณฑ์ โดยเครื่องซักผ้ามีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 34% และผลิตภัณฑ์ทีวีระดับพรีเมียมมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 75% โดยมูลค่ารวมยอดขายของทั้งสองกลุ่มผลิตภัณฑ์อยู่ที่ 7.9 พันล้านบาท ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวไทยที่มีต่อแอลจีซึ่งเป็นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมสินค้าทุกประเภทเพื่อยกระดับการใช้ชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ตามแนวคิด ‘Innovation for a Better Life’
ความท้าทายตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า ‘ต้นทุนสูง’ แต่คุณภาพและทางเลือกต้องมากขึ้น
อำนาจ สิงหจันทร์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด เล่าถึงความท้าทายของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าประเทศไทยปี 2565 ว่ามีทั้งเรื่องต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นและการแข่งขันทางด้านราคาจากแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ แต่แอลจียังคงรักษามาตรฐานในการเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าระดับโลกด้วยการส่งมอบผลิตภัณฑ์เครื่องซักผ้าและสมาร์ททีวีที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้แก่ผู้บริโภค ผ่านความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตร่วมกับบริษัทพันธมิตรด้านการผลิตชิ้นส่วนระดับโลกและบริษัทขนส่งชั้นนำ จึงทำให้เราไม่ปรับขึ้นราคาสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าตลอดปีที่ผ่านมา
“แอลจีนำเสนอทางเลือกที่มากกว่าด้านราคาให้กับลูกค้าระดับพรีเมียมถึงระดับกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของแอลจี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจุดเด่นของเครื่องซักผ้าที่มาพร้อมเทคโนโลยีการประหยัดพลังงานและประหยัดเวลาในการซักผ้า รวมถึงฟังก์ชันการใช้งานอัจฉริยะทั้งการสั่งงานด้วยเสียง และเมจิกรีโมทของทีวีแอลจี ที่สามารถส่งมอบประสบการณ์ความบันเทิงภายในบ้านได้อย่างครบครัน ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตที่ง่ายและสะดวกในยุคดิจิทัล”
อันดับหนึ่ง ส่วนแบ่งการตลาดเครื่องซักผ้าในไทยติดต่อกัน 23 ปี
สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องซักผ้าของแอลจี ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำสัดส่วนรายได้มากที่สุดจากทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ หากดูกันที่เทรนด์เครื่องซักผ้าที่วางจำหน่ายในตลาดเมืองไทยจะมีอยู่ 3 ประเภท คือเครื่องซักผ้าสองถังกึ่งอัตโนมัติ ด้านหนึ่งซัก ด้านหนึ่งปั่นแห้ง แต่สัดส่วนที่ใหญ่สุดคือกลุ่มเครื่องซักผ้าฝาบน ครองสัดส่วนมากถึง 46% ในขณะที่กลุ่มเครื่องซักผ้าฝาหน้า ซึ่งเป็นตัวท็อปของเครื่องซักผ้า ปี 2565 มีสัดส่วนรองลงมา 26.1%
อย่างที่กล่าวไปกว่า 23 ปีที่แอลจีขึ้นแท่นเบอร์หนึ่งผู้นำตลาดเครื่องซักผ้า แต่ที่ผ่านมายังมีกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องซักผ้าฝาหน้ายังต้องหลีกทางให้กับแบรนด์ยุโรป แต่ปี 2565 เป็นปีแรกที่เครื่องซักผ้าเครื่องซักผ้าฝาหน้าของแอลจีทำยอดขายอันดับหนึ่งติดต่อกัน 12 เดือน ทำให้ปีนี้เป็นปีแรกที่ LG สามารถครองอันดับหนึ่งเครื่องซักผ้าทุกเซ็กเมนต์ และคาดการณ์ว่าจะถือครองส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับหนึ่ง อยู่ที่ 28.3% สำหรับเครื่องซักผ้าเครื่องซักผ้าฝาหน้า
ความสำเร็จในปี 2565 แอลจีมียอดขายเครื่องซักผ้า 418,000 เครื่อง มูลค่า 4,160 ล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์เครื่องซักผ้าฝาบนครองสัดส่วนมากที่สุดอยู่ที่ 46% ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องซักผ้า สำหรับปี 2566 คาดการณ์เครื่องซักผ้าประเภทจะโต 5% แต่สัดส่วนที่โตมากสุดคือเครื่องซักผ้าฝาหน้า คาดว่าจะโตถึง 23.4% เนื่องจากมีฟังก์ชันต่างๆ ที่รองรับความต้องการมากกว่า
“เหตุผลที่ยอดขายในช่วงทีเกิดวิกฤตโควิด-19 เติบโต เพราะกลุ่มผู้ใช้งานขยายจากกลุ่มผู้หญิงเป็นผู้ชายมากขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่มองหาผลิตภัณฑ์ที่ไฮเทคขึ้น สมาร์ทขึ้น รวมถึงคนให้ความสำคัญกับนวัตกรรมที่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ ซึ่งเครื่องซักผ้ารุ่นก่อนๆ ไม่มีฟังก์ชันต้มน้ำ ไอน้ำ หรือไม่มีเครื่องอบผ้าในตัว ผู้บริโภคจึงมองหาเครื่องซักผ้ารุ่นใหม่ๆ ที่สมาร์ทขึ้น”
LG WashTower™ เครื่องซักผ้าและเครื่องอบผ้าในเครื่องเดียววางจำหน่ายเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
นอกจากกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องซักผ้าทุกเซ็กเมนต์ที่แอลจีทำตลาดได้ดีมาตลอด เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แอลจีเริ่มส่งผลิตภัณฑ์ LG WashTower™ เครื่องซักผ้าและเครื่องอบผ้าในเครื่องเดียวที่มาในรูปแบบทาวเวอร์วางจำหน่ายเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าระดับพรีเมียมที่อยู่อาศัยในพื้นที่จำกัดอย่างบ้าน อพาร์ตเมนต์ และคอนโดมิเนียม แต่ต้องการเครื่องซักผ้าที่เรียบหรู ดีไซน์ทันสมัย และประหยัดพื้นที่การใช้งาน อีกทั้งตอบโจทย์การประหยัดเวลาทำงานบ้านด้วยฟังก์ชันแผงควบคุมตรงกลางที่เชื่อมต่อเครื่องซักผ้าและเครื่องอบผ้าให้ทำงานร่วมกันโดยอัตโนมัติ
อำนาจยังบอกด้วยว่า กระแสตอบรับของ WashTower™ ดีเกินคาด แม้หลายที่จะยังไม่มีเครื่องโชว์แต่ก็มียอดสั่งซื้อเข้ามา ทั้งจากการทำการตลาดในสื่อออนไลน์ของ LG โดยคาดหวังกระแสตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้าระดับพรีเมียมที่มีต่อสินค้า WashTower รุ่นใหม่ล่าสุดนี้อยู่ที่ 2,500 เครื่องในปี 2566
“อย่างไรก็ตามเรายังคงรักษากลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องซักผ้าประเภทฝาบน ด้วยการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ ในเครื่องซักผ้าประเภทฝาบนที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยเทียบเท่าเครื่องซักผ้าประเภทฝาหน้า โดยคาดว่าจะเปิดตัวสินค้าใหม่ในเดือนมีนาคมปี 2566”
ผู้นำกลุ่มทีวีพรีเมียมเป็นอันดับหนึ่งต่อเนื่อง 10 ปีซ้อน
สำหรับภาพรวมตลาดทีวีปี 2563-2564 อำนาจ ชี้ให้เห็นว่าสวนทางกับตลาดเครื่องซักผ้า ยอดขายติดลบเพิ่มขึ้น แต่มาได้อานิสงส์ของฟุตบอลโลกและเทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใช้ฟังก์ชันของทีวีมากกว่าความบันเทิงแต่ยังใช้เชื่อมต่อการประชุมและพรีเซนต์งาน ทำให้ปี 2565 เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น
แน่นอนว่า พอพูดถึงกลุ่มโฮมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ไฮไลต์ของแอลจีก็คือกลุ่มผลิตภัณฑ์ทีวี แอลจียังครองสถานะผู้นำในกลุ่มทีวีพรีเมียมอันดับหนึ่งต่อเนื่อง 10 ปีซ้อน ด้วยยอดขายผลิตภัณฑ์ทีวี LG OLED ซึ่งเป็นรุ่นพรีเมียมของแอลจี ความสำเร็จในปี 2565 แอลจีมียอดขายทีวีทั้งหมด 230,000 เครื่อง มูลค่ารวม 3,738 ล้านบาท แบ่งเป็นทีวี LG OLED จำนวน 10,600 เครื่อง มูลค่า 520 ล้านบาท อีกทั้งตอนนี้ทีวีที่จำหน่ายทุกรุ่นกว่า 98% เป็น Smart TV และมากถึง 92% เป็น 4K
ขณะเดียวกันแอลจียังเล็งเห็นศักยภาพของตลาดทีวีพรีเมียมที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสัดส่วนยอดขายทีวี OLED ของแอลจีซึ่งอยู่ที่ 75% ในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาซึ่งเติบโตอยู่ที่ 37% ส่งผลให้ปี 2565 แอลจีพัฒนาเทคโนโลยีในผลิตภัณฑ์ทีวีทุกรุ่นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค พร้อมเปิดตัวไลน์อัพทีวีที่หลากหลาย เพิ่มตัวเลือกซีรีส์ใหม่ และขนาดที่หลากหลายขึ้น เพื่อเจาะกลุ่มทั้งลูกค้าระดับไฮเอนด์ไปจนถึงลูกค้าใหม่ที่ต้องการสัมผัสเทคโนโลยีการนำเสนอภาพที่มีประสิทธิภาพสูงของทีวีแอลจี
“จะเห็นว่าความต้องการไซส์ทีวีเพิ่มขึ้น อย่างรุ่นที่เปิดตัวไปเมื่อกลางปีมีไซส์เพิ่มเติมเล็กลงมา 42 และ 48 นิ้ว รวมถึงไซส์ใหญ่ที่เป็นตัวพรีเมียม 88 นิ้ว เรียกว่าครอบคลุมไซส์ที่หลากหลายมากขึ้น ปี 2566 แอลจีวางแผนเปิดตัวไซส์ขนาด 97 นิ้ว และสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการคือทีวีที่ Multipurpose มากขึ้น ใช้งานได้หลากหลายขึ้น เราตั้งเป้าขยายส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มทีวีรวมเป็น 23% ในปี 2566 โดยเน้นไปที่กลุ่มตลาดพรีเมียมให้โตขึ้น และตั้งเป้ากลุ่มทีวี OLED ที่ 75% ในขณะที่ตั้งเป้ายอดขายทีวีหน้าจอขนาดใหญ่ 70 นิ้วขึ้นไปอยู่ที่ 30%” อำนาจกล่าวเสริม
กลยุทธ์การตลาดปี 2566 มุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าไฮเอนด์ถึงระดับกลาง ด้วยตัวเลือกนวัตกรรมสินค้าที่ล้ำสมัยและช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น
ด้านแผนการตลาดปี 2565 แอลจีเน้นการทำโปรโมชันสำหรับสินค้ากลุ่มกลางถึงบนผ่านการขายแบบจับคู่ซื้อได้ราคาถูกกว่า เพื่อเป็นการกระตุ้นปริมาณการซื้อในกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง และสำหรับลูกค้าตั้งแต่ระดับกลางลงไป โดยเน้นที่การลดราคาและโปรโมชันการผ่อนระยะยาวร่วมกับร้านค้าตัวแทนจำหน่าย
รวมไปถึงการเปิดตัวผลิตภัณฑ์เครื่องซักผ้าและทีวีหลากหลายรุ่น ครอบคลุมความต้องการของผู้บริโภค โดยผลิตภัณฑ์ทุกรุ่นมาพร้อมประสิทธิภาพการใช้งานที่ดีเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทเทคโนโลยี ThinQ AI ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถควบคุม สั่งการได้ง่ายและสะดวก ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการใช้ชีวิตอย่างชาญฉลาดและสมบูรณ์แบบ
“ช่วงที่เกิดวิกฤตแอลจีต้องปรับกลยุทธ์หันมาจับตลาดออนไลน์มากขึ้น เรามี Success Case คือเราปรับห้องสำหรับเทรนนิ่งพนักงานขายเพื่อทำ Live Streaming ที่ได้มาตรฐาน โดยให้ E-Promoter มาไลฟ์ขายสินค้า ปรากฏว่าผลตอบรับดีมาก ยอดขายออนไลน์เพิ่มขึ้น จนได้รางวัลจาก LG Global ที่สามารถปรับแผนกลยุทธ์เพื่อสร้างยอดขายในช่วงที่เกิดวิกฤต ทำให้เราได้ Know-how มาพัฒนาต่อ เราสร้างทีม E-Force ขึ้นมาและพัฒนาห้อง Live Streaming ให้ดียิ่งขึ้นเพื่อรองรับผลิตภัณฑ์แอลจีทุกเซ็กเมนต์ ซึ่งแผนต่อไปของเราก็คือทีม E-Force จะต้องออกไปไลฟ์ที่หน้าร้านเพื่อสร้างประสบการณ์แบบ Experience Force เพื่อให้เกิด O2O เพราะต่อจากนี้กลยุทธ์จะเป็นไฮบริดทั้งหน้าร้านและออนไลน์ต้องไปพร้อมๆ กัน
“กลยุทธ์การตลาดปี 2566 แอลจีเตรียมแผนกระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่องด้วยกิจกรรมการตลาดและโปรโมชันต่างๆ ในหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการมอบข้อเสนอพิเศษร่วมกับร้านค้าตัวแทนจำหน่าย และการมอบข้อเสนอพิเศษผ่านแพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซต่างๆ ได้แก่ Lazada และ Shopee เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคในปัจจุบัน” อำนาจกล่าวทิ้งท้าย