×

การระบาดระลอกแรกสอนให้รู้ว่า…? บทเรียน 5 ข้อจากผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิต 58 รายแรกของไทย

07.04.2021
  • LOADING...
การระบาดระลอกแรกสอนให้รู้ว่า…? บทเรียน 5 ข้อจากผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิต 58 รายแรกของไทย

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • จากการสอบสวนโรค ผู้เสียชีวิต 31 ราย (52.4%) ไม่สามารถระบุได้ว่าติดเชื้อมาจากใคร แต่มีประวัติเสี่ยงเกี่ยวกับอาชีพ หรือประวัติการเดินทางไปในสถานที่แออัดที่สำคัญ
  • นอกจากนี้ยังพบว่าผู้เสียชีวิต 12 ราย (20.7%) ติดเชื้อจากสมาชิกในบ้านเดียวกัน ดังนั้นกลุ่มวัยทำงานที่มีโอกาสติดเชื้อจากภายนอก ต้อง ‘ป้องกันผู้อื่น’ ไม่แพร่เชื้อต่อภายในครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง ด้วยการเว้นระยะห่าง เช่น แยกรับประทานอาหาร 
  • โดยสรุป ‘บทเรียน’ จากผู้เสียชีวิต 58 รายแรกของประเทศไทยคือ ลักษณะของกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรงคือ เพศชาย ผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว ผู้ที่มีความเสี่ยงควรป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด หากมีประวัติเสี่ยงหรืออาการไข้ ไอ เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ควรรีบไปแพทย์

‘สถานบันเทิง’ ย่านทองหล่อในช่วงก่อนเทศกาล ‘สงกรานต์’ 

 

ทั้งสถานที่และช่วงเวลาที่มีการระบาดของโควิด-19 ในปี 2564 คล้ายกับการระบาดระลอกแรกราวฝาแฝด ทำให้หลายคนอดนึกถึงช่วงเวลานี้ของปีที่แล้วไม่ได้ นายกรัฐมนตรีประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2563 ตามด้วยเคอร์ฟิวในเดือนเมษายนและลากยาวไปจนถึงมิถุนายน 

 

25 พฤษภาคม เป็นวันที่มีรายงานผู้ป่วยในประเทศรายสุดท้าย เมื่อนับไปอีก 2 เท่าของระยะฟักตัวหรือ 28 วัน คือวันที่ 22 มิถุนายน ประเทศไทยมีผู้ป่วยทั้งหมด 3,151 ราย ในจำนวนนี้ 3,022 รายหายกลับบ้าน ส่วน 71 รายยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล และที่น่าเศร้าคือ 58 รายเสียชีวิต

 

ถึงแม้ต่อมาจะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากการระบาดระลอกใหม่เป็น 95 รายแล้ว แต่การเสียชีวิตของพวกเขาก็ยังคงเป็น ‘บทเรียน’ ที่มีคุณค่าสำหรับทุกคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ผมจึงขอสรุปเนื้อหาจากบทความวิชาการที่ตีพิมพ์ในวารสาร OSIR ของกรมควบคุมโรคเมื่อสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาไว้ 5 ข้อ ดังนี้

 

1. ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ติดเชื้อภายในประเทศ แต่ครึ่งหนึ่งไม่สามารถระบุผู้ป่วยรายก่อนหน้าได้ จากการสอบสวนโรค ผู้เสียชีวิต 31 ราย (52.4%) ไม่สามารถระบุได้ว่าติดเชื้อมาจากใคร แต่มีประวัติเสี่ยงเกี่ยวกับอาชีพ หรือประวัติการเดินทางไปในสถานที่แออัดที่สำคัญ ได้แก่

 

  • ทำงานใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 8 ราย 
  • สนามมวย 6 ราย
  • สถานบันเทิง 5 ราย เป็นพนักงาน 2 ราย (พนักงานบริการและพนักงานรักษาความปลอดภัย) นักดนตรี 1 ราย และลูกค้า 2 ราย

 

เมื่อมีการระบาดเป็นวงกว้าง คือมีผู้ติดเชื้อกระจายอยู่ในชุมชน แต่เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการ จึงไม่ได้เข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาล ประชาชนทั่วไปจึงต้อง ‘ป้องกันตนเอง’ ด้วยการสวมหน้ากากก่อนออกจากบ้าน และหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่แออัด

 

นอกจากนี้ยังพบว่าผู้เสียชีวิต 12 ราย (20.7%) ติดเชื้อจากสมาชิกในบ้านเดียวกัน ดังนั้นกลุ่มวัยทำงานที่มีโอกาสติดเชื้อจากภายนอกต้อง ‘ป้องกันผู้อื่น’ ไม่แพร่เชื้อต่อภายในครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง ด้วยการเว้นระยะห่าง เช่น แยกรับประทานอาหาร 

 

2. กลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรงคือ เพศชาย ผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว ในการระบาดระลอกแรก ‘ผู้ชาย’ มีอัตราป่วยตาย 2.5% คือเมื่อติดเชื้อแล้วจะมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าผู้หญิง ซึ่งเท่ากับ 1% ส่วน ‘ผู้สูงอายุ’ มีอัตราป่วยตายสูงถึง 8.1% และอัตรานี้จะเพิ่มขึ้นตามอายุ กล่าวคือ

 

  • อายุ <20 ปี ไม่มีผู้เสียชีวิต
  • อายุ <40 ปี มีโอกาสเสียชีวิต <1%
  • อายุ 70-79 ปี มีโอกาสเสียชีวิต 10.5%
  • อายุ 80 ปีขึ้นไป มีโอกาสเสียชีวิต 25%

 

ผู้เสียชีวิต 3 ใน 4 รายมี ‘โรคประจำตัว’ โดยโรคที่พบมากที่สุด ได้แก่ ความดันโลหิตสูง, เบาหวาน และไขมันในเลือดสูง ซึ่งเป็นโรคที่สามารถป้องกันหรือควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ นอกจากนี้ใน ‘ผู้ที่มีอายุน้อย’ (ตรงข้ามกับผู้สูงอายุ) ยังพบภาวะอ้วนมาเป็นอันดับหนึ่งคู่กับเบาหวาน

 

ดังนั้นกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรงนี้จะต้องป้องกันตนเอง ‘อย่างเคร่งครัด’ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ในกรณีที่มีการระบาดเป็นวงกว้างก็ควรเคร่งครัดการป้องกันตัวในบ้านด้วย ถ้าหากมีอาการไข้หรือทางเดินหายใจสงสัยโควิด-19 ควรรีบไปพบแพทย์ และที่สำคัญควรได้รับการฉีดวัคซีน 

 

3. ผู้ป่วยที่เสียชีวิตมารับการวินิจฉัยล่าช้ากว่าผู้ป่วยที่รักษาหาย จากการวิเคราะห์ค่ามัธยฐานของระยะเวลาในผู้ป่วยที่มีอาการ ถ้านับ ‘วันเร่ิมมีอาการ’ เป็นวันที่ 0 (วันถัดมานับเป็นวันที่ 1) ผู้ป่วยที่รักษาหายได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโควิด-19 ในวันที่ 4 ในขณะที่ผู้เสียชีวิตได้รับการวินิจฉัยในวันที่ 7 

 

แม้จะแตกต่างเพียง 3 วัน แต่ก็มีความสำคัญ โดยความล่าช้านี้อาจเกิดได้จากผู้ป่วยไปพบแพทย์ช้า เช่น คิดว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา กว่าจะไปพบแพทย์ก็มีอาการหนักแล้ว หรืออาจเกิดจากการเข้าไม่ถึงการตรวจ เช่น แพทย์ไม่ส่งตรวจในครั้งแรกที่มาพบ หรือการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกไม่ครอบคลุม

 

ดังนั้น ‘ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง’ ต้องกักตัวและตรวจหาเชื้อตามที่กรมควบคุมโรคกำหนด (วันที่ 5 หลังสัมผัสผู้ป่วยเป็นต้นไป) ผู้ที่มีประวัติเดินทางไปในสถานที่และเวลาเดียวกับผู้ติดเชื้อควรสังเกตอาการ หากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ควรรีบไปพบแพทย์ 

 

ในกรณีที่มีการระบาดเป็นวงกว้าง แพทย์ควรส่งตรวจหาเชื้อโดยพิจาณาจากอาการที่เข้าได้กับโรคเป็นหลัก เพราะประวัติเสี่ยงจะไม่ชัดเจน หน่วยงานด้านสาธารณสุขต้องปรับเกณฑ์การตรวจให้ทันกับสถานการณ์ และเพิ่มการตรวจหาเชื้อเชิงรุก ส่วนรัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณให้เพิ่มเติม

 

4. ผู้เสียชีวิตจะมีอาการแย่ลงในสัปดาห์ที่ 2 และเสียชีวิตในสัปดาห์ที่ 3 ไทม์ไลน์ของผู้ป่วยที่เสียชีวิตนับจากวันเริ่มมีอาการคือ พบแพทย์ครั้งแรกวันที่ 3, ได้รับการวินิจฉัยวันที่ 7 แล้วได้รับยาต้านไวรัสหลังจากนั้น 1-2 วัน, อาการแย่ลงจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจในวันที่ 10 และเสียชีวิตในวันที่ 18

 

โดยในวันที่ได้รับการวินิจฉัย เอกซเรย์ปอดของผู้ป่วยมักจะพบภาวะปอดอักเสบแล้ว และระยะเวลาทั้งหมดนี้ใกล้เคียงกับผู้ป่วยในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งตามแนวทางการรักษาของกรมการแพทย์ในปัจจุบัน ผู้ป่วยทุกรายจะได้รับการสังเกตอาการในโรงพยาบาลอย่างน้อย 10 วันจึงถือว่าเหมาะสม 

 

โดยผู้ป่วยจะไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรง ต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ส่วนการรักษาจะเป็นการรักษาตามอาการ เพราะหายได้เอง ในขณะที่ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงแต่มีปัจจัยเสี่ยง หรือมีอาการรุนแรงจะได้รับยาต้านไวรัส 5-10 วัน และอยู่ในโรงพยาบาลจนกว่าจะดีขึ้น

 

5. อัตราป่วยตายลดลงเมื่อการระบาดดำเนินไป หากแบ่งการระบาดในระลอกแรกในปี 2563 ออกเป็น 3 ระยะตามเกณฑ์การให้ยาต้านไวรัส จะพบว่าอัตราป่วยตายมีแนวโน้มลดลง ถึงแม้จะทดสอบทางสถิติแล้วไม่พบนัยสำคัญ แต่ก็น่าจะมีความสำคัญในแง่ของการดูแลรักษาผู้ป่วย ดังนี้

 

  • 4 มกราคม-10 มีนาคม อัตราป่วยตาย 2.5%
  • 11 มีนาคม-7 เมษายน อัตราป่วยตาย 2.3%
  • 8 เมษายน-22 มิถุนายน อัตราป่วยตาย 1.0%

 

ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลในปัจจุบัน ณ วันที่ 6 เมษายน 2564 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโควิด-19 สะสม 29,571 ราย เสียชีวิต 95 ราย คิดเป็น 0.33% หรือเปรียบเทียบว่าในผู้ป่วย 1,000 รายจะมีผู้เสียชีวิต 3 ราย ซึ่งตัวเลขจริงน่าจะต่ำกว่านี้ เพราะยังมีผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการในชุมชนอีก

 

แสดงว่าโรคนี้มีความรุนแรงลดลง ขณะเดียวกันองค์ความรู้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ถ้ามีความเข้าใจตรงนี้ก็จะไม่ตื่นตระหนก แต่ยังต้องป้องกันตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้จำนวนผู้ป่วย ‘ล้นโรงพยาบาล’ ส่วนรัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องล็อกดาวน์หรือประกาศเคอร์ฟิวทั้งประเทศเหมือนระลอกแรก

 

โดยสรุป ‘บทเรียน’ จากผู้เสียชีวิต 58 รายแรกของประเทศไทยคือลักษณะของกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรงคือ เพศชาย ผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว ผู้ที่มีความเสี่ยงควรป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด หากมีประวัติเสี่ยงหรืออาการไข้ ไอ เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ควรรีบไปแพทย์

 

เมื่อมีการระบาดเป็นวงกว้างอย่างในขณะนี้ หน่วยงานด้านสาธารณสุขและรัฐบาลควรจัดลำดับความสำคัญของ ‘กลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง’ เป็นอันดับแรกในการตรวจหาเชื้อทั้งที่โรงพยาบาลและเชิงรุกในชุมชน การติดตามผู้สัมผัส และที่สำคัญควรได้รับการจัดสรรวัคซีนที่เหมาะสมโดยเร็ว

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X