×

ถอดบทเรียน แกเร็ธ เบล กับเรอัล มาดริด ผ่านมุมมอง HR ใครกันคือผู้ที่ต้องปรับตัว

05.08.2019
  • LOADING...
แกเร็ธ เบล

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • แกเร็ธ เบล ครั้งหนึ่งเคยเป็นนักเตะที่มีราคาค่าตัวสูงที่สุดในโลก แต่วันนี้เขากำลังกลายเป็นนักเตะที่ทีมยักษ์ใหญ่อย่างเรอัล มาดริด ไม่ต้องการ 
  • สาเหตุหลักที่สื่อต่างประเทศวิจารณ์นอกเหนือจากอาการบาดเจ็บคือบุคลิกของเบลที่ไม่สามารถเข้ากับเพื่อนร่วมทีมนอกสนามได้
  • จากประสบการณ์และงานวิจัยของ QGEN Consultant มองว่าเบลอาจพบเจอกับปัญหาไม่เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรและความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน

“เป็นคนเก่งอยู่ที่นี่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นคนเก่งในทุกที่ ตัวท็อปขององค์กรนี้ก็อาจจะไม่เป็นที่ต้องการขององค์กรอื่นก็ได้”

 

นี่คือความจริงของโลก เพราะแค่เก่งเรื่องงานมันไม่พอ ถ้าอยากจะเติบโตอย่างมีคุณภาพ เราจำเป็นต้องเก่งเรื่องคนไปพร้อมๆ  กัน

 

ตัวอย่างหนึ่งที่เป็นที่พูดถึงกันมากในวงการฟุตบอลคือกรณีของ แกเร็ธ เบล นักเตะที่ครั้งหนึ่งเป็นผู้ทำลายสถิติของ คริสเตียโน โรนัลโด ในตลาดซื้อขายนักเตะด้วยการย้ายไปทีมเรอัล มาดริด ด้วยราคาที่สูงถึง 83.5 ล้านปอนด์ ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของ ซีเนดีน ซีดาน หนึ่งในอดีตนักเตะระดับตำนานของสโมสร 

 

วันเวลาผ่านไปจากปี 2013 จนถึงปี 2019 คำถามที่เกิดขึ้นคือทำไมมนต์เสน่ห์ของเบลที่ทำให้เรอัล มาดริด ซื้อมาในราคาที่ทำลายสถิติโลก รวมถึงเป็นผู้เหมาคนเดียว 2 ประตูในเกมนัดชิงยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 2017-18 ที่เรอัล มาดริด เอาชนะลิเวอร์พูลไป 3-1 ได้หมดมนต์ขลังกับทีม จนถึงขั้นที่ช่วงหนึ่งสโมสรเรอัล มาดริด มีข่าวว่าพร้อมที่จะขายเบลให้ลีกในประเทศจีน

 

แกเร็ธ เบล

 

ก่อนจะตอบเรื่องนั้น ผมขอกลับมาสร้างประเด็นที่ว่าอะไรคือเหตุผลหลักที่สร้างและทำลายแรงจูงใจในการทำงานของคนทำงานบ้าง

 

จากประสบการณ์และงานวิจัยของ QGEN Consultant ในเรื่อง Employee Engagement Model และ Motivation Driver บอกเราว่ามีอยู่ 6 ปัจจัยคือ

1. Culture วัฒนธรรมองค์กรที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ และสนับสนุนให้พนักงานไปถึงเป้าหมายส่วนตัวของพนักงานได้

2. People ความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คนในองค์กร ทั้งหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง รวมถึงลูกค้า

3. Opportunity โอกาสต่างๆ ที่องค์กรมีให้กับพนักงาน ทั้งโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และโอกาสการเติบโตในสายอาชีพ ซึ่งแน่นอนว่าเชื่อมโยงไปถึงผลตอบแทนที่พนักงานคิดว่าควรจะได้รับ

4. Reward การให้รางวัลต่างๆ จากความสำเร็จที่พนักงานทำได้ ทั้งในรูปแบบที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน และแน่นอนว่าความยุติธรรม (Fairness) คือเกณฑ์สำคัญที่มีผลทางความรู้สึกของพนักงาน

5. Organization โครงสร้างองค์กรที่กำหนดและระบุอำนาจในการตัดสินใจอย่างเหมาะสม และช่วยให้การทำงานเป็นไปอย่างมีระบบ

6. Work ลักษณะงานที่มีความมั่นคงไปพร้อมๆ กับความสนุกและความท้าทาย

 

ประเด็นมันอยู่ที่ข้อที่ 1 กับ ข้อที่ 2 ครับ

 

วัฒนธรรมองค์กรที่ผ่านการสร้างขึ้นมาอย่างมีหลักการ คือกรอบที่องค์กรคิดมาแล้วว่าการร่วมงานกัน การมีปฏิสัมพันธ์ การมีพฤติกรรมและทัศนคติในลักษณะแบบนี้จะช่วยพาให้ทีมและองค์กรไปสู่เป้าหมายได้ 

 

แกเร็ธ เบล

 

ถึงจะเก่งแค่ไหน แต่มีพฤติกรรมและทัศนคติที่ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับองค์กร ก็ไม่แปลกที่คนเก่งแบบนั้นจะกลายเป็นส่วนเกินที่องค์กรไม่ต้องการ

 

แต่ถามว่าคนเก่งแบบนั้นผิดไหม คำตอบก็คือไม่ แค่อาจจะอยู่ผิดที่ผิดทาง เพราะถ้าคนเก่งไปอยู่ในวัฒนธรรมองค์กรที่เหมาะกัน นั่นคือที่ที่เขาจะได้ฉายแสงอีกครั้งหนึ่ง

 

เก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องรู้ด้วยว่าเก่งในแบบที่เขาต้องการหรือเปล่า

 

อีกเรื่องคือ People ซึ่งต้องมองให้ลึกลงไปถึงระดับของความสัมพันธ์ทั้งกับหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง ไปจนถึงลูกค้า คนเก่งให้ราคากับความสัมพันธ์เหล่านี้มากน้อยแค่ไหน ถ้าคนเก่งไม่ให้ราคาเรื่องของความสัมพันธ์ เขาก็จะเก่งแค่ในงาน แต่ไม่เก่งคนเลย และคนที่ไม่เก่งคนคือคนที่โอกาสจะเติบโตหรืออยู่รอดในสังคมการทำงานเป็นไปได้ยาก

 

ลองนึกภาพคนเก่งที่ไม่มีคนเชื่อใจดูสิ ถ้าวันหนึ่งเขาต้องขึ้นมาเป็นผู้นำ แล้วจะมีใครอยากเป็นผู้ตามด้วยความเต็มใจ คนที่เติบโตขึ้นไปโดยไม่มีใครสนับสนุน จะจากหัวหน้า จากเพื่อนร่วมงาน จากลูกน้อง จากลูกค้า การขึ้นตำแหน่งของเขาจะอ่อนไหวและถูกโค่นได้ง่าย เพราะไม่มีใครเลยที่พร้อมจะออกมาปกป้องเมื่อเกิดปัญหา

 

ยิ่งอยากโตแค่ไหน ยิ่งต้องเก่งคนมากเท่านั้น

 

แกเร็ธ เบล

 

เพราะคนที่องค์กรอยากจะรักษาไว้อาจจะไม่ใช่คนที่เก่ง แต่เป็นคนที่เหมาะกับองค์กรมากกว่า

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising