ฟุตบอลโลกปี 2018 ที่ประเทศรัสเซียกำลังจะเริ่มขึ้นในวันที่ 14 มิถุนายน ปี 2018 นี้แล้ว โดยก่อนที่จะเริ่มต้นการจับฉลากแบ่งกลุ่มกันในช่วงค่ำของวันที่ 1 ธันวาคมนี้ ตามเวลาประเทศไทย ทางสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ FIFA ได้ปล่อยโปสเตอร์โปรโมตการแข่งขันอย่างเป็นทางการออกมาให้แฟนบอลได้เห็นกัน
ฟุตบอลโลก
โดยภาพโปสเตอร์ฟุตบอลโลกคราวนี้เป็นภาพของ เลฟ ยาชิน ตำนานผู้รักษาประตูชาวรัสเซีย เจ้าของรางวัลบัลลงดอร์เมื่อปี 1963 ที่กำลังกระโดดเซฟลูกฟุตบอลที่ครึ่งหนึ่งเป็นลูกฟุตบอลแบบย้อนยุค ขณะที่อีกส่วนหนึ่งของลูกบอลเป็นรูปโลก โดยไฮไลต์ไปที่ประเทศรัสเซีย พร้อมกับมีแสงสีส้มสะท้อนออกมาจากลูกฟุตบอล
โดย อิกอร์ กูโรวิช ศิลปินชื่อดังของรัสเซียผู้ออกแบบโปสเตอร์เผยว่า เขาได้แรงบันดาลใจมาจากโปสเตอร์ของสหภาพโซเวียตที่มีชื่อว่า Soviet Post Constructivism ในยุค 1920 และ 1930 ซึ่งมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง และ ทำให้ผู้คนจากทั่วโลกนึกถึงรัสเซียเมื่อได้เห็นศิลปะในรูปแบบนี้ อิกอร์จึงต้องการที่จะนำศิลปะแบบนี้มาประยุกต์ใหม่ให้ทันสมัยอีกครั้ง
แต่ในความหมายของภาพนั้นสามารถถูกตีความออกมาได้หลายรูปแบบจากมุมมองที่เราเห็น เช่นเดียวกับโปสเตอร์การแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ ซึ่ง Quartz
สำนักข่าวออนไลน์จากนิวยอร์ก เชื่อว่า โปสเตอร์ฟุตบอลครั้งนี้มีสัญลักษณ์ทางอำนาจต่างๆ ซุกซ่อนอยู่
ผู้รักษาประตูสัญลักษณ์ของ ‘ผู้ปิดทองหลังพระ’ ในสังคมแบบ Collectivism
เลฟ ยาชิน เจ้าของฉายาแมงมุมดำ ที่ได้รับสมญานามนี้จากความว่องไว ความสูง และเขามักจะใส่ยูนิฟอร์มสีดำทั้งชุดลงสนาม ยาชินเป็นผู้รักษาประตูระดับตำนาน ของรัสเซีย ในช่วงค้าแข้งกับสหภาพโซเวียต เขาลงแข่งฟุตบอลโลกทั้งหมด 4 ครั้ง คว้าแชมป์ยุโรปในปี 1960 และคว้าเหรียญทองโอลิมปิกในปี 1956 และที่สำคัญที่สุดคือเป็นผู้รักษาประตูเพียงคนเดียวที่ได้รับรางวัลบัลลงดอร์เมื่อปี 1963
แต่ภาพโปสเตอร์อาจไม่ได้ต้องการเพียงแค่นำนักฟุตบอลที่ดีที่สุดของประเทศมาเป็นสัญลักษณ์ในการสื่อสาร เนื่องจาก เลฟ ยาชิน ประสบความสำเร็จในอาชีพฟุตบอลมากที่สุดในช่วงเวลาเดียวกับที่สหภาพโซเวียตกำลังสร้างฐานอำนาจทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม เทคโนโลยี และกีฬาในโลก
ฟุตบอลในเวลานั้นถือว่าเป็นกีฬาสำหรับชนชั้นแรงงานตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของสหภาพโซเวียต แต่โซเวียตไม่ได้เข้าร่วมแข่งขันรายการระดับนานาชาติจนกระทั่งปี 1950
ยาชินเป็นหัวหอกสำคัญในการเริ่มต้นสร้างชื่อเสียงให้กับทีมในระดับนานาชาติ เขาเล่นอยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางของสัญลักษณ์กีฬาในโซเวียต นั่นคือผู้รักษาประตู
ที่ผ่านมาประเทศต่างๆ จะยกย่องศูนย์หน้าผู้ทำประตู หรือ แม้กระทั่งกองกลางที่สามารถสร้างสรรค์เกมรุกได้อย่างสวยงาม แต่ศิลปะของโซเวียตในช่วงปี 1930 นั้นจะเน้นไปที่ผู้รักษาประตู เนื่องจากพวกเขาถือว่าเป็นตำแหน่งฮีโร่ผู้ปิดทองหลังพระ
สัญลักษณ์นี้ถือว่าตรงกันข้ามกับความเป็นปัจเจกนิยม (Individualism) ในการปกครองแบบทุนนิยม ที่กองหน้ามักจะค้นหาเพียงแค่ความสำเร็จของตนเอง ในขณะที่ผู้รักษาประตูเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มนิยม (Collectivism) ผู้ซึ่งเป็นฮีโร่หน้าประตู ที่ความต้องการส่วนตัวของเขาต้องเป็นรองความต้องการของทีมเท่านั้น
อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของการเชิดชูตำแหน่งผู้รักษาประตูเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สหภาพโซเวียตเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาพยนตร์ในยุคนั้นภายใต้ผู้นำ โจเซฟ สตาลิน จะให้นิยามกับผู้รักษาประตูว่า ทุกคนสามารถเป็นผู้รักษาและป้องกันชายแดนรัสเซียต่อชนชาติเยอรมันที่พยายามจะรุกรานประเทศ
เลฟ ยาชิน ถือเป็นนักกีฬาที่เหมาะสมสำหรับเวลานั้นมากที่สุด เนื่องจากประวัติชีวิตที่ลำบากของเขา ยาชินเกิดในครอบครัวที่ยากจนในมอสโก ก่อนจะเริ่มต้นทำงานในโรงงานด้วยวัยเพียง 13 ปี โดยมีเรื่องเล่าว่า ทุกครั้งที่ยาชินจะลงสนามเขาจะดื่มวอดก้าหนึ่งช็อตเพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อ และจะสูบบุหรี่หนึ่งมวนเพื่อทำให้เขาสงบก่อนเกม
เลฟ ยาชิน ไม่ได้เป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ทางความคิดของสหภาพโซเวียตเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของผู้รักษาประตูแบบที่สามารถออกมารับหน้าที่เป็น Sweeper ได้ในบางครั้ง ในสมัยก่อน ผู้รักษาประตูทั่วไปมักจะอยู่ที่เส้นในประตู เพื่อรอป้องกันลูกยิง แต่ยาชินสามารถที่จะวิ่งออกไปเพื่อสกัดบอลกองหน้าในบริเวณกรอบเขตโทษ ก่อนที่จะสามารถเปลี่ยมเกมรับเป็นเกมรุกได้อย่างรวดเร็ว
การนำเอาภาพของยาชินมาใช้ในครั้งนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่นำสัญลักษณ์ของวงการฟุตบอลในรัสเซียมาเป็นการโปรโมตการแข่งขัน แต่ทางสำนักข่าว Quartz เชื่อว่า วลาดิเมียร์ ปูติน ต้องการใช้โปสเตอร์นี้เพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์ว่า รัสเซียต้องเตรียมพร้อมตลอดเวลาสำหรับการโจมตีจากโลกตะวันตก โดยใช้ตำแหน่งผู้รักษาประตูเป็นตัวแทนที่ต้องเตรียมพร้อมป้องกันประตูตลอดเวลา
Photo: FIFA
อ้างอิง: