×

ถอดบทเรียนญี่ปุ่นรับมือไข้หวัดใหญ่ระบาดหนัก ปี 1918 สะท้อนแนวทางรับมือโควิด-19

โดย Master Peace
24.03.2020
  • LOADING...

ญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีแนวทางควบคุม และชะลอการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพในสายตาของหลายๆ คน ดูจากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในช่วง 10 วันที่ผ่านมาที่เพิ่มจำนวนไม่ถึง 10% ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อสะสมจนถึงตอนนี้อยู่ที่ 1,102 ราย และเสียชีวิต 45 ราย แม้จะผ่านมานานกว่า 2 เดือนแล้ว นับตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อรายแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม 

 

ส่วนหนึ่งที่หลายฝ่ายมองว่าญี่ปุ่นสามารถชะลอการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างเห็นผล มาจากบทเรียนการรับมือโรคระบาดรุนแรงอย่างไข้หวัดสเปน (Spanish flu) ที่เริ่มต้นขึ้นในปี 1918 และแพร่ระบาดหนักไปทั่วโลกรวมถึงญี่ปุ่น โดยมีผู้ติดเชื้อราว 500 ล้านคน หรือราว 1 ใน 4 ของประชากรโลกในช่วงนั้น และคาดว่าจำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ระหว่าง 17-50 ล้านคน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโรคระบาดที่รุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

 

สถานการณ์ที่ญี่ปุ่นเผชิญอยู่ตอนนี้ หลายอย่างมีความคล้ายคลึงกับช่วงการระบาดของโรคไข้หวัดสเปนในตอนนั้น ประชาชนจำนวนมากสงสัยว่าเมื่อไรจะเกิดการแพร่ระบาด และเมื่อไรชีวิตของพวกเขาจะกลับสู่ภาวะปกติ

 

จากข้อมูลเชื่อได้ว่าโรคไข้หวัดสเปนนั้น ระบาดเข้าสู่ญี่ปุ่นครั้งแรกในช่วงฤดูใบไม้ผลิ (เดือนมีนาคม-พฤษภาคม) ปี 1918 หลังนักซูโม่ 3 คนกลับมาจากไต้หวัน ซึ่งเป็นหนึ่งในอาณานิคมของญี่ปุ่นในขณะนั้น

 

จากนั้นในเดือนพฤษภาคม มีรายงานการระบาดในญี่ปุ่นครั้งที่สอง โดยผู้ติดเชื้อเป็นทหารเรือ 1 นาย บนเรือรบที่เทียบท่าอยู่ในฐานทัพเรือในเมืองโยโกสุกะ 

 

กระทั่งฤดูใบไม้ร่วง วิกฤตการแพร่ระบาดจึงเห็นภาพชัดเจนขึ้น หนังสือพิมพ์ The Japan Times & Mail ฉบับวันที่ 26 ตุลาคม 1918 พาดหัวว่า 

 

“ผู้คนนับพันกำลังเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ทั่วโลก”

 

ขณะที่เนื้อหาข่าว ระบุว่าในโตเกียวซึ่งแทบจะไม่มีโรงเรียน นักเรียน และครูหลายสิบคนต้องหยุดการเรียนการสอน ขณะที่การระบาดแพร่กระจายไปยังสำนักงานและโรงงานต่างๆ และโรคระบาดนี้กลายมาเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘ไข้หวัดสเปน’

 

ในตอนท้ายของการระบาดใหญ่ในช่วงปลายเดือน 1920 ชุมชนทั่วประเทศญี่ปุ่นถูกโรคระบาดทำลายลง บางหมู่บ้านสูญเสียผู้อยู่อาศัยทั้งหมด ในขณะที่มีผลกระทบคล้ายกันเกิดขึ้นกับผู้คนที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง

 

หนังสือที่เขียนโดย ยู ฮายามิ นักเขียนชาวญี่ปุ่น บรรยายภาพวิกฤตการระบาดของโรคไข้หวัดสเปนในญี่ปุ่น ณ ขณะนั้นไว้อย่างน่ากลัว

 

“หมู่บ้านหนึ่งถูกทำลายด้วยไข้หวัด ชาวบ้านราว 970 ถึง 1,000 คน ในหมู่บ้านโอโมตานิ จังหวัดฟุกุอิ กำลังจะตาย โรงพยาบาลเต็มไปด้วยผู้ป่วย และผู้ป่วยจำนวนมากถูกปฏิเสธการรักษาตั้งแต่หน้าประตู

 

“เด็กนักเรียน 2 คนของโรงเรียนประถมคุริคาวะ ในเมืองโมริโอกะ ทางตอนเหนือของโตเกียว เสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 1919 ร้านค้าทุกแห่ง และธุรกิจต่างๆ ในเมืองถูกปิด ฌาปนสถานเพียง 2 แห่งในเมืองโกเบ นั้นล้นหลามไปด้วยศพมากกว่า 100 ศพ ที่ซ้อนกันเพื่อรอเผา” ฮายามิ เขียนบรรยายในหนังสือ

 

ข้อมูลจากวารสารโรคติดต่ออุบัติใหม่ของสหรัฐฯ ระบุว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการระบาดของไข้หวัดสเปนในญี่ปุ่น อยู่ที่ระหว่าง 257,000 ถึง 481,000 คน แต่มีความเป็นไปได้ที่ตัวเลขจริง อาจพุ่งสูงถึง 2,020,000 คน ซึ่งหากเป็นจริงจะคิดเป็นจำนวนถึง 3.71% จากจำนวนประชากรญี่ปุ่นในขณะนั้นที่มีประมาณ 56 ล้านคน ซึ่งหากนำจำนวนเปอร์เซ็นต์ดังกล่าวมาเทียบกับการระบาดของโรคโควิด-19 ในญี่ปุ่น ณ ปัจจุบัน จะมียอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ราว 1.2 ล้านคน

 

เดือนมกราคมปี 1919 กระทรวงมหาดไทยของญี่ปุ่น ประกาศข้อแนะนำ แนวทางหลีกเลี่ยงการติดโรคระบาด ซึ่งหน่วยงานสาธารณสุขของญี่ปุ่นในตอนนั้น ยังเชื่อว่าเป็นเพียงเชื้อแบคทีเรีย โดยข้อแนะนำดังกล่าว คล้ายคลึงกับข้อแนะนำที่ทางการญี่ปุ่น ประกาศซ้ำๆ ในตอนนี้ ได้แก่

 

– โรคระบาดจะแพร่กระจาย เมื่อผู้ติดเชื้อมีอาการไอหรือจาม และผู้คนควรอยู่ห่างจากกันอย่างน้อย 1 เมตร

– ประชาชนได้รับคำสั่งให้หลีกเลี่ยงการชุมนุมขนาดใหญ่ และสวม ‘เครื่องช่วยหายใจ’ หรือหน้ากากอนามัยเมื่อพวกเขาต้องใช้รถไฟหรือรถบัส หากไม่มีหน้ากากอนามัย ให้ปิดปากและจมูกด้วยผ้าเช็ดหน้า

– ใครที่รู้สึกไม่สบายแนะนำให้นอนพัก หรือไปหาหมอและกักตัวเอง

 

อย่างไรก็ตาม ความหวังในการรักษาโรคระบาด เป็นสิ่งเดียวที่ไม่แตกต่างกันนักในหมู่ประชาชน ไม่ว่าจะในปัจจุบัน หรือเมื่อ 100 ปีที่แล้ว 

 

โดยตอนนี้ข่าวลือเรื่องการค้นพบวิธีรักษาโรคโควิด-19 ถูกเผยแพร่ไปมากมายทางโซเชียลมีเดีย ขณะที่เมื่อ 100 ปีที่แล้ว ชาวญี่ปุ่นก็พยายามหาหนทางที่จะรักษาโรค และหลงเชื่อข่าวลือหรือข้อแนะนำที่ไร้เหตุผลต่างๆ ทั้งการให้ดื่มน้ำที่มีอุณหภูมิระหว่าง 57 ถึง 60 องศาเซลเซียส การจับหนูมาเผา หรือแม้แต่การซื้อยันต์คุ้มครองตนเองให้ปลอดภัยจากโรคร้าย

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X