×

อดีตแกนนำการชุมนุมทางการเมืองร่วมเวทีถอดบทเรียนการชุมนุมในอดีต เตือนระวังความรุนแรงที่เกิดจากรัฐ

17.09.2020
  • LOADING...

วันนี้ (17 กันยายน) ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มีการจัดกิจกรรมเสวนา ‘ถอดบทเรียนจากประสบการณ์การชุมนุมทางการเมืองและข้อเสนอต่อสังคม’ ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 และเครือข่าย โดยมีผู้ร่วมเสวนาจากการชุมนุมในหลากหลายกลุ่ม ประกอบด้วย

 

1. พิภพ ธงไชย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

2. สมชาย หอมลออ คนเดือนตุลาและอดีตผู้ต้องหาคดี 6 ตุลาคม 2519

3. ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข อดีตกรรมการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ปี 2534 และอดีตแกนนำนักศึกษาในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535

4. จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

5. สาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีตแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)

6. ณัฏฐา มหัทธนา อดีตแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง

 

ดำเนินรายการเสวนาโดย วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล อีกทั้งยังสะท้อนมุมมองจากวิชาการและผู้สังเกตการณ์ โดย ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการด้านสันติวิธี และฐปณีย์ เอียดศรีไชย สื่อมวลชนที่ติดตามสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง

 

การเสวนาเริ่มต้นจาก สมชาย หอมลออ กล่าวว่าตนในฐานะศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอแสดงจุดยืนคัดค้านคำสั่งของคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัยในปัจจุบันที่ห้ามไม่ให้นักศึกษาไปชุมนุมในมหาวิทยาลัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นในยุคที่ตนเรียนหนังสืออยู่ รวมถึงยุค 6 ตุลาคม 2519 ด้วย เราต้องให้นิสิตนักศึกษาเหล่านี้มีพื้นที่ที่ปลอดภัย พวกเขามีสิทธิเสรีภาพทุกประการที่จะชุมนุมแสดงความคิดเห็น

 

“จุดร่วมที่ตรงกันกับการชุมนุมของนักศึกษายุคนั้น (6 ตุลาคม 2519) คือการต่อต้านเผด็จการทหาร ทำให้เป้าหมายของการเคลื่อนไหวมีความชัดเจน การคัดค้านเผด็จการทหาร การสืบทอดอำนาจ และการเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งคล้ายๆ กับนิสิตนักศึกษาในปัจจุบัน แต่ผมคิดว่าในปัจจุบันมีความก้าวหน้ามากกว่า ในประเด็นที่ว่าเขาก้าวไปไกลในการสะท้อนความเละเทะและเหลวแหลกของผู้ใหญ่ที่อยู่ในสถาบันต่างๆ” สมชายกล่าว

 

ขณะที่ ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข กล่าวถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 โดยระบุว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดจากนักศึกษาไม่กี่คน กระบวนการเริ่มต้นและขยายขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งเป็นการต่อต้านคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เหตุการณ์ครั้งนั้นคล้ายๆ กับปี 2549 และ 2557 แต่มรดกของปี 2535 หลังการขับไล่ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีอยู่ 3 อย่างคือ 

 

1. ทหารเข้ากรมกองหมดความชอบธรรม เนื่องจากมีการใช้กำลังปราบปรามประชาชน

2. เกิดกระบวนการปฏิรูปสื่อ เนื่องจากสื่อมวลชนยุคนั้นไม่รายงานข่าวการชุมนุม จึงเป็นที่มาของการเกิดช่องไอทีวี

3. เรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540

 

“เหตุการณ์ปี 2535 ทำให้เกิดสิ่งที่ผมเรียกรวมๆ ว่าระบอบคนดี อะไรก็ได้ขอให้เป็นคนดี แล้วคนดีในสังคมไทยคือคุณต้องมีอำนาจจึงจะนิยามความดีได้ ถ้าคุณไม่มีอำนาจ ไม่มีครับ นักเรียนสมัยนี้จึงเรียกตัวเองว่านักเรียนเลว ขณะที่ครูที่มีอำนาจนั้นคือครูผู้หวังดี”

 

ชูวัสยังกล่าวถึงสิ่งที่แฝงในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่แฝงระบอบคนดีในองค์กรอิสระที่ทำให้นักการเมืองกลายเป็นอาชีพที่เลวร้าย ปั้นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งชูวัสมองว่าโดยโครงสร้างของมัน ถึงจะเลวร้ายอย่างไรมันก็ย่อมดีกว่าทหารที่ถือปืน

 

ด้าน พิภพ ธงไชย กล่าวว่าการชุมนุมของพันธมิตรฯ เป็นการชุมนุมที่นานมาก โดยเฉพาะการยึดทำเนียบ 190 วัน คำพิพากษาของศาลทำให้ต้องติดคุก 3 เดือน ในคำพิพากษาชี้ว่าความรุนแรงไม่ได้เกิดจากผู้ชุมนุม ความรุนแรงเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2553 ที่หน้ารัฐสภาเป็นการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งมีการล้อมสภา ความรุนแรงเกิดจากตำรวจ โดยเฉพาะการยิงปืนและแก๊สน้ำตาเข้าใส่ผู้ชุมนุมในช่วงเช้ามืด

 

“การชุมนุมทั้งหมดที่เกิดความรุนแรงมาจากอำนาจรัฐเป็นตัวกระทำ แล้วอำนาจรัฐประกอบไปด้วยตำรวจ ทหาร วันนี้ที่ผมจะมาพูดก็คืออำนาจรัฐจะป้องกันความรุนแรงได้ไหม ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะยิงด้วย M79 กระสุนปืน หรือระเบิด แล้ววันที่ 7 ตุลาคม คนของพันธมิตรฯ ตายไป 10 คน สูญเสียอวัยวะไป 7 คน บาดเจ็บโคม่าอีก 2 คน”

 

พิภพระบุอีกว่า ตนขอสรุปว่าการชุมนุมวันที่ 19 กันยายนนี้ หากเกิดความรุนแรง ใครจะเป็นคนกำหนดความรุนแรง ซึ่งหากเกิดความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นธรรมศาสตร์ ท้องสนามหลวง หรือมีการเดินขบวนเคลื่อนตัวออกมา ความรุนแรงจะเกิดขึ้นด้วยอำนาจรัฐเท่านั้น

 

จตุพร พรหมพันธุ์ กล่าวว่าการต่อสู้นั้นมีอยู่ทุกยุคทุกสมัย แต่รัฐต้องไม่คิดฆ่า ไม่คิดปราบ หรือใช้ความรุนแรง การสร้างสถานการณ์เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้การฆ่ามีความชอบธรรม ดังนั้นถ้ารัฐรู้สึกว่าการชุมนุมคือเสรีภาพ รัฐต้องมองว่า พ.ร.บ. ชุมนุมฯ นั้นเล็กกว่ารัฐธรรมนูญ

 

“วันนี้ผมเชื่อว่าถ้ารัฐไม่ลงมือก็จะไม่มีคนตาย และผมก็ไม่เชื่อว่าทุกครั้งเวลาชุมนุม ถ้ามีคนตายแล้วรัฐจะอยู่ไม่ได้ ความจริงมีคนตายหนึ่งคนแล้วก็จะมีคนตายเรื่อยๆ แล้วก็เป็นแบบนี้ทุกครั้ง ความตายไม่สามารถหยุดอำนาจรัฐได้ และอาจมีอำนาจอื่นเปิดประตูเข้ามาใหม่”

 

สาทิตย์ วงศ์หนองเตย มองว่าในยุคการชุมนุมของ กปปส. นั้นมีเงื่อนไขสะสมมากกว่า 10 ปี โดยเฉพาะการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งมีการนิรโทษกรรมให้กับคนที่ถูกศาลตัดสินว่าทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งจริงๆ เงื่อนไขสามารถถอดได้ แต่ไม่ถูกถอด ตอนนั้น ส.ส. และ ส.ว. เป็นเนื้อเดียวกัน แม้ว่าขณะนั้นรัฐบาลพยายามจะถอดออกจากสภา แต่มีคนในรัฐบาลประกาศว่าจะนำกลับไปพิจารณาอีก แต่วันนั้นมันคือความรู้สึกร่วมว่ากฎหมายนิรโทษกรรมออกไม่ได้ เพราะจะทำลายระบบนิติรัฐและนิติธรรม

 

“ผมมองว่าทุกๆ การชุมนุมที่เกิดขึ้นมันต้องมีเงื่อนไขเสมอ มันต้องมีเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้คนก้าวเดินออกจากบ้านแล้วมาทนลำบากตรากตรำบนถนน มาเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ไม่มีใครออกมาเพราะแรงกระตุ้นด้วยเงิน 100, 200, 300 หรือ 500 บาท แล้วเอาชีวิตตัวเองมาเสี่ยงแน่นอน”

 

ณัฏฐา มหัทธนา กล่าวว่าคดีแรกที่ตนถูกดำเนินคดีคือ MBK39 คือการยืนตะโกนว่าอยากเลือกตั้ง เป็นครั้งแรกที่ผู้ชุมนุมธรรมดาถูกดำเนินคดี แต่ในยุค คสช. การชุมนุมที่สงบมากๆ อย่างการนั่งกินแซนด์วิชหรืออ่านหนังสือก็ยังถูกดำเนินคดีฐานขัดคำสั่ง คสช. ในยุค คสช. มีการคุกคามโดยใช้กฎหมาย การตั้งข้อหาปิดปากเพื่อให้คนไม่กล้าเข้ามามีส่วนร่วม นี่คือมรดกที่มีมาจนถึงทุกวันนี้ อันนี้คือหัวใจที่เป็นปัญหา

 

“บริบทเฉพาะของการชุมนุมในยุค คสช. คือการปิดสื่อเกิดขึ้นในสเกลที่มโหฬารมาก Peace TV ถูกปิดเป็นเดือนๆ Voice TV ถูกปิด 21 ครั้ง ที่จำจำนวนครั้งได้เพราะ Voice TV ช่อง 21 และถูกปิดไป 21 ครั้งพอดี ทำให้พลังของผู้ชุมนุมไม่ขยายตัว เนื่องจากการสื่อสารไม่เกิด สื่อมวลชนมีความหวาดกลัว แต่ข้อเรียกร้องในสมัยนั้นมันเรียบง่ายคือการเลือกตั้ง เราจึงไม่มีแรงปะทะจากประชาชนที่เป็นฝักฝ่ายมากนัก แต่ศัตรูเราก็ชัดเจน คือรัฐบาลทหารที่เลื่อนการเลือกตั้งมาแล้ว 5 ครั้ง”

 

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising